ชวนรู้จักปัญหา 'ไรเดอร์' มุมแรงงานสัมพันธ์ที่ยังคลุมเครือ และแนวแก้ไข-คุ้มครองในทางกฎหมายที่อาจต้องถกอีกยาว

สัมมนาออนไลน์ 'ปัญหาสิทธิไรเดอร์' จัดโดย ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ลำปาง เชิญตัวแทน 3 ฝ่าย 3 มุมมอง ได้แก่ รัฐ นักวิชาการ และไรเดอร์ มาร่วมถกเถียงถึงปัญหาของไรเดอร์ จากสถานะแรงงานที่คลุมเครือ ระหว่าง 'ลูกจ้าง' และ 'จ้างทำของ' และรัฐควรจะคุ้มครองสวัสดิภาพของไรเดอร์ด้วยกฎหมายได้อย่างไร หรือต้องถกอีกยาว

การประท้วงค่ารอบของไรเดอร์ 'ไลน์แมน' เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 (ภาพโดย ภาพโดย Chana La)

ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ระลอกสามกำลังระบาดรุนแรง คาดว่าประชาชนหลายคนอาจเคยใช้บริการไรเดอร์รับ-ส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อความสะดวกสบาย และหลีกเลี่ยงการออกจากเคหะสถาน ลดโอกาสติดเชื้อไวรัส 

แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่อันตราย มีความเสี่ยงสูง แต่เข้าไม่ถึงสวัสดิการและการคุ้มครองจากภาครัฐ ตลอดจนต้องเผชิญกับความไม่ธรรมจากบริษัทแพลตฟอร์มที่ใช้อำนาจประดุจนายจ้าง ทั้งๆ เรียกไรเดอร์ว่า ‘พาร์ทเนอร์’ 

ความอัดอั้นนำมาสู่การรวมตัวประท้วง บ.แพลตฟอร์มของกลุ่มอาชีพไรเดอร์บ่อยครั้งตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในประเด็นต่างๆ อย่างค่ารอบที่ไม่เป็นธรรมและมีการเปลี่ยนนโยบายโดยพลการ บทลงโทษที่ไม่มีกระบวนการสอบสวน สวัสดิการอุบัติเหตุที่ขาดหายทั้งที่เป็นงานเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน และอื่นๆ 

เพื่อให้เข้าใจปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 64 ทางศูนย์นิติศาสตร์ โครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จัดสัมมนาทางวิชาการออนไลน์ ในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาสิทธิแรงงานนอกระบบของกลุ่มรับส่งอาหาร (Rider)” เพื่อให้ประชาชนเข้าใจปัญหาไรเดอร์ในมุมของนิติสัมพันธ์และกฎหมายแรงงาน ตลอดจนการเสนอวิธีแก้ปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญ โดยสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรมาให้ความรู้และถกเถียงด้วยกัน 3 คน ประกอบด้วย 

  • คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์ 
  • พรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 
  • ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน
  • ปัญหาของไรเดอร์ตอนนี้คือความคลุมเครือของแรงงาน ที่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นลูกจ้าง หรือจ้างทำของ แต่ในขณะที่คลุมเครือ ไรเดอร์ก็ถูก บ.แพลตฟอร์ม เอาเปรียบเหมือนเป็นนายจ้างไปแล้ว
  • ตีความแรงงานไรเดอร์เป็น 'ลูกจ้าง'? แก้ปัญหาสวัสดิการ
  • ตัวแทนจากกรมสวัสดิการฯ มองสถานะของไรเดอร์อาจต้องพิจารณาเป็นเคส โดยเฉพาะไรเดอร์ที่ทำงานเป็นพาร์ตไทม์ เลือกเวลาทำงานไม่แน่นอน ทำงานหลายแอปฯ อาจถูกตีความว่ามีอิสระ และเข้าข่ายเป็น ‘จ้างทำของ’ ซึ่งตอนนี้ทางภาครัฐกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่
  • ศุภวิช เสนอรัฐต้องมีการกำหนดขั้นต่ำให้ไรเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง สวัสดิการ หรือประกันอุบัติเหตุ บางส่วนสามารถโยนให้บริษัทเอกชนร่วมรับผิดชอบได้ และรัฐควรเปิดช่องทางการรวมกลุ่มของไรเดอร์ ให้มีการรวมตัวเรียกร้องอย่างถูกกฎหมาย  
  • เรย์ สหภาพไรเดอร์ สะท้อนไม่อยากให้สถานะ ไรเดอร์ มีความคลุมเครือ เพราะเป็นการเปิดช่องให้ บ.แพลตฟอร์มเอาเปรียบ  

รู้จักไรเดอร์ในมุมนิติสัมพันธ์ 

ก่อนเริ่มเข้าประเด็นถกเถียงเรื่องการคุ้มครองไรเดอร์ในมุมนิติศาสตร์-กฎหมายแรงงาน ศุภวิช ศิริกาญจน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน และวิทยากรวันนี้ เกริ่นทำความเข้าใจไรเดอร์ในมุมนิติสัมพันธ์ก่อนว่า ไรเดอร์มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และในกฎหมายนั้น ไรเดอร์ถือเป็นลูกจ้างแบบไหนกันแน่ 

ในทางกฎหมาย การจะบอกว่าเป็นผู้ใช้แรงงานหรือไม่ ต้องมีที่มาจากฐานสัญญาจ้างแรงงานก่อน ถ้าไม่เกิดเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ก็จะบอกว่าเป็นลูกจ้างตามกฎหมายไม่ได้ อันนี้คือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และแน่นอนว่าการที่เราทำงาน และได้เงิน ก็อาจไม่ได้เป็นการจ้างแรงงาน ไม่ได้เข้าเกณฑ์กฎหมายการคุ้มครองแรงงาน 

ที่มาที่ไปของอาชีพไรเดอร์นั้น เริ่มมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีแอปพลิเคชันขึ้นมาเป็นตัวกลางเพื่อจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จ้าง และแรงงาน เช่น ผู้จ้างต้องการใช้บริการพนักงานรับ-ส่งพัสดุมา ก็ระบุความต้องการตนเองผ่านระบบแอปฯ และไรเดอร์ที่สมัครงานกับแอปฯ นั้น ก็จะสามารถกดรับงานได้ ทำงานส่งของ และรับเงิน ดังนั้น จะเห็นว่า แอปฯ ทำงานเป็นตัวกลางดึงความต้องการของสองฝ่าย คือ ผู้จ้าง และแรงงานเข้ามาเจอกัน

ศุภวิช ศิริกาญจน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน (ที่มา เพจศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
 

ลักษณะการทำงานของไรเดอร์นี้ ก็ไปสอดคล้องกับแนวทางการทำงานปัจจุบันที่เรียกว่า "Gig Economy" ซึ่งเป็นการทำงานที่ไม่ได้เป็นความสัมพันธ์การจ้างทำงานที่เป็นระยะยาว หรือถาวร แต่เป็นการทำงานระยะเวลาสั้นๆ หรือเราอาจคุ้นเคยในชื่อ ‘Independent Worker’ หรือแรงงานอิสระ ฟรีแลนซ์ คือรับเป็นจ๊อบๆ ทำเสร็จ ส่งงาน และรับเงิน จบไป

ช่วงเริ่มต้นของอาชีพไรเดอร์ คนส่วนใหญ่ก็เข้ามาทำงานเป็นลักษณะงานเสริมมากกว่า ทำแบบชั่วคราว แต่พัฒนาการของอาชีพนี้เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไรเดอร์เป็นงานที่รายได้ดี คนก็เริ่มหันมาทำเป็นงานประจำมากขึ้น โดยไรเดอร์มีระยะเวลาทำงานอาจจะทำทั้งวัน หรือเป็นรายได้หลักในการหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว 

เมื่อมาดูที่แนวคิดด้านกฎหมายแรงงานของไทย จะแบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ คือ แรงงานลูกจ้าง หรือชื่อเล่น ‘แรงงานในระบบ’ เช่น พนักงานออฟฟิศบริษัทเอกชน พนักงานโรงงาน อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ลักษณะงานเหล่านี้ 

กลุ่มที่สองคือ 'แรงงานจ้างทำของ' แรงงานอิสระ หรือชื่อเล่นคือ 'แรงงานนอกระบบ' ในกฎหมายไทย จะมองว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ไม่ได้ทำงานตามเวลา หรือสังกัดหน่วยงาน บริษัท หรือนายจ้างคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น สถาปนิกที่รับเขียนงานแบบบ้านเป็นรายคน โปรแกรมเมอร์ที่รับทำงานเป็นจ็อบๆ ไม่ได้สังกัดบริษัทใด หรือนายจ้างคนใดคนหนึ่ง ถ้ามีงานเข้ามา และเราสนใจทำ ก็สามารถรับงานได้ 

ถ้าจัดหมวดหมู่ตามกฎหมาย ไรเดอร์อยู่ในหมวดหมู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งความแตกต่างระหว่างแรงงานใน และนอกระบบ การคุ้มครองแรงงานในระบบจะมีการคุ้มครองมากกว่า ที่เป็นแบบนี้ เนื่องจากบริษัทเอกชน หรือหน่วยงาน ที่ลูกจ้างสังกัดมีการทำระบบระเบียบ ข้อมูล หรือการจัดส่งภาษีให้ภาครัฐ ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นการช่วยลดภาระของภาครัฐในการทำงานไปในตัว เช็กข้อมูลได้ง่ายกว่า 

ขณะที่นอกระบบ ลักษณะการทำงานคือแรงงานเป็นนายตัวเอง รับงานเป็นชิ้นๆ จัดการด้วยตัวเอง ระบบรัฐอาจตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้น กฎหมายจึงบอกว่ากฎหมายการคุ้มครองแรงงานก็อาจไม่เท่ากัน  

ตีความแรงงานไรเดอร์เป็น 'ลูกจ้าง'? แก้ปัญหาสวัสดิการ 

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการรวมตัวของกลุ่มไรเดอร์ เพื่อเรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ และความเป็นธรรมในหลากหลายประเด็นต่อบริษัทแพลตฟอร์ม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่คืบหน้าเท่าใดนัก เมื่อพิจารณาจากนิติสัมพันธ์ของแรงงานที่ว่า ไรเดอร์ ยังเป็นแรงงานจ้างทำของในกฎหมายไทย ในทางหนึ่ง บ.แพลตฟอร์มก็ไม่ต้องมีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลแรงงานมากเท่าใดนัก 

ดังนั้น วิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มสิทธิ-สวัสดิการของไรเดอร์ได้นั้น คือการปรับแก้กฎหมายให้มีการตีความไรเดอร์ เข้าเป็นแรงงาน 'ลูกจ้าง' เพื่อให้ไรเดอร์ได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

เมื่อถามว่า แท้จริงไรเดอร์ สามารถเป็น “ลูกจ้าง” ได้หรือไม่ คำตอบของศุภวิชคือ "ได้" ถ้าบริษัทแพลตฟอร์ม มองตนเองในฐานะผู้ประกอบการ หรือเป็นผู้จ้าง แต่โดยทั่วไป บริษัทแพลตฟอร์มจะไม่ค่อยยอมรับไรเดอร์เป็นสัญญาจ้างแรงงาน เพราะมันทำให้ บ.มีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับเพิ่มมากขึ้น ไรเดอร์ก็จะเข้าเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งโดยทั่วไปกฎหมายนี้จะกำหนดภาระหน้าที่ให้ฝั่งนายจ้างต้องดำเนินการอะไรบ้าง เช่น สวัสดิการ หรือกรณีลูกจ้างเจ็บป่วย นายจ้างต้องเข้าไปเยียวยาอะไรบ้าง หรือมีข้อกำหนดต่างๆ

การประท้วงของไรเดอร์ ที่ จ.เชียงใหม่

ดังนั้น บริษัทแพลตฟอร์มก็จะตีความว่า ไรเดอร์ ไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็น ‘พาร์ตเนอร์’ และบริษัทแพลตฟอร์มก็จะบอกว่า สิ่งที่เขาทำไม่ใช่การจ้างงาน แต่เป็นตัวกลางที่ทำให้ฝ่ายผู้จ้างงาน และคนทำงานมาเจอกันเท่านั้นอย่างที่ได้กราบเรียนไปข้างต้น งานของบริษัทแพลตฟอร์ม คือ ตัวกลางอำนวยความสะดวกมีเท่านั้น 

สำหรับมุมมองของศุภวิช ที่ว่าแรงงานไรเดอร์ ถือเป็นแรงงานสัญญาจ้างหรือไม่ ศุภวิช ระบุ เขามีมุมมองว่า ‘ไรเดอร์สามารถเป็นแรงงานสัญญจ้าง’ ได้ เนื่องจากบริษัทแพลตฟอร์มปัจจุบัน มีอำนาจบังคับบัญชาไรเดอร์อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อมีเรื่องการใช้อำนาจจาก บ.แพลตฟอร์มต่อไรเดอร์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ก็จะสามารถตีความว่า “ไรเดอร์อยู่ในสัญญาจ้างแรงงาน”  

ศุภวิช กล่าวต่อว่า ถ้าไปดูในสัญญาของ บ.แพลตฟอร์มที่ให้ไรเดอร์ยอมรับ เมื่อก่อนนั้นสามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน’ เมื่อไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน ในทางกฎหมายจะไม่สามารถเอา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.เงินทดแทน หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานเข้าไปจับไม่ได้ 

แต่ว่าระยะหลัง กลับพบว่ารูปแบบสัญญามีการเปลี่ยนไป ตัวแพลตฟอร์มหรือแอปฯ มี “อำนาจในการบังคับบัญชาตัวไรเดอร์” อย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง เทียบกับการทำงานออฟฟิศ พนักงานทำงานดีหรือไม่ ต้องเสนอให้กับนายจ้าง ทีนี้นายจ้างก็จะมาดูว่างานที่ทำถูกต้องหรือไม่ ถ้าทำไม่ถูกไม่ดี ก็จะสั่งให้พนักงานกลับไปแก้ไข ซึ่งตรงนี้เป็นอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง 

เมื่อมาเปรียบเทียบกับกรณีของไรเดอร์ เมื่อก่อนจะไม่มีการบังคับเลยว่า ไรเดอร์จะรับงาน หรือไม่รับงานก็ได้ ไม่มีบทลงโทษตามมา แต่ภายหลัง มีลักษณะการบังคับมากขึ้น เช่น ถ้าไรเดอร์ไม่รับงาน จะต้องถูกระงับสัญญาณเป็นเวลา 24 ชม. ซึ่งมันไม่ใช่การบังคับโดยตรง แต่มันสร้างแรงจูงใจให้ต้องทำงาน หรือกรณีการประเมินงานไรเดอร์ ถ้าส่งช้า ประเมินไม่ดียังไง ตัวแพลตฟอร์มก็จะไปประเมิน ส่งผลต่อค่าจ้าง และอัตราการรับงาน 

“แม้ว่ามันจะไม่ใช่การใช้อำนาจโดยตรง แต่อันนี้มันคืออำนาจบังคับบัญชา หรือมันสร้างแรงจูงใจว่า ถ้าคุณไม่ยอมทำตามนี้ รายได้คุณก็ลดนะ เพราะฉะนั้น คุณจะต้องทำอะไรบางอย่าง... ตอนนี้ถ้าความสัมพันธ์เป็นในรูปแบบที่ผมเรียนจริงๆ เริ่มมีอำนาจบังคับบัญชามากขึ้น เห็นนัยสำคัญแล้ว ผมมองว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ไรเดอร์ พาร์ตเนอร์ ก็แล้วแต่ ไรเดอร์ก็ต้องได้รับการคุ้มครองเต็มที่ (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน)” ศุภวิช กล่าว  

อย่างไรก็ตาม ศุภวิช ระบุมีจุดที่ต้องพิจารณาเพิ่มว่า ถ้าไรเดอร์เข้ามาอยู่ในสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ก็ต้องแลกมากับภาระหน้าที่ที่ต้องทำให้นายจ้าง ซึ่งอาจไม่ได้มีอิสระเหมือนอย่างเคย 

ไรเดอร์เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง ต้องพิจารณาเป็นเคส

อย่างไรก็ตาม พรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้ว่า กฎหมายไทยยังไม่มีการชี้ชัดว่า “ไรเดอร์ ้เป็นแรงงานสัญญาจ้าง หรือจ้างทำของ” ซึ่งต้องดูที่ข้อเท็จจริงแต่ละเคส ซึ่งในบางเคสสามารถพูดได้ว่าเป็นการจ้างแรงงาน หรือบางเคสกล่าวได้ว่าเป็นจ้างทำของ 

พรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ที่มา เพจศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
 

ยกตัวอย่าง กรณีที่ต้องเป็นแรงงานที่ทำงานเป็นประจำ ไรเดอร์ที่ทำงานเป็นงานประจำ ทำ 8.00-16.00 น. และอาจมีไรเดอร์ทำเป็นงานพาร์ตไทม์หลังเลิกงาน ซึ่งสองกลุ่มนี้ไม่สามารถระบุเจาะจงได้ว่า สองกลุ่มนี้เป็นแรงงานนิติสัมพันธ์ที่เหมือนกัน 

พรสุดา ชี้แจงว่า การจะเป็นแรงงานในสัญญาจ้าง หรือหัวใจหลักคืออำนาจบังคับบัญชา ทางกรมสวัสดิการฯ พิจารณาจากการมีเวลาทำงานที่เจาะจงชัดเจน และทำงานอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา  

"ไรเดอร์ทำงานประจำเลย ทำ 8 โมง เลิกเย็น และมีไรเดอร์บางส่วนทำแค่ระยะเวลาสั้นๆ พาร์ตไทม์ ซึ่งเราอาจพูดไม่ได้ว่า คนสองกลุ่มนี้มีลักษณะนิติสัมพันธ์ที่เหมือนกัน 

"เมื่อพิจารณาข้อสัญญาที่อาจมีแนวโน้มลงโทษลูกจ้างได้ มีการระงับการให้บริการ ถ้าสมมติไรเดอร์ทำผิด บ.แพลตฟอร์มอาจบล็อกสัญญาณไรเดอร์ชั่วคราวได้ ประเด็นนี้เมื่อพิจารณาจากลักษณะการทำงาน และอำนาจบังคับบัญชาแล้ว ก็อาจจะมองได้ว่า กรณีนี้อาจจะเป็นจ้างแรงงาน

"ถ้าสมมติมองอีกมุมมองหนึ่ง ที่ทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ คือหลังเลิกงาน 17.00-20.00 น. ถ้าจะบอกว่าคนกลุ่มนี้ ถึงแม้จะมีลักษณะงานที่คล้ายๆ กัน แต่จะบอกว่าคนกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นลูกจ้าง คงจะดูไม่ใช่สักเท่าไรนัก ยังมีความเป็นอิสระประมาณหนึ่ง (ผู้สื่อข่าว - ในการเลือกเวลาทำงาน) อาจเป็น 'จ้างทำของ' (Gig Economy) มากกว่า" พรสุดา กล่าว 

นอกจากนี้ พรสุดา ชี้แจงว่า เมื่อพิจารณาจากกรณีศึกษาของต่างประเทศอย่างอังกฤษ มลรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และที่อื่นๆ ก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าใดต่อการตัดสินว่าไรเดอร์นั้น เข้าข่ายเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างหรือไม่ 

ที่ประเทศออสเตรเลีย มีหลักกฎหมายคล้ายไทย คือแบ่งสถานะแรงงานออกเป็น 2 ประเทศ คือ ลูกจ้าง และจ้างทำของ โดยผู้ตรวจการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Ombudsman) ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องสวัสดิภาพการทำงานของแรงงานออสซี่ เคยตัดสินว่าไรเดอร์ของแอปฯ Uber Eat เป็น ‘จ้างทำของ’ หรือ ‘Sub Contractor’ 

หลักการพิจารณาของออสเตรเลียเหมือนในไทยอีกเช่นกัน คือดูที่อำนาจบังคับบัญชาว่า บ.แพลตฟอร์มมีอำนาจเหนือไรเดอร์ชัดเจนหรือไม่ โดยศาลออสซี่ตีความว่า การล็อกอิน-เอาต์แอปฯ ของไรเดอร์เมื่อไหร่ก็ได้ การรับงานจากหลายๆ แอปได้พร้อมกัน รวมถึงการไม่ต้องใส่ยูนิฟอร์มทำงาน ทำให้ไรเดอร์มีอิสระมากๆ จนเกินกว่าจะพูดได้ว่ามีอำนาจบังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม นี่เป็นคำตัดสินเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ผู้ตรวจการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม คณะกรรมการเดียวกันตัดสินว่า ไรเดอร์ของ บ. Deliveroo ซึ่งเป็น บ.หลักของ Uber Eat เป็นจ้างทำของ

เคส เนเธอร์แลนด์ เจาะจงไปว่า ไรเดอร์เป็น “Employees” ไปเลย แต่ก็มีการระบุเพิ่มว่าต้องพิจารณาเป็น เคส บาย เคส หรือแล้วแต่กรณี 

กรณีศึกษากฎหมายมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ชื่อว่า ‘California Assembly Bill 5’ (AB5) สาระสำคัญของกฎหมายตัวนี้คือกำหนดว่า แรงงานใน บ.แพลตฟอร์ม ตีความยืนพื้นแต่แรกว่า ถือว่าเข้าเกณฑ์สถานะ ‘ลูกจ้าง’ โดยทันที ซึ่งมีผลบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามมา 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายตัวนี้ก็ถือว่าเป็นประเด็นโต้เถียงอย่างมาก เนื่องจากแม้จะมีกฎหมายออกมาแล้ว แต่ทาง บ.แพลตฟอร์มก็เพิกเฉย และตีความว่าไรเดอร์ ไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นพาร์ตเนอร์ต่อไป โดยอ้างว่าการที่กฎหมายบอกไรเดอร์เป็นลูกจ้าง มันจะตามมาซึ่งสิทธิ์การจ่ายลูกจ้างย้อนหลังเป็นจำนวนมาก ซึ่ง บ.แพลตฟอร์มรับไม่ไหว และทางบริษัทเดลิเวอรีจะไม่ดำเนินการต่อไปในแคลิฟอร์เนีย 

ดังนั้น ทางบริษัทแพลตฟอร์ม จึงรวมตัวกันเขียนข้อเรียกร้อง ชื่อ Proposal 22 ส่งไปที่เจ้าหน้าที่ทางการของแคลิฟอร์เนีย เพื่อยืนยันว่าให้ไรเดอร์เป็น ‘จ้างทำของ’ แต่ทางบริษัทยืนยันว่าแพลตฟอร์มจะมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องของสวัสดิการเพิ่มขึ้นเป็น 120% ให้ประกันอุบัติเหตุ มีการกำหนดสวัสดิการต่างๆ ที่เหมาะสม แต่ภายใต้เงื่อนไขเดิมคือเราจะขอไม่นิยามคนที่ทำงานกับ บ.เดลิเวอรีว่าเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย สุดท้าย ก็ขึ้นไปสู่การเปลี่ยนให้ บ.เดลิเวอรี ยังสามารถตีความไรเดอร์ว่าเป็น พาร์ตเนอร์ หรือจ้างทำของได้ต่อไป

จากกรณีต่างประเทศ พรสุดา จึงสำทับว่า ทางไทยจึงอยากจะศึกษาให้รอบคอบก่อน เนื่องจากการออกกฎหมาย หรือตีความไรเดอร์เป็น 'ลูกจ้าง' จะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า เมื่อสังเกตจากกรณีศึกษาการตัดสินคดีแรงงานในต่างประเทศ ก็มีแนวโน้มว่าอนาคตจะมีการตัดสินให้ไรเดอร์มีสถานะแรงงานเป็น 'ลูกจ้าง' มากกว่า 'จ้างทำของ'

ไรเดอร์เข้ากฎหมายคุ้มครองใด-ภาครัฐช่วยอย่างไรเมื่อถูกละเมิดสิทธิ

สำหรับไรเดอร์ (ที่ตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินว่าเป็นลูกจ้างหรือไม่) เข้ากฎหมายคุ้มครองแรงงานข้อใดบ้าง พรสุดา ระบุว่า ไรเดอร์ถ้าถูกระบุว่าไม่ใช่พนักงานตามนิยามกฎหมายแรงงาน ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ แต่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอิสระ อย่างประกันสังคม มาตรา 40 หรือสามารถใช้สิทธิรวมตัวตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อ บ.แพลตฟอร์มได้ เพียงแต่ว่าพอไม่ใช่การรวมตัวตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ จะไม่สามารถใช้ชื่อสหภาพได้  

 

ในด้านการช่วยเหลือไรเดอร์จากภาครัฐ พรสุดา ระบุเพิ่มว่า ภาครัฐโดยเฉพาะกรมสวัสดิการฯ ระบุถึงบทบาทการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาไรเดอร์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น และระยะยาว  

ในระยะสั้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างไรเดอร์ กับบริษัทแพลตฟอร์ม หรือลูกค้า ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ 

ในระยะยาว ทางกรมฯ กำลังศึกษาและพิจารณาออกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาให้ความคุ้มครองสิทธิของไรเดอร์ ที่ทำงานอิสระ และนอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณามาตรการอีกหลายตัว เพื่อให้การคุ้มครองไรเดอร์ โดยเฉพาะประกันอุบัติเหตุ ตัวแทนกรมสวัสดิการฯ ระบุว่า ทางภาครัฐกำลังพิจารณาข้อบังคับให้ บ.แพลตฟอร์มทำประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ทุกคน อาจจะเป็นในรูปแบบหักเงินบางส่วนจากค่าลงทะเบียนสมัคร แล้วไปทำประกันให้ไรเดอร์ทุกคน

กำหนดขั้นต่ำโดยแก้กฎหมายฝ่ายบริหาร

ศุภวิช ระบุว่า ไรเดอร์อาจไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมาย แต่อยากเห็นผลที่เป็นรูปธรรมว่า จะมีการคุ้มครอง หรือสวัสดิการอะไรบ้าง 

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแรงงาน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม มาตรฐานขั้นต่ำบางอย่างรัฐจะต้องเป็นผู้กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบไรเดอร์ เช่น ประกันอุบัติเหตุ ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือจะมีการกำหนดขอบเขตอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง ส่วนจะทำเป็นกฎหมายชั้น พ.ร.บ. นิติบัญญัติ หรือชั้นบริหาร อาจมีการหารืออีกที 

“การแก้กฎหมายควรแก้ในขั้นบริหาร เป็นลักษณะของกฎกระทรวง หรืออื่นๆ เพราะเร็ว แก้ไขได้ง่ายกว่า ซึ่งต่างกับการตรากฎหมายในชั้นนิติบัญญัติอาจใช้เวลานานเกินไป เพราะมีกระบวนการขั้นตอนที่วุ่นวาย ต้องผ่านสภาฯ และอื่นๆ ปัจจุบัน เทคโนโลยีรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว อาจเกิดการจ้างที่มีกระบวนการซับซ้อนมากขึ้น และเทคโนโลยีการทำงานที่มากขึ้นไปก่อนแล้ว กว่ากฎหมายจะเสร็จออกมา ก็อาจจะตามไม่ทัน และต้องออกกฎหมายแก้ตามมาต่อเนื่อง ไม่หยุด

“ส่วนตัว เห็นควรว่าไม่ควรออกเป็นกฎหมายใหม่ เห็นว่าสามารถเพิ่ม หรือแก้ทับใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ได้ อันนี้คือความเห็นส่วนตัว ในทางปฏิบัติอาจจะต้องมีความเห็นในวงกว้างมากกว่านี้” ศุภวิช ระบุ 

เรื่องสวัสดิการ ต้องแยกเป็นสองส่วน คือ ส่วนของสวัสดิการจากนายจ้าง หรือ บ.แพลตฟอร์ม ซึ่งเห็นด้วยว่าไรเดอร์ ควรมีการไปเรียกร้องจากบริษัทแพลตฟอร์มได้ เนื่องจากเขาเป็นลูกจ้าง กับอีกส่วนคือสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งก็คือประกันสังคม ม. 40 อยากชวนให้ไรเดอร์ สมัครประกันสังคม ม. 40 ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิประโยชน์จากรัฐ แต่รายละเอียด มันคงมีการดูแลอะไรบางอย่างที่ไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ศุภวิช เสนอคืออยากให้ไรเดอร์มีการประสานการทำงาน หรือให้ข้อมูลกับฝั่งรัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปออกแบบนโยบายได้ตรงโจทย์มากยิ่งขึ้น

อีกวิธีคือให้ภาครัฐขอข้อมูลจากเอกชน ถ้าเป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ภาคเอกชนจะไม่ค่อยให้ข้อมูลเนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจ รัฐอาจให้ประโยชน์ในรูปแบบภาษี เพื่อแลกกับข้อมูล ซึ่งถ้าขอข้อมูลได้ ภาครัฐจะสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้เป็นฐานรองรับ เพื่อออกกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐต้องหนุนการรวมตัว

สุดท้าย แม้ว่าการรวมตัวกันประท้วงเรียกร้อง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ แต่ศุภวิช มองว่า อยากให้รัฐมีกฎหมายที่สนับสนุนการรวมกลุ่มของไรเดอร์อย่างแท้จริง เพื่อให้ไรเดอร์สามารถเรียกร้องตามวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุยกันได้ มีเวทีให้เขาแสดงความคิดเห็น มีกฎหมายรองรับสถานะ รวบรวมเสียงเพื่อเรียกร้องเจรจาไกล่เกลี่ย 

“รัฐอาจต้องเปิดช่อง หรืออำนวยความสะดวกในการที่จะมีช่องทางในการที่เราจะสามารถรวมตัวกัน เพื่อไปเรียกร้อง และข้อเรียกร้อง ก็จะมีกระบวนการที่ตามมา ขั้นตอนรับฟัง เจรจา มีการไกล่เกลี่ย และสุดท้าย ถึงขั้นที่อาจจะต้องมีมาตรการบังคับอะไรตามมาเพื่อให้มีการตกลงว่าจะได้หรือไม่ได้ และก็มาคุยกันด้วยเหตุผล แต่แน่นอนผมไม่เห็นด้วยว่าถ้ามันยังไม่มีมาตรการตัวบทเฉพาะ ต้องมีกฎหมายให้สอดคล้องกับการทำงานของธุรกิจที่อยู่บนแพลตฟอร์ม และสุดท้าย ลูกจ้างอาจจะเป็นการไปตกลงกับ บ.แพลตฟอร์ม” ศุภวิช กล่าว 

เสียงสะท้อนจากไรเดอร์ ที่ไม่อยากให้สถานะ ‘คลุมเครือ’ 

เรย์ จากสหภาพไรเดอร์ และเป็นวิทยากร ร่วมสะท้อนความเห็นจากคนทำงานไรเดอร์ กล่าวว่า อยากให้มีกำหนดสถานะของไรเดอร์ให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ 

เรย์ จากสหภาพไรเดอร์ (ที่มา เพจศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

เรย์ สะท้อนต่อว่า สำหรับตน คิดว่าบริษัทแพลตฟอร์มกำลังฉกฉวยผลประโยชน์จากไรเดอร์โดยใช้สถานะความคลุมเครือ ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนกฎหมายระเบียบโดยพลการ กฎระเบียบเมื่อ 4 ปีที่แล้ว กับปัจจุบันไม่ใช่กฎหมายระเบียบเดียวกัน สะท้อนผ่านกดยกเลิกงานที่เมื่อก่อนสามารถยกเลิกงานได้ไม่มีบทลงโทษ แต่ตอนนี้กดยกเลิกงาน ไรเดอร์จะถูกระงับสัญญาณทำงานเป็นเวลา 24 ชม. 

กรณีแอปฯ หนึ่งเรียกเก็บเงินไรเดอร์ จำนวน 200 บาทต่อคน เพื่อทำงานในระบบ โดยอ้างว่าจะคืนให้เมื่อมีการปิดบัญชีไรเดอร์กับ บ. แล้วต้องไม่กระทำผิดร้ายแรง ซึ่งไม่ทราบว่าอาศัยกฎหมายข้อใดในการใช้อำนาจ นายจ้างก็ไม่ใช่ พาร์ตเนอร์รึเปล่าไม่แน่ใจ 

เรย์มองว่า ถ้าปล่อยให้คลุมเครือแบบนี้ต่อไป ไรเดอร์จะถูกเอาเปรียบ เลยอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยดูกฎหมายที่คุ้มครองไรเดอร์ได้แล้ว ให้สวัสดิการมันดีขึ้น ให้มันชัดเจน เป็นรูปธรรม 

สุดท้าย เรย์ เสนอไปในแนวทางเดียวกับทางศุภวิช อยากให้ภาครัฐมีกฎหมายที่สนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงานโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นลูกจ้าง หรือจ้างทำของ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง หรือ บ.แพลตฟอร์มได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท