Skip to main content
sharethis

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ‘โตโยต้า’ ประเทศไทย แจง กมธ. ป.ป.ช. คดีให้สินบนผู้พิพากษาไทย ยอมรับ มีการจ่ายให้ สำนักงานกฎหมายจริง 18 ล้านเหรียญ ด้าน ‘ธีรัจชัย’ ยืนยัน ไม่ตั้งธง แต่เป็นการตรวจสอบคู่ขนานเพื่อทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย ย้ำ หากยึดหลักความโปร่งใส ศาลย่อมถูกตรวจสอบได้

8 ก.ย. 2564 รัฐสภา บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย ส่งตัวแทนเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ต่อกรณีที่มีรายงานข่าวว่า​ บริษัทโตโยต้าเคยให้สินบน​ผู้พิพากษาระดับสูงของศาลยุติธรรมไทย ซึ่งเรื่องนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ถูกเปิดเผยขึ้นครั้งแรกจากเว็บไซต์ข่าวสารด้านกฎหมายของสหรัฐ​

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการที่ได้รับมอบหมายจากประธาน กมธ.ป.ป.ช.ให้เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบเรื่องนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการตรวจสอบเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง ได้เคยเชิญ เลขาธิการศาลยุติธรรมมาให้ข้อมูล เป็นการตรวจสอบแบบคู่ขนานเพื่อทำความจริงให้ปรากฏว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหาเป็นความจริงหรือไม่ หากไม่จริงก็เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่จริงก็ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะมีความเสียหาย สร้างความไม่เชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ

"ในวันนี้ได้เชิญ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้าประจำประเทศไทย และสำนักงานกฎหมายที่รับช่วงต่อในการทำคดีนี้ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงคดีนี้ ล่าสุด อัยการได้ยื่นแก้ฎีกาเรียบร้อยแล้ว คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยยามาชิตะ แจ้งว่าเพิ่งมารับตำแหน่งจึงยังไม่มีรายละเอียดมากนัก ส่วนผู้ว่าจ้างสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ในสองศาลที่ผ่านมาได้ลาออกไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ในบริษัทโตโยต้า เมื่อสอบถามไปยังสำนักงานกฎหมาย เนื่องจากมีข้อสังเกตเกี่ยวกับรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมแค่รายได้หลักแสนถึงสองล้านได้เพิ่มเป็นร้อยกว่าล้านบาทในระยะเวลาไม่กี่ปีและเป็นช่วงเวลาที่มีความทับซ้อนกับคดี ซึ่งทางสำนักกฎหมายให้คำตอบเรื่องนี้ไม่ได้

“อย่างไรก็ตาม ทางกรรมการผู้จัดการใหญ่โตโยต้าประจำประเทศไทยยอมรับว่าได้จ่ายเงินค้าจ้างสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ไปแล้ว 18 ล้านดอลลาร์จริง ซึ่งสอดรับกับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้มีการจ่ายเพื่อว่าจ้างสำนักงานกฎหมายทั้งสิ้น 27 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะจ่ายให้ครบตามจำนวนเมื่อชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยังคงต้องติดตามต่อไป แต่ด้วยเวลาจำกัดของทางกรรมการจากโตโยต้า จึงยังไม่ได้ถามอีกหลายคำถาม ทาง กมธ.จึงแจ้งขอเอกสารอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการที่ทางโตโยต้าชี้แจงกับกับสหรัฐและเอกสารการว่าจ้างสำนักกฎหมายอันนานนท์ รวมถึงเอกสารอีกหลายฉบับเพื่อพิจารณา เมื่อได้รับจะมีการเชิญทางโตโยต้ามาอีกครั้งเพื่อหาความจริงให้ได้มากที่สุด ดังนั้น เรื่องนี้จึงถือว่าก้าวขยับขึ้นมา เพราะเรื่องภาษีมีมูลค่ามากถึงหมื่นล้านบาท ทางโตโยต้าอ้างเรื่องข้อยกเว้นต่างๆ ขณะที่กรมศุลกากรอ้างว่าสามารถเรียกเก็บภาษีได้เต็ม การใช้สำนักงานกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเรื่องคดีตามที่ปรากฏในเว็บไต์ของสหรัฐจึงยังต้องสืบสวนอย่างละเอียดต่อไป หากพบว่าไม่ผิดก็ต้องมีคนรับผิดชอบที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเสียหาย แต่ถ้าผิด กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ใครผิดก็ต้องรับผิดชอบไปตามนั้นเราไม่ตั้งธงแต่จะทำให้ความจริงปรากฏมากที่สุด”

ธีรัจชัย ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากเรายึดหลักความโปร่งใส ทุกองค์กรรวมถึงศาลยุติธรรมก็ต้องถูกตรวจสอบได้ เพียงแต่ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงศาลแล้วทุกคนจะเกิดความเกรงกลัวจึงเลี่ยงที่จะตรวจสอบ ทั้งที่การตรวจสอบถือเป็นกลไกปกติที่ทุกหน่วยงานองค์กรต้องเปิดกว้าง ไม่ใช่เรื่องของการเสียภาพลักษณ์หรือเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ ในทางกลับกัน ยิ่งมีข้อกล่าวหาแบบนี้ การทำความจริงให้ปรากฏยิ่งเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังจะเป็นการวางระบบยุติธรรมของประเทศให้น่าเชื่อถือที่สุดต่อไปด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สำหรับคดีนี้ได้รับการกล่าวถึงตั้งแต่ วันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์ข่าวสารด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา www.law360.com ได้เผยแพร่รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการสอบสวนคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้า พร้อมระบุชื่อบริษัทกฎหมายและชื่ออดีตข้าราชการระดับสูงของศาลยุติธรรมอย่างน้อย 3 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับสินบน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลี่ยงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า พรีอุส ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,000 ล้านบาทระหว่างปี 2553-2555 ต่อมามีการชี้แจงจากโฆษกศาลยุติธรรมว่า คดีดังกล่าวทั้งในสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำตัดสินอันเป็นที่ยุติว่าเกิดการกระทำตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นหนังสือประธาน กมธ.ปปช. เพื่อให้พิจารณาสืบสอบหาข้อเท็จจริง โดยระบุว่ากรณีนี้มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้มีการตรวจสอบและขยายผลเรื่องนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันให้กระบวนการยุติธรรมของไทยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net