Skip to main content
sharethis

11 มิ.ย. 2564 สำนักงานประกันสังคมเลื่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ประกันตน หลังกรมควบคุมโรคชะลอส่งวัคซีนให้สถานพยาบาล อนุทินเผยเตรียมแอสตราเซเนกาให้ประกันสังคม 1 ล้านโดส ถ้าได้รับมอบวัคซีนตามสัญญา ด้าทูตเบลเยียม-ฝรั่งเศสเสนอ สธ. ขอจ่ายค่ารักษา-นำเข้าวัคซีนสำหรับประชาชนของตนเอง ด้าน สปสช. เพิ่มสิทธิตรวจรักษาหลอดเลือดอุดตันหลังรับวัคซีน

ประกันสังคมระงับฉีดวัคซีนโควิด-19 ชั่วคราว เพราะวัคซีนหมด

เดอะสแตนดาร์ด รายงานว่า คนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยโควตาของสำนักงานประกันสังคม ได้รับแจ้งทาง SMS ขอเลื่อนการฉีดวัคซีนไปเป็นตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป ขณะที่หลายคนได้การรับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน้างานให้กลับบ้าน เพราะวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรหมด โดยจากที่สอบถามเจ้าหน้าที่ประกันสังคม ตอนนี้ระงับการวัคซีนชั่วคราว เนื่องจากวัคซีนหมด

รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้รับการประสานงานจากกรมควบคุมโรค แจ้งชะลอการส่งวัคซีนให้สถานพยาบาล เนื่องจากมีการกระจายวัคซีนเพื่อให้วัคซีนทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้การบริหารจัดการวัคซีนไม่คล่องตัว ส่งผลให้ปริมาณวัคซีนบริการผู้ประกันตนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

โดยแจ้งให้วันนี้ขอให้จุดบริการทุกจุดลดจำนวนการให้บริการของคิวนัดเฉพาะวันที่ 11 มิ.ย. ลงให้พอดีกับจำนวนวัคซีนที่เหลือ และขอให้ สปส. เขต แจ้งเลื่อนนัดหมายสถานประกอบการและจำนวนคนที่เหลือออกไปก่อน โดยยังไม่กำหนดวันนัดครั้งต่อไปจนกว่าจะได้รับการประสานใหม่

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 12 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป จะปิดการให้บริการจุดฉีดวัคซีนของประกันสังคมทั้ง 45 จุดเพื่อปรับปรุงระบบ และสถานที่เพื่อการบริการที่ดียิ่งขึ้น และคาดว่าจะเริ่มให้บริการจุดฉีดวัคซีนใหม่ได้วันที่ 28 มิ.ย. 2564

สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,290 คน ตาย 27 คน

ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประจำวันที่ 11 มิ.ย. 2564 ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,290 คน เป็นติดเชื้อใหม่ 1,996 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 294 คน เสียชีวิต 27 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จำนวน 160,965 คน

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด มีจำนวน 189,828 คน หายป่วยสะสม 144,998 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 1,402 คน ส่วนผู้ที่รักษาอยู่ 43,428 คน รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 16,768 คน โรงพยาบาลสนาม 26,660 คน อาการหนัก 1,287 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 352 คน และหายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 5,711 คน หายป่วยสะสมระลอกใหม่ 117,572 คน

เบลเยียม-ฝรั่งเศสเสนอจ่ายค่ารักษา-นำเข้าวัคซีนสำหรับประชาชนตนเอง

ด้านไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม ได้เข้าพบขอให้ประเทศไทยช่วยดูแลรักษาคนเบลเยียม โดยเก็บค่ารักษาจากประกันสังคมของเบลเยียม และขอให้พิจารณาการฉีดวัคซีนโควิด19 ให้คนเบลเยียมที่มีครอบครัวและพำนักในประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงวัคซีน จึงได้ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ โดยแนะนำการลงทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อรับวัคซีน ในโอกาสต่อไป เนื่องจากไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

ส่วนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้หารือเรื่องการนำเข้าวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้แล้ว จำนวน 1 หมื่นกว่าโดส เพื่อฉีดให้คนฝรั่งเศสอายุ 45 ปี ขึ้นไป ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งทางกรมควบคุมโรคเห็นชอบแล้ว จะนำเข้ามาในปลายเดือน มิ.ย. 2564

เตรียมวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ประกันสังคม 1 ล้านโดส ถ้าได้รับมอบตามสัญญา

อนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามความสามารถ เชื่อว่าภายใน 2-3 เดือนจะเห็นผล โดย จ.ภูเก็ต ฉีดไป 60% แล้ว การติดเชื้อ การเจ็บป่วยหนัก และการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฉีดแล้ว 65% คาดว่าจะฉีดกลุ่มเป้าหมายครบทั้งหมดในเวลาอันสั้น จากนั้นจะรายงาน ศบค. เมื่อฉีดครบแล้วและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวตามนโยบายต่อไป

สำหรับการเปิดภาคเรียนวันที่ 14 มิ.ย. นั้น มีการฉีดวัคซีนกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อวันละ 4-5 พันคน หากอนาคตมีวัคซีนของไฟเซอร์เข้ามา จะฉีดในกลุ่มอายุ 12 ปี ขึ้นไป ซึ่งได้ให้กรมควบคุมโรควางแผนประสานความร่วมมือกับทางโรงเรียนเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนแทนนำนักเรียนมายังจุดฉีด โดยนำแพทย์ พยาบาล ไปฉีดถึงโรงเรียน และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาล ยาแก้แพ้ต่างๆ ทำให้มีความสะดวกและคล่องตัวมากกว่า หากวัคซีนซิโนแวคมีผลการศึกษาฉีดได้ถึง 3 ขวบ ก็จะขยายการฉีดด้วยเช่นกัน

อนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งวัคซีนตามแผนของ ศบค. โดยจะจัดส่งให้ประกันสังคม 1 ล้านโดส ในกรณีที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาตามแผน ซึ่งไม่ต้องกังวลเนื่องจากมีสัญญาในการจัดส่งให้ไทยทุกสัปดาห์  ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่จัดส่งให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นความภาคภูมิใจที่วัคซีนผลิตในประเทศได้ไปช่วยต่างชาติ

สปสช. เพิ่มสิทธิตรวจรักษาอาการหลอดเลือดอุดตันหลังรับวัคซีนโควิด-19

ด้านทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ในการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 (Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia : VITT) โดยระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนจำนวนมากนับล้านๆ โดส และคณะกรรมการคาดว่าจะมีผู้มีอาการ VITT หลังฉีดวัคซีนอยู่บ้างแต่จำนวนคงมีไม่มาก

กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า จากการประเมินคาดว่าจะมีอัตราส่วนผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 1 ต่อ 1 ล้านราย แต่เพื่อเป็นการยืนยันว่าประชาชนที่เกิดอาการดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองรักษาอย่างเต็มที่ คณะกรรมการฯ จึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ขึ้นมา

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวต่อว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เป็นการเพิ่มพิเศษเฉพาะกรณี VITT ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน จากปกติที่โรคต่างๆ จะถูกคำนวนน้ำหนักสัมพัทธ์แล้วจ่ายเงินค่ารักษาตาม DRG แต่สำหรับกรณีภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 จะมีงบประมาณแยกต่างหาก ไม่ได้นำไปเหมารวมจ่ายอยู่ใน DRG ด้วย

"เรามีการฉีดวัคซีนและพบว่าอาจมีประเด็นที่อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต อย่างน้อย 1 ต่อ 1 ล้านราย เราก็อยากทำให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง และก็จะมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ข้อมูลอาการผลกระทบที่เกิดขึ้นจะถูกส่งให้ผู้เชี่ยวชาญติดตามประเมินว่าผลกระทบมีมากน้อยแค่ไหน รักษาแล้วเป็นอย่างไร แล้วก็มารายงานสรุปภายใน 1 ปี" รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว 

ทั้งนี้ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 จะแสดงอาการหลังจากได้รับวัคซีนประมาณ 4-30 วัน โดยอุบัติการณ์ของภาวะดังกล่าวอยู่ที่ 1:125,000 – 1:1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีน

สิทธิประโยชน์ใหม่ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นมานั้น จะครอบคลุมการเบิกจ่าย 4 รายการ ได้แก่ 1. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง CBC 2. การตรวจวินิจฉัย Heparin-PF4 antibody (lgG) ELISA assay 3. การตรวจวินิจฉัย Heparin induced Platelet activation test (HIPA) และ 4. ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาภาวะ VITT

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net