Skip to main content
sharethis

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พัฒนาประเด็น “เยาวชน 3 จังหวัดชายแดนใต้กับสงครามจิตวิทยาข่าวลวง (Fake News) ในพื้นที่” ร่วมกับภาคีเครือข่าย หาทางป้องกันและบรรเทาปัญหา โดยสร้างสรรรค์โรลโมเดล “การใช้สื่อออนไลน์สร้างสรรค์เพื่อหยุดยั้งข่าวลวง” ต้นแบบการสื่อสารลดความเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง 

งัดกลยุทธ์หมั่นเติมน้ำดี ผลิตสื่อออนไลน์สร้างสรรค์ในพื้นที่ ละลาย Fake News 3 จังหวัดชายแดนใต้

17 มี.ค. 2564 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) รายงานว่าปมปัญหาที่ส่งผลให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ไม่อาจแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้องยอมรับว่าเรื่องของการสื่อสารเข้ามามีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะ “ข่าวลือข่าวลวง” หรือ Fake News ต่างๆ ซึ่งในอดีตข่าวลวงอาจเริ่มที่โต๊ะน้ำชา ก่อนแพร่กระจายไกลจนไม่อาจสืบสาวที่มาได้ ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารทรงประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลและข่าวสารจึงไหลไปไวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง 

ด้วยปัญหาดังกล่าวทาง มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จึงพัฒนาประเด็น “เยาวชน 3 จังหวัดชายแดนใต้กับสงครามจิตวิทยาข่าวลวง (Fake News) ในพื้นที่” ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อหาทางป้องกันและบรรเทาปัญหา โดยสร้างสรรรค์โรลโมเดล “การใช้สื่อออนไลน์สร้างสรรค์เพื่อหยุดยั้งข่าวลวง” ต้นแบบการสื่อสารลดความเปราะบาง ในพื้นที่เสี่ยง ให้ชุมชนหรือผู้ที่สนใจนำไปปรับประยุกต์ใช้

รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี 
รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี 

รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะ ประธานองค์กร Neo-Mind หนึ่งในภาคีเครือข่าย เล่าว่า จากการทำงานเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ของเยาวชนภาคใต้ 5 จังหวัด พบว่ามีทั้งประเด็นที่เหมือนและแตกต่างจากเยาวชนพื้นที่อื่น ๆ โดยสิ่งที่เหมือนกันคือการใช้สื่อมากเกินไป ส่วนในประเด็นปัญหาที่เป็นลักษณะเฉพาะ คือ 1.การขาดข้อมูล องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของข่าวลวง ข่าวปลอม โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ และ 2.ชุดข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ ที่มีอยู่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับบริบท วิถีวัฒนธรรม ของเยาวชนและคนในพื้นที่ จึงคิดว่าต้องร่วมกันปรับปรุงแก้ไข เน้นการผลิตสื่อใหม่ให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าในพื้นที่ของเรา โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความ เปราะบาง และเยาวชนอาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ในการชักจูงไปสู่ความคิดหรือปัญหาความแตกแยกเกิดขึ้นได้” รอฮานี ระบุ

นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ย้ำว่า ความน่ากลัวของ Fake News คือ หากเด็กรับมาแล้ว พอเข้าไปร่วมก็ยากที่จะดึงกลับมา เหมือนกับขี่หลังเสือแล้วถึงอยากจะลงมาแต่ก็ลงมาไม่ได้ 

“กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือนักเรียนที่เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษา เพราะต้องไปเรียนในสถานที่ไกลหูไกลตาพ่อแม่ มีการรวม กลุ่มกับเพื่อนๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ทางแก้จึงต้องออกแบบการศึกษา ออกแบบกิจกรรม ให้เด็กได้เชื่อมต่อกับครอบครัว กับชุมชน หากตรงนี้เหนียวแน่น สิ่งต่างๆ ภายนอกอาจจะไม่มีอิทธิพลกับเด็กมากนัก แต่ถ้าแยกเด็กออกไปโดยไม่ได้เข้าไปเชื่อมอะไรเลย ปล่อยโดยคิดว่าไม่มีอะไร ไม่จัดการอะไรเลยก็ยิ่งมีความเสี่ยง” รอฮานี กล่าวด้วยน้ำเสียงกังวล 

เธอยังบอกถึงสาเหตุที่ทำให้ข่าวลวงระบาดในพื้นที่ภาคใต้ว่า เป็นเพราะระบบการคิดที่แข็งกร้าวของภาครัฐ น้อยมากที่ระดับสั่งการจะความมีเข้าใจในพื้นที่ และใช้ความประนีประนอมกับคนที่คิดต่าง จึงทำให้เกิดการต่อต้านขึ้น ตรงจุดนี้จึงทำให้ง่ายในการที่จะระดมทำข่าวปลอม เพราะว่าคนเจ็บปวด และพร้อมที่จะเอนเอียงไปในส่วนที่คิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะสามารถหลุดพ้นจากความเจ็บปวดได้ 

“ส่วนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาเริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา ทั้งสามัญ เอกชน โรงเรียนสอนศาสนา มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม สื่อท้องถิ่น และ มสช. ผ่านโครง การอบรมให้ความรู้การใช้สื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมประกวดสุนทรพจน์ 3 ภาษา คือ ไทย มลายู และอังกฤษ รวมถึงการจัดหาวิทยากร ผู้ใหญ่ในพื้นที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด มาให้ข้อมูลความรู้ว่าเราจะมีการเชื่อมโยงกันอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นข่าวปลอม พร้อมทั้งเชิญตัวแทนเน็ตไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ หรือตัวแทนยูทูปเบอร์ในภาคใต้ มาพูดให้แรงบันดาลใจการใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์แก่เยาวชน” ประธานองค์กร Neo-Mind อธิบายเพิ่ม 

จากนั้น รอฮานี และภาคีได้ประมวลกิจกรรมในโครงการแล้วนำมาต่อยอด เช่น นำสุนทรพจน์ มาจัดทำเป็นคลิปวิดีโอสั้น เพื่อเผยแพร่ต่อทางยูทูป และมอบให้ โรงเรียน วิทยุท้องถิ่น นำไปเปิดเสียงตามสาย รวมถึงการคัดเอาประโยคทอง ในสุนทรพจน์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปเผยแพร่ต่อเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก เป็นต้น  

“จากการประเมินผลโครงการ พบว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์พอใจมาก เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ อยากให้มีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป เพราะเป็นพื้นที่กลางเปิดให้คนมาร่วมแลกเปลี่ยน และเสริมทักษะความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ ยังกลายเป็นตัวกลางในการเชื่อมหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะรัฐ ประชาสังคม ภาคธุรกิจ และอื่นๆ ประเด็นสำคัญคือผลจากการทำตรงนี้ทำให้เกิดการส่งต่อ เช่น น้องๆ นำไปโพสต์ลง สื่อออนไลน์ จาก 1 คน ไป 100 คน และขยายต่ออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นต้นกล้า ที่ในอนาคตจะสามารถขยายต่อ ไปยังพื้นที่อื่นได้ด้วย” รอฮานี กล่าวด้วยความหวัง


จิคัยดีล เจะและ ยูทูปเบอร์คนดัง Deen Vlog จาก จ.นราธิวาส

ด้าน จิคัยดีล เจะและ ยูทูปเบอร์คนดัง Deen Vlog จาก จ.นราธิวาส ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ข่าวลวงในพื้นที่ภาคใต้ว่า ตนจำได้ว่าข่าวลวงความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จากสมัย MSN มา Hi5 จนปัจจุบันก็เป็น LINE ที่สถานการณ์ก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักมีการปล่อยข่าวลวงต่างๆ ว่าคนอิสลาม ไปเผาวัดที่มาเลเซีย หรือคนอิสลามไปยิงคนไทยพุทธ คนไทยพุทธยิงคนอิสลาม อะไรแบบนี้ใน LINE แทบจะทุกเดือน ซึ่งก่อให้เกิดความเกลียดชังที่ไม่ใช่แค่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่กลายเป็นความบาดหมางระหว่างคนไทยพุทธ และไทยมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่มีคนบางกลุ่มพยายามทำให้เราหวาดกลัวซึ่งกัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ
 
“ผมยืนยันว่าเราโตมาในพื้นที่มันไม่มีอะไร เราอยู่กันแบบปกติสุขทั้ง 3 ศาสนา พุทธ อิสลาม คริสเตียน ดังนั้น ถ้า Fake News ยังไม่หมด เศรษฐกิจรายได้ของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะไม่ดีขึ้น”

ยูทูปเบอร์จาก Deen Vlog ยังบอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่เขาและเพื่อนๆ ทำได้ คือการป้อนข้อมูลด้านดี ด้านที่เป็นจริงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการทำช่องยูทูปให้คนไทยคนทั่วโลกได้เห็น โดยเนื้อหาของ Deen Vlog ไม่ได้แตะเรื่องความบาดหมาง แต่กลับอาศัยการใส่ข้อมูลน้ำดีลงไปซึ่งช่วยได้มาก 

พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการฯ มสช.
พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการฯ มสช.

ขณะที่ นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการฯ มสช. กล่าวว่า  ที่ มสช.หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพัฒนา และชวนภาคีเครือข่ายในพื้นที่มาร่วมกันสร้างกลไลเพื่อจัดการ แก้ไข และปกป้องเยาวชนในพื้นที่ เพราะนอกจาก ความตั้งใจของกลุ่มที่สร้าง Fake News เพื่อหลอกลวงล่อลวงในเชิงมิติของสุขภาพ และขยายผลไปสู่การสร้าง ความแตกตื่นแตกแยก โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเรื่องความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่กระจายของ Fake News ที่รวดเร็วรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากเด็กและเยาวชนที่รู้ไม่เท่าทันด้วย เพราะเยาวชนมักกดไลก์กดแชร์จากคนที่ชอบ จากไอดอลที่ชอบ โดยไม่ได้พิจารณาในเรื่องความถูกต้องของข้อมูล 

“อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่ง มสช.พยายามจะคลี่ภาพปัญหา และเชื่อมให้ หน่วยงานเข้ามาร่วมแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการต่อยอด ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ กลายเป็นเครือข่ายปกป้องเยาวชนจากภัยออนไลน์ทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืน” ผู้จัดการโครงการฯ มสช. ระบุ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net