ศาลยกฟ้องคดีไม่รายงานตัวต่อ คสช.ของ 'วรเจตน์' ชี้ 7 ปีกฎหมายเป็นเครื่องมืออำนาจรัฐประหาร

ศาลดุสิตยกฟ้องวรเจตน์คดีไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช.เมื่อปี 57 เหตุศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศ คสช.ที่กำหนดโทษคนไม่เข้ารายงานตัวนั้นขัดรัฐธรรมนูญ วรเจตน์ระบุที่ผ่านมากฎหมายเป็นไปเพื่อเสริมอำนาจคณะรัฐประหาร ด้าน “พูนสุข ศูนย์ทนายฯ” ชี้ถึงประกาศ คสช.ไม่มีแล้วแต่ผู้ลี้ภัยก็ยังอาจกลับไม่ได้ หลังเลือกตั้งยังมีประชาชนถูกคุกคามถึงบ้านรัฐยังเพ่งเล็งคนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ

Chana La ภาพประกอบ

8 มิ.ย.2564 iLaw (ไอลอว์) รายงานว่าที่ศาลแขวงดุสิตมีนัดคำพิพากษาคดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศสาตร์ และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อ โดยศาลพิพากษายกฟ้องโดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 29/2557 และฉบับที่ 41/2557 ที่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวนั้นขัดรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับใช้

วรเจตน์ให้สัมภาษณ์กับไอลอว์ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลผูกพันกับทุกองค์กรประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้คดีของคนอื่นๆ ที่ไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ก็จะไม่มีความผิดด้วยเช่นกัน และคดีของเขาเองศาลก็บอกว่าไม่มีความผิดและคดีของเขาก็ไม่น่าจะมีการอุทธรณ์แล้ว เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยในทางข้อกฎหมายตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในทางข้อเท็จจริงอีกแล้ว และคดีคงจะถึงที่สุดแล้ว

นอกจากนั้น วรเจตน์ยังระบุอีกว่าคำพิพากษาในวันนี้ถือว่าแค่เสมอตัวเท่านั้นไม่ใช่ชัยชนะอะไรเพราะยังมีคนที่อีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบและยังเดือดร้อนกว่าเขาอีกมาก เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ 7 ปีที่ผ่านมาก็มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตอบสนองและเสริมอำนาจการรัฐประหาร แม้การรัฐประหารจะยุติจบสิ้นแล้วมีการเลือกตั้งแต่ก็ยังปล่อยให้คดีเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปและการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการปล่อยให้อำนาจรัฐประหารเข้าสู่ระบบกฎหมายมากที่สุดอีกด้วย

คดีของวรเจตน์ที่มีคำพิพากษาในวันนี้เป็นคดีที่โอนย้ายจากศาลทหารกรุงเทพมาศาลแขวงดุสิตเนื่องจาก คสช.เคยออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เรื่องยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น ส่งผลให้คดีของพลเรือนที่อยู่ในศาลทหารช่วงรัฐบาลทหารกลับมาพิจารณาในศาลยุติธรรมซึ่งคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจขอศาลแขวงดุสิต

หลังจากคดีถูกโอนย้ายมาที่ศาลแขวงดุสิตแล้ววรเจตน์ได้จึงคำโต้แย้งผ่านศาลแขวงดุสิตถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ต่อมา 2 ธ.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ระบุว่าประกาศทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 อย่างเป็นเอกฉันท์ และตุลาการฯ มีมติเสียงข้างมากว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจะออกมาหลังจาก คสช.เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้วและมีการอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อบ้านเมืองอยู่ในความสงบ คสช.จึงได้ออกประกาศกำหนดโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว แต่ในยามบ้านเมืองสงบสุขและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้วที่บัญญัติไว้ไม่ให้มีการลงโทษอาญาต่อบุคคลที่หนักกว่าโทษที่มีบัญญติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ที่ลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานอยู่แล้วที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 วันและปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งประกาศทั้งสองมีการกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วนและยังสูงกว่ากฎหมายที่มีการประกาศใช้อยู่แล้ว

นอกจากนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุอีกว่า ประกาศทั้งสองฉบับยังเป็นการกำหนดโทษย้อนหลัง เนื่องจากมีคำสั่งรายงานตัววรเจตน์ออกมาก่อนแล้วจึงมีประกาศกำหนดโทษต่อผู้ที่ขัดคำสั่งดังกล่าวตามออกมาทีหลัง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 เรื่องความได้สัดส่วนและ มาตรา 29 วรรค 1 ตามหลักนิติธรรมที่ว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย”

คดีจบแต่ผู้ลี้ภัยก็อาจยังกลับบ้านไม่ได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลัง คสช.ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ระบุว่าภายหลังการรัฐประหาร คสช.มีการเรียกรายงานตัวและควบคุมตัวประชาชนทั้งนักการเมือง นักกิจกรรมและประชาชนที่แสดงความคิดเห็นรวมแล้วถึง 930 คน ในเวลา 5 ปีทั้งที่มีการประกาศและไม่ประกาศทางสาธารณะ

ศูนย์ทนายความฯ ยังระบุอีกว่ามีคนที่ถูก คสช.ออกประกาศเรียกทั้งหมด 472 รายชื่อ โดยมีทั้งที่เข้ารายงานตัวเอง ถูกติดตามจับกุม แต่บางคนก็ปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวทำให้มีคนที่ถูกดำเนินคดีจากการไม่เข้ารายงานตัวอย่างน้อย 14 รายในศาลทหารซึ่งบางคดีตัดสินในศาลทหารไปแล้ว อีกทั้งเมื่อคณะรัฐประหารมีคำสั่งเรียกรายงานตัวคนจำนวนมากทำให้เกิดผู้ลี้ภัยการเมืองทั้งจากการปฏิเสธเข้ารายงานตัวและการถูกดำเนินคดีอื่นๆ เช่น คดีจากการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์และคดีเกี่ยวกับอาวุธอย่างน้อย 104 ราย

พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความฯ ให้สัมภาษณ์ว่าจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 และฉบับที่ 41/2557 ขัดรัฐธรรมนูญจะมีผลทางกฎหมายในกรณีของคนที่เคยถูกเรียกรายงานตัวตามประกาศสองฉบับนี้และถูกดำเนินคดีเฉพาะจากการไม่เข้ารายงานตัว ก็จะสามารถกลับมาเคลียร์คดีได้หรือกรณีที่เป็นผู้ลี้ภัยถ้ามีหมายจับถ้ากลับเข้ามาตามชายแดนในทางปฏิบัติจะถูกจับกุมตามหมายจับอยู่ก็เป็นไปได้ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ยกเลิกหมายไปแต่สุดท้ายคดีก็ถูกยกเลิกไป

“แต่ว่ามันจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวกลับมา(ไทย) ได้จริงมั้ย ก็ไม่คิดว่าจะมีผลถึงขั้นนั้นเพราะว่าก็ต้องบอกว่าสถานการณ์จริงคนที่ถือครองอำนาจอยู่ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิมแล้วก็ถึงแม้ว่าไม่มีอำนาจของ คสช. แล้วเนี่ยแต่ว่าเขาก็ยังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการต่างๆ รวมไปถึงวิธีการนอกกฎหมายด้วย”

พูนสุขยกตัวอย่างเช่นการมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามที่บ้านของกลุ่มเป้าหมายก็ยังมีอยู่การดำเนินคดีต่างๆ กับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมก็ยังคงมีอยู่ ทำให้หลายคนที่ลี้ภัยออกไปเพราะถูกเรียกรายงานตัวก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งผู้ลี้ภัยหลายที่ออกไปจะกลับมาหรือไม่ยังไม่เห็นแนวโน้มนั้นในขณะนี้

พูนสุขให้เหตุผลว่า กลุ่มที่ถูกเรียกรายงานตัวคือกลุ่มที่เห็นอย่างชัดเจนว่า คสช.เพ่งเล็งอยู่ทั้งกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ กลุ่มนักการเมือง หรือคนเสื้อแดง ก็มีรายชื่อถูกเรียกรายงานตัวด้วย อย่างเช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หรือกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหายไปก็เป็นผู้ที่ถูก คสช.เรียกรายงานตัวเช่นกัน ซึ่งรัฐเองก็ไม่ได้ทำให้เกิดความไว้วางใจกับประชาชนในเรื่องนี้ได้

1 ปี ‘วันเฉลิม’ หาย: สืบสวนไม่คืบหน้า ไม่รู้ชะตากรรม แต่พบร่องรอยชีวิตในกัมพูชาเพิ่ม

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายไปครบ 1 ปีเมื่อ 4 มิ.ย.2563 ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูก คสช.เรียกรายงานตัว

ส่วนสถิติผู้ที่ถูกคุกคามหลัง คสช.ยุติบทบาทจนเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รายงานครบรอบ 6 ปี คสช.ทำรัฐประหารขอศูนย์ทนายความฯ ระบุว่านับตั้งแต่ 17 ก.ค.2562 – 30 เม.ย.2563 มีประชาชนอย่างน้อย 191 ราย ถูกติดตามคุกคามถึงบ้าน หรือถูกเจ้าหน้าที่พยายามติดตามข่มขู่ผ่านช่องทางต่างๆ บางส่วนเป็นผู้เคยทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและถูกติดตามมาตั้งแต่ยุค คสช. แต่บางส่วนไม่เคยถูกติดตามมาก่อนหน้านี้ เช่นกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมครั้งแรก

หรืออย่างในรายงานครบรอบ 7 ปี คสช. ล่าสุดศูนย์ทนายความฯ ก็รายงานว่ามีการดำเนินคดีการเมืองกับผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกถึง 635 ราย 301 คดี ในช่วงเวลาแค่ 9 เดือนเศษที่ประชาชนออกมารวมตัวกันชุมนุมอย่างต่อเนื่อง (18 ก.ค.63 จนถึงวันที่ 30 เม.ย.64) และเป็นคดีข้อหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 ถึง 88 ราย 81 คดี

“ดังนั้นถึงประกาศ 41/57 จะไม่มีผลทางกฎหมายแล้วแต่ว่าการที่พวกเขาตกเป็นกลุ่มเป้าหมายแล้วรัฐก็ยังอยู่ในอำนาจและใช้วิธีการต่างๆ รวมถึงผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหายไปก็ยังไม่ชัดเจนว่าหายไปด้วยเหตุใดและใครเป็นคนกระทำ พฤติการณ์ต่างๆ เหล่านี้มันยังมีความน่ากังวลอยู่” พูนสุขกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วจะมีทางออกอย่างไร พูนสุขเห็นว่าที่พอจะเป็นไปได้คือเปลี่ยนกลุ่มบุคคลที่ยึดครองอำนาจรัฐอยู่ ความเป็นไปได้ในการสะสางปัญหาในทางกฎหมายหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาถึงจะเริ่มได้

“ตราบใดที่กลุ่มบุคคลที่ยังครองอำนาจเป็นคนกลุ่มเดิมแล้วก็พยายามรักษาดุลอำนาจของตัวเองอยู่มันก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างขยับลำบากเหมือนกัน แต่ก็โอเคที่เห็นเป็นแนวโน้มที่ดีที่ศาลรัฐธรรมนูญก็กลับมายืนบนหลักการในบางเรื่อง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท