วาระ 45 ปี 6 ตุลา 2519 สถาบันปรีดีฯ จัดเสวนา “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” เสนอปัญหาที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่เหตุการณ์หกตุลาฯ แต่ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ ศาล การอุ้มฆ่าโดยรัฐ ที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญและต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กดขี่พวกเขาอยู่เช่นคนรุ่นก่อน
6 ต.ค.2564 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนาออนไลน์ “Pridi Talk ครั้งที่ 13” ในหัวข้อ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ ทหาร กองทัพของราษฎร เนื่องในโอกาสรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 โดยมี รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ดำเนินรายการโดน ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว ‘ข่าวสด’ เป็นผู้ดำเนินรายการวันนี้
แนวทางปฏิรูปกองทัพเพื่อยุติการแทรกแซงทางการเมือง
พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู อดีตสภา อดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร และรองประธานกรรมการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาในหัวข้อ “วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และบทบาทกองทัพ” ซึ่งพงศกร เสนอแนวทางปฏิรูปเพื่อยุติการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ
พงศกร กล่าวว่า เวลาพูดเรื่องประชาธิปไตย ทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องกองทัพ เพราะประชาธิปไตยกับทหาร เป็นเหรียญเดียวกัน แต่มีสองด้าน คือถ้าทหารสนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็จะไปโลดเลย แต่ถ้าทหารไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ก็จะมีปัญหาทางการเมือง และเศรษฐกิจติดตามมา
พงศกร มองว่า ปัญหาการเมืองไทยนับตั้งแต่ 6 ตุลา เกิดจากการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ และการจะยุติเรื่องนี้ต้องอาศัย 4 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจการเมืองแบบอุตสาหกรรม การปฏิรูปกองทัพจากทหารเกณฑ์เป็นทหารอาชีพ ต้องให้พลเรือนเข้าไปมีตำแหน่งในกองทัพ และต้องใช้กฎหมายมาปิดล้อมไม่ให้ทหารแทรกแซงได้
พงศกร เชื่อว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีส่วนเกื้อหนุนเรื่องนี้ เพราะหากดูประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จะพบว่าความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดผู้ประกอบการทั้งทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ เช่น พ่อค้า นักธุรกิจที่เข้มแข็งจำนวนมาก และมีความกระตือรือร้นทางการเมือง ประชาชนจะยึดถือระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมอยู่เสมอ กลับกัน หากเศรษฐกิจไม่ดี คนจะนึกถีงปัญหาเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ และจะประนีประนอมกับทหาร ขณะที่ในบริบทประเทศไทย พงศกร เชื่อว่าผู้คนมีความตื่นตัวพอสมควร และใกล้ถึงจุดที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว
เมื่อประชาชนตื่นตัว กองทัพจะลังเลต่อการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เพราะจะถูกต่อต้าน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งเกิดให้เห็นในกรณีของพม่ามาแล้ว
ต่อมา พงศกร กล่าวต่อว่า ต้องสร้างค่านิยมการบริหารความมั่นคงและบริหารประเทศไม่ใช่กิจการของทหาร หรือกองทัพ ทหารต้องออกจากการเมือง และให้พลเรือนต้องอยู่เหนือกองทัพ
แนวความคิดนี้ มอร์ริส แยโนวิตซ์ (Morris Janowitz) เป็นนักสังคมวิทยาและศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน เสนอว่า ถ้าจะไม่ให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง ต้องปฏิรูปทหารให้กลายเป็นทหารอาชีพขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง
ขณะที่ ซามูเอล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐฯ เสนอว่า ต้องให้พลเรือนอยู่ในกองทัพ เพราะพลเรือนเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของประชาชน ซึ่งข้อเสนอนี้จะทำให้กองทัพยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ เพื่อทำให้ทหารทำหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ ไม่ใช่แทรกแซงทางการเมือง
พงศกร จึงเสนอการปฏิรูปกองทัพ 9 ข้อโดยสรุปได้ดังต่อไปนี้ อย่างแรกอำนาจการใช้กฎอัยการศึก การรับรองรัฐประหารต้องผ่านความเห็นชอบหรืออยู่ในมือของของคณะรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือน ต่อมา ให้อำนาจรัฐบาลเป็นผู้กำหนดงบประมาณของกองทัพ
ปฏิรูปการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาเป็นความสมัครใจ โดยให้ตำแหน่งนายทหารจนถึงทหารยศพันโท เป็นทหารอาชีพ มีทหารที่มาจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย และนักเรียนเหล่าทัพ 3 ส่วน ซึ่งพงศกร มองว่า 3 ส่วนนี้จะแข่งขัน และถ่วงดุลอำนาจกัน
การซื้ออาวุธต้องจำกัด เพราะถือเป็นช่องทางการสะสมทุนและอำนาจของกองทัพได้ สื่อมวลชนต้องร่วมกันตรวจสอบ
สินทรัพย์ในกองทัพต้องถูกนำมาพัฒนาและไปช่วยสวัสดิการให้กับทหารยศตั้งแต่พันโทลงไป ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นทหารอาชีพ เงินส่วนเกินที่เหลือให้นำไปช่วยพัฒนาระบบในกองทัพต่อไป
สุดท้าย ต้องยุติระบบอุปถัมภ์เส้นสายในกองทัพ โดยเสนอว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่ไม่รู้จักคนที่ถูกเสนอชื่อ ทุกคนจะเอาผลงานที่เรียกว่า ‘portfolio’ และเอาผลงานมาดูโดยไม่รู้จักชื่อกัน คณะกรรมการจะเลือกมา 3 คน เมื่อผ่านสเปกแล้ว เรียกว่าผ่านระบบคุณธรรมเรียบร้อย ก็เอามาให้ผู้บังคับบัญชาดู สามคนนี้ใครที่เขาเรียกว่าสามารถทำงานด้วยกันได้ ยังมีระบบอุปถัมภ์แต่ไม่มากนัก ตรงนี้ก็เป็นการผสมผสานระบบอุปถัมภ์และระบบคุณธรรมอย่างลงตัว และต้องมีระบบตรวจสอบ
นอกจากนี้ พงศกร เสนอให้มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญโดยระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า หน้าที่ของกองทัพคือปกป้องรัฐธรรมนูญ เฉกเช่นเดียวกับที่ประชาชนต้องพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง ถ้าประชาชนฮีดสู้ เชื่อว่าจะทำให้กองทัพลังเล
เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุม อยากแก้ไขให้เหมือนเยอรมนี จะใช้กฎหมายเล่นงานประชาชนไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน ประชาชนจะมีที่ทางอธิบายว่า เขาอยากได้อะไร โดยไม่ถูกจับ
พงศกร สรุปอีกครั้งว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ จะมีผู้ประกอบการมากขึ้นทั้งในทางการเมือง และเศรษฐกิจ มากเพียงพอที่จะรักษาประชาธิปไตย ส่วนเราจะยุติการแทรกแซงการเมืองของทหารยังไง ต้องปฏิรูป 3 อย่าง ทำให้เป็นทหารอาชีพเสียทั้งหมด ให้พลเรือนอยู่ในกองทัพ ใช้กฎหมายต่างๆ มาปิดล้อม ไม่ให้ทหารขยับได้
ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจ กระจายอำนาจ เลิกตั๋วช้าง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมบรรยายใน หัวข้อ “การปฏิรูปตำรวจ และ ความคืบหน้าพรบ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย” โดยเริ่มว่าเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ไม่ได้ถูกนำมาเป็นบทเรียนมันเขียนประวัติศาสตร์ คนที่บงการให้มีการฆ่ายังอยู่หรือมีชีวิตอย่างไรหลังเหตุการณ์นั้นไม่มีการค้นหาความจริงเพื่อพิสูจน์ว่านักศึกษาที่ถูกกล่าวหาในเวลานั้นว่ามีอาวุธเป็นเรื่องจริงหรือไม่แล้วก็ถูกปล่อยให้ลืมทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ประเทศที่เจริญแล้วจะต้องเอาบาดแผลในอดีตมาเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีก
แต่รัฐกลับเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นบทเรียนว่ามีข้อผิดพลาดอย่างไรและนำกลับมาพัฒนาเพื่อใช้ในเหตุการณ์พฤษภาฯ35 และเหตุการณ์ปี 53 ที่สังหารคนกลางเมือง 99 ศพ แล้วยังมีรัฐประหารปี 57 ที่ทำให้คดีความต่างๆ หายไปหมด เขาเห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแต่เป็นเรื่องของความต้องการอำนาจ ผลประโยชน์ และสืบทอดอำนาจ ซึ่งนำมาสู่ประเด็นที่เขาจะพูดในวันนี้คือการปฏิรูปตำรวจ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวย้อนกลับไปว่า หน่วยงานตำรวจเริ่มมีมานานแล้วหลัง 2475 ก็มีตำรวจยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเวลานั้นตำรวจถูกเอาทหารมาเป็นผู้นำ โดยคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดคือ พ.ต.อดุล อดุลเดชจรัส หรือ หลวงอดุลเดชจรัส ที่เป็นผู้นำตำรวจไปปราบกบฏนายสิบ
เหตุการณ์ที่ทำให้ตำรวจเป็นอย่างทุกวันนี้คือการรัฐประหาร 2490 แล้วพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์เข้ามาเป็นอธิบดีตำรวจ ซึ่งตำรวจเองก็มีมุมมองต่อพล.ต.อ.เผ่าในสองมุม ด้านหนึ่งคือการพัฒนาหน่วยงานตำรวจอย่างที่ไม่เคยมียุคใดมีการพัฒนาเท่าช่วงนี้ ส่วนอีกด้านคือการสังหารและกำจัดผู้เห็นต่างจากรัฐ เช่น การอุ้มหายหะยีสุหลงพร้อมลูกชายและเพื่อน
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวีเห็นว่าหน่วยงานตำรวจในยุคนั้นได้พัฒนาขึ้นมาแข่งกันกับกองทัพบก จนอาจเรียกได้ว่าเวลานั้นไทยเป็นรัฐตำรวจ แต่ในขณะเดียวกันฝั่งกองทัพบกก็มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำให้สถานการณ์ในตอนนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม เปรียบเสมือนกำลังขี่อยู่บนหลังเสือสองตัว จน 2500 จอมพลสฤษดิ์ได้ยึดอำนาจ ซึ่งทวีเห็นว่าการยึดอำนาจครั้งนี้อาจจะไม่ได้ต้องการยึดอำนาจจอมพล ป. แต่เป็นการกำจัดพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ที่มีอำนาจขึ้นมาทัดเทียมกันมากกว่า ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังการรัฐประหารคือ จอมพลสฤษดิ์ก็เข้ามาควบตำแหน่งอธิบดีตำรวจด้วยตัวเอง
พ.ต.อ.ทวีมองว่าการพัฒนาตำรวจตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้เป็นการพัฒนาเพื่อมาเป็นตำรวจของประชาชนต่างกับช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีการนำหลักคิดมาจากต่างประเทศ “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” แต่ในช่วงเวลานั้นหน่วยงานตำรวจได้กลายเป็นกองทัพตำรวจ ในช่วงจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียรเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ควบตำแหน่งอธิบดีตำรวจเช่นเดียวกัน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่าในฐานะที่เคยเป็นตำรวจแล้วเรื่องที่น่าอับอายมากคือองค์กรตำรวจเป็นหน่วยงานที่ถูกทำลายโดยเผด็จการอย่างมาก อย่างเช่นความไม่ไว้วางใจตำรวจในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 แล้วก็ผู้บังคับบัญชาตำรวจก็ยังมาจากทหารอีก นอกจากนั้นฝ่ายรัฐเองก็ยังมองเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หรือประชาธิปไตยเป็นปฏิปักษ์กับผู้มีอำนาจก็ใช้ตำรวจมาจัดการและพัฒนาหน่วยงานตำรวจเป็นกองทัพ ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเท่านั้นแต่เป็นการจัดโครงสร้างองค์กรด้วย
พ.ต.อ.ทวีกล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลปัจจุบันว่าจะใช้กฎหมายเข้ามาปฏิรูป แต่รัฐบาลที่ร่างกฎหมายขึ้นมาก็คือคนที่ฝักใฝเผด็จการและต้องการสืบทอดอำนาจและเป็นคนเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การจะทำให้ตำรวจเป็นของประชาชนก็ต้องทำให้องค์กรเป็นประชาธิปไตยด้วย ซึ่งการจะปฏิรูปตำรวจมีมิติโครงสร้างองค์กรและเนื้องานของตำรวจ
เขากล่าวถึงโครงสร้างองค์กรตำรวจในปัจจุบันว่า ถูกพัฒนามาเป็นเหมือนทหารที่มีสายบังคับบัญชายาวมากทั้งที่งานของตำรวจต่างกับทหารโดยสิ้นเชิง งานของตำรวจจะต้องใช้วิจารณญาณมากตามลำพังคือเมื่อเจอผุ้ต้องสงสัยหรือไปตรวจตราก็ต้องใช้วิจารณญาณว่าจะต้องทำอย่างไร
ส่วนประเด็นเรื่อง การทำงานของตำรวจควรจะเริ่มมาจากสายตรวจหรือสายสืบหรือจราจรรายงานมาตามลำดับชั้น ไม่ใช่เริ่มมาจากผู้บังคับบัญชาข้างบนสั่งการลงมา ที่สำคัญคือตำรวจต้องติดต่อสัมพันท์กับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีอาชีพไหนที่จะสัมพันธ์กันขนาดนี้แม้กระทั่งออกเวรไปก็ยังมีส่วนที่สัมพันธ์กันต่างกับทหารโดยสิ้นเชิง
อดีตอธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า กฎหมายเดิมอย่าง พ.ร.บ.ตำรวจ 2547 ก็พอใช้งานได้แต่ก็เกิดปัญหาเมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 และใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มารวบอำนาจให้เข้ามาอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นเพื่อให้มีอำนาจในการการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งก็ตั้งโดยอาศัยอาวุโสที่สุดอย่างเดียว ส่วนนายตำรวจที่เติบโตมาด้วยความสามารถและประสบการณ์ก็ไม่ได้รับความไว้ใจให้เข้ามารับตำแหน่ง เป็นปัญหาที่ตำรวจจะต้องปฏิรูปองค์กร ดังนั้นกฎหมายที่กำลังร่างกันอยู่ต้องดูว่าประชาชนจะได้อะไรหรือว่าแค่ตำรวจได้ประโยชน์กันเองทั้งที่งบประมาณของตำรวจก็ได้มาจากภาษีของประชาชนเป็นแสนล้านบาท
สถานการณ์ของตำรวจที่ต้องเผชิญอยู่ในวันนี้ก็ไม่ต่างจากที่เกิดความไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชนในปี 2516 ตำรวจใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสมารถทำได้ไม่ต้องผ่านระบบตัวแทน
พ.ต.อ.ทวีเสนออีกว่าควรกระจายอำนาจของตำรวจให้ไปอยู่ภายใต้จังหวัดหรือชุมชนแล้วก็มีตำรวจส่วนกลางที่เล็กลง ซึ่งทุกวันนี้มีกองบัญชาการส่วนกลางมากมายทั้งที่งานของตำรวจส่วนใหญ่จบภายในสถานีตำรวจ ซึ่งหากจะมีมากกว่านั้นก็คือมีระดับกองบังคับการอยู่ แล้วส่วนงานที่เป็นกระดูกสันหลังของงานตำรวจคืองานสายตรวจ ส่วนที่เป็นเส้นเลือดก็คือตำรวจสืบสวนและตำรวจจราจรที่คอยบริการประชาชน ซึ่งตำรวจเหล่านี้ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการปฏิรูปเลย แล้วส่วนงานที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างตำรวจสอบสวนก็ถูกยกเลิกสายงานทิ้ง ซึ่งก็เหมือนกับการทำลายองค์กรตำรวจ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวถึงประเด็นภาวะความเป็นผู้นำในองค์กรตำรวจที่ในเวลานี้การได้เลื่อนขั้นอยู่กับการวิ่งเต้นและการใช้เส้นสายไปจนถึงการตอบแทนบุญคุณกัน ซึ่งเป็นระบบที่แย่มากและจะทำให้เป็นตำรวจของประชาชนได้ยาก แล้วในเมื่อยังมีประเด็นอย่างเรื่องตั๋วช้าง แต่ในร่างกฎหมายที่กำลังจะเข้าสภาก็ยังมีมาตราหนึ่งที่กำหนดให้กรรมการตำรวจ(ก.ตร.) มีอำนาจในการแต่งตั้งตำรวจโดยแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ก็ได้ แล้ว ก.ตร.ก็ยังเป็นคนที่อยู่ใต้อาณัติของนายกรัฐมนตรีหมดแล้วถ้าเป็นเช่นนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนที่เติบโตมาตามสายงานและมีประสบการณ์ก็ถูกทำลายไปจากระบบแบบนี้
พ.ต.อ.ทวียังกล่าวอีกว่าตำรวจเองก็ยังมองประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นภัยต่อความมั่นคงและประชาธิปไตยก็เป็นภัยต่อสถาบันฯ และอีกปัญหาคือการไม่เอาจริงเอาจังกับการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดกฎหมายรวมถึงมีการแสวงหาผลประโยชน์ นอกจากนั้นการจับกุมคุมขังของตำรวจยังไม่เป็นไปตามกระบวนการแต่เป็นการสืบสวนขยายผลและเพื่อกำจัดไม่ให้มีการเรียกร้องที่กระทบผู้มีอำนาจ ประเด็นหนึ่งที่เขาเคยวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาคือเรื่องการใชตำรวจดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับตัวเองตำรวจก็ต้องทำต้องไปจับกุมเพราะกลัว ถ้าต้องการจะดำเนินคดีจริงก็ไปฟ้องศาลเอาได้ ซึ่งก็เหมือนเป็นการใช้กฎหมายปิดปากคนที่มาวิจารณ์
อีกปัญหาก็คือเมื่อคดีเกิดกับคนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยเป็นคนอยากจนการดำเนินคดีก็เป็นไปอแย่างรวดเร็วบางทีพอนำตัวมาถึงสถานีตำรวจก็ถูกขังทันที แต่เมื่อผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีอำนาจหรือเป็นคนร่ำรวยก็เป็นไปอย่างล่าช้าหรือเมื่อมาปรากฏตัวต่อตำรวจก็ไม่ได้ถูกขังในห้องขังหรือที่รับรองที่ปลอดภัย
“การเห็นประโยชน์ บุญคุณ พวกพ้อง และผู้มีอำนาจจะต้องลดลงให้ได้ ทำยังไงให้พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนี้ ทำแค่โครงสร้างการแต่งตั้ง เรายังไม่ได้เอาสภาพแวดล้อมคือประชาชน ทำให้เกิดกับประชาชนสูงสุดความยุติธรรมถ้วนหน้าจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม”
พ.ต.อ.ทวียังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่าความยุติธรรมที่จะทำให้เกิดขึ้นการแก้เพียงกฎหมายเล็กน้อยจากผู้ร่างฝักใฝ่การรัฐประหารและเมื่อมีปัญหาอะไรขึ้นมาก็อาศัยสร้างกลไกให้คนในองค์กรตำรวจตรวจสอบกันเองโดยไม่ใช้กลไกตรวจสอบที่มีอยู่แล้ว เช่น ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท.หรือศาลทุจริตฯ
ขอบเขตกระบวนการยุติธรรมต่อการดำเนินคดีผู้เห็นต่างทางการเมือง
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทย และผู้ร่วมเสวนาออนไลน์วันนี้ ในหัวข้อ “มุมมองกระบวนการยุติธรรม และความเห็นต่างทางการเมือง” โดย ดร.พิเศษ เสนอว่ารัฐไทยไม่ควรใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อการจัดการความเห็นต่างทางการเมือง เนื่องจากยังมีข้อจำกัดสูง พร้อมเสนอการใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ เพื่อทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
เบื้องต้น ดร.พิเศษ เกริ่นก่อนว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 6 ตุลา กระบวนการยุติธรรมมีส่วนด้วยอันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ และอยากชวนประชาชนคิดต่อไปว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ควรเข้าไปมีบทบาทเรื่องการจ้ดการความขัดแย้ง และความเห็นต่างทางการเมืองอย่างไร ถ้าควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ขอบเขตควรอยู่ที่ตรงไหน
ดร.พิเศษ กล่าวว่า หลักการกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีขึ้นเพื่อจัดการความขัดแย้ง และต้องหาความจริงว่าเมื่อมีการละเมิด หรือทำผิดกฎหมาย เมื่อมีการกล่าวอ้าง ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างทำผิดจริงหรือไม่ กระบวนการนี้จึงเป็นกระบวนการในการหาความจริง และเมื่อทราบแล้ว คนที่ผิดจริงก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ได้ทำผิดก็ต้องคืนเสรีภาพให้เขา และต้องชดเชยเยียวยาให้ตามครรลอง
ดังนั้น เงื่อนไขการตัดสินคดีความอาญา จึงต้องอาศัยเงื่อนไขเยอะ ทั้งความเป็นกลางในการตัดสิน ความมีคุณธรรม ตัวบทกฎหมายที่เท่าทันในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หรือขณะเดียวกัน ก็ยังต้องคงสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาไว้ด้วย เช่น สิทธิการเข้าถึงทนาย สิทธิการประกันตัว เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญ หากขาดไปก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
ในทางหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การก่ออาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ ก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญายังคงต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ กระบวนการของตัวมันเองไม่ใช่กระบวนการที่สมบูรณ์แบบ และมีปัจจัยซับซ้อน และซ้อนทับอีกมากมาย
เมื่อตอบคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ควรเข้าไปจัดการความขัดแย้ง ความเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร ดร.พิเศษ เสนอว่า “ควรใช้เท่าที่จำเป็น ใช้กับผู้ที่ล่วงละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด” และกระบวนการยุติธรรมนั้น แม้ตามหลักการเป็นสถาบันที่ต้องทำงานบังคับใช้ด้วยความเป็นกลาง แต่บุคลากรนั้นก็อาจไม่ได้ทำงานเป็นกลาง และทำงานอยู่ภายใต้โครงสร้างทางอำนาจบางอย่าง
ดร.พิเศษมีข้อกังวลต่อด้วยว่า หากสังคมไทยจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา มาจัดการเรื่องความขัดแย้งเห็น ความเห็นต่างทางการเมือง เห็นว่ามีความเสี่ยง และมีอันตรายต่ออนาคตสังคมในระยะยาว เนื่องด้วยตามหลักการ กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีขึ้นเพื่อหาข้อเท็จจริง เมื่อพิสูจน์ได้แล้วก็ให้ผู้นั้นรับผิดชอบตามกฎหมาย แต่ “ความเห็น” เป็นเรื่องความเชื่อ อุดมการณ์ และลัทธิ มันไม่ใช่สิ่งที่จะมาพิสูจน์ความผิดด้วยมาตรฐานกระบวนการได้ และมีข้อจำกัดสูงโดยเฉพาะเรื่องความเป็นกลาง
นอกจากนี้ ดร.พิเศษ เสนอด้วยว่า การจัดการเรื่องความขัดแย้งไม่ควรใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ควรใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ เพื่อทำให้สังคมได้เรียนรู้ และได้บทเรียนที่เป็นประโยชน์มากกว่า ส่วนกระบวนการทางอาญาเก็บไว้ใช้กับปัจจัยที่มีความเหมาะสมดีกว่า
สุดท้าย ดร.พิเศษ สรุปว่า การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยังมีข้อจำกัดสูง ถ้ามองเป็นการลงทุน ก็คิดว่าเป็นการลงทุนที่น่าจะไม่คุ้มค่า เพราะกระบวนการของเราเองยังต้องพัฒนาต้องปรับปรุง แต่ถามว่าใครที่จะมาดูแลพัฒนากระบวนการยุติธรรมของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อจะเป็นกลไกที่จะเอื้อให้มีส่วนทางสังคมพัฒนาต่อเนื่อง และเป็นกลไกที่มีส่วนให้สังคมไทยที่จะมีส่วนอยู่ร่วมกันได้ โดยที่การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และการแสดงออกจะยังคงได้รับความเคารพ อันนี้เป็นโจทย์
"หาย" คำสาปของคนที่ยังอยู่
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พูดในหัวข้อ “การบังคับสูญหาย: อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” การบังคับสูญหายในกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่การฆ่าคนใดคนหนึ่ง แต่เป้นการทำลายตัวตน อัตลักษณืรวมถึงคุณค่าของคนๆ หนึ่งไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องร้ายแรง
อังคณากล่าวว่าประวัติศาสตร์อาชญากรรมโดยรัฐในไทยเท่าที่มีการบันทึกไว้เริ่มตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา โดยยกตัวอย่างในหลายช่วงและหลายพื้นที่ เช่น กรณีของเตียง สิริขันธ์ พร มะลิทอง หะยีสุหรง เป็นต้น ซึ่งอาชญากรรมโดยรัฐลักษณะนี้ก็มีกฎหมายมาคุ้มกันเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่ออาชญากรรมทำให้เจาหน้าที่ไม่กลัวการกระทำความผิดเพราะรู้ว่าจะไม่ต้องรับผิด
จากนั้นในช่วง 2510 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ประมาณว่าจะมีผู้สุญหายถึง 3,000 คนใน พัทลุงซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก้ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นอยู่ เช่น กรณีเอาคนเผาในถังแดง หรือกรณีในภาคเหนือก็มีกบฏชาวนาที่เรียงร้องสิทะที่ดินทำกินก็เกิดการปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 33 คนและยังมีผู้สูยหายอีก หรือกรณีของทนงค์ โพธิ์อ่าน 2534 หรือกรณีพฤษภาทมิฬ 2535 กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรที่ถูกอุ้มหายในปี 2547 และในช่วง 2559-2563 ก็มีนักกิจกรรมที่เคยต่อต้านรัฐประหารและถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ก็หายตัวไประหว่างลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านถึง 9 คน ซึ่งภายหลังก็พบศพของ 2 ใน 9 คน ซึ่งคนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นพวกที่ต่อต้านหรือเห็นต่างจากรัฐ ออกมาตรวจสอบรัฐ ซึ่งก็จะตกเป็นเป้าหมายในการอุ้มหาย
อังคณาบอกว่าจากเหตุการณ์ข้างต้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ชุมนุมนำภาพของคนที่ถูกอุ้มหายไปมาชูกันบนถนนราชดำเนินซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาเพราะไม่เคยปรากฏการต่อต้านการบังคับสูญหายและน่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในไทย
แต่การอุ้มหายที่เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างเช่นในช่วงที่มาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในไทยกลับไม่มีการบันทึกข้อมูลของบุคคลเหล่านี้แม้ว่าจะมีบันทึกในต่างประเทศที่ระบุว่ามีคนที่ถูกทำให้สูญหายไปในช่วงเวลานั้นเป็น 2-3 พันคน หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหายไปก็ไม่มีการบันทึก
อังคณาระบุว่าจากสถิติคนถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยคือ 75คนถือว่ามีมากเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ มากสุดคือฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียรองลงมา ทั้งนี้ยอด 75 คนนี้ก็เป็นยอดหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยยื่นเรื่องถึงคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของยูเอ็นเมื่อปีที่แล้วขอให้ถอนออก 12 คน จากเดิมที่ทางคณะมีข้อมูลอยู่ 87 คน โดยที่ทางกระทรวงเองก็ไม่ได้มีคำชี้แจงใดๆ และไม่มีการระบุที่อยู่หรือชะตากรรมของทั้ง 12 คนว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่หรือเสียชีวิตไปแล้ว
“เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีบันทึก ไปถามนายกรัฐมนตรีว่าประเทศไทยมีคนหายกี่คน ไม่มีใครทราบ รัฐบาลไทยไม่เคยรู้ เพราะไม่มีการบันทึก แต่การบังคับสูยหายกลับถูกบันทึกไว้ในคณะทำงานของสหประชาชาติ”
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยทำคือตั้งคณะทำงานติดตามผู้สูญหายที่ตั้งโดยรัฐบาลประยุทธ์ก็พยายามไปพบครอบครัวเพื่อโน้มน้าวให้ครอบครัวถอนเรื่องออกจากสหประชาชาติ หลายครอบครัวก็เล่าให้เธอฟังว่าก็ต้องอยู่ในสถานะจำยอมที่ต้องเซนยินยอมถอนเรื่องเนื่องจากมีความกลัว ดังนั้นจาก 87 คนก็จะเหลือแค่ 75 คน ที่ยังมีข้อมูลในคณะทำงานฯ
อังคณาเล่าว่าการพยายามรวบรวมข้อมูลคนที่ถูกบังคับสูญหายครั้งในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยจาตุรนต์ ฉายแสง ในปี 2555 ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และมีการเยียวยาครอบครัวของคนที่ถูกบังคับสูญหายในเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการเยียวยาครอบครัว แต่เมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกรัฐประหารไปหลังจากนั้นมาตรฐานการเยียวยาต่างๆ ที่เคยเป็นที่ยอมรับได้ก็ถูกเปลี่ยนหมดและไม่ได้ถูกมาตรฐานการเยียวยานี้กลับมาใช้อีก
นอกจากนั้นการเยียวยาในด้านอื่นๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาด้วยความยุติธรรมก็ยังไม่เกิดขึ้น การขอโทษสาธารณะหรือการบันทึกความทรงจำเพื่อเป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก
ทั้งนี้ปัญหาและอุปสรรคของครอบครัวผู้บังคับสูญหายก็คือสิทธิที่จะได้รู้ความจริง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การยอมรับผิดจากผู้กระทำความผิด และความผิดในการบังคับสูญหายและความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศจะต้องไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ และรัฐไม่สามารถมีข้ออ้างที่จะทำการทรมานและบังคับสูญหายได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ
อังคณาเห็นว่าเรื่องการบังคับสูญหายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจรัฐ ที่องค์กรอย่างตำรวจทหารสถาปนาตัวเองจนมีอำนาจมากจนแทบจะเหนืออำนาจของรัฐบาลด้วยซ้ำแล้วเป็นสถาบันที่มีอำนาจและอาวุธ คนที่ติดตามเรื่องอาชญากรรมโดยรัฐก็จะพบว่าผู้ก่ออาชญากรรมก็ยังคงวงเวียนอยู่และได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในราชการ ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องรัฐพันลึกหรือรัฐซ้อนรัฐด้วยการปฏิรูปสถาบันเหล่านี้ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ก็จะเป็นรื่องยากที่จะแก้อาชญากรรมโดยรัฐได้
อังคณากล่าวถึงประเด็นของการถูกทำให้ “หาย” ไปว่าเป็นสภาพที่คลุมเครือมากสำหรับครอบครัวและสังคมเกิดคำถามขึ้นมากมายว่าตกลงคนๆ นี้หายไปหรือไม่หาย ตายหรือยังไม่ตาย ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็อยู่ที่ไหน ถ้าตายแล้วตายอย่างไรใครเป็นคนทำให้ตายมีผู้กระทำความผิดหรือไม่ แล้วที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีผู้กระทำวามผิดเลย
เธอยกตัวอย่างกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอุ้มหายระหว่างลี้ภัยการเมืองอยู่ในกัมพูชาว่า หลังเขาถูกอุ้มหายไปทางการกัมพูชาก็ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้อยู่ในกัมพูชา แล้วถ้าไม่อยู่เขาอยู่ที่ไหนและทุกวันนี้เขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
“สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนคำสาปที่ทำให้ครอบครัวต้องอยู่กับความไม่แน่นอนและความคลุมเครือมาตลอด”
อังคณายกกรณีการรณรงค์ของกลุ่มผู้หญิงในอาเจนตินาที่มีคนในครอบครัวถูกบังคับสูญหายในช่วงรัฐบาลเผด็จการได้ออกมารณรงค์ที่จตุรัสมาโยซึ่งถูกเรียกว่า “แม่แห่งจตุรัสมาโย” ข้อเรียกร้องของคนเหล่านี้คือเหตุการณ์เหล่านี้จะต้องไม่ซ้ำรอยอีก เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงและแม่ที่มีบทบาทมากจนทำให้อาร์เจนตินาสามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษและคืนศพให้กับครอบครัวได้และเมื่อสองปีก่อนก็มีการพิมพ์ธนบัตรที่เป็นลายของกลุ่มแม่เหล่านี้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม และยังมีการแก้ไขกฎหมายด้วย
อดีต กสม. กล่าวว่าสำหรับในกรณีประเทศไทยก็มีผู้หญิงหลายๆ คนที่ไม่หยุดพูดแม้ว่าจะถูกคุกคาม การพูดถึงความทรงจำในอดีตที่เป็นบาดแผลทิ่มแทงจิตใจผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังออกมาพูดถึงคนหายและแสดงให้เห็นว่าคนที่ถูกบังคับสูญหายไม่ได้ถูกลืมและสังคมก็ยังไม่ลืม เธอคิดว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการที่คนในครอบครัวจะลืมเสียเองซึ่งไม่ต่างจากหลายๆ ครอบครัว บางคนยังคงเก็บสิ่งของคนที่ถูกทำให้หายไปเช่นเสื้อผ้า กระดาษที่มีข้อความ เพราะสิ่งเหล่านี้เป้นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้ยังต้องเรียกร้องต่อไปเพื่อไม่ให้มีอาชญากรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีก
อังคณาเล่าถึงความพยายามของชาวบ้านที่พัทลุงที่พยายามรำลึกถึงบุคคลที่ถูกทำให้หายไปถึง 2-3 พันคนโดยการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมาเพื่อเตือนความจำว่าพื้นที่นี้เคยมีคนที่ถูกรัฐอุ้มหายอยู่ นอกจากนั้นยังมีการรณรงค์ต่างๆ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นโดยรัฐแต่มันเกิดโดยประชาชนด้วยกันเอง เริ่มจากญาติหรือชุมชุน คนที่รักความเป็นธรรม
“วันหนึ่งเราอาจถูกอุ้มหายไปก็ได้ ถ้าเรายังไม่มีมาตรการที่จะยุติการกระทำเช่นนี้ วันนี้เรามีพระราชบัญญัติป้องกันบังคับสูญหาย แต่กฎหมายอาจไม่ใช่ทางออกทั้งหมด กฎหมายอาจไม่ใช่คำตอบที่ยุติได้ ไม่ใช่ว่าเรามีกฎหมายซักฉบับแล้วเราจะป้องกันบังคับสูญหายได้ แต่ว่าสิ่งสำคัญที่เราต้องไม่ลืมก็คือสังคมต้องร่วมมือกันเรียกร้อง”
อังคณาสะท้อนปัญหากฎหมายที่กำลังจะถูกประกาศใช้ว่าฉบับของรัฐบาลตัวนิยามของผู้เสียหายก็ไม่ได้ถูกแยกออกมาแต่กลับเป็นมาตราหนึ่งในกฎหมายที่อ้างอิงถึงนิยามของผู้เสียหายความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลฎีกาก็เคยมีคำพิพากษาออกมาแล้วในกรณีของทนายสมชายว่าครอบครัวจะเป็นผู้เสียหายแทนคนที่หายไปไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานว่าทนายสมชายได้เสียชีวิตไปแล้ว ผู้เสียหายคือทนายสมชายก็จะต้องมาเป็นผู้ฟ้องต่อศาลเองปัญหาก็คือทนายสมชายก็หายไปแล้ว กลายเป็นว่าคดีคนหายไม่มีผู้เสียหาย แล้วพอไปเขียนกฎหมายแบบนี้คนเป็นคู่ชีวิตกันก็ไม่สามารถดำเนินการแทนได้ ซึ่งการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพก็ต้องก้าวไปกว่ากฎหมายอาญาที่มีอยู่ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ในกับดักเดิมที่ไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยน
อังคณาเสนอว่าสังคมก็ต้องช่วยกันส่งเสียงต่อไปเพราะกฎหมายนี้จะคุ้มครองป้องการบังคับสูญหายได้จริงก็ต่อเมื่อกฎหมายภายในประเทศสอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ และยิ่งกว่านั้นก็ต้องปรับโครงสร้างต่างๆ ทั้งรัฐพันลึก สถาบันทหารตำรวจ เป็นต้น และรวมไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญด้วยและประเทศก็จะต้องมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ศาลต้องไม่รับรองการรัฐประหารและรับรองสิทธิของพลเมืองไทยให้ทุกคนมีสิทธิหน้าที่ที่จะต่อต้านการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยสันติวิธี โดยที่ประชาชนจะต้องฟ้องคดีอาญาตามกฎหมายต่อผู้ที่ทำรัฐประหารได้
ความรุนแรงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในยุคสฤษดิ์ถึงปัจจุบัน
สุธรรม แสงประทุม อดีตเลขานุการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมอภิปรายออนไลน์ในหัวข้อ “ทุ่งสังหาร 6 ตุลา และความรุนแรงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” โดยกล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างทางการเมืองในช่วงก่อนจนถึง 6 ตุลา ปัจจัยหนึ่งมาจากอิทธิพลของสหรัฐฯ ในการเมืองไทย กล่าวคือประเทศไทยนับตั้งแต่พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (รัฐประหารโค่นจอมพล ป. เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา) มีการนำยุทธวิธีที่สหรัฐฯ ใช้ปราบคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในเวียดนาม มาใช้กับประชาชนคนไทยที่มีความเห็นต่าง ทั้งการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ การเผาหมู่บ้าน การทรมาน
ย้อนไปเมื่อช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 ความรุนแรงเกิดขึ้นจากพื้นที่ห่างไกลเมืองหลวง โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งตนรับรู้เรื่องราวจาก “ไขแสง สุกใส” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม
ก่อนหน้านี้ไขแสง ติดคุกนับ 10 ปี ทำให้ตัวเขาพบพานผู้ต้องหาทางการเมืองในคุกจำนวนนับร้อยคนจากภาคอีสาน หลายคนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หลายหมู่บ้านถูกเผาถูกทำลาย ประชาชนถูกบังคับสูญหาย โดยไม่มีการสอบสวนหาผู้กระทำผิด สุธรรม มองว่า สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเชื้อไฟให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ ออกมาประท้วงกันมากมาย ซึ่งภายหลังจะปะทุออกมาเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 นำโดย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ข้อเรียกร้องในเวลานั้น คือการเรียกร้องให้บ้านเมืองมีหลักเกณฑ์ และเพื่อให้มีประชาธิปไตย
ขณะนั้น ก็เรียกว่าเป็น ‘ทุ่งสังหาร’ ได้เช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลนำโดย พล.อ. ถนอม กิตติขจร มีการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง โดยใช้ปืนยิงจากเฮลิคอปเตอร์ใส่ผู้ชุมนุม แต่เรื่องราวจบที่ถนอมต้องลี้ภัยออกนอกประเทศจนกว่าเหตุการณ์จะสงบลง แม้ว่าครั้งนั้นจะเป็นชัยชนะของประชาชน แต่ก็ไม่เคยมีการเขียนโครงสร้างอำนาจการเมืองใหม่ที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
หลังจาก 14 ตุลา 2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ จัดทำโครงการ “กลับสู่บ้านเกิด” ไปรับฟังปัญหาในชนบททั้งในภาคอีสาน และภาคใต้ ทำให้ทราบเรื่องราวว่า รัฐไทยมีการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอย่างไรบ้าง ทั้งการบังคับสูญหาย อุ้มหาย เผาทำลายหมู่บ้าน และอื่นๆ ขณะที่ตัวของสุธรรม เองก็ได้ไปปฏิสัมพันธ์กับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างกรณีการฆ่า 5 ศพที่ปัตตานี ซึ่งทำให้เขาเห็นว่า ชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทุกข์ทรมานกับความรุนแรงมากขนาดไหน
เมื่อนักศึกษาขณะนั้นมองเห็นว่าชัยชนะ และอำนาจทางการเมืองจากเหตุการณ์ 14 ตุลานั้น ไม่อาจยั้งยืนยงต่อไป นักศึกษามาและก็ไป เรียนจบก็ไปทำงานใช้ชีวิต จึงเริ่มมีการพยายามส่งต่อความคิดประชาธิปไตยเหล่านี้ให้กับประชาชน เพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาล
กรณีที่เห็นได้ชัดคือนักศึกษานิสิตมีส่วนสำคัญต่อการจัดตั้งขบวนการชาวนานามว่า “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ซึ่งภายหลังมีส่วนสำคัญในการต่อรองรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ให้มีการออก พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน และ พ.ร.บ.ประกันราคาพืชผลทางการเกษตร
นอกจากนี้ นักศึกษาก็เข้าไปมีส่วนร่วมกับในการจัดตั้งสหภาพแรงงานอีกด้วย กรรมกร และพนักงานโรงงาน ถือเป็นกลุ่มคนที่ทำงานหนัก แต่ได้ค่าแรงต่ำ นักศึกษาเห็นปัญหาก็พยายามเข้าไปจัดตั้งขบวนการแรงงานในโรงงานเหล่านี้ อาทิ การเข้าไปทำงานเป็นวิศวกรในโรงงาน ในระหว่างนั้นก็มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เดินขบวนประท้วง และหยุดงานจนสามารถต่อรองกับภาครัฐ เกิดเป็น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ซึ่งทำให้แรงงานได้ค่าแรงวันละ 25 บาท มีสิทธิการรักษา เมื่อก่อนไม่ได้ ถ้าป่วยคือไล่ออก
อย่างไรก็ตาม ผู้นำขบวนการเหล่านี้ก็ถูกปราบปรามจากภาครัฐ โดยใช้วิธีการให้อันธพาล หรือกองกำลังจัดตั้งอย่างนวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน ลอบฆ่าผู้นำขบวนการ และหาคนผิดไม่เคยได้ ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็พยายามทำงานเชิงความคิด แบ่งแยกนิสิตประชาชนฝ่ายก้าวหน้าออกจากประชาชนส่วนใหญ่
การใช้ความรุนแรงไล่ปราบประชาชนฝ่ายก้าวหน้าและชาวบ้านต่างจังหวัด ในที่สุดนำมาสู่ที่ กทม. ในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือล้อมปราบนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสุธรรม มองว่า ภาครัฐมีเจตนาหวังปิดฉากฝ่ายประชาธิปไตย ตัวสุธรรมถูกจับติกคุกในเหตุการณ์ 6 ตุลา ขณะที่เพื่อนนักศึกษาอีก 3,000 คน ยังคงสู้ต่อในป่า
มรดกทางการเมืองจากเหตุการณ์วันนั้น ยังรวมถึงการยกระดับโทษผู้ละเมิด ม.112 โดยเพิ่มโทษจำคุกจาก 7 ปี เป็น 15 ปี และเครื่องมือนี้ยังคงถูกนำใช้กับขบวนการศึกษาในปัจจุบันเช่นกัน ซึ่งตนขอให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกคน
สันติวิธี "ทะลุแก๊ส"
ชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย พูดในหัวข้อ สันติวิธีกับการชุมนุม: อุปสรรคและความหวังของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มโดยกล่าวถึงปาฐกถาของปรีดี พนมยงค์ที่กล่าวถึงย้อนไปถึงสังคมมนุษย์ในบรรพกาลที่เคยมีความเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่งและมีการแบ่งปันทรัพยากรกันจนกระทั่งสามารถผลิตอาวุธได้และเริ่มมีการสะสมทรัพยากรกันและผู้ที่ดูแลชุมชนได้เปลี่ยนจากหญิงเป็นชายที่สามารถออกไปหาทรัพยากรและมีการผลิตมากขึ้นได้และเริ่มมีการครอบครองที่ดินและเป็นเจ้าของแรงงานมีระบบศักดินาขึ้นมา แต่เมื่อสังคมพัฒนามาจนถึงยุคที่เทคโนโลยีซับซ้อนมากขึ้นรูปแบบการผลิตเปลี่ยนไปสังคมก็ต้องการปฏิวัติทำให้คนลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบศักดินาและยังเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตนเองด้วยในฐานะที่ไม่ใช่ไพร่ทาส ซึ่งปรีดีเห็นว่าสิ่งนี้นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ชานันท์กล่าวถึงประเด็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจำเป็นต้องไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ปรีดีก็ได้ยกตัวอย่างการต่อสู้ในอังกฤษหรือในอเมริกาก็มีการต่อสู้กับทั้งเจ้าอาณานิคมกับเจ้าอังกฤษก็มีความรุนแรง หรือในฝรั่งเศสที่มีความพยายามล้มล้างระบบศักดินาเพื่อเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยแต่ผู้นำศักดินาพยายามรักษาระบบเดิมไว้จนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยในหลายกรณีก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจับอาวุธได้เพื่อปลดแอกจากระบบดั้งเดิม
ชานันท์กล่าวต่อไปว่าผู้นำในการปลดแอกนั้นมีสำนึกในสันติวิธีอยู่แล้ว แต่ว่าเจ้าของอำนาจเดิมพยายามรักษาอำนาจไว้จนนำไปสู่ความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งปรีดีเคยพูดไว้เมื่อ 2516 ว่าแต่เดิมสังคมไม่มีความรุนแรงและเป็นประชาธิปไตยมาก่อนในบรรพกาลมาสู่สังคมศักดินา เรื่องนี้ก็สอดคล้องกับเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง(Structural Violence) ที่ความรุนแรงไม่ได้เป็นเพียงการจับอาวุธมาต่อสู้กันแต่รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างของรัฐนั้นที่มีเจ้าผู้ปกครองเพียงคนเดียวที่จะกอบโกยทรัพยากรต่างๆ ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นได้จนทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้
ชานันท์กล่าวว่าแม้ในการปาฐกถาของปรีดีจะบอกว่าการอภิวัฒน์ 2475 จะมีทหารที่จับอาวุธขึ้นมาแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นก็เป็นไปอย่างสันติ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่เป็นศักดินาเก่าที่ต้องการทวงอำนาจคืนก็ทำให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงไม่ได้
ชานันท์เห็นว่า การพูดถึงเรื่อง Non Violenceว่าคือ “สันติวิธี” ที่เป็นคำที่กำกวมมาก เขาคิดว่าควรจะเรียกว่าการต่อสู้แบบไร้ความรุนแรงก็น่าจะตรงตัวกว่าคำว่าสันติวิธี และการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงก็ไม่ใช่การนิ่งดูดายหรือการไม่ต้องมีความรู้สึกโกรธเกลียด เพราะหากย้อนกลับไปตั้งแต่การชุมนุมประท้วงตั้งแต่ปี 2563 ฝ่ายรัฐที่หวงแหนอำนาจก็เลือกจะใช้อาวุธต่างๆ ทำร้ายผู้ชุมนุม ซึ่งการใช้ความรุนแรงลักษณะนี้ก็ย้อนไปได้จนถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ทั้งที่การรวมตัวชุมนุมประท้วงของประชาชนก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรมในตัวมันเอง
ชานันท์กล่าวถึงการอดอาหารประท้วงของพริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยาเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวในคดี ม.112 ก็ถือเป็นการต่อสู้ที่ไร้ความรุนแรงมากๆ เพราะเป็นการเอาเนื้อตัวของตัวเองมาประท้วง ซึ่งในรัฐสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับตัวของประชาชนมากในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญมากของรัฐแล้วการที่ประชาชนใช้วิธีการประท้วงแบบนี้มันทรงพลังมาก การสู้แบบนี้ทำให้เห็นว่ารัฐ สังคม และสื่อมีมนุษยธรรมมากน้อยแค่ไหนที่ละเลยหรือด้อยค่าการประท้วงด้วยการอดอาหารมันผิดมนุษยธรรมของผู้นำรวมถึงสื่อด้วยเพราะจะเห็นว่าสื่อเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอดอาหารประท้วงเลย แม้ว่าการอดอาหารประท้วงเพียงแค่หนึ่งวันก็ลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าของรัฐอยู่แล้วแต่พวกเขาก็ต้องอดอาหารอยู่เป็นเดือน เขากล่าวว่าความมีมนุษยธรรมของรัฐก็ไม่เคยมีเลยมาตั้งแต่ 2519 จนถึงปัจจุบัน
ชานันท์ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของพริษฐ์ที่โกนหัวประท้วงศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าศาลไม่ได้มีความยุติธรรมอยู่เลย การโกนหัวประท้วงโดยเฉพาะผู้หญิงมีความทรงพลังและมีคุณค่ามากกว่าในโลกชองชายเป็นใหญ่ที่กำหนดว่าผู้หญิงจะต้องมีผมยาวสวยและการให้คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ที่กำหนดการมีผมของผู้หญิง เขากล่าวว่าตัวสุรีรัตน์เองบอกว่าเธอยอมไม่สวยและอัปลักษณ์แต่สิ่งที่อัปลักษณ์ยิ่งกว่าคือศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งนอกจากเหตุการณ์นี้แล้วก็ยังมีกรณีที่เฟมินิสต์ปลดแอกโกนหัวประท้วงการที่ชาวบ้านบางกลอยถูกจับกุมและโกนผมเพราะออกมาเรียกร้องการกลับไปในใจแผ่นดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขา
ชานันท์กล่าวถึงอีกรูปแบบของการประท้วงสันติวิธีอย่าง การเปลือยตัวเองเพื่อประท้วงรัฐอย่างกรณีของป้าเป้าที่ประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจที่เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมทะลุแก๊สที่ดินแดง ซึ่งเป็นการแดงให้เห็นว่าพวกเขาออกมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้วก็หวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็จะมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และการออกมาประท้วงแบบนี้ก็ยังเป็นการลดทอนอำนาจและคุณค่าของรัฐอย่างมากที่กำลังใช้อาวุธและกฎหมายมากระทำกับประชาชนตัวเปล่า
ชานันท์กล่าวต่อถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊สว่าเขาชื่นชมกลุ่มนี้ เพราะแต่เดิมการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีในอดีตและแสดงผ่านการปาฐกถาของปรีดีก็ยังอิงอยู่กับศาสนาแม้ว่าจริงๆ แล้วการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีจะไม่จำเป็นต้องอิงอยู่กับศาสนาเลยก็ได้ แต่การเคลื่อนไหวแบบสันติเป็นการหาแนวร่วมเพิ่มเป็นการถามหามนุษยธรรมของคนที่อาจจะไม่ได้สนใจการเมืองเลยก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีก็ไม่ได้หมายถึงจะไม่ต้องโกรธแค้นไม่ต้องก้าวร้าว แต่เป็นการแสดงออกด้วยการไม่ไปกระทำต่อชีวิตคนได้ เช่น ไปพ่นสีสเปรย์ เผาทำลายรูป หรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจของรัฐ หรือการคว่ำบาตรศาสนสถานหรือแบนกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนรัฐก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าการที่ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงก็มีความเสี่ยงทั้งจากโรคระบาดและกฎหมาย ตำรวจก็ควรจะยอมเสี่ยงที่จะไม่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน หรือจะยกระดับไปจนถึงการนัดหยุดงานหยุดเรียนได้ด้วยเช่นกัน
ชานันท์กล่าวถึงกลุ่มทะลุแก๊สอีกว่า อาวุธที่กลุ่มใช้ก็ยังไม่แน่ใจได้ว่าจะสามารถเรียกว่าอาวุธเลยได้หรือไม่แต่ก็ถูกเอามาใช้แทนอาวุธ แต่อย่างไรก็ตามป้าเป้าก็ยังคงถูกตำรวจจับกุมโดยอ้างว่ามีสิ่งที่ใช้แทนอาวุธได้ แสดงว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถอ้างว่าอะไรก็เป็นอาวุธได้ตราบใดที่เขารู้สึกว่าไม่มีความมั่นคง แล้วกลุ่มทะลุแก๊สที่อาจเป็นการร่วมตัวของคนจากหลายๆ กลุ่มในพื้นที่เดียวกันนี้ มีหลายคนที่เขาเคยคุยด้วยบางคนก็แสดงความสูญเสียจากโควิดพ่อแม่ตายไม่เหลือใคร รูปแบบในการต่อสู้ของพวกเขา พวกเขาอาจไม่ได้มีโอกาสมากในการเข้าถึงทรัพยากรความรู้บางประการแล้วก็ออกมาเคลื่อนไหวจึงออกมาในรูปแบบของการใช้พลุบ้างหรือสิ่งอื่นๆ
“แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังอยู่ในรูปแบบของสันติวิธีที่เขากำลังทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่ทำตัวประหนึ่งว่าเป็นอำนาจของรัฐแต่ไม่ได้ทำตัวประหนึ่งเป็นประชาชนร่วมกัน มันจึงสามารถกระทำได้โดยยังอยู่ภายใต้หลักสันติวิธีอย่างแน่นอนเพราะว่าขณะนั้นตัวเจ้าหน้าที่รัฐกำลังลดทอนคุณความเป็นมนุษย์ของเขาเองด้วยให้เป็นเพียงกลไกหนึ่งของรัฐเท่านั้น ก็ไม่สามารถนับรวมได้ว่าเขาเป็นประชาชนที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกับประชาชนด้วยกันได้”
“ประชาชนด้วยกันเองจึงมีสิทธิปะทะด้วยความโกรธแค้น เยาะเย้ยถากถางด่าทอได้ หรือจะฉีดสเปรย์พ่นทำลายเผาอาวุธยุทโธปกรณ์รถของเจ้าหน้าที่หรือโล่ เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ที่จะกระทำต่อประชาชนต่อไป รวมไปถึงการปกป้องป้องกันตัวเองได้ด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นการตัดหนทางของเจ้าหน้าที่ที่จะก่อความรุนแรงได้เช่นเดียวกัน”
ชานันท์ยังเห็นว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธียังสามารถร่วมไปถึงเมื่อประชาชนรู้ว่าอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกลำเลียงมาด้วยเสนทางใดก็สามารถกีดขวางเผาสกัดกั้นเส้นทางนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามการต่อสู้ภายใต้สันติวิธีก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผิดกฎหมายเพราะก็ยังมีกฎหมายบางข้อที่มาจำกัดตัวตนของประชาชนและโอกาสที่จะออกมาเคลื่อนไหวอยู่แล้ว
“ผมเลยคิดว่าเมื่อพูดถึงความเป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาชนจะต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการหรือทรราชย์ด้วยสันติวิธี มันทำได้ หนึ่งมันอาจมีคุณูปการที่สร้างความตระหนักรู้ตื่นรู้ให้กับผู้อื่นที่มองเข้ามาให้เขาทบทวนสติและสามัญสำนึกของเขา แต่กับอำนาจรัฐมันอาจจะเป็นเรื่องยาก” ชานันท์ยังยกสิ่งที่ปรีดีกล่าวในปาฐกถาว่าก็ทำให้เห็นถึงว่าการต่อสู้กับอำนาจเก่าที่พยายามรักษาอำนาจไว้ด้วยการใช้ความรุนแรงแล้วก็เกิดความรุนแรงขึ้นจริงๆ ตามประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามก็มีบริบทและข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์อยู่แล้ว
ชานันท์เสนอปิดท้ายว่าทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการเจรจากันซึ่งก็เป็นไปได้ยากในสภาวะที่มีรัฐแบบนี้