ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา 8 ล้านโดสมาฉีดเข็ม 3 คาดได้ต้นปี 65

ศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดเผยว่าได้ร่วมมือกับซิลลิคฟาร์มานำเข้าโมเดอร์นา 8 ล้านโดส เพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนครบแล้ว(ฉีดเข็ม 3) หลังจากที่เคยนำเข้าซิโนฟาร์มมาก่อนแล้ว

14 ก.ย.2564 แฟนเพจของ ศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดเผยว่าได้ดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA โมเดอร์นา 8 ล้านโดส(100 ไมโครกรัม/โดส) โดยมีการลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มาในการนำเข้า คาดว่าการจัดส่งครั้งแรกและส่งมอบได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2565 และจะทะยอยส่งจนถึงไตรมาสที่ 3 โดยวัคซีนที่นำเข้ามานี้เพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหนึ่งใน 5 หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยวัคซีนโมเดอร์นานี้เป็นวัคซีนตัวเลือกชนิดที่ 2 ที่ราชวิทยาลัยทำสัญญานำเข้ามา

นิธิระบุอีกว่าการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาครั้งนี้เพื่อใช้ฉีดกระตุ้นเพียง 1 เข็มในปริมาณ 50 ไมโครกรัมเนื่องจากมีผลการศึกษาเบื้องต้นว่าการฉีดกระตุ้นในปริมาณ 50 ไมโครกรัมต่อสายพันธุ์เบต้า แกมม่า และเดลต้า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 32 เท่า, 43.6 เท่า และ 42.3 เท่า ตามลำดับ แต่มีอาการข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เช่น อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง การแพ้รุนแรง พบประมาณ 2.5 ราย ต่อ 1 ล้านโดส หรือรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบของวัคซีนชนิด mRNA พบได้น้อย อยู่ที่ 12 ราย ต่อ 1 ล้านโดสในประเทศสหรัฐอเมริกา และส่วนมากสามารถรักษาได้ ส่วนในประเทศไทยทางราชวิทยาลัยจะทำการศึกษาวิจัยควบคู่กันไป

ก่อนหน้านี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เคยจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” มาก่อนแล้วและปัจจุบันได้กระจายฉีดให้ประชาชนไปแล้ว แต่นอกจากวัคซีนซิโนฟาร์มแล้วเมื่อ 11 มี.ค.2564 เว็บไซต์รัฐบาลไทยยังเปิดเผยด้วยว่าบริษัท จุฬารัตน์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้นำเข้าวัคซีนสปุตนิกวี และยื่นขออนุญาตจาก อย. ซึ่งจะเป็นการนำเข้ามาใช้แบบฉุกเฉินและการวิจัย แต่ภายหลัง 28 เม.ย.ปรากฏข่าวว่าบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ได้ร่วมมือกับบริษัทจุฬารัฒน์เตรียมนำเข้าวัคซีนสปุตนิกวีจากประเทศรัสเซีย แต่นิธิออกมาปฏิเสธว่าราชวิทยาลัยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทดังกล่าว จากนั้น 27 พ.ค. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย.ออกมาให้ข่าวว่าการดำเนินการนำเข้าวัคซีนสปุตนิกวีของบริษัทคินเจนยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก อย.เนื่องจากยื่นเอกสารไม่ครบ

ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นจนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างมากจนถึง 2หมื่นกว่าต่อวันและมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดถึงกว่า 300 คนต่อวัน จนมีการเรียกร้องให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับแพทย์ด่านหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อ 6 ก.ค.2564 นิธิ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อการเรียกร้องดังกล่าวว่าถึงฉีดชนิดใดครบแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ และเป็นการเห็นแก่ตัวหรือไม่ที่จะฉีดเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งที่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่ได้เข็มแรก อีกทั้งยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และการนำวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาเพื่อให้แพทย์ด่านหน้าไปฉีดให้กับผู้ที่ยังไม่ได้วัคซีนได้ถึง 350,000 คนดีกว่าไปเพิ่มเตียงหรือไม่ อีกทั้งยังจะทำให้คนไม่ยอมฉีดวัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหามาให้แต่ไปรอฉีด mRNA เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท