คดีจับนักข่าวพม่าหนีเข้าไทย ศาลแขวงเชียงใหม่เลื่อนฟ้องไป 6 วัน

ศาลแขวงเชียงใหม่เลื่อนฟ้องนักข่าว DVB และผู้ติดตามรวม 5 คน ไปอีก 6 วัน หลังทางผู้ต้องหาต้องการแต่งตั้งทนาย ขณะที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ และสำนักข่าว DVB เรียกร้องไทยไม่ผลักดันนักข่าวกลับประเทศต้นทาง หลังทหารพม่าปราบสื่อมวลชนฝั่งต้านรัฐประหารหนัก

ตราสำนักข่าว DVB ของเมียนมา (ที่มา DVB)
 

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวออนไลน์ CM108 รายงานการจับกุม นักข่าวพม่า สังกัดสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) จำนวน 3 คน พร้อมด้วยผู้ติดตาม 2 คน ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยทั้งหมดถูกตั้ง 1 ข้อหา คือ ลักลอบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับเงินไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดขึ้นศาลแขวงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 เวลา 13.00 น. 

11 พ.ค.64 ผู้สื่อข่าวประชาไท สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สุมิตรชัย หัตสาร ทนายความ ให้ข้อมูลว่า ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ มีคำสั่งเลื่อนฟ้อง นักข่าว DVB 3 คน พร้อมด้วย ผู้ติดตาม 2 คน เนื่องจากผู้ต้องหาต้องการทนายประจำคดี ศาลจึงให้ตำรวจ สภ.สันทราย ทำเรื่องผัดฟ้อง และฝากขังที่ สภ. อีก 6 วัน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งทนายผู้ต้องหาก่อน

ทั้งนี้ โดยกระบวนการกฎหมาย ถ้าศาลพิพากษาตัดสินแล้ว เห็นว่าผู้ต้องหาทั้งหมดผิดจริงตามข้อกล่าวหา ‘ลักลอบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย’ ทั้งหมดจะถูกเปรียบเทียบปรับ และส่งให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ดำเนินการต่อตามมาตรา 54 พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ตม.จะส่งตัวผู้ต้องหากลับออกไปนอกไทยก็ได้

สำหรับ มาตรา 54 พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ระบุว่า คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้

ถ้ามีกรณีต้องสอบสวนเพื่อส่งตัวกลับตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา 19 และมาตรา 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วในระหว่างรอการส่งกลับ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวผู้นั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย

สำนักข่าว DVB และสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ขอไทยไม่ผลักดันนักข่าวที่ถูกจับ กลับประเทศต้นทาง

11 พ.ค.64 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) และ DVB ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่ผู้ต้องหาสังกัด แถลงแสดงความกังวลต่อสถานการณ์นักข่าว และผู้ติดตาม 5 คนที่ถูก ตร.ไทยจับกุม พร้อมเรียกร้องต่อทางการไทย ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน ได้รับการปล่อยตัว และมีสิทธิพักพิงชั่วคราวในประเทศไทยโดยปลอดภัย ต้องไม่ผลักดันสื่อมวลชนทั้งหมดกลับประเทศเมียนมาโดยเด็ดขาด เนื่องจากหวั่นเกรงอันตรายต่อนักข่าว ด้วยที่ผ่านมา กองทัพพม่าปราบสื่อมวลชนฝั่งต้านประรัฐหารหนัก

ขณะที่ทาง DVB ระบุด้วยว่า เรียกร้องให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำกุรงเทพฯ (UNHCR) ให้ความช่วยเหลือนักข่าวและผู้ติดตามทั้งหมด และขอประชาคมโลกร่วมกดดันรัฐไทย ระงับการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน องค์กรภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่าในไทย ออกแถลงการณ์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ของมูลนิธิ ‘Friends without Borders’ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 ถึงกรณีนี้ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า สำนักข่าว DVB ก่อตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยรุ่น 1988 และเป็นสำนักข่าวหลักที่ใช้เสรีภาพสื่อในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่ามาตั้งแต่ปี 1992 (พ.ศ.2535) โดยกระจายเสียงและภาพในภาษาพม่าและอังกฤษจากกรุงออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ก่อนจะกลับเข้าไปตั้งสำนักงานในประเทศพม่าในฐานะ DVB Multimedia Group เมื่อปี 2012 แต่เมื่อกองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมกับการปราบสื่อมวลชนฝั่งประชาธิปไตยอย่างหนัก ทำให้พวกเขาต้องลี้ภัยออกมาจากประเทศพม่ามาที่ไทย

ดังนั้น ทางเพื่อนไร้พรมแดน จึงเรียกร้องให้รัฐไทยไม่ผลักดันนักข่าวกลับไปเผชิญอันตราย อีกทั้ง การผลักดันกลับ อาจทำให้ไทยละเมิดหลักจารีตประเพณีสากล 'การไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญการประหัตประหาร' หรือ Non-Refoulement อีกด้วย  
 
“บุคคลทั้งห้าเป็นสื่อมวลชนผู้มีคุณูปการต่อประชาธิปไตยในพม่า และเป็นผู้หนีภัยจากการประหัตประหาร มิใช่เพียง "คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย" โดยทั่วๆ ไป การเนรเทศพวกเขากลับประเทศพม่า หรือส่งตัวให้แก่เจ้าหน้าที่พม่า คือการส่งกลับไปสู่ความตาย” ข้อความบางส่วนจากโพสต์ข้อความของ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน  

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีประชาชนถูกทางการเมียนมาจับกุมตัวแล้วเกือบ 5,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 73 ราย ถูกดำเนินคดีแล้ว 42 ราย ถูกหมายจับและอยู่ระหว่างหลบหนีอย่างน้อย 22 ราย

นอกจากนี้ สถานการณ์ของสื่อมวลชนฝั่งต้านรัฐประหารพม่ายังไม่สู้ดี เนื่องจากที่ผ่านมา สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) นำโดยคณะรัฐบาลทหารของพม่า ออกคำสั่งริบใบอนุญาตของสำนักข่าว DVB พร้อมด้วยสื่ออื่นๆ อีก 4 แห่ง ทำให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศทันที อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวหลายคนยังยืนหยัดในการทำหน้าที่ต่อ แม้จะตกเป็นเป้าจากรัฐบาลทหารก็ตาม 

ต่อมาในวันที่ 4 พ.ค. รัฐบาลทหาร SAC ออกคำสั่งห้ามรับชมโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียมทั่วประเทศ  แสดงถึงความไม่พอใจของรัฐบาลต่อการรายงานข่าวของ DVB อย่างชัดเจน เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารผ่านสัญญาณจานดาวเทียมจากสำนักข่าว DVB และสำนักข่าว Mizzima ซึ่งได้ถูกรัฐบาลสั่งปิดเช่นกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท