Skip to main content
sharethis

นักข่าวถูกยิงกระสุนยางใน #ม็อบ18กรกฎา ฟ้อง สตช. และผู้บังคับบัญชาตำรวจระดับสูงอีก 3 นาย เรียกค่าเสียหายรวมกว่า 1.4 ล้านบาท และให้ตำรวจขอโทษสื่อมวลชนและประชาชนจากการใช้ความรุนแรงดังกล่าว

6 ส.ค. 2564 วันนี้ (6 ส.ค. 2564) บรรณาธิการ PLUS SEVEN และช่างภาพ The Matter เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.), พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (ผบก.อคฝ.) จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ที่ศาลแพ่ง จากการใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ยิงใส่นักข่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ทั้งสองเรียกค่าเสียหายรวม 1,412,000 บาท และชำระค่าฟลาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ พร้อมขอให้จำเลยทั้งสี่ประกาศขอโทษสื่อมวลชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันรุนแรงและขัดต่อหลักสากล และจะไม่กระทำความรุนแรงหรือปิดกั้นสื่อมวลชน รวมถึงขอโทษประชาชน โดยจะทำงานรับใช้ประชาชนตามอุดมคติของตำรวจ

นอกจากนี้ โจทก์ยังขอให้ผู้บังคับบัญชาทั้งสามบังคับบัญชาตำรวจภายใต้สังกัดของตนให้ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติด้านการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมเปิดเผยชื่อตำรวจที่ใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่ผู้สื่อข่าว

คดีนี้สืบเนื่องจาก #ม็อบ18กรกฎา ที่ประชาชนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกองทัพ รวมถึงนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนหลักสำหรับป้องกันโควิด-19

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ บรรณาธิการพลัสเซเวน (PLUS SEVEN) และชาญณรงค์ เอื้ออุดม ช่างภาพเดอะแมตเทอร์ (The Matter) ทำหน้าที่รายงานข่าวจากภาคสนามโดยมีบัตรประจำตัว และสวมปลอกแขนแสดงตนว่าเป็นผู้สื่อข่าวอย่างชัดเจน

ธนาพงศ์ถูกเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่บริเวณสะโพกขวา ขณะยืนรวมกลุ่มกับผู้สื่อข่าวจากสำนักอื่นบริเวณศาลท่านท้าวมหาพรหม แยกผ่านฟ้าลีลาศ โดยไม่มีการแจ้งเตือน ทำให้เขาเสียการทรงตัวล้มกระแทกพื้น ส่วนชาญณรงค์ถูกยิงกระสุนยางใส่แขนซ้าย ขณะรายงานข่าวอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนราชวินิต มัธยม โดยไม่มีประกาศเตือนเช่นกัน

ทั้งคู่ยืนยันว่าขณะถูกยิง ผู้ชุมนุมบริเวณนั้นไม่มีท่าทีจะก่ออันตราย แต่ตำรวจก็ยังใช้อาวุธยิงใส่โดยไม่แยกแยะ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ และมีเจตนาทำร้ายผู้สื่อข่าวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมที่ถูกกระสุนยางยิงใส่บริเวณใต้ตาด้วย

โจทก์ยังขอให้ศาลศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามตำรวจใช้ความรุนแรงแก่สื่อมวลชน ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนและประชาชน และห้ามสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักสากล จนกว่าคดีจะพิพากษา

ต่อมาเวลา 17.15 น. ที่ห้องพิจารณา 602 ศาลแพ่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้บังคับบัญชาตำรวจ จำเลยที่ 3-4 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากได้รับการยกเว้นความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ส่วนการขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวขณะทำข่าวการชุมนุมวันที่ 7 ส.ค. 2564 และการชุมนุมอื่นในอนาคต ศาลแพ่งเห็นว่า เป็นการอ้างเหตุในอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเป็นเพียงการคาดการณ์ของโจทก์ จึงไม่มีเหตุสมควรให้สั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากไม่มีเหตุฉุกเฉินตามคำร้อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net