Skip to main content
sharethis

ประชาไทเลือก ‘วรวรรณ แซ่อั้ง’ หรือ “ป้าเป้า” แม่ค้าวัย 67 ปี ตัวเล็กๆ ที่ยังคงยืนด่าความอยุติธรรมอย่างท้าทายเป็นบุคคลแห่งปี 2021 ผู้ใช้ทุกส่วนของเนื้อตัวร่างกายเข้าต่อสู้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่า ‘เยาวรุ่น’ หรือขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ที่ต้องการตั้งแต่ต่อต้านโครงการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม เรียกร้องสิทธิประกันตัว ขับไล่รัฐบาล จนถึงแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ฯลฯ

  • รู้จัก "ป้าเป้า" ผ่านคำบอกเล่าของนักกิจกรรม เช่น ตี้ พะเยา, ช่างภาพในการชุมนุม ได้แก่ ชนากานต์ จากไอลอว์ และปฏิภัทร จันทร์ทอง จาก VoiceOnline และทนายความผู้ดูแลคดีการชุมนุมของป้าเป้า ซึ่งเผยให้เห็น "ป้าเป้า" ในหลากหลายมิติที่มากกว่าการเป็นเครื่องด่า และด่านหน้ารับมือตำรวจในทุกการชุมนุม
  • ฟังความเห็นทางกฎหมายจาก 'นรเศรษฐ์ นาหนองตูม' ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และความเห็นจาก 'ชุมาพร แต่งเกลี้ยง' นักเคลื่อนไหวด้านความเสมอภาคเพศ ต่อกรณี "ป้าเป้า" เปลือยกายประท้วง คฝ. ที่แยกนางเลิ้ง
  • การเคลื่อนไหวของ "ป้าเป้า" สะท้อนอะไรในสายตาคนรุ่นใหม่ และบอกอะไรเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
  • พูดคุยกับ "ป้าเป้า" แบบ 'เปลือยใจ' ถึงชีวิตและการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย รวมถึงเบื้องหลังการ 'เปลือยกาย' ที่แยกนางเลิ้ง ซึ่งกลายเป็นเรื่องหักมุม

ชื่อของ “ป้าเป้า” น่าจะเป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่คนนึกถึงเมื่อพูดถึงการชุมนุมเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2564 ภาพจำของ “ป้าเป้า” ที่เห็นตามหน้าสื่อมักเป็นภาพการยืนตะโกนด่าตำรวจซึ่งเป็นด่านหน้าการปะทะกับผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการปะทะด้วยวาจา การกระทำ หรืออาวุธ เกือบทุกครั้งที่เห็นตำรวจก็มักจะเห็น “ป้าเป้า” อยู่บริเวณนั้นด้วยเสมอ

“ป้าเป้า” เป็นผู้ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคคนเดือนตุลา และเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งในปี 2551 และ 2553 แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อของ “ป้าเป้า” แม่ค้าวัย 67 ปีที่มีหัวใจรักประชาธิปไตยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างคงหนีไม่พ้น “คลิปตีเป้าตำรวจ” ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนอมรินทร์ทีวีช่อง 34 คว้าตัว “ป้าเป้า” มาสัมภาษณ์เปิดใจถึงเหตุการณ์ดังกล่าว หลังจากนั้น “ป้าเป้า” ก็กลายเป็นชื่อที่ทุกคนคุ้นหู พอๆ กับที่ภาพการยืนด่าอย่างท้าทายที่คุ้นตาในการชุมนุมแทบจะทุกครั้ง

ป้าเป้า ปะทะคารมกับผู้กำกับ สน.ทุ่งมหาเมฆที่กำลังอ่านแถลง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าสถานทูตเยอรมนี
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 ในการชุมนุม ‘ไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (ชมคลิป)
 

ภาพของ “ป้าเป้า” ที่เห็นผ่านสื่อในแต่ละวาระ รวมถึงเหตุการณ์ตีเป้าตำรวจ ทำให้แต่ละคนที่พบเห็นมีภาพจำ “ป้าเป้า” แตกต่างกันออกไป มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าภาพลักษณ์ของ “ป้าเป้า” นั้นดู “แรง” เพราะการกระทำและคำพูดที่แสดงออกอย่างชัดเจน เปิดเผย และตรงไปตรงมา ถึงขั้น ‘เปลือยกาย’ ประท้วงตำรวจควบคุมฝูงชนให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่แยกนางเลิ้งมาแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ที่เคยพูดคุย พบเห็น หรือรู้จัก “ป้าเป้า” ตัวจริงกลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ป้าเป้า” ไม่ได้แรงอย่างที่เห็นตามหน้าสื่อ แต่ “ป้าเป้า” คือหญิงสูงวัยใจดีคนหนึ่งที่ทนไม่ได้กับความอยุติธรรม และถูกสังคมกดทับจนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ นอกจากนี้ “ป้าเป้า” จากคำบอกเล่าของนักกิจกรรมยังเป็นผู้ที่ห่วงใยคนอื่น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในที่ชุมนุม ซึ่งถูกรัฐละเมิดสิทธิ

ป้าเป้าเปลือยกายประท้วงตำรวจควบคุมฝูงชนที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าในการชุมนุม
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 (ภาพโดย Thikamporn Tamtiang)
 

ด้วยเหตุนี้ ประชาไทจึงชวนนักกิจกรรม ทนายความ ช่างภาพ และผู้สังเกตการณ์ชุมนุมที่รู้จักหรือเคยสัมผัส “ป้าเป้า” ตัวจริงมาร่วมพูดคุยถึง “ป้าเป้า” ในอีกมุมที่อาจไม่มีคนเห็นในหน้าสื่อ

"ป้าเป้า" ในมุมมองที่ 'นักกิจกรรม' รู้จัก : ใจดี กี เปลือย

วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่าเมื่อพูดถึง “ป้าเป้า” ตนนึกถึง ‘น้าเสื้อแดงคนหนึ่งที่สู้มานานแล้ว’ และหญิงมีอายุคนหนึ่งที่มักตะโกนเรียกตนว่า “เจ้าตี้ กินน้ำมั้ย” พร้อมด้วยรอยยิ้มที่น่ารัก ซึ่งวรรณวลีกล่าวว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นป้าเป้าในมุมนี้ เพราะภาพที่มักปรากฏในสื่อคือตอนที่ป้าเป้าปะทะคารมกับตำรวจ 

วรรณวลีเล่าว่าตนเจอป้าเป้าบ่อย เรียกได้ว่าแทบจะทุกการชุมนุม บางครั้งก็คิดว่าป้าเป้าไปร่วมชุมนุมบ่อยกว่าตนเสียอีก จนเรียกได้ว่าป้าเป้าคือ ‘ไอคอนประจำม็อบ’ ถ้ามีชุมนุมที่ไหน ต้องมีป้าเป้าที่นั่น

“ถ้าเทียบกันแล้ว ป้าเป้าน่าจะอายุประมาณยายของหนู แกเป็นคนน่ารัก ยิ้มสวย เรานึกถึงภาพผู้หญิงที่ใจดี ทุกครั้งที่เจอ แกจะชอบเอาของมาแจก เพราะแกก็ขายของ[ในม็อบ] ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแกได้กำไรหรือเปล่า เพราะเจอใครแกก็แจก แล้วเวลาเจ้าหน้าที่มาคุกคามหรือทำร้ายหรือประกาศอะไร เราก็จะได้ยินเสียงป้าเป้าไปยืนประชันหน้ากับเจ้าหน้าที่ เวลาที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราจะระลึกไว้เสมอว่าเดี๋ยวจะมีป้าเป้ามาปกป้องเรา” วรรณวลีกล่าว

ขณะที่ภาพจำของ “ป้าเป้า” จากมุมมองของสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกนั้นแตกต่างหลากหลายกันไป เช่น ‘ทาทา’ และ ‘เบบี้เฟิร์น’ ที่นึกถึงวลีด่าสุดเด็ดของป้าเป้า นั่นคือคำว่า “ไอ้หน้าหี” เพราะเป็นคำด่าติดปากที่ป้าเป้ามักจะใช้ตะโกนใส่ตำรวจไปจนถึงรัฐบาล แต่ถึงจะตะโกนด่าอย่างดุเดือดเพียงใด เมื่อหันกลับมาเจอเด็กๆ ในม็อบ ป้าเป้าก็เป็นผู้ใหญ่ใจดีกับลูกหลานอยู่เสมอ ส่วน ‘จริงใจ’ จากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ณ ภาคใต้ บอกว่าเมื่อพูดถึงป้าเป้าจะนึกถึงการต่อสู้ด้วยเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน ที่บอกตนก็นึกถึงคำว่า ‘เปลือย’ เช่นกัน ชุมาพรกล่าวว่าป้าเป้าเป็นคนที่ทำให้การต่อสู้เรียกร้องสิทธิด้วยการเปลือยเป็นที่รับรู้และสร้างแรงกระเพื่อมได้ในสังคมไทย

“เรารู้สึกว่าป้าเป้าเข้าใจเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายที่ชัดมาก เพราะฉะนั้นวันที่เขาจะเปลือย วันที่เขาจะกางขา วันที่เขาจะถลกกระโปรง เขาพูดถึงร่างกายของเขาที่ใช้ในการต่อสู้” ชุมาพรกล่าว

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
 

แต่เมื่อมองป้าเป้าในมุมที่ไม่ใช่นักต่อสู้ ชุมาพรพูดเหมือนกับคนอื่นๆ ว่าป้าเป้าเป็นคนจิตใจดี รวมถึงมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งป้าเป้าจะเป็นคนที่คอยผ่อนคลายบรรยากาศความตึงเครียดในที่ชุมนุม ช่วยให้เกิดการระบาย การแสดงออก และบทสนทนาระหว่างผู้ชุมนุมได้เป็นอย่างดี มีบุหรี่ มีขนม มีอาหาร มาแจกให้กับเด็กและเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมเสมอ จนอาจเรียกได้ว่าป้าเป้าคือ ‘เทพีเปลือยที่ใจดี’ ของทุกคน

“คุยกันแล้ว (เรื่องถอดเสื้อผ้า) น้องสาวยายมันก็รวมหัวกันและพวกแก่ๆ นั่นแหละว่าจะทำอย่างไรดี มันก็ตกลงกันว่า ‘ยายเป้าแก้ก่อนเลย แก้เลย’ แล้วมันก็ดึงยายไปอยู่ตรงกลาง มันก็จัดแจงแก้ให้เสร็จ พอแก้เสร็จยายก็แสดงอะสิ แล้วยายก็หันไปถามว่า ‘พวกมึงจะแก้ตามกูไหม’ มันบอกยายแก้ก่อนๆ แล้วก็…ไอ้เชี่ย! (หัวเราะ) แล้วพวกมันก็ไม่แก้” - ป้าเป้า

ชุมาพรเล่าวว่าตนเห็นป้าเป้าครั้งแรกเมื่อครั้งตอนที่ป้าเป้าแหกขาที่อนุสาวรีย์ฯ แต่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกันอย่างจริงจังหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ซึ่งขณะที่ตนและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ กำลังนอนชู 3 นิ้วอยู่ ป้าเป้าเป็นคนเดินเข้าไปตะโกนต่อว่าตำรวจว่า ‘คุณไม่มีสิทธิ์จะมาจับกุม’ แต่หลังจากนั้นตำรวจก็สลายการชุมนุม ชุมาพรเล่าว่าตนและป้าเป้าถูกควบคุมตัวไปด้วยกัน และต้องอยู่ในห้องขังเดียวกันร่วมกับผู้ต้องขังเพศกำหนดหญิงคนอื่นๆ ซึ่งป้าเป้าเป็นผู้ทำให้บรรยากาศในห้องขังที่ตึงเครียดนั้นผ่อนคลายลงด้วยความสนุกตามสไตล์ป้าเป้า การถูกคุมขังด้วยกันในครั้งนี้ทำให้ชุมาพรรู้จักป้าเป้ามากขึ้น และค้นพบว่าป้าเป้าเป็นคนที่เล่นโยคะเก่งมาก ซึ่งโยคะคือเคล็ดลับที่ทำให้สุขภาพของป้าเป้าแข็งแรง

“เราเห็นแล้วเข้าใจว่าทำไมป้าเป้าถึงมีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่แข็งแรง เพราะป้าเป้าทำโยคะเก่งมาก ตื่นเช้ามาทำโยคะทุกวัน และป้าเป้าก็บอกพวกเราว่าป้าไม่มีทางแข็งแรงได้ขนาดนี้หรอกถ้าเราไม่ทำโยคะ แล้วป้าเขาก็ชวนพวกเราทำโยคะ[ในห้องขัง]” ชุมาพรกล่าว

“ทุกครั้งที่เจอป้าเป้า ถ้าหากบอกแกให้ด่าประยุทธ์หรือด่าตำรวจ แกก็จะใส่ได้ทันทีเลย แต่ถ้าเราบอกว่า ‘ป้ากอดหนูหน่อย หนูเหนื่อย’ แกก็จะปลอบประโลมได้อย่างที่เรารู้สึกว่าเราเชื่อมั่นว่าเขาเป็นแม่ เป็นป้า เป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพ” ชุมาพรกล่าว

ชุมาพร อธิบายเพิ่มเติมเรื่องคำด่าติดปากของป้าเป้าที่มักยกเครื่องเพศมาใช้เปรียบเปรย แต่ไม่ค่อยมีใคร โดยเฉพาะในกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านเฟมินิสต์ออกมาต่อว่าติติง โดยชุมาพรบอกว่า “สิ่งที่ป้าเป้าสะท้อนออกมา[จากคำด่า]มันคือคำสบถของคนในยุคป้าเป้าที่จะพูดเรื่องอวัยะเพศเป็นเรื่องปกติ เขาอาจจะไม่ได้มีสำนึกถึงการที่จะเอาอวัยวะเพศหญิงมาเปรียบเทียบกับประยุทธ์ แต่ป้าเป้าต้องการที่จะสะท้อนออกให้เห็นว่าคนๆ นี้คือความน่ารังเกียจ” ซึ่งชุมาพรบอกว่าสิ่งนี้แตกต่างกับการเหยียดเพศของกลุ่มนักกิจกรรมชายหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลทั่วไป แต่หลังจากมีเสียงเรียกร้องและขอให้ป้าเป้าทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ ก็จะเห็นว่าป้าเป้าใช้คำด่าลักษณะนี้น้อยลง ซึ่งชุมาพรมองว่าป้าเป้าพร้อมรับรับทุกความคิดเห็นที่สะท้อนกลับมา และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนสูง ไม่ว่าเสียงสะท้อนนั้นจะมาจากคนที่เด็กกว่าหรือไม่ก็ตาม

"ป้าเป้า" ที่ 'ทนายความ' รู้จัก : เครื่องด่าที่สุภาพ 

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในทีมทนายความที่ดูแลคดีความซึ่งเกิดจากการร่วมชุมนุมของป้าเป้า กล่าวว่าเมื่อนึกถึง “ป้าเป้า” คำแรกที่เด้งขึ้นมาในหัวคือ ‘เครื่องด่า’ เพราะเวลาเห็นป้าเป้าในที่ชุมนุม เรามักจะเห็นป้าเป้าไปเผชิญหน้ากับตำรวจและตะโกนด่าทอความอยุติธรรมเสมอ แต่จากมุมมองส่วนตัวที่ตนได้รู้จักป้าเป้าผ่านการว่าความ นรเศรษฐ์กล่าวว่าป้าเป้าเป็นคนที่น่ารักและอ่อนโยนมาก

“เวลาไปรับทราบข้อกล่าวหา ไปที่อัยการ หรือไปศาล เวลา[ป้าเป้า]คุยกับทนายความหรือ[เจ้าหน้าที่]คนที่ดำเนินการตามปกติ แกเป็นคนที่น่ารักมาก อ่อนโยนมาก แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ากรณีนั้นๆ ไม่ได้รับความเป็นธรรม คุณจะเจอเครื่องด่าของป้าเป้าทำงานแน่นอน” นรเศรษฐ์กล่าว

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม (แฟ้มภาพ)
 

นรเศรษฐ์เล่าเหตุการณ์ตอนที่ป้าเป้าถูกจับถุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 พร้อมกับผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า และถูกนำตัวไปไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จากเหตุการณ์นี้ ป้าเป้าถูกตั้งข้อหาว่าพกพาอาวุธ เมื่อทราบเช่นนั้น ป้าเป้าก็โวยวายและถามกลับไปยังตำรวจว่าตนจะมีอาวุธได้อย่างไร มีเพียงเครื่องเพศหญิงก็เท่านั้น

"ป้าเป้า" ในสายตา 'ช่างภาพ' : อะไรก็เกิดขึ้นได้

ชนากานต์ เหล่าสารคาม มัลติมีเดียของไอลอว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่างภาพและผู้สังเกตการณ์การชุมนุมที่มีโอกาสได้รู้จักป้าเป้าผ่านการทำงาน เล่าว่าเมื่อพูดถึงป้าเป้า สิ่งแรกที่ตนนึกถึงคือ ‘รอยยิ้ม’ เพราะทุกครั้งที่ยกกล้องขึ้นมา ป้าเป้าจะหันมายิ้มให้กล้องตลอด แม้ว่าตอนนั้นอาจจะกำลังด่าตำรวจอยู่ ซึ่งตนก็ไม่มั่นใจนักว่าที่ป้าเป้าหันมายิ้มให้บ่อยขนาดนั้นเพราะตนเป็นช่างภาพหรือเปล่า

“ตอนม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ป้าเป้านั่งรถซาเล้งอยู่แล้วแฟนแกก็ขับผ่านแก๊งตากล้องแล้วแกก็ชู 3 นิ้ว ยิ้มให้กล้อง จอดจอดไว้ข้างหน้าเรา ยิ้มจนกว่าทุกคนจะบอกให้แกไป ก็ค่อยไป” ชนากานต์เล่า

“เราเคยโทรไปสัมภาษณ์ป้าเป้า น่าจะเป็นเรื่องตำรวจ แกเล่ายาวมากแล้วก็เริ่มพูดถึงช่วงโควิด-19 ว่า ‘เนี่ย รัฐบาลทำให้คนตายข้างถนนนะ’ แล้วแกก็บอกว่าว่า ‘ขอวางก่อนนะ ป้าพูดเรื่องนี้แล้วก็จะร้องไห้’ แล้วก็ตัดสายไปเลย (หัวเราะ)” ชนากานต์ เหล่าสารคาม มัลติมีเดียไอลอว์

ชนากานต์ยืนยันอีกเสียงว่าภาพจำป้าเป้าที่ดูแรงนั้น ป้าเป้าแรงเฉพาะกับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการละเมิดประชาชนเท่านั้น แต่เมื่อหันมาเจอผู้ชุมนุมหรือใครก็ตามที่อยู่ในการชุมนุม ป้าเป้าจะใจดีด้วยเสมอ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ชนากานต์ลบภาพจำแรกของตัวเองที่มีต่อป้าเป้าทิ้งไปไม่เหลือ

ป้าเป้าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564
 

“ตอนแรก เราคิดว่าป้าเป้าเป็นคนน่ากลัว (หัวเราะ)” ชนากานต์กล่าว พร้อมบอกว่าที่ตนคิดอย่างนั้นเพราะ ‘คลิปตีเป้าตำรวจ’ ของป้าเป้าที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงเหตุการณ์ที่ป้าเป้านั่งฉี่หน้ากระทรวงการคลัง แต่วันต่อมา ตนได้รับมอบหมายให้เข้าไปขอข้อมูลติดต่อป้าเป้าเพื่อขอสัมภาษณ์ ซึ่งการได้พูดคุยกับป้าเป้าในวันนั้นทำให้ชนากานต์รู้ว่าป้าเป้าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นคนใจดีและตลกคนหนึ่ง 

ชนากานต์ เหล่าสารคาม
 

อีกหนึ่งสิ่งที่ตนนึกถึงเมื่อพูดถึงป้าเป้า คือคำว่า ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้’ เพราะจากประสบการณ์การทำงานในฐานะช่างภาพ การกระทำของป้าเป้าในที่ชุมนุมนั้นคาดเดาไม่ได้อยู่แล้ว แต่จากการโทรศัพท์สัมภาษณ์ป้าเป้าทำให้ชนากานต์เข้าใจความจริงข้อนี้มากขึ้นไปอีก เพราะอยู่ดีๆ ป้าเป้าขอวางสายไปร้องไห้ ในขณะที่กำลังพูดถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโควิด-19

“เราเคยโทรไปสัมภาษณ์ป้าเป้า น่าจะเป็นเรื่องตำรวจ แกเล่ายาวมากแล้วก็เริ่มพูดถึงช่วงโควิด-19 ว่า ‘เนี่ย รัฐบาลทำให้คนตายข้างถนนนะ’ แล้วแกก็บอกว่าว่า ‘ขอวางก่อนนะ ป้าพูดเรื่องนี้แล้วก็จะร้องไห้’ แล้วก็ตัดสายไปเลย (หัวเราะ)” ชนากานต์เล่า

ชนากานต์บอกว่าอีกหนึ่งมุมของป้าเป้าที่ตนรู้จัก คือป้าเป้าเป็นนักเต้นไล่ความอยุติธรรม เพราะป้าเป้าไม่ได้เต้นแค่ในที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังไปร่วมแจมใจการชุมนุมของกลุ่มอื่นๆ ที่ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เช่น การชุมนุมเกี่ยวกับสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งมีกลุ่มคนหลากหลาย รวมถึงกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง แต่มีจุดยืนร่วมคือเรื่องสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งป้าเป้าก็ไปร่วมเต้นและชุมนุมในม็อบนั้นด้วย

ด้านปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพของวอยซ์ออนไลน์ (VoiceOnline) บอกว่าเมื่อพูดถึงป้าเป้า ตนนึกถึงหญิงสูงวัยที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองทุกครั้งที่มีเวลา และภาพจำแรกของป้าเป้าสำหรับตนคือคนที่ยืนด่าตำรวจอยู่แนวหน้าในที่ชุมนุมอยู่เสมอ แต่เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับป้าเป้าอย่างจริงจังผ่านการทำงาน ก็ทำให้ตนได้เห็นด้านอื่นๆ ของป้าเป้ามากขึ้น

“แกทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความเป็นธรรมชาติของแกเอง คือแกมีใจที่รักความเป็นธรรมโดยธรรมชาติของแกอยู่แล้ว พอแกเห็นความไม่เป็นธรรมก็อยากมีส่วนร่วม ติดตามและช่วยเหลือสถานการณืในม็อบ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้” - ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพวอยซ์ออนไลน์

ปฏิภัทรเล่าวว่าตอนนั้น วอยซ์ทีวีต้องการทำสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับป้าเป้า ตนจึงไปข้อข้อมูลติดต่อและขอสัมภาษณ์ป้าเป้าที่บ้าน และได้เห็นภาพป้าเป้าในมุมมอง ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ เป็นปุถุชนทั่วไป หญิงสูงวัยธรรมดาๆ ที่มีครอบครัว และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นแม่ค้า

“แกก็เป็นหญิงสูงวัยคนหนึ่ง เป็นคนๆ หนึ่งที่มีใจรักประชาธิปไตย และมองเห็นความเป็นธรรม เห็นความไม่เท่าเทียม เห็นความผิดปกติที่มันเกิดขึ้นในสังคม และพร้อมที่จะออกมาสู้ร่วมกับกระบวนการประชาธิปไตย” ปฏิภัทรกล่าว

ปฏิภัทร จันทร์ทอง (แฟ้มภาพ)
 

“แกได้เล่าความเป็นตัวเอง ที่มาที่ไปก่อนที่แกจะมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนที่จะเป็นป้าเป้าอย่างที่ทุกคนรู้จักทุกวันนี้ จริงๆ แล้วลึกๆ แล้วแกเป็นคนสุภาพ สำหรับผมน่ะนะ แกก็เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ว่าโดยคำพูดหรือโดยธรรมชาติบางอย่าง โดยเฉพาะในภาวะที่แกเห็นความผิดปกติ ความไม่พอใจ แกก็จะระบายสิ่งเหล่านั้นออกมา” ปฏิภัทรกล่าว พร้อมบอกว่าป้าเป้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือด มีชีวิต มีจิตใจ และแสดงออกถึงความไม่พอใจเหมือนคนทั่วๆ ไป เพียงแต่การกระทำนั้นถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อก็เท่านั้น

ปฏิภัทรบอกว่าป้าเป้าเป็นคนที่มีจิตสาธารณะที่ต้องการออกมาช่วยเหลือคนที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เช่น กรณีของ #Saveจะนะ หลายคนอาจไม่รู้ว่าป้าเป้ามาร่วมปักหลักค้างคืนเฝ้าการชุมนุมร่วมกับประชาชน อ.จะนะ ที่เดินทางขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม

“แกทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความเป็นธรรมชาติของแกเอง คือแกมีใจที่รักความเป็นธรรมโดยธรรมชาติของแกอยู่แล้ว พอแกเห็นความไม่เป็นธรรมก็อยากมีส่วนร่วม ติดตามและช่วยเหลือสถานการณืในม็อบ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้” ปฏิภัทรกล่าว 

ภาพประทับใจของ “ป้าเป้า” ที่ช่างภาพเลือก

ชนากานต์เลือกภาพถ่ายป้าเป้าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นภาพที่ชอบมากที่สุด เพราะมีคนบอกว่าท่าทางของป้าเป้าในภาพนี้ดูคล้ายผู้หญิงในภาพวาด ‘Liberty Leading the People’ ของเออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) ศิลปินชาวฝรั่งเศส เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่ 2 ใน ค.ศ.1830

ภาพโดย Chana La (ชนากานต์ เหล่าสารคาม มัลติมีเดียไอลอว์) 

ภาพวาด ‘Liberty Leading the People’ ผลงานของเออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix)
ศิลปินชาวฝรั่งเศส เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่ 2 ใน ค.ศ.1830 (ภาพจาก วิกิพีเดีย)
 

ชนากานต์เล่าเรื่องข้างหลังภาพให้ฟังว่าตนอยู่บริเวณที่อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร และกลุ่มคนเสื้อแดงกำลังแสดงดนตรี แต่อยู่ดีๆ ป้าเป้าก็เดินเข้ามาเต้นด้วย เห็นดังนั้น ตนจึงรัวชัตเตอร์ไปอย่างไม่คิดอะไร หลังจากโพสต์รูปดังกล่าวลงในโซเชียลมีเดีย ก็มีคนมาทักว่าคล้ายภาพวาดดังกล่าว ทำให้ตนประทับใจรูปนี้มากที่สุด

ด้านปฏิภัทร ผู้ถ่ายรูปป้าเป้าออกท่าทางถึงพริกถึงขิงในการชุมนุมมากมาย เขาเลือกภาพ ‘ป้าเป้าอุ้มหมา’ ซึ่งเป็นภาพที่เขาถ่ายขณะไปสัมภาษณ์ป้าเป้าที่บ้าน โดยปฏิภัทรเล่าเรื่องราวข้างหลังภาพให้ฟังว่าเขาพยายามจัดท่าทางถ่ายรูปป้าเป้าขณะสัมภาษณ์ และเหลือบไปเห็นสุนัขตัวหนึ่งซึ่งเป็นของ ‘ป้าหมวย’ น้องสาวแท้ๆ ของป้าเป้า เขาจึงบอกให้ลองอุ้มมันขึ้นมา ซึ่งจังหวะที่ป้าเป้าเล่นกับสุนัข ทำให้เขารู้สึกว่า “ป้าเป้าก็เป็นหญิงสูงวัยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง” และอาจจะเป็นภาพที่คนทั่วไปไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก เพราะคงชินตากับการแสดงออกของป้าเป้าในที่ชุมนุมมากกว่า

ภาพโดยปฏิภัทร์ จันทร์ทอง ประกอบบทสัมภาษณ์ในวอยซ์ออนไลน์ (คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ในวอยซ์ออนไลน์) 

“ป้าเป้า” กับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่

นรเศรษฐ์ กล่าวว่า หากจะพูดถึงการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของป้าเป้ากับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ต้องย้อนกลับไปถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งช่วงปี 2561 ซึ่งกำลังหลักในการเคลื่อนไหวตอนนั้นคือกลุ่มคนที่มีอายุ พอมาปี 2563 จึงเกิดกระแสของคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง ซึ่งมีบทบาทสูงมากต่อการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในสังคม

นรเศรษฐ์มองว่าการเคลื่อนไหวในปี 2561 และ 2563 รวมถึงการปรากฏตัวของป้าเป้า สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวในตอนนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพราะความเป็นคนรุ่นใหม่จากอายุ แต่มันเป็นการเคลื่อนไหวเพราะความเป็นคนรุ่นใหม่จากความรู้สึกนึกคิด ที่คนรู้สึกว่ายอมรับความเป็นธรรมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

“ไม่ว่าจะอายุเท่าไร จะอายุเพิ่งเป็นน้องมัธยม หรืออายุเยอะแบบป้าเป้าแล้วก็ตาม นี่ก็คือคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในตอนนี้ นี่เป็นสิ่งที่ผมคิด” นรเศรษฐ์กล่าว

นรเศรษฐ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหากนับสถิติทางคดีเริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ถึงเดือน พ.ย. 2564 มีคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้การช่วยเหลืออย่างน้อย 957 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 1,684 คน ยังไม่นับจำนวนคนที่อาจจะมีคดีหลายคดี เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) หรืออานนท์ นำภา และถ้านับเป็นรายครั้ง เท่ากับว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมมากกว่า 3,000 ครั้งในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา และศาลนัดสืบพยานได้เร็วสุดในตอนนี้คือกลางปี 2566

“ถ้ามีคดีอื่นมาอีกก็ต้องต่อไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นปลายปี 2566 หรือ 2567-68 ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะเสร็จตอนไหนเพราะคดีมันเยอะมากแล้วทนายเรามีไม่เพียงพอ” นรเศรษฐ์กล่าว

นรเศรษฐ์กล่าวต่อไปว่าการดำเนินคดีอย่างหนักหน่วงต่อผู้ชุมนุมในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนไม่ให้ออกมาพูดความจริง ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ให้ออกมาเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่า หรือเรียกร้องในสิ่งที่เขาต้องการ

“ทุกวันนี้ขอแค่คุณขึ้นไปจับไมค์บนเวที คุณโดนคดีได้แล้ว คุณไม่ต้องไปจับไมค์บนเวทีคุณก็โดนคดีได้ ถ้าเกิดว่าคุณเคยถูกคดีมาก่อนหรือเขามีฐานข้อมูลว่าคุณอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุในวันนั้น เพราะทุกวันนี้ข้อหายอดฮิต คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ … สารพัดกฎหมายที่เอามาใช้ตอนนี้ ที่[รัฐ]เอามาดำเนินคดีตอนนี้ทั้งหมดทั้งมวลผมว่าชี้ให้เห็นได้ว่ารัฐต้องการดำเนินคดีกับทุกๆ คนเพื่อให้เกิดภาระทางคดีจนรู้สึกว่าล้า ไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้วไม่ไปแล้ว ไม่ประท้วงแล้ว หยุดดีกว่า เพราะคดีดีมันเยอะเกิน มันเหนื่อยนั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าผมเห็นจากการใช้กฎหมายในปัจจุบัน”

วรรณวลี กล่าวว่า การที่ป้าเป้าต้องออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและอนาคตที่ดีร่วมกับคนรุ่นใหม่สะท้อนว่า ‘เรายังไม่ชนะ’ โครงสร้างรัฐยังคงผิดพลาด หรือคนรุ่นใหม่อาจจะยังออกมาสู้ไม่มากพอ ทำให้ป้าเป้ารวมถึงคนรุ่นราวคราวเดียวกับป้าเป้าอีกหลายคนต้องออกมา ทั้งๆ ที่ควรจะได้พักผ่อน ไม่ต้องต่อสู้เพื่อสิ่งเดิมๆ ที่เคยเรียกร้องไปเมื่อหลายสิบปีก่อน

ชุมาพร กล่าวว่า ถ้านิยามคนรุ่นใหม่ด้วยอายุ ความเป็นเด็ก เยาวชน หรือนักศึกษา ก็จะมีความแตกต่างระหว่างป้าเป้าแน่นอน แต่สำหรับตนมองว่าการแสดงออกของป้าเป้าคือแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ในสังคม การด่าด้วยความเกรี้ยวกราดและยืนท้าทายอำนาจรัฐอย่างไม่หวั่นเกรงโดยใช้เพียงร่างกายของตัวเองแบบนี้คือสิ่งที่เรียกว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (New Social Movement) โดยแท้ และไม่ว่าจะอายุเท่าไร ก็สามารถเป็นคนรุ่นใหม่ได้

ป้าเป้าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 ที่แยกนางเลิ้ง (ภาพโดยแมวส้ม)
 

ชนากานต์ กล่าวว่า ป้าเป้าเป็นตัวแทนของคนรุ่นก่อน ไม่ใช่ตัวแทนของคนเสื้อแดงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคนรุ่นก่อนที่มาเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ แล้วชื่อของ “ป้าเป้า” จะกลายเป็นที่จดจำในฐานะบุคคลในตำนานให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยรุ่นต่อๆ ไป

ปฏิภัทรกล่าวต่อไปว่าส่วนหนึ่งที่ป้าเป้าได้ใจคนรุ่นใหม่หรือคนในโลกโซเชียล เพราะป้าเป้าเป็นตัวแทนของคนที่ถูกกดทับหรืออัดอั้นกับรัฐบาล และกล้าออกมาตะโกนด่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจตรงๆ ซึ่งหลายคนไม่สามารถทำได้ ส่วนกิริยาท่าทางหรือการใช้ภาษาต่างๆ ของป้าเป้าก็เป็นคำด่าทั่วๆ ไปที่คนใช้กันอยู่แล้วแต่อาจไม่ได้ระบายออกสื่อ ตนจึงมองว่าแต่ป้าเป้าเป็นตัวแทนที่คอยระบายความอัดอั้นเหล่านั้น

ปฏิภัทรเล่าถึงป้าเป้าจากมุมมองของช่างภาพว่าป้าเป้าเป็นคนที่มีบุคลิกดึงดูดให้ช่างภาพหรือสื่อสนใจอยู่แล้ว แต่โดยธรรมชาติแล้ว ป้าเป้าเป็นคนที่นึกอยากจะทำอะไร ก็จะทำ เช่น ถ้าป้าเป้าเห็นตำรวจกำลังคุกคามผู้ชุมนุม ก็อาจจะลุกขึ้นไปตะโกนด่าหรือแสดงท่าทางต่างๆ โดยทันที

“เพราะฉะนั้น ในการทำงาน (ช่างภาพ) ถ้าคุณอยากได้รูปป้าเป้า คุณก็ต้องตามป้าเป้าหน่อย เพราะแกจะไม่บอกก่อนว่าแกจะทำอะไร แต่เราต้องคาดเดาว่าแกจะทำสิ่งนี้” ปฏิภัทรกล่าว

“ป้าเป้า” ผู้ยกระดับการเคลื่อนไหวด้วยการ ‘เปลือย’

นรเศรษฐ์ให้ความเห็นในทางกฎหมายต่อกรณีที่ป้าเป้าเปลือยกายประท้วงที่แยกนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 และถูกตั้งข้อหากระทำขายหน้าต่อธารกำนัล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 388 ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว นรเศรษฐ์มองว่าการเปลือยกายเพื่อประท้วงหรือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเป็นการต่อสู้แบบอหิงสาที่สุดแล้ว โดยเฉพาะในเคสกรณีของป้าเป้า

“ตอนนั้นมันเริ่มมีการสลายการชุมนุม เริ่มมีการฉีดน้ำ คฝ. ก็เริ่มตรึงกำลังเข้ามา ป้าเป้าก็เลยเปลือยกาย เปลื้องเสื้อผ้า เพื่อแสดงออกให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้มีอาวุธ มีแค่เนื้อตัวร่างกาย นี่มันเป็นการแสดงออกแบบสันติที่สุดแล้ว ในมุมมองของผม ผมคิดว่าการกระทำของป้าเป้าในวันนั้นควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหรือเป็นเรื่องที่กระทำการอันเป็นอนาจารที่น่าขายหน้าต่อธารกำนัล เพราะ[ป้าเป้า]ไม่ต้องการที่จะยั่วยุให้ใครเกิดอารมณ์ทางเพศใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นการเปลือยกายเพื่อยืนหยัดว่าประชาชนไม่มีอาวุธ พวกคุณต้องหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน” นรเศรษฐ์กล่าว

นอกจากนี้ นรเศรษฐ์ยังระบุว่าหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น มีนักวิชาการตั้งคำถามว่าที่ป้าเป้าเปลือยกายวันนั้นเพื่อหยุดยั้งไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงมันเป็นการกระทำอันควรขายหน้าจริงหรือ ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับนักวิชาการคนนั้นว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่การกระทำอันควรขายหน้า แต่มันคือความกล้าหาญของประชาชนคนหนึ่งที่จะเปลือยกายแล้วลุกขึ้นประท้วงให้ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน

“ค่านิยมของคนไทย ตั้งแต่เด็กจนโตมีค่านิยมที่ยังปลูกฝังให้รักนวลสงวนตัวหรือว่าค่านิยมที่ปลูกฝังให้เรา (ผู้หญิง) ห้ามทำอย่างนี้นะ มันผิดนะ มันเป็นเรื่องที่น่าอายนะ แต่วันหนึ่ง ป้าเป้าทำลายความเชื่อนั้นทิ้งทุกอย่าง” - วรรณวลี ธรรมสัตยา (ตี้ พะเยา)

วรรณวลีกล่าวว่าการเปลือยกายของป้าเป้าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐรู้ว่าประชาชนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนั้นมีเพียงอุดมการณ์และตัวเปล่า ปราศจากอาวุธ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเปลือยกายของป้าเป้าอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากสมัยการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถูกรัฐกล่าวหาว่าพกอาวุธ หรือหากย้อนกลับไปในยุคคนเดือนตุลาก็ยังถูกกล่าวหาว่านักศึกษาพกอาวุธ สิ่งที่เดียวที่จะพิสูจน์ให้รัฐเห็นชัดๆ ว่าประชาชนไม่มีอาวุธก็คงเป็นการเปลือยกายให้เห็นกันแบบจะจะ ซึ่งในการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็มีการเปลือยกายต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแล้ว แต่ในสมัยนั้น สังคมเรายังไม่เติบโตถึงขั้นนี้ จึงมองว่าการเปลือยกายเป็นเรื่องน่าละอาย

“ค่านิยมของคนไทย ตั้งแต่เด็กจนโตมีค่านิยมที่ยังปลูกฝังให้รักนวลสงวนตัวหรือว่าค่านิยมที่ปลูกฝังให้เรา (ผู้หญิง) ห้ามทำอย่างนี้นะ มันผิดนะ มันเป็นเรื่องที่น่าอายนะ แต่วันหนึ่ง ป้าเป้าทำลายความเชื่อนั้นทิ้งทุกอย่าง” วรรณวลีกล่าว พร้อมบอกว่าการเปลือยกายเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของใครของมัน และการเปลือยกายของป้าเป้าไม่ได้ละเมิดสิทธิผู้ใด หรือทำให้ใครต้องติดคุก

 

ด้านสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกทั้ง 3 คนคิดเห็นตรงกันว่าการที่ป้าเป้าแสดงออกโดยใช้ร่างกายประท้วงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่จุดประกายอะไรบางอย่าง ทำให้สังคมไทยเริ่มถกเถียงและเรียนรู้เรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เพราะสิ่งที่ป้าเป้าทำเกิดจากความเต็มใจ ไม่มีผู้ใดบังคับ และไม่สมควรถูกสังคมตัดสินว่าการเปลือยกายประท้วงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ขณะที่ชุมาพร กล่าวว่า การต่อสู้โดยใช้ร่างกายของป้าเป้าเป็นไปตามวิถีปฏิบัติแบบสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ (Feminism) คือการต่อสู้โดยไม่สยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมทางเพศ ซึ่งการเปลือยของป้าเป้าเป็นการใช้ร่างกายเพื่อปลดแอกจากการถูกกดขี่ และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดม็อบเปลือยและม็อบขบวนกีของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกตามมา แม้ว่าในการชุมนุมนั้นจะไม่มีการเปลือยจริงๆ ก็ตาม แต่การเปลือยของป้าเป้าทำให้สังคมเกิดคำถามเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและจุดกระแสคำว่า ‘เปลือย’ ในวงกว้างของสังคม

ชนากานต์บอกว่าการเปลื้องผ้าคือสันวิธีอย่างหนึ่งที่คนเราจะทำได้ และการเปลือยของป้าเป้าก็ไม่ใช่การเอาปืนจ่อยิงใคร ไม่มีใครต้องบาดเจ็บหรือล้มตาย นอกจากนี้ ยังมองว่าการเปลือยของป้าเป้าช่วยยกระดับเช่นศีลธรรมอันดีของประเทศให้มันสูงขึ้น เพราะหลังจากเหตุการณ์นั้น ก็มีแบบบทความลงเยอะมากว่าต่างประเทศก็มีม็อบที่ต่อสู้ด้วยการเปลือย แม้การต่อสู้ด้วยวิธีนี้ไม่ใช่วิธีใหม่ แต่ป้าเป้าสามารถทำให้มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคม ทั้งแง่บวกและแง่ลบ

นรเศรษฐ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 388 ที่ทำให้ป้าเป้าถูกตั้งขอหากระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัลว่าตัวบทกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าคุณต้องเป็นชายหรือหญิง และเปิดเผยเนื้อตัวร่างหายมากน้อยเท่าไรจึงจะถือว่าอนาจาร หรือขายหน้าต่อธารกำนัล แต่ตนเชื่อว่าเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายหรือความเข้าใจของสังคมต่อกฎหมายนี้ ทำให้เกิดความแตกต่าง

“ผมลองยกตัวอย่าง ถ้าเกิดว่าผู้ชายไปถอดเสื้อประท้วง ผมเชื่อว่าตำรวจไม่ตั้งข้อกล่าวหา แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นหญิงคนถอดเสื้อแล้วเห็นบริเวณหน้าอกทั้งหมด ผมเชื่อว่าอาจจะถูกตั้งข้อกล่าวหาแบบนั้น ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้นในมุมมองของผม ถ้าเกิดว่าเราจะบังคับใช้ความยุติธรรมของกฎหมาย ความเป็นมนุษย์มันควรมีความเท่ากัน ไม่ใช่ว่าเพศหนึ่งทำแล้วจะถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่อีกเพศหนึ่งทำแล้วจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา มันไม่ควรเป็นแบบนั้น” นรเศรษฐ์กล่าว

คุยกับ “ป้าเป้า” บุคคลแห่งปี 2021

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2564 ประชาไทได้พูดคุยสัมภาษณ์ “ป้าเป้า” อย่างเป็นทางการครั้งแรก ด้วยบรรยากาศที่สบายๆ ที่เผยให้เห็นชีวิตและตัวตนของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ใจสู้ เด็ดเดี่ยว และมีความคิดที่หนักแน่นเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย (ชมวิดีโอสัมภาษณ์ พาร์ท 1 | พาร์ท 2)

ล่าสุด ประชาไทมีโอกาสได้พูดคุยกับ “ป้าเป้า” อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในบรรยากาศที่สบายๆ ชนิดที่ว่า “ป้าเป้า” สามารถเล่นโยคะให้ดูระหว่างการสัมภาษณ์ พร้อมๆ ‘เปลือยชีวิต’ เล่าย้อนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีนี้ในชีวิต รวมถึงการยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าและประชาธิปไตย

ป้าเป้า โชว์เล่นโยคะระหว่างให้สัมภาษณ์กับประชาไทเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล โดยในวันดังกล่าว ป้าเป้าไปชุมนุมและปักหลักค้างคืนร่วมกับเครือข่าย #Saveนาบอน
 

รู้สึกอย่างไรกับตำแหน่งบุคคลแห่งปี 2021

ป้าเป้าบอกว่าตนไม่เคยใฝ่ฝันเรื่องการมีตำแหน่งหรือได้รางวัลใดๆ ขอเป็นเพียงคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนเดิม แม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมา สื่อจะให้ความสนใจตนมากขึ้น และกลายเป็นที่รู้จักของคนที่มาร่วมชุมนุม แต่ป้าเป้าก็คิดว่าตนยังเป็นคนเดิม

“ของสิ่งนี้ยายไม่เคยไฝ่ฝัน มีหลายพรรคการเมืองมาชวน แต่ยายไม่เอา ไม่ได้ต้องการอำนาจหรือเป็นใหญ่เป็นโต ที่ทำทุกอย่างเคลื่อนไหวทุกอย่างเพราะอยากช่วยเด็กๆ ที่ออกมาชุมนุมก็เท่านั้น” ป้าเป้ากล่าว

“เราเห็นแล้วเข้าใจว่าทำไมป้าเป้าถึงมีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่แข็งแรง เพราะป้าเป้าทำโยคะเก่งมาก ตื่นเช้ามาทำโยคะทุกวัน และป้าเป้าก็บอกพวกเราว่าป้าไม่มีทางแข็งแรงได้ขนาดนี้หรอกถ้าเราไม่ทำโยคะ แล้วป้าเขาก็ชวนพวกเราทำโยคะ[ในห้องขัง]” - ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

“ยายเป็นประชาธิปไตยและเป็นคนรุ่นใหม่”

ป้าเป้าเล่าว่าตนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่รุ่นคนเดือนตุลา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เรื่อยมาจนถึงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2551 และ 2552 เป็นบุคคลร่วมสมัยที่อยู่ในเหตุการณ์การต่อสู้เหล่านี้ เมื่อถามความคิดเห็นป้าเป้าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ช่วง 1-2 ปีมานี้ ป้าเป้านิยามตัวเองสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า“ยายเป็นประชาธิปไตยและเป็นคนรุ่นใหม่” ซึ่งนิยามคนรุ่นใหม่ในมุมมองของป้าเป้าไม่ใช่สิ่งที่ถูกจำกัดด้วยอายุ แต่คนรุ่นใหม่คือความคิดที่ก้าวไปข้างหนา

“ไม่ว่าจะอายุเท่าไร จะอายุเพิ่งเป็นน้องมัธยม หรืออายุเยอะแบบป้าเป้าแล้วก็ตาม นี่ก็คือคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในตอนนี้ นี่เป็นสิ่งที่ผมคิด” นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ

“คนเราอย่าเอาห่วงมาใส่คอ เราเลี้ยงให้เค้าเป็นคนดีพอแล้ว… มันก็เป็นคนละยุคคนละสมัย เพราะฉะนั้น คนเราเลี้ยงลูกอย่าให้โบร่ำโบราณนัก เราพูด 2-3 คำก็จบ” ป้าเป้ากล่าว พร้อมเล่าให้ฟังถึงชีวิตในวัยเด็กที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลน้องสาว ต้องตื่นเช้ามาเตรียมอาหาร รีดชุดนักเรียน และเปรียบเทียบให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนยุคนี้นั้นแตกต่างจากยุคก่อน หลายสิ่งหลายอย่างต้องปรับให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในยุคนี้ โดยป้าเป้ายกประเด็นการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนมาเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมยุคใหม่นั้นแตกต่างจากยุคก่อนอย่างเป็นได้ชัด

“อย่างชุดนักเรียน อะไรนะ ที่เขาเรียกกันว่าชุดไพรๆ (ผู้สื่อข่าว - ชุดไปรเวท) ใช่ ชุดไปรเวท ยกเลิกชุดนักเรียน ไม่ต้องมานั่งรีดผ้า เลิกเรียนก็ไม่ต้องกลับมาเปลี่ยนเสื้อผ้าแต่งตัว สะดวกสบาย เข้ากับยุค สมัยก่อนตีสี่ยายก็ตื่นแล้ว (มารีดผ้า) สมัยนี้เด็กตื่นได้ไหมล่ะ (หัวเราะ)”

เปลือยการต่อสู้ในแบบฉบับ “ป้าเป้า”

ป้าเป้าเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) สลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 โดยป้าเป้าเล่าว่าเหตุการณ์ในวันนั้นตึงเครียดเพราะนอกจาก คฝ. จะสลายการชุมนุมที่แยกนางเลิ้งโดยตรงแล้ว ยังมีการปิดล้อมในตรอกซอกซอยต่างๆ การประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้าย หรือบอกคนที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งในวินาทีนั้นทำให้ป้าเป้าตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อดึงความสนใจให้ คฝ. หยุดวิ่งไล่จับผู้ชุมนุมและเปิดทางให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับบ้าน และลงเอยด้วยการ ‘เปลื้องผ้า’ เปลือยกายต่อหน้า คฝ. ผู้สื่อข่าว และประชาชนบริเวณนั้น

“คุยกันแล้ว (เรื่องถอดเสื้อผ้า) น้องสาวยายมันก็รวมหัวกันและพวกแก่ๆ นั่นแหละว่าจะทำอย่างไรดี มันก็ตกลงกันว่า ‘ยายเป้าแก้ก่อนเลย แก้เลย’ แล้วมันก็ดึงยายไปอยู่ตรงกลาง มันก็จัดแจงแก้ให้เสร็จ พอแก้เสร็จยายก็แสดงอะสิ แล้วยายก็หันไปถามว่า ‘พวกมึงจะแก้ตามกูไหม’ มันบอกยายแก้ก่อนๆ แล้วก็…ไอ้เชี่ย! (หัวเราะ) แล้วพวกมันก็ไม่แก้” ป้าเป้าเล่าเหตุการณ์

“มัน (น้องสาวและเพื่อนๆ) บอกให้ยายแก้ก่อน กูก็คิดว่าทำเพื่อลูกเพื่อหลานสักครั้งเหอะวะ เพราะเดี๋ยวมันจะโดนตีกัน ‘กูมีแต่หีกับชีวิตนี่แหละ มึงจะเอาอะไร’ ยายก็ว่าอย่างนี้ ‘ไอ้สัตว์ มึงรังแกประชาชน’ ยายก็ด่ามัน (ตำรวจ) เนอะ ยายก็ด่าหลายอย่าง นักข่าวก็เต็มไปหมด นักข่าวก็จ้องถ่ายอย่างเดียวเลย กล้องเป็นสิบๆ ตัว ถ่ายยายอย่างเดียว”

 

รู้สึกอย่างไรหลัง ‘เปลื้องผ้า’

“ยายคิดว่ามันก็คุ้มนะ [เปลื้องผ้าแลก]กับเด็กโดนตีโดนจับ อย่างน้อยๆ 10 คนมันต้องมีแล้ว แล้วเราคนเดียว เราก็แก่แล้ว ก็เอาเหอะวะ เราก็ทำเพื่อลูกหลานสักครั้งนึง ยายก็คิดอย่างนี้แหละ”

ผู้สื่อข่าวถามป้าเป้าถึงความรู้สึกว่าหลังจากเปลื้องผ้าหมดแล้วรู้สึกเขินหรืออายไหม ป้าเป้าตอบว่า “ไม่รู้ ไม่อาย เราแก่แล้ว ถ้าไม่ทำลูกหลานเราก็จะโดนตี มันก็มาขอบคุณยาย แต่มันก็ยังไม่ยอมแพ้นะ มันก็ไปเล่นทหารอีก เราก็ ‘มึงนะ ไอ้เหี้ย กูก็แก้แก้ผ้าแล้ว มึงจะเอาอะไรอีก’” (ผู้สื่อข่าว - แล้วคิดว่าช่างภาพเขินไหม) “ไม่เขินหรอก มันรีบถ่ายกันใหญ่เลย มันอยากได้ภาพ (หัวเราะ) ยายก็ทำตลกไปอย่างนั้นแหละ ให้มัน (ตำรวจ) หนีกันไป”

 

“เราไม่ห่วงเขาเหรอ ชีวิตหนึ่งมันก็มีค่าเท่ากับเรานี่แหละ ถ้าเกิดเขาโดนตี เขาก็เจ็บ เพราะพวกนี้มันไม่ปล่อยหรอก ยายก็กลัวเด็กโดน ไหนจะโดนคดีโดนจับอีก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ผิดอะไร มันพยายามยัดเยียดทุกอย่างโดยปิดถนน มึงก็ปิด กูออกมาประท้วงแต่มึงก็ไม่เคยให้อะไรให้แต่แก๊สน้ำตากับกระสุนยาง ให้รถฉีดน้ำเรา คิดดูซิว่าพวกคุณทำถูกไหม” ป้าเป้ากล่าว

“ผมลองยกตัวอย่าง ถ้าเกิดว่าผู้ชายไปถอดเสื้อประท้วง ผมเชื่อว่าตำรวจไม่ตั้งข้อกล่าวหา แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นหญิงคนถอดเสื้อแล้วเห็นบริเวณหน้าอกทั้งหมด ผมเชื่อว่าอาจจะถูกตั้งข้อกล่าวหาแบบนั้น ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้นในมุมมองของผม ถ้าเกิดว่าเราจะบังคับใช้ความยุติธรรมของกฎหมาย ความเป็นมนุษย์มันควรมีความเท่ากัน ไม่ใช่ว่าเพศหนึ่งทำแล้วจะถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่อีกเพศหนึ่งทำแล้วจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา มันไม่ควรเป็นแบบนั้น” นรเศรษฐ์ นาหนองตูม - ทนายความ

ปืนฉีดน้ำล้างกี

ป้าเป้าเล่าถึงเหตุการณ์ใช้ปืนฉีดน้ำไล่ฉีดตำรวจที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิว่าหมั่นไส้ระคนโมโหที่ตำรวจชอบจับกุมผู้ชุมนุม ก็เลยเอาปืนฉีดน้ำมาเป็นมุกหยอกตำรวจคืนบ้าง พร้อมเฉลยว่าน้ำที่ใส่ในปืนฉีดน้ำไม่ใช่ ‘น้ำล้างกี’ แบบที่ตะโกนบอกตำรวจ แต่เป็นน้ำเปล่าธรรมดาที่เปิดจากขวดน้ำดื่มทั่วๆ ไป

“โมโหมัน จับกูจัง จับทำหัวควยอะไร ทีกูมีแค่ปืนฉีดน้ำมึงยังกลัวเลย ทีพวกมึงเอาทั้งแก๊สน้ำตา เอากระสุนยาง ไอ้สัตว์ มึงไม่กลัวกูเจ็บบ้าง มันบอกว่า ยายจะด่าอะไรก็ด่าไป แต่ยายห้ามเอาปืนฉีดน้ำมา แต่ยายด่าไม่พร่ำเพรื่อ เวลามันเอา คฝ. มาจับเด็ก ก็ด่า” ป้าเป้าบอก

ผู้สื่อข่าวถามถึงประสบการณ์การขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะเข้าร่วมชุมนุม ป้าเป้าตอบยืนยันในหลักการอย่างเรียบง่ายว่า “ยายเป็นนักประชาธิปไตย ยายรู้ว่ากฎหมายเป็นแบบไหน เราไม่ได้ฆ่าคนตาย เราไม่ได้ค้ายาเสพติด เราไม่ผิด แล้วเราก็ไม่ได้ค้าอาวุธสงคราม เราไม่ได้ทำผิดอะไร เราไป[ชุมนุม]เข็มเล่มนึงก็ไม่มี คุณจะเอาอย่างไรกับการสู้”

ป้าเป้าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ภาพโดยแมวส้ม) 

ประเทศไทย ‘ยื้อยุทธ์’ ฉุดประชาชนไม่ให้ลืมตาอ้าปาก

ป้าเป้าเล่าถึงการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับก่นด่ารัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นระยะตามสไตล์ป้าเป้า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อัดอั้นกับการบริหารประเทศตลอด 8 ปีที่ผ่านมา “ยายเป็นคนโบราณ ไม่มีการศึกษา ป.4 ก็ไม่จบ อยู่แต่กับคนจน ไม่เคยอยู่กับผู้ดีนะคะ แต่ยายพูดดีได้กับคนดี” ป้าเป้าพูดติดตลก

“พูดดีได้ ไม่พูดหยาบก็ได้ แต่ะจะพูดดีเฉพาะกับคนที่ดีกับเราเท่านั้น ก็เหมือนประชาชนทุกวันนี้แหละ ถ้าเขาอยู่ดีกินดีเขาจะออกมาไหม เอาเถอะ ถ้าบ้านเรามีความสุขเราอยากจะออกนอกบ้านไหม เราก็อยู่ในบ้านแบบมีความสุขเหมือนสมัยก่อน” ป้าเป้ากล่าว

ป้าเป้าบอกว่าการที่ประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของปากท้อง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่มันย่ำแย่ลงมาเป็นเวลากว่า 8 ปีนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในฐานะคนทำอาชีพค้าขาย ป้าเป้าสะท้อนความคิดเห็นต่อนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลนับตั้งแต่สมัย คสช. จนมาถึงสมัยรัฐประบาลประยุทธ์ 2 ที่พ่วงมาด้วย ส.ว. 250 คนว่า ‘หาแดกไม่ได้’

“พูดดีได้ ไม่พูดหยาบก็ได้ แต่ะจะพูดดีเฉพาะกับคนที่ดีกับเราเท่านั้น ก็เหมือนประชาชนทุกวันนี้แหละ ถ้าเขาอยู่ดีกินดีเขาจะออกมาไหม เอาเถอะ ถ้าบ้านเรามีความสุขเราอยากจะออกนอกบ้านไหม เราก็อยู่ในบ้านแบบมีความสุขเหมือนสมัยก่อน” - ป้าเป้า

“ไอ้หน้าหี มันไล่ที่ หาแดกไม่ได้ จะไปตรงไหนล่ะ” ป้าเปล่ากล่าว

ป้าเป้าเล่าถึงชีวิตในฐานะแม่ค้าที่ขายของตามตลาด ตลาดนัด ไปจนถึงขายของในพื้นที่ชุมนุมในปี 2551 และ 2553 ป้าเป้าตระเวนขายของกับครอบครัวไปเรื่อยๆ พร้อมเล่าว่าในปี 2557 ที่สถานการณ์การเมืองดุเดือดมากๆ ป้าเป้าก็ยังนั่งขายของหาเลี้ยงชีพแบบหามรุ่งหามค่ำ และยังคุยๆ กับน้องสาวระหว่างนั่งขายของว่า ‘ไม่น่าจะเกิดรัฐประหารหรอก’ แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นจนได้

 

หลังรัฐประหาร รัฐบาล คสช. สั่งปิดทางเท้า ปิดตลาด และสถานที่ทำมาค้าขายหลายแห่ง เช่น คลองโอ่งอ่าง คลองหลอด ท่าพระจันทร์ และไม่ได้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้า แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ทางเท้าหรือตลาดบางแห่งกลับไม่ถูกปิด เช่น บริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งแทบไม่เหลือทางเท้าให้เดิน ป้าเป้าจึงตั้งคำถามว่าหากอ้างการจัดระเบียบ ทำไมถึงจัดระเบียบไม่เท่ากัน 

“ตอนเปิดตลาดนัดสายใต้ใหม่ คนก็ยังไม่มี ยายก็เอานู่นเอานี่ไปวางขาย ถ้าเราไม่มีรถไปก็ต้องนั่งแท็กซี่ ไม่มีรถกลับก็ต้องนั่งแท็กซี่ มันยุ่งยาก ค่ารถก็ขึ้นไปแล้ว 300-400 บาท แล้วมาค่าเช่าที่อีก 2 เมตร เนี่ย แต่ก่อนคิดแค่ 100-120 บาท ที่วางของ 20 บาท ค่าไฟ 20 บาท เราลงของไปแล้ว แต่มันขายไม่ได้ ขายได้น้อย ขาดทุนตลอด” ป้าเป้าเล่า

จนกระทั่งในยุครัฐบาลพรรคพลังประชารัฐที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ผู้ประกอบการรายย่อย คนตัวเล็กตัวน้อยก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจก็ฝืดเคืองอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอโควิด-19 ป้าเป้าบอกว่า ‘ยิ่งไปกันใหญ่’ ขายเท่าไรก็ยังขาดทุน พร้อมบอกว่าแม้กระทั่งซื้อของมาขายในพื้นที่ชุมนุมก็ยังขาดทุน เพราะวางของได้ไม่เท่าไร ตำรวจก็เข้ามาสลายการชุมนุม ทำให้พลาดโอกาสที่มีอยู่เพียงน้อยนิดให้ได้พอทำมาหากิน

“อีกหน่อยนะ มันหมดรุ่นคุณ กลายเป็นรุ่นลูกขึ้นมา [ประเทศ]จะต้องย่ำแย่กว่านี้เพราะมันไม่มีใครที่จะมารื้อระบบ มันไม่มีใครที่จะออกมาต่อสู้ … ทำไมเราไม่คิดถึงข้อนี้ ไอ้เรื่องอื่นน่ะ ยายไม่อยากหันหลังไปมอง แต่เรื่องอนาคตลูกหลาน เรื่องอนาคตประเทศชาตินี้ เราต้องห่วง แค่นั้น” - ป้าเป้า

ป้าเป้าเล่าว่าตนเคยลงทุน 4,000 บาท ซื้อแว่นสายตาเตรียมมาขายในพื้นที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นเหมือนตลาดนัดย่อมๆ แต่ยังไม่ทันได้ขายก็ถูกสลายการชุมนุมเสียก่อน เงินที่ลงทุนไปก็เสียเปล่า ตอนนี้เลยต้องเอาแว่นที่ซื้อไว้ขายมาใส่ เพราะขายไม่ออกแล้ว

“แล้วอย่างโควิด-19 มา เซเว่นมันไม่ปิด ห้างมันไม่ปิด แต่มาปิดบ้านคนขายของนิดๆ หน่อยๆ มันปิด แล้วคิดดูสิ มันมีความยุติธรรมไหม” ป้าเป้ากล่าว

“ประเทศเรามันยังไม่เพอร์เฟ็กต์ถึงขนาดนั้นเพราะอะไร เพราะคุณไม่ดูแลชีวิตคนจน” ป้าเป้ากล่าว

เบี้ยยังชีพ 600 บาทกับเส้นทางที่เหลือของวัยหลังเกษียณ

ป้าเป้ายังมองว่าสำหรับคนวัยเกษียณแล้วอย่างป้าเป้า ลึกๆ แล้วก็ต้องการใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายชีวิตแบบสบายๆ หลังจากทำงานเสียภาษีมาทั้งชีวิตในฐานะพลเมือง แต่สวัสดิการผู้สูงอายุที่รัฐมีให้ในตอนนี้นั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

“ทำไมไม่นึกถึงว่าชีวิตแต่ละคนเขาต้องลำบากขนาดไหน เขาเสียภาษี แต่คุณไม่มีรางวัลอะไรที่มาตอบแทนเลย รางวัลก็คือ 600 บาทไง มันคุ้มไหมล่ะกับที่เขาให้เรา”

“ถ้าวันไหนได้นั่งแท็กซี่ก็ไม่พอแล้ว เพราะเงิน 600 บาท ได้ใช้วันละ 20 บาท ถ้าวันไหนได้นั่งแท็กซี่หรือวันไหนไม่สบายก็ไม่พอแล้วเพราะว่ามันได้ใช้วันละ 20 บาทแล้วเราจะได้ใช้อะไร วันหนึ่งค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 200 บาทแล้วใช่ไหม ถ้ายิ่งเราไปธุระไปนู่นไปนี่ นั่งแท็กซี่ก็หมดแล้ว 100 กว่าบาทไปกลับก็ 300 บาท”

“ยิ่งรัฐบาลดี ยิ่งดูแลประชาชนจากภาษี ทุกคนจะไม่ลำบาก ถ้ายายได้ 3,000 บาทก็อยู่ได้ ถ้าอยู่กับลูกหลาน ก็ไปเหน็บๆ แนมๆ กินกับพวกมัน” ป้าเป้ากล่าว

ป้าเป้าบอกว่าประชาชนคนไทยควรได้รับสวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่จำเป็นต้องสอบเข้าทำงานเป็นข้าราชการ เพราะไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ทำงานเสียภาษีเหมือนกันหมด

“ก็ไม่ได้อยากจะพาดพิงนะ แต่พวกมียศฐาบรรดาศักดิ์ก็มีสวัสดิการ แต่พวกเรารักษาแค่ 30 บาท ยังไม่ได้อะไรเท่ากับเงินภาษีที่เราเสียไปทั้งชีวิต แล้วทำไมเขาไม่ดูแลคนจน” ป้าเป้ากล่าว

ประเทศไทยต้องเปิดพื้นที่ สร้างอนาคตให้คนรุ่นหลัง

นอกจากการประท้วงเรียกร้องของประชาชนในรอบปีที่ผ่านมาจะมีหลากหลายกลุ่ม หลากหลายความต้องการ ทั้งเรื่องอาชีพ ปากท้อง ที่ดินทำกิน ไปจนถึงสิทธิต่างๆ แต่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยยังคงเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่ยืนพื้น ซึ่งป้าเป้ามองว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ นำโดยกลุ่มนักศึกษานั้นจะช่วยผลักดันให้การเมืองไทยกลับเข้ารูปเข้ารอยอย่างที่ควรเป็น

“คนที่เขามีความรู้ อย่างทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) เบนจา (เบนจา อะปัญ) พวกนี้เขาเป็นนักศึกษา เขารู้ว่าบ้านเมืองควรจะเดินอย่างไร ควรจะทำอย่างไร เขาไม่ได้ล้มเจ้า ยายเองก็ไม่ล้มเจ้า ยายก็รัก ไม่ใช่ยายไม่รักนะ รักมาก รักที่สุด รักฉิบหายเลย แต่ทุกอย่างมันไม่ได้อยู่กันที่ว่าจะรักหรือไม่รัก มันอยู่ที่การกระทำ”

“อย่างบางคนมาบอกว่า ‘โอ๊ย ฉันไม่มีเงินกินเลย’ เราก็สงสาร ขนาดเราไม่มีเงิน เราก็ยังแบ่งปันให้ แล้วทำไมคนมีอำนาจอยู่ในมือ ทำไมไม่เลือกจะทำสิ่งที่ดีๆ ไม่ว่าใครที่ตายไป มีใครเอาไปได้สักอย่างไหม อำนาจมันกินได้ไหม”

“อีกหน่อยนะ มันหมดรุ่นคุณ กลายเป็นรุ่นลูกขึ้นมา [ประเทศ]จะต้องย่ำแย่กว่านี้เพราะมันไม่มีใครที่จะมารื้อระบบ มันไม่มีใครที่จะออกมาต่อสู้ … ทำไมเราไม่คิดถึงข้อนี้ ไอ้เรื่องอื่นน่ะ ยายไม่อยากหันหลังไปมอง แต่เรื่องอนาคตลูกหลาน เรื่องอนาคตประเทศชาตินี้ เราต้องห่วง แค่นั้น”

 

ป้าเป้าบอกว่าการเปิดพื้นที่สร้างอนาคตให้คนรุ่นหลังนั้นเริ่มต้นจากเรื่องการศึกษา ซึ่งทุกวันนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ป้าเป้าเคยไปอยู่ เช่น สิงคโปร์ ที่นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งการศึกษาที่ดี ทั้งๆ ที่การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

“เราเหมือนต้นไม้ เหมือนต้นบอนไซที่ถูกเลี้ยงแบบกูไม่ให้มึงโต แต่เดี๋ยวนี้ เด็กมันรู้หมดแหละ” ป้าเป้ากล่าว

อย่าหยุดสู้แม้รู้ว่ารัฐ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’

ป้าเป้าบอกว่าการที่รัฐปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนักและใช้กระบวนการทางกฎหมายมาจัดการประชาชนผู้คิดต่าง โดยเฉพาะการคุมขังแกนนำหรือนักกิจกรรมแนวหน้าที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งหมดนี้เป็นการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ แต่ลิงไม่กลัว พ่อแม่ลิงต่างหากที่กลัว

“พ่อแม่รักลูกทุกคน เป็นห่วงลูก บอกลูกอย่าไปทำนะเดี๋ยวโดนจับ คนไทยมันเป็นแบบนั้น แต่เขาไม่นึกถึงหรอกว่าประชาธิปไตยคืออะไร คือสิทธิของเรา ไม่ใช่จบวันนี้ ไม่ใช่จบปีนี้ ไม่ใช่จบแค่รุ่นเรา มันต้องเป็นเรา [เรา]ต้องทำให้ทุกอย่างให้มันดีขึ้นมาใช่ไหม เราต้องสู้ต่อสู้จนกว่าจะมันจะจบ” ป้าเป้ากล่าว และบอกว่าที่หลายประเทศไม่มีการลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้อง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาต่อสู้จนได้รับการดูแลที่ดีพอและเสนอต้นเสมอปลายจากรัฐแล้ว ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเทศไทย

“ยายก็อยากจะบอกว่าไอ้ที่เขา (รัฐ) ทำทุกวันนี้ เขาก็ทำมากกว่านี้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะเชือดไก่ให้ลิงดู ลิงน่ะกลัวไม่กลัวหรอกแต่โคตรพ่อโคตรแม่ ตัวผู้ใหญ่มันกลัวอำนาจแต่ไม่กลัวหรอกว่าลูกจะมีกินไม่มีกินข้างหน้า จะมีงานทำหรือไม่มี” ป้าเป้ากล่าว

‘ยืน หยุด ขัง’ การเรียกร้องที่สันติวิธีที่สุดที่ทุกคนช่วยกันได้

ป้าเป้าเล่าถึงกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ ที่ตนไปเข้าร่วมเกือบทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณหน้าศาลฎีกา ข้างสนามหลวง ป้าเป้าบอกว่าเป็นการเรียกร้องที่สันติวิธีที่สุด และไม่ต้องทำอะไร แค่สละเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที ยืนเรียกร้องให้คนที่เขาเสียสละต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้วถูกจับกุมคุมขัง ให้พวกเขาเหล่านั้นได้อิสรภาพกลับคืนมาอีกครั้ง พร้อมเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีกิจกรรมเกือบทุกวัน ให้มาร่วมกัน ‘ยืน หยุด ขัง’ คืนความยุติธรรมให้กับนักโทษทางความคิดที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

“ยายอยากขอร้องประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ รวมถึงคนที่ไม่ได้รู้เรื่องประชาธิปไตย คิดว่าไปทำบุญกับคนที่เขาเรียกร้องให้เรา ที่ยายไปเพราะยายสงสาร ชีวิตเขายังยังก้าวไปอีกไกล ส่วนยายเนี่ยจะอยู่อีกสัก 10 ปีหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรืออาจจะอยู่สัก 5 ปี ถ้ามันยังไม่ตายก็ต่ออีก 5 ปี ชีวิตก็คงจะช้าลงทุกอย่าง สมองก็ช้า แล้วทุกอย่างก็มันก็จะหยุด ยายก็อยากจะขอร้องว่าที่เวลาเราเลี้ยงหมู เลี้ยงแมว เลี้ยงสัตว์อะไรอย่างนี้ เรายังให้ความรักเขาเลย อันนี้ชีวิตคนที่เขาออกมาต่อสู้เพื่อทุกคน” ป้าเป้ากล่าว

อีกไม่นาน นานเท่าไร ถึงจะหลุดจากวังวนเผด็จการ

“ให้ยายติดคุกไหม ยายจะพูดให้ (หัวเราะ)” ป้าเป้าตอบทันทีแบบติดตลก

“ทำไมคนไทยถึงต้องมาเป็นแบบนี้ … ทำไมพวกคุณไม่ห่วงลูกห่วงหลานข้างหลังกันบ้างเลยหรอ ประยุทธ์มันมาจากไหน มันก็เป็นคนธรรมดาอย่างพวกเรานี่แหละ มันก็ถูกหัวโขนอุปโลกขึ้นมา” ป้าเป้ากล่าว พร้อมบอกว่าสิ่งที่สำคัญในการกำจัดอำนาจเผด็จการออกจากประเทศนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กลุ่มอำนาจเผด็จการเขียนเอาไว้ ซึ่งป้าเป้าเห็นว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เรียบร้อยก่อนค่อยจัดการเลือกตั้ง ทุกอย่างมันถึงจะถูก เพราะถ้าเลือกตั้งตอนนี้ อำนาจเก่ายังคงอยู่

 

ไม่ท้อ แม้ต้องสู้ต่ออย่างไม่รู้จบ

ป้าเป้าเผยว่าตนไม่เหนื่อยที่ต้องมาชุมนุมบ่อยๆ เพราะยังมีกำลังใจดีและพร้อมสู้ต่อ

“เหมือนหนูที่ต้องออกมาทำข่าว ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย ต้องแบกกล้อง แบกกระเป๋าแต่มันมีกำลังใจตรงนั้น เหมือนคนค้าขาย ‘อ้าว วันนี้กูขายดี กูต้องรีบออกแต่เช้า’ แล้วก็ไปทำงานแบบไม่เหนื่อย เหมือนกับคนเลี้ยงลูก[ที่คิดว่า] ‘กูจะต้องปลูกต้นไม้ต้นนี้ให้มันดี ให้มันสวยงาม กูยอมทำทุกอย่างเพื่อลูก’” ป้าเป้ากล่าว พร้อมบอกว่าตนคิดเพียงแค่ว่าสิ่งที่ทำมันอยู่เป็นประโยชน์ต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย และหากการกระทำของตนช่วยให้ประโยชน์นั้นเติบโตทวีคูณขึ้นได้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

“ถ้าเราอยู่เฉยๆ จะได้อะไร ก็ไม่ได้อะไร” ป้าเป้ากล่าวสั้นๆ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net