Skip to main content
sharethis

'ไม่ได้เรียน เข้าไม่ถึงการรักษา คนทั่วไปมองไม่เห็น'

สรุปเสวนาออนไลน์ว่าด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเด็ก-เยาวชนข้ามชาติที่มากกว่าแค่เรื่องเจ็บปวดทางกาย แต่ยังมีเรื่องจิตใจ โอกาสทางการศึกษาที่หลุดลอย เข้าไม่ถึงระบบการรักษา และการแก้ปัญหาระยะยาว อาจอยู่ที่การจัดหาวัคซีนโควิด-19 อย่างครอบคลุมไม่แบ่งแยก  

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 64 องค์กร Save the Children พร้อมด้วยเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MGW) ชวนเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ มาร่วมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘สถานการณ์การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19 : สถานการณ์ ผลกระทบ และทางออก’ 

การบรรยายนี้จะทำให้ประชาชนมองเห็นว่า เด็กข้ามชาติในไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากกว่าที่คิด ทั้งเรื่องปัญหาทางด้านจิตใจ ความรุนแรงภายในครอบครัวที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การหลุดออกจากระบบการศึกษา จนอาจกลายเป็นแรงงานตั้งแต่อายุน้อย และทางแก้ที่สำคัญ อาจอยู่ที่การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึงทุกคนในไทย อย่างไม่มีการแบ่งแยก

  • ภาพรวมปัญหาเด็กข้ามชาติช่วงโควิด-19
  • ปิดแคมป์ก่อสร้าง ส่งให้เด็กเครียด-หลุดจากการศึกษา 
  • การศึกษาระบบออนไลน์ที่เด็กข้ามชาติอาจเข้าไม่ถึง 
  • เด็กข้ามชาติมีแนวโน้มเป็นเหยื่อความรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19
  • รัฐต้องช่วยเหลือด้านจิตใจเยาวชนข้ามชาติ-จัดหาวัคซีนให้ทั่วถึง 

ภาพรวมปัญหาเด็กข้ามชาติช่วงโควิด-19 

อดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ และพิธีกรของงานเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจภาพรวมปัญหาผลกระทบช่วงโควิด-19 ต่อเด็กข้ามชาติ 

วงเสวนาออนไลน์ หัวข้อ สถานการณ์การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19 : สถานการณ์ ผลกระทบ และทางออก
 

อดิศร เกริ่นเบื้องต้นว่า กลุ่มเด็กข้ามชาติในสังคมไทยที่กำลังพูดถึง หมายถึงเด็กหรือลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ (3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา) ที่เกิดในไทย กลุ่มเด็กที่เข้ามาพร้อมหรือตามหลังพ่อ-แม่ที่มาทำงานที่ไทย และจดทะเบียนในฐานะผู้ติดตาม สุดท้าย คือ เด็กกำพร้าที่ไม่มีพ่อ-แม่ หรือพ่อ-แม่อาจเสียชีวิตในช่วงโควิด-19 รวมถึงเด็กที่เดินทางเข้ามาเองเพื่อมาทำงานในไทย หรือหาการคุ้มครองบางอย่าง

จากสถิติล่าสุดนับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) มีเด็กข้ามชาติในไทยติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้ว อย่างต่ำ 4,202 คน แบ่งเป็นชาวพม่า 2,640 คน กัมพูชา 1,184 คน และลาว 1,183 คน 

ขณะที่ภาพรวมปัญหาเรื่องการคุ้มครองเด็กข้ามชาติในช่วงโควิด-19 นั้น อดิศร ระบุว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก

ด้านสุขภาพ อดิศร ระบุว่า เด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีประกันสุขภาพ เข้าไม่ถึงการตรวจโควิด-19 และการดูแลรักษาสุขภาพ และขาดอุปกรณ์ป้องกัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในเรื่องการดูแลสุขภาพมีราคาสูง แรงงานข้ามชาติไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่าย นอกจากนี้ ที่พำนักของแรงงานข้ามชาติในไทยส่วนใหญ่อยู่กันอย่างแออัด ทำให้เด็กมีความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ด้านการศึกษา เด็กข้ามชาติจำนวนมากเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ ขณะที่ในช่วงที่โรงเรียนหรือศูนย์การเรียนถูกปิดชั่วคราว เด็กไม่ได้ไปเรียน ทำให้ต้องอยู่บ้าน ครอบครัวต้องแบ่งคนมาดูแลลูก ทำให้ขาดแรงงานไปหาเงินเข้าบ้าน ส่งผลให้รายได้น้อยลง 

การที่โรงเรียนหรือศูนย์การเรียนปิดไม่มีกำหนดทำให้เด็กข้ามชาติต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่อไปทำงานช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย และสุดท้าย เด็กบางส่วนกลับบ้านเกิดช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่เมื่อมีวิกฤติโรคระบาด รัฐสั่งปิดชายแดน ทำให้เด็กที่กลับบ้านไปก่อนหน้านี้ เดินทางกลับเข้ามาเรียนที่โรงเรียนฝั่งไทยไม่ได้  

ด้านการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ พบว่ามีปัญหาเนื่องจากช่วงโควิด-19 หน่วยงานที่ดูแลเรื่องทะเบียนราษฎร มีความกังวลใจเรื่องโควิด-19 ก็ชะลอการแจ้งเกิดเด็ก ส่งผลให้เด็กข้ามชาติจะไม่มีเอกสารแสดงตน และส่งผลให้ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ รวมถึงเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ได้  

ต่อมา เนื่องจากชายแดนปิด ทำให้เด็กไม่สามารถเดินทางเข้ามาไทยได้อย่างถูกกฎหมาย และเด็กต้องจำยอมลักลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้นายหน้า ซึ่งเสี่ยงถูกเอาเปรียบ 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในช่วงโควิด-19 แรงงานข้ามชาติหลายครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เด็กหลายคนต้องมาทำงานตั้งแต่อายุน้อย เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และตัวเอง

ปิดแคมป์ก่อสร้าง ส่งให้เด็กเครียด-หลุดจากการศึกษา 

หลินฟ้า อุปัชฌาย์ ผู้จัดการโครงการสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโควิดในประชากรข้ามชาติ 5 จังหวัด กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม จากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมสะท้อนปัญหาเด็กข้ามชาติได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์ก่อสร้างทั้งทางกายและจิตใจ

 

มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างของรัฐไทย หลายคนอาจเข้าใจว่าเพิ่งมีการบังคับใช้เมื่อปลายเดือน มิ.ย.-1 ส.ค. 64 ตามคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 25 แต่หลินฟ้า ระบุว่า มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างเริ่มมีการใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 64 ในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 

ดังนั้น มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างจะถูกบังคับใช้รวมระยะเวลา 4 เดือน มาตั้งแต่ พ.ค.-1 ส.ค. 64 แต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่ใช่ทุกแคมป์จะได้เปิดพร้อมกัน ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขปลดล็อกดาวน์เพิ่มว่า แคมป์ที่กลับมาทำงานได้ ภายในแคมป์ฯ ต้องมีอัตราผู้มีภูมิคุ้มกันแล้วเกิน 85% ของแรงงานที่อยู่ในนั้น อาจจะเกิดจากการได้รับวัคซีน หรือแม้แต่มีผู้ติดเชื้อแล้ว และก็มีการตรวจภูมิคุ้มกันโดยภาครัฐ  

ในด้านผลกระทบต่อเด็กข้ามชาติจากมาตรการล็อกดาวน์แคมป์คนงาน เด็กข้ามชาติที่ต้องอยู่ในแคมป์ที่ถูกปิดจะได้รับผลกระทบมากกว่าแค่เรื่องของอาหาร แต่มีเรื่องของจิตใจ และความเครียด จากการที่ไม่ได้วิ่งเล่นหรือทำกิจกรรม เนื่องจากพื้นที่แคมป์ก่อสร้างบางส่วนถูกแบ่งไปมาตรการทำ ‘Bubble and Seal’ คือถ้าพบว่ามีคนไหนมีความเสี่ยงสูง จะถูกไปกักตัวในส่วนนั้น หรือกรณีแย่สุด มีแรงงานป่วยโควิด-19 แต่ที่โรงพยาบาลไม่มีเตียง ก็ต้องเอาแคมป์มาทำเป็นจุดพักคอย นอกจากนี้ เด็กข้ามชาติต้องหมกตัวอยู่แค่ในห้องขนาด 3x3 ตารางเมตร หรือขนาดเทียบเท่าเสื่อโยคะ 8 ผืน ร่วมกับผู้ปกครอง หรือคนอื่นๆ

ปัญหาต่อมา คือเนื่องจากภาวะเตียงเต็มในโรงพยาบาล ทำให้แคมป์ฯ ถูกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือทำพื้นที่ Bubble and seal ชั่วคราว และเด็กต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อโควิด-19 จากในแคมป์ที่พัก      

สุดท้าย ผลกระทบจากการปิดแคมป์ส่งผลต่อการศึกษาของเด็กข้ามชาติด้วย เนื่องจากเด็กข้ามชาติออกจากแคมป์ฯ ที่ถูกล็อกดาวน์ไม่ได้ ก็จะไม่ได้ไปโรงเรียน  

การศึกษาออนไลน์ที่เด็กข้ามชาติอาจเข้าไม่ถึง

ศิราพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน มาร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ช่วงโควิด-19’ ซึ่งการบรรยายของเธอจะเผยให้เห็นว่า นักเรียนข้ามชาติที่ไม่มีหลักฐานขี้นทะเบียน หรือเอกสาร เป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษาอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

ศิราพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน
 

ผลกระทบในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เด็กนักเรียนข้ามชาติบางส่วนหายไปจากระบบการศึกษาไทย โดยจากการสำรวจจำนวนนักเรียนข้ามชาติในศูนย์การเรียนรู้ทั้งหมด 67 ศูนย์ใน 5 อำเภอของ จ.ตาก เมื่อเดือน ก.พ. 64 พบว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีนักเรียนหายไปจำนวน 720 คน หรือ 8% จากจำนวนนักเรียนที่เคยลงทะเบียนที่ศูนย์การเรียนรู้ปีการศึกษา พ.ศ. 2562-2563 ทั้งหมด 9,360 คน

ศูนย์การเรียน คือ เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มที่อยากจะเรียนภาษาพม่า โดยใช้หลักสูตรพม่าผสมผสานกับหลักสูตรไทย 

ศิราพร เผยว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักเรียนข้ามชาติหายไป เนื่องจากมีเด็กข้ามชาติบางส่วนเดินทางกลับบ้านที่พม่าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดหนักทั้งในพม่าและไทย ภาครัฐก็มีมาตรการด่านปิดชายแดน ทำให้เด็กที่กลับบ้านไปก่อนหน้านี้ไม่สามารถกลับมาเรียนโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนใน อ.แม่สอดต่อได้ ส่งผลให้ต้องหยุดเรียนกลางคันในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลเดียว เพราะการปิดศูนย์การเรียนรู้เป็นเวลานาน รวมถึงการปรับการเรียนมาเป็นในรูปแบบออนไลน์ ทำให้เด็กหายไประบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 

ศิราพร กล่าวต่อว่า ในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 ในพื้นที่ จ.ตาก ส่งผลให้ศูนย์การเรียนรู้ของนักเรียนข้ามชาติถูกปิดอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้นักเรียนไม่มีที่เรียน และการสอนต้องปรับเข้าสู่โหมดออนไลน์เต็มระบบ 

อย่างไรก็ตาม การสอนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางด้านการศึกษาเป็นทุนเดิม หลายคนขาดแคลนทุนทรัพย์และอุปกรณ์การเรียนอย่างสมาร์ทโฟน หรือบางคนไม่มีเงินจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต ก็ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ 

แม้ว่าช่วงปีการศึกษา 2563 ศูนย์การเรียนก็ถูกปิดเช่นกัน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่รุนแรงมาก และยังไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ในชุมชน อาจารย์เคยปรับมาใช้วิธีการสอนแบบ ‘Home-based learning’ คืออาจารย์จะลงพื้นที่เข้าไปสอนเด็กถึงข้างในชุมชน เอากิจกรรมต่างๆ ไปให้ทำ และให้เด็กทำ worksheet ส่งเป็นงานเก็บคะแนน วิธีนี้ช่วยบรรเทาปัญหาสำหรับเด็กที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ได้ แต่ในปี 2564 คืออาจารย์ไม่สามารถลงชุมชนได้เลย เนื่องจากรัฐมีคำสั่งล็อกดาวน์ชุมชนอย่างเข้มข้น ทำให้มีทางเลือกเดียวคือต้องปรับการเรียนเป็นระบบออนไลน์เท่านั้น  

ปัญหาต่อเนื่องจากการปิดศูนย์การเรียนรู้ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง คือมันเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กต้องออกจากการเรียนกลางคัน เนื่องจากผู้ปกครองมองว่า เด็กอยู่เฉยๆ ที่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ก็ให้เด็กไปทำงานหาเงินดีกว่า ซึ่งก็ทำให้เด็กต้องเป็นแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อย และหลุดจากระบบการศึกษา

สำหรับข้อเสนอของศิราพร เธอมองว่า สิ่งที่รัฐต้องทำคือการดึงนักเรียนข้ามชาติกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหลังประเทศผ่านวิกฤตโรคระบาด ภาครัฐจะต้องมีระบบติดตามเด็กข้ามชาติ และทำยังไงก็ได้ให้เด็กกลับเข้าระบบการศึกษาอย่างเร็วที่สุดหลังพ้นช่วงโควิด-19 เธอเสนอด้วยว่าเพื่อให้การติดตามเด็กเป็นไปง่ายขึ้น รัฐอาจต้องพิจารณาเรื่องการให้สถานะทางทะเบียนกับเด็กข้ามชาติ เพื่อให้มีข้อมูลและง่ายต่อการบันทึกและติดตามเด็กกลับมาเรียน

รัฐต้องมีการสนับสนุนทรัพยากรให้กับทีมทำงานในพื้นที่ เพราะเขามีข้อมูลเชิงลึกว่าเด็กอยู่ไหนอย่างไร และเข้าใจเด็กอย่างแท้จริง พร้อมกับการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบในวิกฤตโรคระบาด

เด็กข้ามชาติมีแนวโน้มเป็นเหยื่อความรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19 

"ที่ต้องมาชวนคุยเรื่องความรุนแรงต่อเด็กข้ามชาติโดยตรง เนื่องจากแม้ว่าความรุนแรงสามารถเกิดได้กับเด็กทุกคน แต่กับเด็กข้ามชาติซึ่งเปราะบางอยู่แล้ว สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเด็กสัญชาติไทยทั่วไป"

ดาราราย รักษาสิริพงศ์ ผู้ประสานงานสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด (Smile-lay Youth Club Maesot) เปิดเผยว่า เด็กข้ามชาติมีแนวโน้มเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นในช่วงโควิด-19

ดาราราย รักษาสิริพงศ์ ผู้ประสานงานสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด
 

การทำงานของดารารายที่ใกล้ชิดกับเด็กที่ อ.แม่สอด ทำให้บ่อยครั้งเธอได้รับฟังปัญหาความรุนแรงจากปากของเด็กและเยาวชนโดยตรง เธอเผยว่า ช่วงโควิด-19 ส่งผลให้ความตึงเครียดในครอบครัวของแรงงานข้ามชาติพุ่งสูงขึ้น จนนำมาสู่การใช้ความรุนแรงกับเด็กตามมา 

“มีเด็กมาเล่าให้ฟังว่า พ่อ-แม่ทะเลาะกันรุนแรง และเด็กก็ได้รับผลกระทบไปด้วย พ่อทำร้ายแม่ แม่หนีออกจากบ้าน ทิ้งให้ลูกอยู่ที่บ้าน หรือว่าพ่อทำร้ายลูกด้วย ซึ่งมันก็เกิดจากความเครียด ถูกเลิกจ้าง ถูกลดเวลางาน กลัวที่จะถูกจับกุมหรือแม้แต่กลัวเรื่องติดโควิด-19” ดาราราย กล่าวพร้อมระบุว่า พอมันมีความรุนแรงในครอบครัว เด็กจะเลือกหนีออกจากบ้าน มีกรณีหนีออกจากบ้านในตอนกลางวัน และกลางคืนกลับไปนอนบ้าน บางกรณีหนีไปเลย ไปตายเอาดาบหน้าก็มี

เด็กข้ามชาติบางคนหนีไปกับแฟน ถ้าผู้ปกครองเจอตัวหรือจับได้ เด็กจะถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุน้อย เคสที่พบบางคนยังอายุไม่ถึง 15 ปีอีกด้วย 

บางกรณีผู้ปกครองเห็นว่า เด็กต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน ผู้ปกครองก็อยากให้เด็กไปทำงานเพื่อหางานมาจุนเจือครอบครัวในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ดังนั้น เด็กข้ามชาติก็จะถูกผลักดันให้ไปเป็นแรงงานตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งเยาวชนถูกเอาเปรียบง่าย บางคนไม่ได้รับค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำ และต้องทำงานในเวลาไม่เหมาะสม อาทิ ในช่วงเวลากลางดึก

มากกว่านั้น ดาราราย สะท้อนมุมมองคนทำงานว่า มาตรการช่วงโควิด-19 ของรัฐบ่อยครั้งเป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองช่วยเหลือเด็กที่เป็นเหยื่อความรุนแรง เช่น มาตรการที่เข้มงวดเรื่องการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน หรือล็อกดาวน์บางพื้นที่ ทำให้คนทำงานไม่สามารถลงไปสอบข้อเท็จจริงได้ทันที หรือบางเคสต้องคุยกับคนหลายคนเพื่อให้เรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ ก็ใช้เวลาทำงานมากขึ้น 

แม้ว่าจะมีอีกวิธีคือเอาเด็กออกมาสอบข้อเท็จจริงข้างนอก ให้เด็กปลอดภัย แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือสถานรองรับเด็กไม่พอ ซึ่งตอนนี้มีมาตรการรักษาระยะห่าง เขาก็เลยต้องจำกัดจำนวนเด็กที่อยู่ในบ้านพักให้ไม่แออัดเกินไป มันก็จะเต็มเร็ว และเขาก็รับเคสรายใหม่ไม่ได้ บางเคสอย่างความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงมาก มีความจำเป็นต้องดึงเด็กออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เราพยายามขอร้องให้สถานรองรับช่วยรับเด็กเข้าไปในบ้านพัก ซึ่งเขาก็ตกลง แต่ขอให้เคสไปตรวจโควิด-19 ก่อน ซึ่งในช่วงนั้นการตรวจโควิด-19 ยังไม่มี ATK ตอนนั้นยังเป็น ระบบที่ล้วงจมูก เพราะฉะนั้น ค่าตรวจแพงมาก 3-4 พันบาท เด็กไม่มีเงินจะจ่ายค่าตรวจแน่นอน

ทางดาราราย ก็อยากเสนอว่า ให้รัฐพิจารณาทบทวนนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคนทำงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนข้ามชาติ และอยากให้ฟังความคิดเห็นจากคนทำงานในพื้นที่ 

"ให้ฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานที่ด่านหน้าไม่ใช่การออกนโยบายแบบ Top-down ลงมา... มันมีช่วงที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไม่ได้ ถ้าลงพื้นที่ กลับมาต้องไปกักตัว 14 วัน ช่วงนี้เขาให้ Work From Home ซึ่งนโยบายแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ในการทำงานคุ้มครองเด็กมันจะ Work From Home ไม่ได้ มันอาจจะต้องมีการคิดค้นรูปแบบในการทำงานให้มันสอดคล้องกับสถานการณ์" ดาราราย กล่าว  

รัฐต้องช่วยเหลือด้านจิตใจ-จัดหาวัคซีนทั่วถึง 

วรางคณา มุทุมล ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์การช่วยเหลือเด็ก ประจำประเทศไทย (Save the Children Thailand) ชี้ว่า ช่วงโควิด-19 เด็กได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจมากกว่าที่ตาเห็น โดยรายงานจาก UNICEF พบว่า เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) เด็กและเยาวชน 7 ใน 10 คนระบุอย่างชัดเจนว่า โควิด-19 ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเขา มีความเครียด ความกังวล เบื่อหน่าย และไม่มีความหวัง ไม่รู้ว่าชิวิตทำอะไรต่อไป และตัวเด็กก็ไม่อินกับการเรียนออนไลน์ รู้สึกว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้อะไรเขามากนัก พร้อมกันนี้ รายงานเผยด้วยว่า เยาวชนจำนวน 40% ไม่ทราบว่าจะจัดการกับเครียดอย่างไร  

วรางคณา มุทุมล องค์การช่วยเหลือเด็ก ประจำประเทศไทย

“ถ้าไม่ได้รับช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาเชิงสุขภาพจิตในระยะยาว เสี่ยงต่อการที่เด็กจะหันไปใช้วิธีการทำร้ายตัวเอง ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไปหาช่องทางที่ไม่เหมาะสม เช่น พึ่งสารเสพติด แอลกอฮอล์ หรือเซ็กส์ในการบำบัดความเครียด และหลายๆ เคสมีเรื่องของการฆ่าตัวตาย” วรางคณา กล่าว

ในด้านการศึกษามีเด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา และเข้าไม่ถึงการเรียนรูปแบบออนไลน์ ซึ่งวรางคณา ระบุว่า อยากให้รัฐแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว เงินเยียวยา ทุนการศึกษา และการช่วยเหลือควรออกมาช่วยเหลืออย่างครอบคลุมทั่วถึง แม้แต่คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และไม่มีเอกสาร ก็สามารถเข้าถึงได้ เงื่อนไขที่ซับซ้อนยุ่งยากต้องขจัดออกไปให้หมด  

วรางคณา เสนอว่า กรณีเด็กที่สูญเสียผู้ปกครองจากโควิด-19 ต้องมีการประสานงานจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ประเมินความต้องการของเด็ก และโอกาสในการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นครอบครัว กรณีเด็กต่างชาติที่สูญเสียพ่อแม่ ต้องทำระบบคัดกรองเข้าสู่บ้านเด็ก/ศูนย์ดูแลเด็ก 

นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้คล่องตัวมากขึ้น และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ได้รับการดูแลทางด้านจิตใจ ชี้แนะแนวทางเครื่องมือในการทำงานช่วยเหลือเด็ก 

ช่องทางการช่วยเหลือเด็กที่ต้องเผชิญความเครียด ความสับสน ความกังวลใจ จำเป็นต้องมีการอัปเดตช่องทางใหม่ๆ หารือช่องทางเพื่อการขยายการบริการต่อเด็กทุกกลุ่ม

สุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก กล่าวด้วยว่าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง และไม่แบ่งแยก อาจเป็นกระดุมเม็ดแรกของการแก้ปัญหา 

“การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญต่อการชะลดปัญหาความยากจน และลดความเสี่ยงต่อเด็กทุกรูปแบบ” 

“แต่การเข้าถึงวัคซีนของเรายังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนักทั้งกลุ่มคนไทยเอง และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ” วรางคณา กล่าว

ระบบสุขภาพที่แรงงานข้ามชาติอาจเอื้อมไม่ถึง

ชูวงศ์ แสนคง จากมูลนิธิรักษ์ไทย เผยว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติยุคโควิด-19 ยังเข้าไม่ถึงกาาตรวจและการรักษาโควิด-19 และวัคซีน แม้ว่าในประเทศไทย จะมีระบบการประกันสุขภาพรองรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็ตาม

ชูวงศ์ แสนคง จากมูลนิธิรักษ์ไทย
 

ชูวงศ์ ระบุต่อว่า ในความเป็นจริง ถ้าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในโรงงาน หรือบริษัทขนาดใหญ่ ไซต์งานขนาดใหญ่ ก็ยังมีได้รับการตรวจและฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยทางบริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรือไปเจรจากับภาครัฐให้แรงงานได้รับสิทธิตามประกันสังคม อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถยืนยันได้ว่า แรงงานกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลทุกคน แต่เห็นความพยายามของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ต่อการดูแลคนงานข้ามชาติ 

ขณะที่แรงงานในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง หรือ SME เข้าไม่ถึงการตรวจโควิด-19 ทั้ง ATK หรือ RT-CR ทำให้ตัวของแรงงานข้ามชาติก็หาวิธีการตรวจด้วยตัวเอง โดยการหาซื้อชุดตรวจแบบ Quick Test  

นอกจากนี้ ชูวงศ์ พบว่า แรงงานข้ามชาติยังเข้าไม่ถึงเรื่องระบบการดูแลรักษา เมื่อเจอแรงงานข้ามชาติติดเชื้อขึ้นมา เราพยายามโทรหาเตียงตามสิทธิ์ แต่สิ่งที่พบคือเตียงเต็ม เป็นคำตอบจากโรงพยาบาลบ่อยๆ ขณะที่ในชุมชนที่มีการเตรียม CI หรือ Community Isolation ไว้ แต่ว่าเมื่อเราติดต่อไป กลับมีการแจ้งว่าเตรียมไว้สำหรับคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น แม้จะมีที่ว่างก็ตาม ทำให้แรงงานข้ามชาติจึงมีโอกาสที่จะอยู่ใน CI น้อยมาก 

ชูวงศ์ เสนอทางออกของปัญหาว่า รัฐต้องสร้างความมั่นใจว่าแรงงานข้ามชาติในไทยจะอยู่ได้โดยไม่ถูกจับกุม และต้องสนับสนุนภาคประชาสังคมที่เป็นกลุ่มของแรงงานข้ามชาติดูแลกันเอง เพื่อให้เขาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยผู้ป่วยโควิด-19 และเป็นทางออกสำคัญเรื่องของการแก้ไขปัญหาเรื่องของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่พอเขารวมกลุ่มก็ไปไล่จับเขา

การชดเชยเยียวยาต้องครอบคลุม ในทางปฏิบัติต้องเกิดขึ้นจริง ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน เงินเยียวยาเอามาจากไหน เอามาจากภาษี ซึ่งแน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติทุกคนเสียภาษี   

สุดท้าย ชูวงศ์ระบุว่า ภาครัฐต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในไทยให้ได้รับการดูแลเท่ากันทุกคน และจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net