Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมและศาลฎีกาเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และดำเนินการ ‘ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน’

11 พ.ค.2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลเเนล ประเทศไทยรายงานว่า ทางองค์กรส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และดำเนินการ ‘ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน’ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเเละประธานศาลฎีกา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ได้สังเกตการณ์การดำเนินคดีต่อแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเข้าร่วมชุมนุมตลอดระยะเวลาช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองแล้วตั้งเเต่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2564 รวม 635 คน ใน 301 คดี ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งระหว่างการสอบสวน ระหว่างรอการดำเนินตามกระบวนการพิจารณาในศาลชั้นต้น รวมถึงระหว่างรออุทธรณ์คดี ทั้งหมด 18 คน

พบว่าขณะนี้ มีภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะผู้ต้องขังและนักโทษซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานคุมขังอื่นทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งเรื่องสถานที่ในการกักตัว ความรวดเร็วในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ตลอดทั้งการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและทนายความ เฉพาะในปี 2563 สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) รายงานว่า อย่างน้อย 100 ประเทศทั่วโลกมีความพยายามในการปล่อยผู้ต้องขังและนักโทษกว่า 600,000 ราย เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ

แอมเนสตี้กล่าวชื่นชมในความพยายามปฏิบัติตามนโยบายลดการคุมขังโดยไม่จำเป็นทุกขั้นตอน และจัดการให้ผู้ต้องขังและนักโทษได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สภาพของราชทัณฑ์ที่อยู่ในสภาวะ ‘นักโทษล้นคุก’ มาอย่างยาวนาน และการคุมขังบุคคลที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง ทำให้มีนักโทษทางการเมืองรวมอย่างน้อย 7 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากรายงานของกรมราชทัณฑ์ว่ารวมแล้ว ตั้งแต่มีภาวะโรคระบาด ผู้ต้องขังเเละนักโทษอย่างน้อย 200 คน ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เเละเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่

ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลเเนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานประธานศาลฎีกา ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด ทั้งเพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และระหว่างเรือนจำกับประชาชนภายนอก และให้จัดสรรหน้ากากอนามัย สบู่และน้ำสะอาดอย่างเพียงพอให้แก่ผู้ต้องขังและนักโทษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เเละให้ผู้ต้องขังและนักโทษได้รับการดูเเลจากแพทย์ มีสิทธิเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน แยกผู้ป่วยออกจากผู้ต้องขังและนักโทษปกติ พิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ตลอดทั้งดำเนินการ ’ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน’ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเเละประธานศาลฎีกาเองโดยทันที

วันเดียวกันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในวันนี้ทนายความได้รับแจ้งจากทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพว่ามีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 4 คน ซึ่งเป็น 4 ใน 5 คนที่ถูกกล่าวหาว่าทุบรถควบคุมตัวภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์และพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 4 คน ได้แก่ ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ มีเพียงณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ที่ยังไม่ติดเชื้อ พวกเขาทั้ง 5 คน ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมารวมแล้วเป็นเวลา 77 วันแล้วและทนายความก็ยื่นขอประกันตัวพวกเขาไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกัน

นอกจาก ธวัช, ศักดิ์ชัย, สมคิด และฉลวยที่เป็นผู้ต้องขังในคดีการเมืองที่มีรายงานว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ที่ผ่านมายังมีอีก 2 คน คือ ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน และอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน โดยขณะนี้อานนท์รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต ทำให้ขณะนี้มีนักโทษการเมืองที่ยังถูกขังอยู่และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวรวม 6 คนแล้วที่ติดเชื้อโควิด-19

สำหรับ จุลวรรณ เกิดแย้ม ผู้จัดทำกราฟิกนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net