Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ #ม็อบ28กันยา ตำรวจจับรวม 14 คนศาลให้ประกันชั้นสอบสวน โฆษก บช.น. แจงเตรียมออกหมายเรียก ‘ป้าเป้า’ ข้อหาเปลือย ประท้วง คฝ.ที่นางเลิ้ง

วรวรรณ แซ่อั้ง หรือป้าเป้า(กลาง) ภายถ่ายโดย Thikamporn Tamtiang

29 ก.ย.2564 ไทยรัฐออนไลน์รายงานการแถลงข่าวของพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น./โฆษก บช.น. ที่กงอบัญชาการตำรวจนครบาลเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของวันที่ 28 ก.ย.2564 ที่แยกนางเลิ้ง โฆษก บช.น.ได้กล่าวถึงการประท้วงของ วรวรรณ แซ่อั้ง หรือป้าเป้า ด้วยการเปลือยต่อหน้าตำรวจชุดควบคุมฝูงชนด้วย

พล.ต.ต.ปิยะระบุว่าทางตำรวจอยู่ระหว่างเตรียมออกหมายเรียกวรวรรณเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ตามมาตรา 388 ซึ่งข้อหาดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีวรวรรณ นอกจากการแถลงข่าวของรองโฆษก บช.น. ไทยรัฐยังรายงานถึง พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ผกก.สน.นางเลิ้ง ด้วยว่านอกจากจะมีการดำเนินคดีข้อหาเปลือยกายฯ แล้ว จะดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อกับวรวรรณด้วย และคาดว่าจะออกหมายเรียกได้ในวันนี้(29 ก.ย.64)

ไทยรัฐรายงานการแถลงของพล.ต.ต.ปิยะที่กล่าวถึงกลุ่มทะลแก๊ซที่ดินแดงด้วยว่า มีจำนวหนึ่งที่รวมตัวกันปิดถนนมิตรไมตรีและจุดไฟเผาสถานที่ ขว้างปาพลุใส่ตำรวจและปาระเบิดเพลิงใส่รถตำรวจจนเสียหายจำนวน 8 คัน โดยฝ่ายสืบสวนกำลังหาพยานหลักฐานซึ่งขณะนี้ทราบตัวผู้กระทำความผิดเบื้องต้น 15-20 คน

โฆษก บช.น.กล่าวถึงจำนวนคดีการชุมนุมตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 236 คดี มีคนที่เข้าข่ายจะต้องถูกดำเนินคดี 878 คน จับกุมได้แล้ว 633 คน ซึ่งหลังจากนี้การชุมนุมอาจเกิดใน 2 จุดคือ ที่แยกนางเลิ้งและดินแดง คาดว่าในอีกไม่กี่วันจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายเข้มข้นมากขึ้นหลังประสานหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ควบคู่ไปกับการปรับยุทธวิธีให้เข้ากับสถานการณ์การชุมนุม

ทั้งนี้พล.ต.ต.ปิยะยังยืนยันอีกว่าตำรวจยังควบคุมสถานการณ์ได้ ยังไม่จำเป็นต้องขอกำลังทหารเพิ่มเติม

"ประชาธิปไตยแค่นั้นที่จะเป็นของทุกคน" บทสัมภาษณ์ 'ป้าเป้า'

ส่วนจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุม “ม็อบ 28 กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์” ที่แยกนางเลิ้งและจุดอื่นๆ ในคืนวันที่ 28 ก.ย.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ที่ถูกจับกุมรวมแล้ว 14 คน เป็นเยาวชน 5 คน

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าส่วนที่แยกนางเลิ้งตำรวจจับกุมกลุ่มนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมได้ 9 คน โดยเป็นเยาวชน2 คน อายุระหว่าง 14-15 ปี โดยเยาวชน 1 คน ถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเตะเข้าที่หน้า ส่วนผู้ใหญ่ที่เหลือ 7 คนเป็นนักกิจกรรมของกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ นวพล ต้นงาม, ทรงพล สนธิรักษ์, จิตริน พลาก้านตรง, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, ปวริศ แย้มยิ่ง และ “แซม ทะลุฟ้า” ซึ่งบางคนถูกขู่ว่าจะอุ้มหายระหว่างจับกุม ทั้งนี้ภายหลังพวกเขาถูกส่งตัวไปที่ สน.พหลโยธินทั้งหมดแม้จะเป็นคดีในพื้นที่ของสน.นางเลิ้งก็ตาม

พวกเขาทั้ง 9 คนถูกตั้งข้อหา ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่ายี่สิบห้าคนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, ป.อาญาฯ มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ป.อาญาฯ มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิก แต่ผู้นั้นไม่เลิก

ทั้งนี้ส่วนของเยาวชนหลังจากทำบันทึกจับกุมเสร็จ ทั้งคู่เลือกที่จะไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารของตำรวจ ได้มีผู้ปกครองเดินทางมารับตัวกลับบ้าน แต่กรณีเยาวชนอายุ 14 ปี พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง กลับไม่ให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานกลับ แม้ผู้ปกครองจะยืนยันว่าสามารถดูแลบุตรหลานให้เดินทางมาศาลได้ในวันรุ่งขึ้นตามนัดสอบคำให้การในตอนเช้า และนัดตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนฯ ในตอนบ่าย ทำให้เยาวชนรายนี้ต้องถูกคุมตัวที่ สน. ข้ามคืน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 72

ส่วนเยาวชนอายุ 14 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. เตะเข้าที่ใบหน้า ขณะถูกรวบตัวกดไว้กับพื้น มีแผลถลอกเลือดออกตรงโหนกแก้มและมีอาการบวมที่ขมับด้านซ้าย นอกจากนั้น ยังพบรอยถลอกตื้น ยาวประมาณ 10 ซม. ที่หลังแขนซ้าย

ส่วนกลุ่มนักกิจกรรมทะลุฟ้า 7 คนถูกพนักงานสอบสวนทำบันทึกจับกุมและสอบคำให้การเบื้องต้นในช่วงกลางดึก พวกเขาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและจะให้การเพิ่มในภายหลังเป็นหนังสือ จากนั้นพวกเขาถูกขังที่ สน.พหลโยธินเพื่อรอพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลแขวงดุสิตในการฝากขังระหว่างสอบสวนในเช้า 29 ก.ย.และศาลอนุญาตฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แต่เมื่อทั้ง 7 คนขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ศาลจึงได้อนุญาตให้ประกันตัว

ทั้งนี้มีหนึ่งในผู้ถูกจับกุมให้การในตอนสอบปากคำว่าถูกตำรวจชุดจับกุมข่มขู่ระหว่างจับกุมด้วย โดย พ.ต.ท.ยุทธนา จาตุรัตน์ ได้ใช้คำพูดข่มขู่ผู้ถูกจับกุม ขณะจับกุม เจ้าหน้าที่รายนี้ได้พูดว่า “ถ้าไม่ลุก กูจะให้ลูกน้องกูอุ้มไปเลย” ทำให้ผู้ถูกจับกุมหวาดกลัวอย่างมาก เนื่องจากมี คฝ. ถึงราว 300 คน มีอาวุธครบมือ ในตอนแรก ผู้ถูกจับกุมไม่ยอมทำตามคำสั่ง เนื่องจากต้องการให้เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาก่อนว่า พวกเขากระทำความผิดตามกฎหมายบทใด แต่เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงยอมลุก เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวยังพูดเยาะเย้ยอีกว่า “กูนึกว่ามึงจะเจ๋ง”

เขายังให้การต่อว่า เจ้าหน้าที่รายนี้ยังได้ไล่สื่อออนไลน์ ที่ทำข่าวอยู่บริเวณนั้นให้ออกจากพื้นที่ อันเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และยิ่งเพิ่มความหวาดกลัวให้กับกลุ่มผู้ถูกจับกุม เนื่องจากไม่มีสื่อรายงานข่าวแล้ว เจ้าหน้าที่อาจกระทำการเกินกว่าเหตุ

ศูนย์ทนายความฯ รายงานสถานการณ์ของการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สที่ดินแดงโดยอ้างข่าวของไทยโพสต์ว่าตำรวจสายตรวจจับกุมเยาวชนหญิงได้ 3 คน อายุระหว่าง 14-15 ปี และตรวจค้นพบประทัดลูกบอก 97 ลูกในช่องเก็บของใต้เบาะจักรยานยนต์ ตำรวจจึงแจ้งข้อหาออกนอกเคหะสถานระหว่าง 21.00 น.-04.00 น.อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ก่อนนำส่งพนักงานสอบสวน สน.สุทธิสาร แต่ทางศูนย์ทนายความฯ ยังไม่ทราบว่ามีการดำเนินการต่ออย่างไรในกรณีนี้

นอกจากนั้นศูนย์ทนายความฯ ยังได้รับแจ้งว่ามีผู้หญิง 2 คน ถูกจับกุมกลางดึกในเวลาประมาณ 2.20 น. ที่บริเวณแยกพญาไท โดยตำรวจไม่ให้ติดต่อญาติและทนายความก่อนถูกนำตัวไป สน.พญาไท โดยมีการตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ตามมาตรา 215

กรณีนี้ตำรวจระบุพฤติการณ์ในบันทึกจับกุมว่าเวลา 2.10 น. ของวันที่ 29 ก.ย.2564 ตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิพบกลุ่มผู้ชุมนุมขับจักรยานยนต์เข้ามาในบริเวณประมาณ 50 คน โดยมีคนซ้อนเกือบทุกคันเข้าไปก่อเหตุเผาทำลายรถยกของตำรวจตราตรและป้อมจราจร เมื่อตำรวจชุดจับกุมถึงที่เกิดเหตุผู้ก่อเหตุได้แยกย้ายกันไปคนละทาง จากนั้นจึงจับกุมผู้ร่วมก่อเหตุได้ 2 คน ส่งตัวไปควบคุมที่สน.พญาไท โดยผู้ถูกจับยอมรับว่าได้เข้ามากับกลุ่มที่ก่อเหตุและยังไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้าที่แยกนางเลิ้งก่อน

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าหญิงทั้ง 2 คนไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม และบอกกับทนายความว่าพวกเธอถูกตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือไปก่อนจะคืนให้เมื่อเวลา 4.38 น. หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จโดยไม่มีทนายความร่วมในกระบวนการ จากนั้นพวกเธอจึงถูกสอบคำให้การในเวลา 10.00น.ซึ่งในขั้นตอนนี้มีทนายความเข้าร่วมด้วย

พวกเธอให้การปฏิเสธและจะให้การเพิ่มเติมในภายหลังเป็นหนังสือ ทั้งนี้พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอศาลแขวงดุสิตเพื่อขอฝากขังด้วยโดยพนักงานสอบสวนอ้างว่ายังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ทั้งสองคนจึงขอคัดค้านการฝากขัง

จนเวลา 14.00 น. ศาลแขวงดุสิตจึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน พวกเธอทั้ง 2 คนจึงต้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องวงหลักทรัพย์ประกัน แต่ตำรวจต้องนำตัวทั้ง 2 คนมาศาลเพื่อสาบานตนและนัดรายงานตัวในวันที่ 29 ต.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net