Skip to main content
sharethis

"เราเป็นนักร้องอาชีพที่ตกงานมาแล้ว 2 เดือน ทุกงานแคนเซิลหมด รายได้ = 0"

ข้อความข้างต้นเป็นข้อความจากโพสต์หนึ่งในเพจเฟสบุ๊กของ ประกายฟ้า พูลด้วง นักดนตรีอิสระและยูทูบเบอร์ช่อง Prakaifa Channel จากวันที่ 20 พ.ค. 2563 หลังโควิด-19 เริ่มระบาดได้ไม่นานและมีการประกาศปิดสถานบันเทิง โดยเธอยังเขียนข้อความอื่นๆ เพื่อให้กำลังใจคนที่ตกงานและท้อแท้

ต่อมาในวันที่ 26 มิ.ย. 2564 ประกายฟ้าตัดสินใจกระโดดลงมาจากอาคารห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านสะพานใหม่ ญาติเล่าว่าเธอมีความเครียดจากการไม่มีงานและขาดรายได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยก่อนหน้านี้ได้พยายามฆ่าตัวตายมาแล้วหนึ่งครั้ง

รูปของประกายฟ้าถูกนำมาวางเพื่อให้ประชาชนร่วมกันวางดอกกุหลาบเป็นการไว้อาลัยระหว่างกิจกรรมของวงสามัญชนที่บริเวณข้างรัฐสภาเกียกกายเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 64 โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้ประกายฟ้าและนักดนตรีคนอื่นที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และเพื่อให้กำลังใจนักดนตรีที่เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

ประกายฟ้าไม่ใช่คนทำงานดนตรีคนเดียวที่ต้องตกงานในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 และอาจไม่ใช่คนเดียวที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 หลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ถูกระบุว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ของประเทศ สถานบันเทิงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผับบาร์ ร้านเหล้า โรงหนังโรงละคร หรือร้านนวดถูกสั่งปิด เป็นผลให้แรงงานในธุรกิจกลางคืนจำนวนมากตั้งแต่พนักงานเสิร์ฟ พนักงานนวด ไปจนถึงนักดนตรีต้องตกงานอย่างกะทันหัน และไม่ได้กลับมาทำงานอีกจนถึงช่วงปลายปี 2564 – ต้นปี 2565

การตกงานพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้คนทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีจำนวนมากสูญเสียรายได้ หลายรายต้องขายเครื่องดนตรีที่เคยใช้ทำมาหากินเพื่อนำเงินมาประทังชีวิต หรือหาอาชีพอื่นทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง ในขณะที่หลายคนตัดสินใจทิ้งอาชีพนักดนตรีไปโดยสิ้นเชิง

“ล็อกดาวน์ โควิด-19” สึนามิที่สาดซัดคนดนตรี

มงคล สมอบ้าน ปราศรัยที่แยกมิสกวันเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 64 ก่อนตัวแทนสหภาพคนทำงานเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เปิดสถานบันเทิงผับบาร์ในวันที่ 1 ธ.ค. 2564

“ทุกอย่างโดนปิดหมด แม้กระทั่งห้องซ้อมหรืออะไรก็ตามแต่ มันทำให้เราทำอะไรไม่ได้เลย” มงคล สมอบ้าน หรือ “โจ” นักดนตรีกลางคืน เคยแสดงตามร้านและในงานคอนเสิร์ตต่าง ๆ เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อโควิด-19 เดินทางมาถึงประเทศไทย 

องคาพยพต่าง ๆ ในระบบนิเวศของธุรกิจบันเทิงกลางคืนทุกอย่างหยุดชะงักไปตามนโยบายควบคุมโรคด้วยการล็อกดาวน์ของรัฐบาล มงคลเล่าว่าแม้แต่กีต้าร์ในร้านขายเครื่องดนตรียังขายไม่ออก และการที่รัฐสั่งปิดงานกะทันหันทำให้เตรียมตัวลำบาก ในช่วงนั้นใครที่มีเงินเก็บก็ใช้เงินเก็บประทังชีวิตไปก่อน แต่เมื่อเงินหมดก็ต้องไปหางานอย่างอื่น เพื่อนร่วมอาชีพของเขาหลายคนถึงกับต้องขายรถขายบ้าน หรือไปกู้เงินนอกระบบมาใช้

“มันเป็นช่วงเวลาที่ทรมานใจตัวเองที่สุด เพราะว่าเราอยู่หน้างานมาสิบกว่าปี เราเล่นดนตรีมา มันเป็นเรื่องเดียวที่เราทำได้ดีที่สุดแล้ว” มงคลกล่าว

ส่วน กุลจิรา ทองคง หรือ “เอ้” นักร้องนำวง Beagle Hug เล่าว่าในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ เธอเริ่มต้นจากการกินใช้อย่างประหยัดเพราะไม่รู้ว่าจะต้องหยุดงานยาวนานแค่ไหน 

“บางคนมีอาชีพสำรอง มีอาชีพอื่นอยู่แล้ว บางคนทำมาทั้งชีวิต ก็เริ่มหาอย่างอื่นทำที่ตัวเองพอจะทำได้” กุลจิราเล่า

"เอ้" กุลจิรา ทองคง ร่วมแสดงในงาน DEMO EXPO เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 65 ที่ลานคนเมือง

นอกจากทำงานเพลงร่วมกับวง Beagle Hug กุลจิราเป็นนักร้องที่รับงานแสดงตามผับบาร์ต่าง ๆ และในอีเว้นท์เช่น งานแต่งงาน ก่อนการระบาดของโควิด-19 เธอเคยมีงานแสดงอย่างน้อย 4-5 งานต่อสัปดาห์ แต่ช่วงโควิดงานเกี่ยวกับดนตรีมีเพียงหนึ่งหรือสองงานในรอบปี

กุลจิราเล่าว่าเธอต้องไปทำร้านขนมปังกับเพื่อน ของบางอย่างที่มีต้องเอาออกมาขาย และในที่สุดเมื่อเงินเก็บหมดก็ต้องหยิบยืมจากครอบครัว ส่วนเพื่อนนักดนตรีรอบตัวก็ต้องเอาอุปกรณ์ทำมาหาเลี้ยงชีพออกมาขาย หรือบางคนก็ต้องเปลี่ยนอาชีพไป

แต่ที่ทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวด คือคำพูดที่ว่า “ยังพยายามไม่พอ” และการบอกให้นักดนตรีไปหาอย่างอื่นทำ 

“เราไม่ได้บอกว่าเราไม่กระเสือกกระสนนะ หรือบางคนบอกว่ายังพยายามไม่พอ คือคนเราต้นทุนชีวิตไม่เหมือนกัน ความรับผิดชอบที่จะต้องเจอไม่เหมือนกัน บางคนต้องเลี้ยงครอบครัว รายได้ทั้งชีวิตของเขามาจากการเล่นดนตรี แล้ววันหนึ่งค่าใช้จ่ายต่อเดือนเขาอาจจะเยอะมากก็ได้ แล้วคุณก็บอกว่านี่ไง สิ่งที่แก้ปัญหาได้คือการอบบราวนี่” กุลจิรากล่าว

“จ๋าย” อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี ระหว่างการแสดงของวงไททศมิตรในเทศกาลดนตรี พุ่งใต้เฟส เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 66 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ที่มา: ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์)

ด้าน “จ๋าย” อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี นักดนตรีและนักร้องนำวงไททศมิตร เห็นตรงกันว่าการระบาดยาวนานของโควิด-19 เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย และตัวเขาเองที่ก็ไม่ได้เตรียมการรับมือเช่นกัน

“ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราเจอมันคืออะไร” นักร้องนำวงไททศมิตรเล่า “ไม่รู้เลยว่ามันเป็นโรคระบาดที่ยาวนานขนาดนี้ ติดง่ายขนาดนี้”

ถึงจะเป็นศิลปินมีสังกัดและมีชื่อเสียง แต่วงไททศมิตรก็ยังได้รับผลกระทบจากช่วงล็อกดาวน์ เมื่องานดนตรีทั้งหมดถูกยกเลิก 

อิชณน์กรเล่าว่าเมื่อเซ็นสัญญากับค่าย Gene Lab วงไททศมิตรมีการวางแผนการเงินและเก็บเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อหวังไว้ใช้ในกรณีที่มีปัญหาและสำหรับลงทุนในอนาคต เมื่อเกิดโรคระบาดและต้องหยุดงานจึงยังมีเงินมาหล่อเลี้ยงสมาชิกวงและทีมงาน ทำให้ในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ตนก็ยังนึกดีใจที่ได้หยุดพักหลังทำงานติดต่อกันมานาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทรัพยากรที่มีก็ค่อย ๆ ลดลง พร้อม ๆ กับมองการเห็นผลกระทบที่ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น

“มันเจ็บปวดมาก เห็นนักดนตรีเอาเครื่องดนตรีมาขาย เห็นหลายคนต้องไปเปลี่ยนอาชีพ บางคนไม่มีบ้านอยู่เลย” เขาเล่า

อิชณน์กรยังมองว่า การมาของโควิด-19ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงนอกกระแสในไทยต้องหยุดชะงัก ทั้งที่จากหลายปีก่อนหน้าอุตสาหกรรมเพลงนอกกระแสกำลังเริ่มขยับขยายมากขึ้น ด้านศิลปินและผู้จัดกิจกรรม ก็เริ่มมีกลุ่มผู้ชมเป็นของตัวเอง

แรงสั่นสะเทือน ส่งถึงถ้วนหน้า

การระบาดของโควิดไม่เพียงกระทบคนดนตรีเท่านั้น แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดนตรีอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน 

“ลูกศร” วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล สมาชิกวงโฮปแฟมิลี่และเจ้าของธุรกิจเครื่องเสียงให้เช่าเล่าว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจของเธอและสามีที่เคยพึ่งพิงลูกค้าจากต่างประเทศ แทบไม่มีลูกค้าเลย

วฤทธรัชน์เป็นที่รู้จักในฐานะสมาชิกวงโฮปแฟมิลี่ วงดนตรีเพื่อชีวิตที่ผูกพันกับขบวนการภาคประชาสังคมของครอบครัวคนดนตรีที่ประกอบด้วยตัวเธอ พ่อ แม่ และพี่สาว เธอเล่าว่าตั้งแต่เด็ก เธอต้องเดินทางออกทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับครอบครัว และทำอาชีพนักดนตรีกลางคืนมากว่าสิบปี 

“ลูกศร” วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล (คนที่สองจากขวา) ร่วมแสดงกับวงโฮปแฟมิลี่ในกิจกรรมครบรอบ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ลานคนเมือง วันที่ 24 มิ.ย. 65

ในช่วงแรก ๆ ที่มีการระบาดของโควิด-19 วฤทธรัชน์ตัดสินใจหยุดพักงานนักดนตรีกลางคืนเนื่องจากปัญหากล่องเสียงเรื้อรัง และความไม่สบายใจที่จะต้องออกไปทำงานนอกบ้านในสถานการณ์โรคระบาด

ส่วนธุรกิจเครื่องเสียงให้เช่ากับที่เธอทำร่วมกับสามีนั้น เริ่มต้นจากการที่ครอบครัวซื้อเครื่องเสียงขนาดเล็กมาไว้ใช้ในงานแสดงของตัวเอง ต่อมาก็พัฒนาเป็นธุรกิจเมื่อเพื่อนนักดนตรีเริ่มติดต่อมาขอเช่าอุปกรณ์ไปใช้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีการซื้ออุปกรณ์มาเยอะขึ้นเพื่อให้เหมาะกับกิจกรรมหลากหลายขนาดมากขึ้น จนกลายมาเป็นรายได้หลักของครอบครัว 

ธุรกิจของวฤทธรัชน์และสามีได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด แต่เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะล๊อกดาวน์ งานทั้งหมดก็ถูกยกเลิก ในขณะที่งานดนตรีกลางคืนก็ไม่มีเช่นเดียวกัน 

"ทุกคนว่างงานไปพร้อมกันหมดเลย" วฤทธรัชน์กล่าว และเล่าว่าเธอต้องปรับตัวไปรับงานสอนร้องเพลงแบบออนไลน์ หลังงานสอนที่ต้องเจอกันตัวต่อตัวถูกยกเลิก ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการที่เธอถนัดหรือชอบ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ตัวเองยังมีรายได้

"มันฟังดูเหมือนง่ายแต่มันไม่ง่ายเลย มันยากมาก กลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนตัวเองไปเลย" วฤทธรัชน์เล่า โดยอธิบายว่าเธอไม่ได้สอนร้องเพลงออนไลน์เป็นอาชีพมาก่อน และการปรับตัวก็เป็นเรื่องยาก นอกจากนี้เธอยังรู้สึกเหมือนต้องนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ แม้ครูคนอื่นอาจจะถนัด แต่สำหรับเธอการไม่ได้เจอหน้ากันทำให้ขาดการรับ-ส่งพลังงานระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งเธอรู้สึกว่าเป็นความพิเศษของการสอนดนตรีและการสอนออนไลน์ทำให้ขาดความรู้สึกตรงนี้ไป

วฤทธรัชน์ เล่าว่า ผลกระทบจากโควิด-19  ทำให้เธอตัดสินใจขายอุปกรณ์เครื่องเสียงบางชิ้นที่เคยปล่อยเช่า เพราะมองว่าอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกนาน ส่วนพ่อของเธอ (สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล) ก็จำเป็นต้องขายกีต้าร์ที่รักมากไปเพราะไม่รู้ว่าจะต้องอยู่โดยไม่มีงานทำอีกนานแค่ไหน

“เราไม่ได้คิดมาก แต่คิดในเชิงว่าเราผูกพันกับของเหล่านี้” วฤทธรัชน์กล่าว “และจริง ๆ แล้วเราไม่เห็นจำเป็นต้องมาถึงจุดที่เราต้องขายของกินเลย”

ปิดก่อน เปิดทีหลัง ไม่ได้รับการเยียวยา

กุลจิราเล่าว่า 2 ปีที่ผ่านมาเธอและเพื่อนนักดนตรีแทบไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ได้รับเพียงเงินหนึ่งหมื่นบาทหลังมีการออกมาเรียกร้อง ซึ่งเธอมองว่าจริง ๆ แล้วเงินจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอและมีอีกหลายอาชีพในอุตสาหกรรมกลางคืนที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา แม้ในช่วงปลายปี 2565 สถานบันเทิงเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง นักดนตรีเริ่มกลับมามีงานทำ แต่ผลกระทบจากช่วงโควิด-19 อย่างหนี้สินต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้หายไปไหน

ส่วนมงคลเล่าว่า เขาได้เงินเยียวยาทั้งหมด 15,000 บาท ในจำนวนนี้ ห้าพันบาทเป็นเงินเยียวยาที่กองทุนประกันสังคมให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งมักเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ ส่วนที่เหลือเป็นเงินเยียวยาที่ได้รับหลังจากกลุ่มนักดนตรีรวมตัวกันไปเรียกร้องกับภาครัฐ 


ตัวแทนสหภาพคนทำงานสาขานักดนตรีและศิลปินอิสระ ร่วมกับกลุ่มนักดนตรีมีเสียงและกลุ่มหัวกะทิ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เปิดสถานบันเทิงผับบาร์ในวันที่ 1 ธ.ค. 2564 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 64 โดยมีสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ

เมื่อถามถึงการแก้ปัญหา มงคลมองว่ารัฐบาลพยายามจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การเปิดสถานบันเทิงให้เขาและเพื่อนร่วมอาชีพได้กลับไปทำงาน และถึงแม้จะมีการเรียกร้องให้เปิดสถานบันเทิงในวันที่ 1 ธันวา 2564 แต่รัฐก็สั่งเลื่อนไปเป็นวันที่ 15 มกราคม 2565 แทน 

“เราอยากทำงาน เราไม่ได้อยากขอใคร” มงคลกล่าว

สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีทั้งสวัสดิการและการเยียวยา ในสภาวะวิกฤติคนจำนวนมากจึงเลือกหันหลังให้เมืองใหญ่กลับบ้านต่างจังหวัด หรือปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด 

“สิ่งนี้มันไม่ควรเกิดขึ้น มันไม่ควรเป็นวิธีการที่เราต้องเอาตัวรอดด้วยวิธีนี้อย่างเดียว มันควรต้องเป็นรัฐที่ช่วยรับผิดชอบตรงนี้ให้กับฟรีแลนซ์ทุกคน" วฤทธรัชน์ระบุ

อาชีพนักดนตรีที่ยังคงเปราะบาง


“โอม” ปัณฑพล ประสารราชกิจ ระหว่างการแสดงของวง Cocktail
ในเทศกาลดนตรี Monster Music Festival เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 65

“โอม” ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวง Cocktail และหนึ่งในผู้ก่อตั้งค่าย Gene Lab ในสังกัด GMM Grammy มองว่าภาพรวมของความไม่มั่นคงของอาชีพนักดนตรีเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการที่วัฒนธรรมการเล่นดนตรีสดในไทยผูกพันอยู่กับการแสดงในสถานบันเทิง ซึ่งมีด้านดีเนื่องจากทำให้มีโอกาสแสดงสดมาก แต่พื้นที่อย่างสถานบันเทิงเองก็ไม่ได้เปิดสำหรับแนวดนตรีบางแนว ดังนั้นจึงควรมีพื้นที่สำหรับแนวดนตรีที่หลากหลายขึ้นด้วย 

“ตอนนี้เราเริ่มสนใจการเล่นดนตรีในสวน เล่นดนตรีเปิดหมวก แต่นั่นก็ยังกลายเป็นการเล่นในพื้นที่เปิดแล้วเล่น แต่มันไม่ใช่เล่นเป็นวิชาชีพ ทำยังไงให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการฟังดนตรีแบบที่ไม่ผูกพันกับสถานบันเทิง ไม่ได้บอกว่าให้ทำลายวัฒนธรรมเดิม แต่ว่าต้องเพิ่มเพื่อรองรับแนวดนตรีอื่น ๆ ที่จะมาถึงด้วย” ปัณฑพลกล่าว

ในขณะเดียวกัน ค่าตอบแทนของอาชีพนักดนตรียังไม่มากพอที่จะเลี้ยงชีวิตตัวเองได้อย่างยั่งยืน และสังคมก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาดีมากพอที่จะทำให้ศิลปินสามารถมีรายได้ย้อนหลังจากงานของตัวเองในวันที่ไม่มีงานแสดงสด

ผู้ชมยืนฟังดนตรีสดที่หน้าร้าน North Gate Jazz Co-op บาร์แจ๊สในตัวเมืองเชียงใหม่

ในภาพรวม ปัณฑพลมองว่าส่วนหนึ่งของความเปราะบางของอาชีพนักดนตรีในไทยเกิดขึ้นเพราะขนาดของตลาดเพลงที่เล็ก ในขณะที่อาชีพนักดนตรียังคงเป็นอาชีพที่ผูกติดอยู่กับกระแสสังคม ทำให้ช่วงเวลาของการอยู่ในวงการสั้นลง การที่นักดนตรีจะเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาวจึงต้องการรายได้ที่มากขึ้น ดังนั้นการที่ขนาดตลาดใหญ่ขึ้นจะทำให้นักดนตรีมั่นคงขึ้นได้

ด้านอิชณน์กรเห็นตรงกันว่าส่วนหนึ่งที่อาชีพนักดนตรีไม่มั่นคงเป็นเพราะว่าเป็นอาชีพที่ทำงานกับกระแสซึ่งเปลี่ยนตลอดเวลา ในขณะที่ร่างกายของนักดนตรีก็เสื่อมลงไปโดยที่ไม่มีสวัสดิการหรือบำนาญเข้ามาดูแล ถ้าไม่มีแผนการเงินหรือบำนาญที่มารองรับก็จะไม่มีความมั่นคง เพราะคนเราจะทำงานได้ถึงอายุเท่าไหร่ วันหนึ่งก็ต้องเกษียณไป

ขยายตลาดวัฒนธรรม – จ้างงานเป็นธรรม แนวทางอยู่ต่อของคนดนตรี

ผู้บริหารค่าย Gene Lab มองว่าการขยายตลาดจะทำได้ด้วยการส่งออกทางวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะทำให้นักดนตรีหารายได้ได้มากขึ้นแล้ว แต่ยังทำให้มีพื้นที่มากขึ้นสำหรับนักดนตรีรุ่นใหม่ ๆ ด้วย  

“มันจะคึกคักต่อเมื่อทุกคนอยู่ตรงนั้นและทุกคนมีความสุข และทุกคนแข่งกันทำงานเพราะรู้สึกว่าทุกคนทำงานแล้วเป็นประโยชน์ หาเลี้ยงได้ ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง มันจะดีขนาดไหน” ปัณฑพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัณฑพลมองว่าภาครัฐยังคงไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมร่วมสมัยและการส่งออกทางวัฒนธรรมมากพอ เนื่องจากภาครัฐมักให้ความสำคัญกับความเป็นไทยหรือสิ่งที่ถูกนิยามว่าเป็นวัฒนธรรมไทยเดิมเท่านั้น ทั้งที่วัฒนธรรมควรถูกนิยามว่าเป็นผลสะท้อนของความคิดของคนในสังคม


ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลและอดีตมือเบสวง Basher

ด้านปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลและอดีตมือเบสวง Basher กล่าวในงานเสวนา “อนาคตใหม่ (?) วงการดนตรีในประเทศไทย” ที่จัดขึ้นในงาน Future Fest ว่าคนทำงานสร้างสรรค์ในไทยยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ถึงแม้จะเป็นนักดนตรีที่ได้รับเลือกไปแข่งขันที่ต่างประทศ แต่ก็ยังต้องใช้เงินส่วนตัวในการเดินทาง ทั้งที่รัฐควรจะสนับสนุนโดยออกค่าเดินทาง ค่าที่พักให้ และแม้ว่าเราจะมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ CEA แต่ก็ได้งบประมาณเพียงสามร้อยล้านบาท ในขณะที่เกาหลีใช้งบประมาณด้านนี้ถึงหมื่นห้าพันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้เรายังมีอุปสรรคมากมายในระบบราชการ

ปกรณ์วุฒิมองว่าภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานที่เข้าใจเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสนับสนุนการจัดงานต่าง ๆ เพื่อเปิดช่องทางให้ศิลปินที่ไม่มีสังกัดไม่ว่าจะนักดนตรี คนทำหนัง หรือนักออกแบบแฟชั่นได้แสดงผลงาน เพราะถ้าไม่มีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุน หน่วยงานก็คงขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ 

ปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือผู้มีอำนาจในประเทศควรจะต้องเห็นว่าประชาชนสำคัญที่สุดและต้องแบ่งงบประมาณไปให้ประชาชนก่อน และรัฐเองก็ควรเปลี่ยนทัศนคติมามองว่าทุกอาชีพสำคัญ ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างประเทศไทยมาร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในขณะที่หน่วยงานอย่างกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ควรจะสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรมทุกรูปแบบ ไม่ใช่สนับสนุนเฉพาะสิ่งที่มองว่าเป็นไทยเดิม 

นอกจากนี้ปกรณ์วุฒิยังมองว่า ต้องมีการแก้ไขเรื่องการจ้างงานไม่เป็นธรรมระหว่างค่ายเพลงกับศิลปิน เช่น การที่ค่ายเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงของศิลปิน ถ้าจะออกจากค่ายก็ต้องไปเริ่มต้นทำเพลงใหม่ ส่วนสิ่งที่ทำมากลายเป็นทรัพย์สินของบริษัท นอกจากนี้การไปแสดงสดยังมีแรงงานอีกหลายส่วนนอกจากศิลปิน ตั้งแต่คนทำงานด้านเสียงไปจนถึงคนขับรถที่ยังได้ค่าแรงไม่เป็นธรรม

“ถ้าแก้เรื่องการจ้างงานให้เป็นธรรมได้ แก้เรื่องสัญญา แก้เรื่องลิขสิทธิ์ได้ ผมคิดว่ามันคือการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตัวศิลปินที่สังกัดค่ายเอง ส่วนศิลปินที่ไม่สังกัดค่าย ผมก็คิดว่าอย่างที่บอกเปิดเวทีให้เขาเยอะ ๆ มันคือการเพิ่มช่องทางให้เขา เพราะสิ่งหนึ่งที่ค่ายให้ได้คือช่องทาง แต่ถ้าเราเพิ่มช่องทางให้ศิลปินที่ไม่มีค่ายเยอะ ๆ มันก็คือการเพิ่มอำนาจในการแข่งขันของเขาให้มันใกล้เคียงกับศิลปินที่มีค่าย ต้องทำควบคู่กันไป” ส.ส.ก้าวไกลกล่าว

สหภาพแรงงาน ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง


สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทยเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อทวงถามมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 64 (ที่มา: สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย)

หลายเสียงบอกตรงกันว่าการรวมตัวเป็นสหภาพหรือสมาพันธ์สำคัญมากสำหรับการเรียกร้องสิทธิของคนในวิชาชีพดนตรี

อิชณน์กรมองว่าถ้าไม่มีการรวมตัว การเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะคงเป็นไปไม่ได้ถ้าจะให้ภาครัฐมารับฟังนักดนตรีทั่วประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีตัวแทนที่จะรวบรวมเสียงของคนในอุตสาหกรรมนี้เพื่อเอาไปทำงานต่อ นอกจากนี้การมีสมาพันธ์ก็จะปกป้องผลประโยชน์ของคนในอุตสาหกรรมดนตรีได้

ด้านปัณฑพลมองว่า การรวมตัวกันเป็นองค์กรจะทำให้สิทธิของคนทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีได้รับความคุ้มครอง ถ้าเกิดกรณีนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ สหภาพจะสามารถเข้ามาทำหน้าที่เจรจาและปกป้องสิทธิของศิลปินที่เป็นสมาชิกสหภาพ นอกจากนี้สหภาพยังสามารถทำหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับงานดนตรีที่ผลิตออกมาในแต่ละปีที่สืบค้นได้ ซึ่งเขามองว่าจะทำให้คนที่ทำงานเบื้องหลังถูกมองเห็นมากขึ้นด้วย

ปัณฑพลยังหวังด้วยว่านอกจากสวัสดิการพื้นฐานที่ต้องมีแล้ว การมีสหภาพหรือสมาพันธ์จะสามารถเข้ามาสนับสนุนคนทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสียภาษีหรือการวางแผนการเงิน ไปจนถึงตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยดูแลเรื่องการออมทรัพย์

“สิ่งที่ผมอยากเห็นจริง ๆ ในฝันของผมคือวันที่คน ๆ หนึ่งสามารถเขียนได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าฉันเป็นนักดนตรีโดยไม่ต้องเกรงว่าใครจะมองว่าเต้นกินรำกินเลย เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ ชัดเจน” ปัณฑพลกล่าว

สหภาพคนทำงานเปิดคอนเสิร์ตแยกมิสกวัน-ยื่นหนังสือเรียกร้องเปิดผับบาร์ 1 ธ.ค.นี้ตามเดิม, 23 พ.ย. 2564

กลุ่มธุรกิจกลางคืนพร้อมศิลปินชื่อดังทวงถามมาตรการเยียวยาภาครัฐ-'สามัญชน' เปิดเวทีข้างสภาให้กำลังใจเพื่อนร่วมอาชีพ, 1 ก.ค. 2564

กลุ่มคนทำธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงยื่นหนังสือ 8 ข้อเรียกร้องให้รัฐผ่อนปรน-เยียวยาจากโควิด-19, 17 มิ.ย. 2564

กลุ่มนักร้อง นักดนตรีและอาชีพอิสระ พอใจผลการหารือกับภาครัฐ เผยมีลุ้นเงินเยียวยา 3,500 บาท, 1 ก.พ. 2564

ปัณฑพลเล่าว่าการรวมตัวกันช่วงวิกฤตโควิดทำให้คนในอุตสาหกรรมดนตรีมองเห็นกันมากขึ้นเมื่อได้หันหน้ามาพูดคุยกันว่าใครได้รับผลกระทบอย่างไรในสภาวะที่ทุกคนประสบภัยพร้อมกัน ซึ่งเขาเองก็หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรวิชาชีพที่จะสร้างประโยชน์ให้อาชีพนักดนตรี 

หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีฐานข้อมูลที่สืบค้นได้ว่าใครทำอะไรไว้บ้าง โดยฐานข้อมูลดังกล่าวควรได้รับการดูแลโดยหน่วยงานกลางที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่เก็บได้กลายไปเป็นผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง

การทำงานแก้ปัญหาในช่วงโควิด ทำให้ปัณฑพลพบว่าการระบุตัวตนของคนที่ประกอบอาชีพดนตรีในการให้เงินช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ยาก นอกจากนี้คนที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาก็อาจจะใส่ใจปัญหาตรงนี้ไม่เท่ากัน และแต่ละคนก็มีความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ทำให้เขาตั้งคำถามว่านักดนตรีจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหรือให้ข้อมูลกับภาครัฐได้อย่างไร

นำมาสู่คำถามว่า องค์กรภาคประชาชนของคนในอุตสาหกรรมดนตรีตอนนี้เข้มแข็งพอจะเป็นกระบอกเสียงที่พูดแทนคนทำงานได้หรือยัง


กลุ่มนักดนตรีร่วมเดินขบวนในกิจกรรมวันแรงงานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 65

สำหรับมงคล วิบากกรรมช่วงโควิด-19 ผลักให้เขาเข้าร่วมกับสหภาพคนทำงานเพื่อทำให้เกิดการรวมตัวกันของแรงงานในธุรกิจกลางคืน โดยเขาสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้จำเป็นต้องปิดทุกอย่าง และที่จริงก็สามารถหาทางออกร่วมกับภาคเอกชนได้ แต่ภาครัฐกลับไม่ฟังคนทำงาน ทำให้รู้สึกว่าต้องรวมตัวกันเป็นสหภาพเพราะเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นอีก สหภาพจะช่วยแรงงานได้

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ในฐานะสมาชิกสหภาพคนทำงาน มงคลพบว่าแรงงานธุรกิจกลางคืนมีความเปราะบางมาก เมื่อทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายจ้าง แรงงานจึงไม่กล้าส่งเสียงเรียกร้องเพราะกลัวว่าจะเสียงาน เช่นนักดนตรีที่เล่นตามร้านเหล้าหรือร้านอาหารซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีสัญญาจ้างแบบเป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าไปเรียกร้องให้มีการทำสัญญา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่านายจ้างจะเปลี่ยนไปจ้างคนอื่นแทน 

ส่วนสวัสดิการที่ได้รับก็ไม่แน่นอน บางร้านอาจจะมีอาหารให้ หรือให้น้ำดื่ม 1 ขวด แต่ในบางร้าน นักดนตรีอาจจะต้องซื้ออาหารเครื่องดื่มเอง ในขณะที่ค่าตัวก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนักดนตรีกับเจ้าของร้าน และยังมีปัญหาการกดราคาค่าแรงกันเองระหว่างนักดนตรีที่สมัครงานที่ร้านเดียวกัน เวลาเดียวกัน โดยอาจมีวงที่เรียกค่าแรงในอัตราต่ำกว่าอีกวง

ทั้งหมดนี้ทำให้มงคลมองว่าเป็นการยากที่จะชวนคนทำงานธุรกิจกลางคืนมาเข้าร่วมกับสหภาพ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ โดยเขามองว่านอกจากการมีสหภาพจะช่วยให้แรงงานสามารถเรียกร้องด้านนโยบายได้ในระยะยาวแล้ว ยังช่วยเพิ่มแรงกดดันในการเรียกร้องสิทธิและทำให้คนที่ออกมาเรียกร้องปลอดภัยขึ้นด้วย เช่นถ้ามีวงดนตรีที่เรียกร้องการทำสัญญาจ้างแล้วนายจ้างหันไปจ้างวงอื่น แต่นักดนตรีคนอื่นเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแล้วรวมตัวกันเรียกร้องด้วยการไม่รับงานจากนายจ้างคนนั้นก็จะสร้างแรงกดดันให้นายจ้างต้องยอมทำสัญญาได้ หรือถ้านักดนตรีในพื้นที่หนึ่งสามารถรวมตัวกันและกำหนดอัตราค่าจ้างร่วมกันได้ก็จะแก้ปัญหาการกดค่าแรงกันเองได้ แต่ทั้งหมดต้องเริ่มที่การรวมตัว

ถึงแม้ว่ามงคลจะบอกว่าความกังวลของแรงงานที่ไม่กล้าออกมาเรียกร้องหรือเข้าร่วมสหภาพเพราะกลัวจะถูกเลิกจ้างเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่เขาก็อยากให้เพื่อนร่วมอาชีพเข้าใจว่าการรวมตัวทำเพื่อปกป้องสิทธิของเรา ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือไม่ปลอดภัย เพราะสหภาพมีการพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนและพยายามทำให้ทุกคนปลอดภัยที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้นักดนตรีลองเข้ามาร่วมกิจกรรมของสหภาพดูก่อน 

“เราตั้งใจที่จะป้องกันไม่ให้มันเกิดเรื่องราวแย่ ๆ แบบนี้อีก" สมาชิกสหภาพคนทำงานระบุ

รัฐสวัสดิการ เพื่อความมั่นคงของทุกคน

“ปลายทาง ผมว่าเราชนะ” มงคลกล่าว 

คำว่าชนะของมงคลหมายถึงคนไทยจะมีรัฐสวัสดิการดูแล เขามองว่าการระบาดของโควิดไม่ได้กระทบแค่คนกลางคืนแต่กระทบกับทุกคน และสถานการณ์ในต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบได้ว่าทำไมมีการเยียวยา หรือเพราะประเทศเหล่านั้นมีรัฐสวัสดิการหรือเปล่าที่ทำให้ประชาชนสุขสบาย

ส่วนกุลจิรามองว่ารัฐสวัสดิการเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ไม่เพียงแต่อาชีพนักดนตรีเท่านั้น การมีสวัสดิการจากรัฐเช่นการรักษาพยาบาล การเดินทาง หรือการศึกษาจะทำให้ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเธอระบุว่าวงการดนตรีในประเทศจะเติบโตได้มากกว่านี้ถ้าประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิเข้าถึงศิลปะและดนตรี มีเวลาให้ตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นได้จากสวัสดิการที่ดี

Unplugged เสียงเพลงกลางวิกฤติ: โควิด-19 และอนาคตวิชาชีพดนตรี, 9 มี.ค. 2566

สำหรับวฤทธรัชน์ เธอมองว่าอาชีพอิสระอย่างอาชีพนักดนตรีก็ควรจะต้องมีสวัสดิการรัฐและได้รับการช่วยเหลือเยียวยาโดยไม่ต้องไปพิสูจน์ความจน รัฐควรจัดการให้มีการเยียวยาทันทีที่ทุกคนในอาชีพตกงานพร้อมกัน และเพราะไม่มีทั้งสวัสดิการและการเยียวยาจึงเกิดการดิ้นรนเอาชีวิตรอด และคนที่พอจะมีเงินเก็บหรือมีอาชีพอื่น ๆ ก็พอจะเอาตัวรอดได้มากกว่าคนอื่น

วฤทธรัชน์อธิบายว่าบางครั้งอาชีพอิสระถูกมองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกเศรษฐกิจ ทั้งที่จริง ๆ แล้วอาชีพเหล่านี้มีความสำคัญมากกับภาคเศรษฐกิจและสมควรที่จะมีสวัสดิการรัฐรองรับเพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นมีประกันสังคม ประกันสุขภาพ ได้รับสวัสดิการต่าง ๆ เท่ากับคนที่ทำงานประจำในบริษัท 

นอกจากนี้รัฐสวัสดิการยังช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคนทำงาน เช่นตัวเธอเองที่มีปัญหาสุขภาพ แต่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถหยุดทำงานได้เพราะต้องหารายได้ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่น ๆ ที่สูญเสียไป ไม่ใช่เพราะจากโรคโควิดเพียงอย่างเดียวแต่จากปัญหาจิตใจที่เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาในครอบครัวด้วยเช่นกัน รัฐไม่สามารถให้ประชาชนแบกภาระฝ่ายเดียวได้แต่ต้องเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา

“เรามองว่ามันควรมีสวัสดิการรัฐ มันช่วยแบ่งเบาภาระอะไรได้เยอะ" วฤทธรัชน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net