คนเอเชียในสหรัฐอเมริกา (1): การเป็นเหยื่อความรุนแรงในอดีตและปัจจุบัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข่าวการยิงผู้หญิงเอเชียจำนวน 6 คนในเมืองแอตแลนต้า (Atlanta) ทำให้การพูดถึงการเหยียดผิวและการใช้ความรุนแรงกับคนเอเชียได้กลับมาเป็นประเด็นสำคัญในอเมริกาอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ก็มีคนเอเชียหลายรายที่ถูกทำร้ายร่างกาย และบางรายถึงกับเสียชีวิต การเสียชีวิตของ วิชา รัตนภักดี อายุ 84 ปี ได้มีการพูดถึงมากในสื่อไทย วิชาเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ในเมืองซานฟรานซิสโก (San Francisco) เขาถูกผลักให้ล้มอย่างแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมาโดยชายวัยรุ่นผิวดำ กรณีการตายของผู้หญิง 6 รายและของวิชา ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมอเมริกัน คนเอเชียในสหรัฐฯ ถูกเหยียดผิว เลือกปฏิบัติ และทำให้เป็นเหยื่อความรุนแรงมาแล้วมากกว่าร้อยปี และไม่นานมานี้มีการรายงานว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 เมื่อต้นปีที่แล้ว การใช้ความรุนแรงกับคนเอเชียในสหรัฐอเมริกามีอัตราสูงมากขึ้นถึง 149% ในบทความนี้จึงเป็นความพยายามฉายภาพปัญหาการเหยียดผิว (racist) การเลือกปฏิบัติ (discriminatory) และการใช้ความรุนแรง (violent) กับคนเอเชียในอดีตและปัจจุบัน พร้อมแสดงให้เห็นสาเหตุรวมถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้

การเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงต่อคนเอเชียในสหรัฐฯ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พอใจที่ถูกคนเอเชียเข้ามาแย่งงาน และการสร้างและผลิตซ้ำภาพเหมารวม (stereotypes) เกี่ยวกับคนเอเชีย ซึ่งคนจีนมักเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเพราะเข้ามาเป็นผู้อพยพที่มาจากเอเชียกลุ่มแรก ๆ ที่มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ในปี 2010 คนจีนเป็นกลุ่มเชื้อชาติเอเชียที่มีมากที่สุดประมาณ 1 ใน 4 ของคนเอเชียทั้งหมดในสหรัฐฯ[1]

การใช้ความรุนแรงในประวัติศาสตร์

คนจีนเป็นคนเอเชียกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1850 เพื่อเป็นแรงงานทางการเกษตร ทำเหมือง และงานก่อสร้าง โดยเฉพาะงานสร้างทางรถไฟ ในเวลานั้นเป็นช่วงขยายประเทศ ทางรถไฟจึงถือว่าเป็นงานที่สำคัญมากและต้องการแรงงานจำนวนมาก บวกกับการค้นพบทอง (gold rush) ในแคลิฟอร์เนีย (California) จึงทำให้คนแห่มาเสี่ยงโชคในแถบนี้มาก จึงเกิดการขยายตัวของเมืองและความต้องการของแรงงานก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แรงงานจีนกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาแคลิฟอร์เนีย เพราะแรงงานจีนราคาถูก ทำงานหนัก พึ่งพาได้ และสามารถอยู่แบบแออัดได้ (ประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่ายต่ำ)

แม้คนจีนในปี 1870 จะมีสัดส่วนคิดเป็น 0.002% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่ปรากฎว่าสัดส่วนแรงงานที่เป็นคนจีนในแคลิฟอร์เนียมีสูงถึง 20% ในส่วนของงานสร้างทางรถไฟอย่างเดียวคนงานจีนมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของแรงงานทั้งหมดในปี 1867[2] การเข้ามาทำงานของคนจีนทำให้แรงงานผิวขาวจำนวนมากไม่พอใจ พวกเขาคิดว่าคนจีนเข้ามาแย่งงานของพวกเขา เนื่องจากนายจ้างหลายคนนิยมการจ้างแรงงานจีนมากกว่าแรงงานผิวขาวด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว และนั่นเองทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนจีนและคนผิวขาวค่อย ๆ ขยายตัวและปะทุเป็นความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง[3]

ตัวอย่างที่คนจีนกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงมีมากมายหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ในปี 1871 คนผิวขาวและฮิสแปนิก (Hispanic)[4] มากกว่า 500 คน ปิดล้อมชุมชนชาวจีนในเมืองลอสแอนเจลิส (Los Angeles) แล้วแขวนคอผู้ชายและเด็กที่มีเชื้อสายจีนไม่ต่ำกว่า 17 คน โดยฉนวนของการสังหารหมู่ครั้งนี้เกิดจากคนผิวขาวคนหนึ่งถูกลูกหลงจากการปะทะกันของแก๊งคนจีนเท่านั้น ในคดีนี้ผู้ก่อความรุนแรง 8 คนถูกจับและถูกศาลตัดสินว่าผิด แต่ตอนหลังถูกอุทธรณ์และรอดคดีในที่สุด สุดท้ายไม่มีใครถูกลงโทษแต่อย่างใด[5]

นอกจากนี้ ในปี 1885 แรงงานจีนเมืองร็อกสปริงส์ (Rock Springs) ในไวโอมิง (Wyoming) ได้ถูกคนผิวขาวสังหารหมู่ถึง 28 คน เพราะพวกเขาถูกกล่าวหาว่ามาแย่งงานคนผิวขาว จุดเริ่มต้นของการสังหารหมู่เกิดขึ้นจากการทะเลาะกันระหว่างคนผิวขาวและคนงานจีน ซึ่งส่งผลทำให้คนงานจีนเสียชีวิต แทนที่ความรุนแรงจะจบแค่นั้น แต่กลับมีความพยายามจุดไฟความเกลียดชังให้แรงมากขึ้น จนแรงงานผิวขาวประมาณ 100 - 150 คนจับอาวุธเพื่อขับไล่ ทำร้าย และสังหารคนจีนอย่างบ้าคลั่ง แรงงานจีนกว่า 600 ชีวิตต่างหนีเอาตัวรอด โดยพยายามหนีตายไปเมืองใกล้ ๆ แต่พวกเขากลับถูกหลอกให้ขึ้นรถไฟเพราะเชื่อว่ารถไฟจะมุ่งไปที่เมืองซานฟรานซิสโกที่น่าจะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่เมื่อถึงจุดหมายกลับพบว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาได้ถูกพากลับมาที่เมืองร็อกสปริงส์เช่นเดิมแล้วถูกบังคับให้เป็นแรงงานทาสในเหมืองนานถึง 13 ปี ภายใต้การควบคุมของทหารจากรัฐบาลกลาง[6]

ภาพที่ 1: ภาพวาดแสดงกลุ่มคนจีนที่กำลังวิ่งหนีการโจมตีของคนผิวขาว
ในเมือง ร็อกสปริงส์ ในดินแดนไวโอมิง ในปี 1885
ที่มา: https://www.wyohistory.org/encyclopedia/rock-springs-massacre

คนจีนมักถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่กำเนิดหรือผู้ที่แพร่กระจายเชื้อโรค ในปี 1900 กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic plague) ระบาดในเมืองซานฟรานซิสโก คนจีนก็ถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดนี้ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อคนแรกในรัฐเป็นคนจีน แม้ในความเป็นจริงเชื้อโรคนี้มีที่มาจากเรือที่เดินทางมาจากออสเตรเลียก็ตาม แต่ด้วยคนจีนมักถูกเหมารวมว่าเป็นคนที่สกปรก มีเชื้อโรค มันจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะโทษคนจีนในเรื่องนี้ด้วย ทำให้ชุมชนคนจีนถูกตำรวจปิดล้อมไว้ไมให้ใครเข้าออกได้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค อย่างไรก็ตามคนผิวขาวกลับได้รับข้อยกเว้นสามารถเข้าออกในพื้นที่กักกันนี้ได้ บ้านเรือนของคนจีนที่ถูกสงสัยว่ามีเชื้อโรคได้ถูกค้นและทรัพย์สินถูกทำลายเป็นจำนวนมากโดยตำรวจ[7] เหตุการณ์คล้ายกันนี้ก็เกิดขึ้นในปี 1899 เมืองโฮโนลูลู (Honolulu) ในฮาวาย (Hawaii) บ้านเรือนของคนจีนที่มีคนป่วยเป็นกาฬโรคก็ถูกเผาทิ้งเป็นจำนวนมาก[8]

ภาพที่ 2: ภาพบ้านในชุมชนคนจีนถูกเผาในเมือง โฮโนลูลู ฮาวาย ในปี 1899
ที่มา: https://www.sciencehistory.org/distillations/san-franciscos-plague-years

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 คนเวียดนามที่หนีสงครามและรัฐบาลคอมมิวนิสต์จำนวนมากได้ย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ โดยหลายคนเลือกทำธุรกิจประมงในพื้นที่อ่าวกาลเวสตัน (Galveston Bay) ในเท็กซัส (Texas) หลังจากที่ธุรกิจจับกุ้งของคนเวียดนามเริ่มเฟื่องฟูและขยายตัวอย่างรวดเร็ว คนผิวขาวในพื้นที่ก็เริ่มไม่พอใจ รู้สึกว่าคนเวียดนามกำลังทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา ความขัดแย้งเริ่มบานปลายจนในปี 1981 กลุ่ม KKK (Klu Klux Klan) ซึ่งเป็นขบวนการนิยมคนผิวขาวในพื้นที่ได้เข้ามาข้องเกี่ยว แกนนำของ KKK ได้ประกาศว่าพวกตนจะกวาดล้างคนเวียดนามให้หมดไปจากพื้นที่ พวก KKK ได้เริ่มมีการฝึกคนผิวขาวให้ใช้อาวุธสงครามและกลยุทธ์ทางทหาร สมาชิก KKK พร้อมอาวุธได้ขึ้นเรือวิ่งรอบอ่าวเพื่อข่มขู่ชาวประมงเวียดนาม ในช่วงนั้นมีเรือจับกุ้งของชาวเวียดนามถูกเผาไปหลายลำ มีการเผาไม้กางเขนในพื้นที่บ้านของคนเวียดนามเพื่อข่มขู่หลายครั้ง คนเวียดนามหลายคนถอดใจ พยายามขายบ้านและเรือเพื่อย้ายไปอยู่ที่อื่น โชคยังดีที่สุดท้ายศาลได้มีคำตัดสินให้การกระทำของกลุ่ม KKK เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทำให้ชาวประมงเวียดนามในพื้นที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้[9]

รูปที่ 3: สมาชิกกลุ่ม Klu Klux Klan ในพื้นที่อ่าวกาลเวสตัน เท็กซัส
ได้ขึ้นเรือพร้อมอาวุธลาดตระเวนไปรอบอ่าวเพื่อข่มขู่ชาวประมงเวียดนามในปี 1981
ที่มา: https://timeline.com/kkk-vietnamese-fishermen-beam-43730353df06

ไม่เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้นที่มีปัญหากับคนเอเชียในสหรัฐฯ คนผิวดำเองก็มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกับคนเอเชียเช่นกัน ความตึงเครียดระหว่างคนผิวดำกับคนเอเชียมีมานานส่วนหนึ่งเกิดจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม คนผิวขาวที่ครองอำนาจในสังคมอเมริกันมักจะชื่นชมคนเอเชียมากกว่าคนผิวดำในแง่ที่ว่าคนเอเชียมักจะไม่ทำตัวมีปัญหา ไม่เอะอะโวยวายเหมือนคนผิวดำที่เคยถูกทำให้เป็นทาสถูกกดขี่มาก่อน และทั้งคนผิวดำและคนเอเชียต่างเป็นคนกลุ่มน้อยเหมือนกัน แต่กลับมีช่องว่างทางเศรษฐกิจห่างกันอย่างมาก ยกตัวอย่างในปี 2019 คนเอเชียนอเมริกันมีรายได้มัธยฐานของครัวเรือน (median household income) อยู่ที่ 98,174 เหรียญ/ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเชื้อชาติที่มีรายได้สูงที่สุด มากกว่าคนผิวขาวเสียอีก ในขณะที่คนผิวดำมีรายได้มัธยฐานของครัวเรือนอยู่ที่ 46,073 เหรียญ/ปี หรือประมาณแค่ครึ่งเดียวของคนเอเชีย (ดูกราฟด้านล่าง) [10] ช่องว่างของสถานะทางเศรษฐกิจนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างคนผิวดำและคนเอเชียในสหรัฐฯ

รูปที่ 7: กราฟแสดงรายได้มัธยฐานของครัวเรือนของกลุ่มเชื้อชาติในสหรัฐฯ ในปี 2000 – 2019
ที่มา: https://www.epi.org/blog/racial-disparities-in-income
-and-poverty-remain-largely-unchanged-amid-strong-income-growth-in-2019/

ความตึงเครียดระหว่างคนผิวดำและคนเอเชียได้ขยายตัวมากขึ้นในช่วงการจลาจลในเมืองลอสแอนเจลิสในปี 1992 (The LA Riots) เหตุของการจลาจลเกิดจากคำตัดสินของคณะลูกขุนที่ให้ตำรวจที่รุมซ้อม Rodney King ชายผิวดำจนบาดเจ็บสาหัสพ้นผิด ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานการทำร้ายเป็นวิดีโอชัดเจนและยาวกว่า 10 นาที คดีนี้เป็นคดีที่ถูกจับตามองจากสังคมอเมริกันเป็นอย่างมาก เพราะตำรวจเมืองลอสแอนเจลิสมีชื่อเสีย (infamous) อยู่แล้วในเรื่องการเหยียดผิว เมื่อคำตัดสินออกมาเป็นเช่นนี้ยิ่งทำให้คนไม่พอใจเป็นอย่างมาก คดีนี้จริง ๆ แล้วตอนแรกไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนเอเชียโดยตรง แต่ความเกี่ยวข้องมาเกิดในภายหลัง คือ หนึ่งในคณะลูกขุนที่ให้ตำรวจรอดคดีมีเชื้อสายเอเชีย และด้วยความบังเอิญที่มีคดีเกี่ยวกับคนเอเชียมีคำตัดสินออกมาในช่วงใกล้เคียงกันพอดี

ในคดีนั้นเจ้าของร้านชาวเกาหลีได้ยิงเด็กหญิงผิวดำวัย 15 ปีเสียชีวิต เจ้าของร้านเข้าใจว่าเด็กกำลังจะขโมยน้ำส้ม (ตอนหลังหลักฐานชี้ว่าเด็กกำลังล้วงเอาเงินอยู่) ในคำตัดสินระบุให้เจ้าของร้านชาวเกาหลีต้องจ่ายค่าปรับ 500 เหรียญ และให้ถูกควบคุมความประพฤติ ด้วยความไม่พอใจในคำตัดสินทั้ง 2 คดีนี้ ประกอบกับความไม่พอใจคนเกาหลี ทำให้คนผิวดำจำนวนมากในเมืองลอสแอนเจลิสออกมาประท้วง จลาจล และเผาทำลายร้านค้าของชาวเอเชียไปเป็นจำนวนมาก นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคนผิวดำและคนเอเชียยิ่งตึงเครียดมากขึ้นไปอีก

มันจึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเอเชียในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เกิดจากคนผิวดำที่เป็นผู้กระทำ ในกรณีคนไทย 2 คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงก็มีคนผิวดำเป็นผู้ก่อเหตุ นั่นคือ กรณีของ วิชา รัตนภักดี อายุ 84 ปี ที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนอีกคดี คือ ธันยพัตร พิมลจินดาภัทร หญิงไทยวัย 28 ปี ที่ถูกทำร้ายในขณะขับรถสกูตเตอร์[11]

คนเอเชียจำนวนมากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในช่วงหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9-11 โดยเฉพาะคนที่เป็นมุสลิม หรือที่มาจากเอเชียใต้ที่มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนมุสลิม คนกลุ่มนี้หลายคนตกเป็นเหยื่อการข่มขู่ คุกคาม หรือทำร้ายร่างกาย คนมุสลิมที่ไม่ได้มีสัญชาติอเมริกันจำนวนมากถูกเรียกให้เข้ารายงานตัว และส่งกลับประเทศ มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ จากทั้งคนในสังคมและหน่วยงานราชการเอง ตัวอย่างกระแสความเกลียดชังแบบสุดโต่งเห็นได้จากกรณีที่คนอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่นับถือศาสนาซิกข์ผู้หนึ่งถูกยิงเสียชีวิตโดยคนผิวขาวเพียงเพราะเข้าใจว่าผู้ตายเป็นคนมุสลิม คดีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) นี้เป็นหนึ่งในหลายกรณีที่คนเอเชียมุสลิมและที่มาจากเอเชียใต้จะประสบในช่วงหลัง 9-11[12]

 

*โปรดติดตามอ่านบทความนี้ในตอนที่ 2 ที่จะอธิบายถึงการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติกับคนเอเชียในสหรัฐฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

https://prachatai.com/journal/2021/03/92358

 

อ้างอิง

[2] Tansey, Tilli. "Plague in San Francisco: Rats, Racism and Reform." 24 April 2019, Accessed on 20 March 2021, https://www.nature.com/articles/d41586-019-01239-x

[3] “Asian Americans Then and Now.” Asia Society. Accessed on 22 March 2021, https://asiasociety.org/education/asian-americans-then-and-now

[4] คนที่มืเชื้อสายจากละตินอเมริกา

[5] Brockell, Gillian. “The Long, Ugly History of Anti-Asian Racism and Violence in the U.S.” Washington Post. 18 March 2021, 21 March 2021, https://www.washingtonpost.com/history/2021/03/18/history-anti-asian-violence-racism/

[6] Rear, Tom. "The Rock Springs Massacre." 8 November 2014, Accessed on 20 March 2021,   https://www.wyohistory.org/encyclopedia/rock-springs-massacre

[7] Tansey, Tilli. "Plague in San Francisco: Rats, Racism and Reform." 24 April 2019, Accessed on 20 March 2021, https://www.nature.com/articles/d41586-019-01239-x

[8] Barry, Rebecca Rego. "San Francisco’s Plague Years." Science History Institute. 10 September 2019, Accessed on 20 March 2021, https://www.sciencehistory.org/distillations/san-franciscos-plague-years

[9] Smith, Laura. "The War between Vietnamese Fishermen and the KKK Signaled a New Type of White Supremacy." Timeline. 6 November 2017, Accessed on 20 March 2021, https://timeline.com/kkk-vietnamese-fishermen-beam-43730353df06

[10] Wilson, Valerie. "Racial Disparities in Income and Poverty Remain Largely Unchanged amid Strong Income Growth in 2019." Economic Politicy Institute. 16 September 2020, 21 March 2021, https://www.epi.org/blog/racial-disparities-in-income-and-poverty-remain-largely-unchanged-amid-strong-income-growth-in-2019/

[11] ชัยยศ ยงค์เจริญชัย. "ซานฟรานซิสโก จากสวรรค์ของคนเอเชียกลายเป็นเมืองที่ไม่ปลอดภัยหลังคนไทยถูกทำร้ายเสียชีวิต." 19 กุมภาพันธ์ 2564, เข้าถึงเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564,  https://www.bbc.com/thai/56112424.

[12] “Reconciling and Remembering Balbir Singh Sodhi” Interfaith Youth Care. 10 September 2020, Accessed on 21 March 2021,  https://ifyc.org/article/reconciling-and-remembering-balbir-singh-sodhi

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท