Skip to main content
sharethis

พรรควิฬาร์ชวนชาวเชียงใหม่จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ชำระประวัติศาสตร์: 6 ตุลา วันล้อมฆ่าชาว (ล้าน) นา” ขณะที่ กลุ่ม artn't ประกาศจัด Performance Art ต่อเนื่อง 192 ชั่วโมง 6 ตุลา– 14 ตุลา เนื่องในโอกาสเดือนตุลามหาวิปโยค

7 ต.ค. 2564 วานนี้ (6 ต.ค. 64) เวลา 16.30 น. ที่ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ พรรควิฬาร์ชวนชาวเชียงใหม่จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ชำระประวัติศาสตร์: 6 ตุลา วันล้อมฆ่าชาว (ล้าน) นา” โดยรังสรรค์ แสนสองแคว ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), สหายเข้ม หนึ่งในที่ผู้เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา และธนาธร วิทยเบญจางค์ ตัวแทนนักศึกษาจากกลุ่มพรรควิฬาร์

บรรยายกาศภายในงานมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน และมีศิลปินคนรุ่นใหม่ของเชียงใหม่หลายคนร่วมแสดง Performance Art อาทิ การแสดงจากกลุ่มลานยิ้ม, artn't, และศิลปินอิสระ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม “ยืนหยุดทรราช” จากกลุ่ม We, The People ร่วมด้วย

รามิล วิธญา คลังนิล

นอกจากนี้ กลุ่ม artn't ประกาศจัด Performance Art ต่อเนื่อง 192 ชั่วโมง 6 ตุลา– 14 ตุลา เนื่องในโอกาสเดือนตุลามหาวิปโยค กลุ่ม artn't จัด Performance Art 8 วัน รวม 192 ชั่วโมงต่อเนื่อง ตั้งแต่ 6 ตุลา– 14 ตุลา โดย สามารถรับชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่บริเวณลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรามิล วิธญา คลังนิล นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งถูกดำเนินคดี ม.112 จากการจัดกิจกรรมเชิงศิลปะ ขอใช้ชีวิตของตัวเองแสดงงานศิลปะ ในพื้นที่สาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 8 วัน

ภาพบรรยากาศ :

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดช่วงที่เรียกรวมๆ ว่า "ขวาพิฆาตซ้าย" นั้น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนอธิบายไว้ในเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา ว่า เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ ทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net