Skip to main content
sharethis

ประมงพื้นบ้านระยอง 400 กว่าลำ ยื่นหนังสือถึงภาครัฐและคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ช่วยหาทางเยียวยาผลกระทบถมทะเลโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 

2 พ.ค. 2564 สืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านในพื้นที่ จ.ระยอง ได้ออกมาร้องเรียนโครงการถมทะเลเฟส 3 ของบริษัทกัลฟ์ เอเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดย GULF จับมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อสร้างโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 เว็บไซต์ไทยโพสต์ นายศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน อ.เมือง จ.ระยอง พร้อมชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมาก ได้นำเรือเล็กมาจอดรวมตัวกัน ที่บริเวณชายหาดบ้านตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อร่วมกันเดินทางไปยังหน้า ท่าเทียบเรือมาบตาพุด เพื่อยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ให้ทราบถึงความเดือดร้อน และต้องการได้รับการเยียวยา หลังชาวประมงต่างได้รับความเดือดร้อนต่อโครงการถมทะเลชายฝั่งระยอง

แต่แผนที่วางไว้ต้องล้มเลิก เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทางด้าน นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ผู้อำนวยการ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงได้ประสานกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ว่าฝนที่ตกลงมาเป็นอุปสรรค ไม่สะดวกที่จะลงทะเลไปรับหนังสือคำร้อง จึงขอเดินทางมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ชายหาดบ้านตากวน โดยมี ว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ นายอำเภอเมืองระยอง ตำรวจ สภ.เมืองมาบตาพุด และหน่วยงานที่เกี่ยงข้องทางทะเล ได้เดินทางมาเป็นสักขีพยาน

ซึ่งในการนี้ นายศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน ได้มอบหมายให้ นายอารักษ์ ศิริศรี ที่ปรึกษากลุ่มประมงพื้นบ้านระยอง เป็นผู้ส่งมอบหนังสือ เพื่อนำไปทบทวน และแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมง โดยเนื้อหาในหนังสือมุ่งประเด็นให้ภาครัฐ เยียวยาชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนหนัก โดยให้นำแนวทางของการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง มาเป็นโมเดลในการเยียวยาให้กับชาวประมง ตามสัดส่วนของความเดือดร้อน และระยะเวลาในการดำเนินการของการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด

อย่างไรก็ตาม การมารวมตัวของชาวประมงในวันนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ทางกลุ่มประมงไม่ได้มีเป้าประสงค์ในการขัดขวาง หรือประท้วงไม่ให้มีการถมทะเล เพียงต้องการให้ภาครัฐหันมาพิจารณา ดูแล เยียวยาให้กับชาวประมงพื้นบ้านระยอง ที่กำลังเปลี่ยนวิถีประมง ที่ดำเนินวิถีทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หากเปลี่ยนอาชีพอื่นในเวลานี้ คงเป็นไปไม่ได้ยากแน่นอน เพราะด้วยปัจจัยหลายประการ สุดท้ายเพียงต้องการให้รัฐเข้ามาเยียวยาช่วยเหลือ แบบเดียวกับที่ทางท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการ ให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ชาวประมงก็พอใจแล้ว

 

<< กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านระยองลอยลำกลางทะเลกว่า 400 ลำ  สุดทน!!ยื่นหนังสือช่วยเยียวยา ตั้งคำถามถมทะเลมาบตาพุด 1000 ไร่...

โพสต์โดย Bencha  Saengchantra - เบญจา  แสงจันทร์ เมื่อ วันศุกร์ที่ 30 เมษายน  2021

 

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ด้วยเช่นกันว่านายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีชาวบ้าน กลุ่มผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านจังหวัดระยองได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ ถึงปัญหาการถมทะเลเฟสสามเพื่อทำท่าเรือรองรับโครงการอีอีซีสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศใต้ท้องทะเลการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านของพี่น้องประชาชนจึงได้รวมตัวกันเร่งด่วนจำนวน 450 ลำมายื่นหนังสือให้ชะลอการก่อสร้างในวันที่ 4 พ.ค. นี้โดยวันนี้มีทางตัวแทนของรองผู้ว่าราชการจังหวัดและตัวแทนของการนิคมตัวแทนของภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานมีการพูดคุยเบื้องต้นว่าจะชะลอโครงการไปเบื้องต้นสองเดือนเพื่อหาข้อยุติในโครงการที่จะเกิดขึ้น

โดยนายณัฐชา กล่าวว่ากรณีดังกล่าว เกิดขึ้นจากทางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้มอบสัมปทาน 30 ปี ในการสร้างสัมปทานท่าเรือน้ำลึก เฟสที่ 3 ให้กับ บริษัท กัลฟ์ เอเนอร์จี ดีวอลลอปเมนท์ จำกัด โดยบริษัท กัลฟ์ ได้ว่าจ้าง ให้บริษัท ไชน่า ฮาเบอร์ เป็นผู้ก่อสร้าง โดยขณะนี้มีการก่อสร้างไปเเล้วทั้งเฟส 1 เเละเฟส 2 โดยชาวบ้านที่อาศัยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวไม่ทราบข้อมูลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้กลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้องที่ได้รับผลกระทบ โดยต้องการเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการ เป็นตัวกลางในการเชิญภาคเอกชนเเละผู้เกี่ยวข้องมาชี้เเจงต่อกรณีดังกล่าวเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

ล่าสุด (2 พ.ค.) เว็บไซต์ TNN รายงานว่านายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา มีกลุ่มเรือประมงพื้นบ้าน อ.เมือง จ.ระยอง จำนวนกว่า 400 ลำ เข้ายื่นหนังสือถึงภาครัฐให้ทราบถึงความเดือดร้อนจากโครงการถมทะเลชายฝั่งและต้องได้รับการเยียวยา กนอ.ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่มีความกังวลว่าการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนเอง

ซึ่งในข้อเท็จจริงการดำเนินงานของ กนอ.จะดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งส่งเสริมด้านอาชีพ การศึกษา การอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ กนอ.ได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับการติดตามตรวจสอบและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม (คณะกรรมการไตรภาคี) ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันวิชาการ รวมถึงชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ พร้อมกันนี้ ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กองทุน คือ 1. กองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบยื่นเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกองทุน ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน และให้คณะกรรมการประชุมก่อนกำหนดเพื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

2. กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากโครงการ โดยที่การดำเนินงานของทั้งสองกองทุนเป็นไปตามข้อกำหนดของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental Health Impact Assessment: EHIA)

“การมายื่นหนังสือของชาวประมงเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าทางกลุ่มฯที่มายื่นไม่ได้มีเป้าประสงค์ในการขัดขวางหรือประท้วงไม่ให้มีการถมทะเล เพียงต้องการให้ภาครัฐหันมาพิจารณาดูแลชาวประมงพื้นบ้านระยอง ที่อาจได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ ชาวประมงที่เข้ามายื่นหนังสือต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือแบบเดียวกับที่ทางท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ดำเนินการ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่าง เราจะต้องพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป”

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้เข้าร่วมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลว ในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย เป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย โดยปัจจุบันมีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net