แนวร่วม มธ. และกลุ่ม WeVo ร้อง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริงคนถูกยิงจาก #ม็อบ14พฤศจิกา64

ตัวแทนกลุ่ม WeVo และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยื่นหนังสือต่อ กมธ. พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการส่วนร่วมของประชาชน ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา64 ถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดที่บริเวณหน้าสถาบันนิติเวชวิทยา ถ.อังรีดูนังต์ จนได้รับบาดเจ็บรุนแรง พร้อมนำภาพถ่ายการยิงกระสุนยางที่มีประกายไฟมากผิดปกติมาแสดงต่อสื่อ ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการดัดแปลงอาวุธหรือไม่

1 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. รัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษกกลุ่ม We Volunteer และตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการส่วนร่วมของประชาชน ให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้อาวุธปืนและความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 14 พ.ย. 2564 ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 ราย โดยมีปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. เป็นผู้รับหนังสือ

จากไลฟ์ของ The Reporters ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ผู้ยื่นหนังสือในวันนี้มีจุดประสงค์ให้ กมธ. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งมีข้อสันนิษฐานถึงการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ตรงตามหลักสากลและเป็นการใช้ความรุนแรงเกินเหตุ ด้านตัวแทนจจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกล่าวว่าตามที่สื่อมวลชนรายงานว่ามีผู้ชุมนุมถูกยิงโดยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดจากฝั่งเจ้าหน้าที่ บริเวณหน้าสถาบันนิติเวชวิทยา ถ.อังรีดูนังต์ ต่อมามีรายงานว่าหนึ่งในผู้บาดเจ็บถูกยิงจากกระสุนยาง ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตัวของผู้ชุมนุมที่ถูกยิงอย่างมาก เพราะกระสุนยางเจาะทะลุผิวหนังและฝังอยู่ในร่างของผู้ชุมนุมจึงเป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจดัดแปลงอาวุธปืนให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะปกติแล้วหากโดนยิงด้วยกระสุนยางจะไม่มีบาดแผลหรือบาดเจ็บมากถึงเพียงนี้

ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่ามีภาพประกายไฟออกจากปืนยิงกระสุนยางซึ่งประกายไฟดังกล่าวมีความรุนแรงมากเกินกว่าปกติ และจากการสืบหาพยานหลักฐานต่างๆทางกลุ่มพบว่าภาพที่นำมาแสดงในวันนี้คือภาพของการยิงกระสุนยางที่ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บหนักตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเราต้องการให้ กมธ. เรียกตำรวจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาให้การเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว

ขณะที่ รัฐภูมิ โฆษกกลุ่ม WeVo กล่าวว่า การยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ในกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมามีความผิดปกติ ทั้งเรื่องประกายไฟและบาดแผลที่ลึกกว่าถูกยิงด้วยกระสุนยางปกติ ทางกลุ่ม WeVo และทางกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงมีความเห็นตรงกันว่าควรใช้ช่องทาง กมธ. เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาสอบสวนหาข้อเท็จจริง และเพื่อเป็นการวางรากฐานว่าการชุมนุมไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรงเสมอไปทุกครั้ง และไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทุกครั้ง เพราะที่ผ่านมา การชุมนุมที่ทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันจัดก็เป็นการชุมนุมโดยสันติมาตลอด

รัฐภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่าในการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถต่อรองและเจรจากับผู้ชุมนุมได้ ซึ่งก่อนเกิดเหตุก็มีการเจรจาขอเดินผ่านเส้นทางดังกล่าวเพื่อไปสถานทูตเยอรมนีแล้ว ตนจึงสงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเลือกใช้อาวุธซึ่งมาจากภาษีประชาชน เพื่อทำร้ายประชาชน ส่วนกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลแถลงในทำนองที่ว่าผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงนั้น รัฐภูมิกล่าวว่าต้องมาดูข้อเท็จจริงของทั้งสองฝั่ง ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนและสื่อมวลชนสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ว่าข้อเท็จจริงใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ปดิพัทธ์ กล่าวว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในชั้น กมธ.พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เกิดขึ้นครั้งแรกจากกรณีที่มีเยาวชนถูกยิงที่หน้าสนดินแดงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564  จากการรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นำโดยณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการ ร่วมด้วย พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล พบว่าหลักฐานที่คณะกรรมการเก็บมาได้นั้นมีความแตกต่างกันมากพอสมควรกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตามยังไม่มีผู้รับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวและเยาวชนคนนั้นก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว

“เวลาที่มีการปราบปรามการชุมนุมก็จะมีข้อมูล 2 ชุด จากเจ้าหน้าที่รัฐและจากผู้ชมรมคณะกรรมการของเราก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยหลักฐานทั้งหมดส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจถ้ามีความบริสุทธิ์ใจก็ ต้องนำหลักฐานของตัวเองมาพิสูจน์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือน้อยมาก” ปดิพัทธ์กล่าว

ปดิพัทธ์กล่าวทิ้งท้ายว่าบรรยากาศที่ประชาชนถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่สื่อมวลชนเองที่ถูกคุกคามระหว่างปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมนุม หรือล่าสุดที่เพิ่งมีคำสั่ง กสทช. ห้ามนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ล้วนแต่เป็นบรรยากาศที่ไม่ดีทั้งสิ้น และขัดต่อแนวทางการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม กรรมการชุดนี้ยืนยันจะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จต่อไป พร้อมฝากไปถึงสื่อมวลชนว่าต้องช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย แต่หากนำสื่อเสนอข่าวอย่างเสรีไม่ได้ก็จะส่งผลเสียต่อทุกฝ่ายด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นอกจากการทำงานในฐานะคณะกรรมการใน กมธ. แล้ว พรรคก้าวไกลก็จะใช้กลไกลรัฐสภาในการหาทางออกและสร้างพื้นที่พูดคุยที่ปลอดภัยให้กับทุกฝ่าย ส่วนในกรณีนี้ เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการแถลงต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท