Skip to main content
sharethis

ทนายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเผยกรมชลประทานส่งเจ้าหน้าที่แจ้งชาวบ้านท่าเรือพร้อมจ่ายค่าชดเชยผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวม แต่ใน EIA กลับไม่มีระบุไว้ในบัญชี รองอธิบดีแจง 6 ประเด็นแก้ไขปรับปรุง

9 ต.ค. 2564 เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะทีมกฎหมายของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่า ได้รับจดหมายตอบรับจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) หรือ โครงการผันน้ำยวม โดยจดหมายดังกล่าวลงวันที่ 1 ต.ค. 2564 เนื้อหาระบุว่า ตามที่ท่านได้มีหนังสือคำร้อง ลงวันที่ 20 ก.ย. 2564 ขอให้พิจารณาทบทวนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวมฯ นั้น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประสานส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกรณีที่ได้มีหนังสือคำร้องดังกล่าวแล้ว

ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวว่า ก่อนหน้าที่มีกรณีร้องเรียน เกี่ยวกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ ซึ่งกรมชลประทานได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดทำ แต่ประชาชนในพื้นที่ได้ร้องเรียนว่า กระบวนการจัดทำ EIA โครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วม และพบว่าอาจจะมีการใช้ข้อมูลบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง เช่น ชื่อและรูปบุคคลในรายงานที่ถูกอ้างอิง แต่รายงานดังกล่าวกลับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการผู้พิจารณารายงาน EIA แล้วทางเครือข่ายฯทราบว่า จะมีการนำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในวันที่ 15 ก.ย. 2564 จึงได้ทำหนังสือไปยัง กก.วล. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 13 ก.ย. 2564 เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และขอให้เลื่อนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ กก.วล.ออกไป โดยขอให้ส่งกลับรายงาน EIA ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯทบทวนการพิจารณารายงานให้ครอบคลุมในทุกมิติ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะ กก.วล. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติผ่านรายงานดังกล่าวไปในวันที่ 15 ก.ย. 2564 แล้ว และจะนำเข้าสู่ ครม.พิจารณาในเร็ว ๆ นี้

“เครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาระงับการนำ EIA เข้าพิจารณาโดย กก.วล.และคัดค้านโครงการฯ แต่หนังสือเพิ่งส่งกลับมายังเครือข่ายนั้น อ้างเฉพาะเรื่องคัดค้านโครงการ และยังระบุวันในเอกสารไม่ถูกต้อง เห็นได้ว่า โครงการมีการดำเนินการในลักษณะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลใน EIA ก็อาจจะไม่ถูกต้อง และดูเหมือนจะเร่งรัดดำเนินการ ทางเราเป็นห่วงว่าการดำเนินการโครงการ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนกว่า 7.1 หมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ และที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า หน่วยงานได้เพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมและข้อห่วงกังวลของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ใน จ.ตาก จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน นี้ อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” ทนายความกล่าว

ทางด้านนางสาวมึดา นาวานารถ ประชาชนหมู่บ้านท่าเรือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ริมแม่น้ำยวม ใกล้กับจุดสร้างเขื่อนแม่น้ำยวม กล่าวว่าเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ได้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งแนะนำตัวว่ามาจากกรมชลประทาน เดินทางมาที่หมู่บ้านท่าเรือ และถามหาพี่สาวของตน เนื่องจากตนเองขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน และที่หมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่คณะดังกล่าวได้ขอถ่ายรูป บอกกับพี่สาวว่ารู้จักกับตนเป็นอย่างดี และเสนอค่าชดเชยให้ โดยแจ้งว่าบ้านของพี่สาวจะโดนน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน

“ก่อนหน้านี้หลายปีที่ผ่านมา ทุกครั้งกรมชลประทานไม่เคยแจ้งว่าบ้านของพี่สาวจะโดนน้ำท่วม ในรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบก็ไม่เคยมีระบุชื่อพี่สาว แต่ครั้งนี้กลับมาแจ้งว่าจะท่วมและจะชดเชยให้ รู้สึกแปลกใจมาก และอยากทราบว่าความจริงของผลกระทบจากโครงการนี้ ต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ชุมชน ใน 3 จังหวัด จะเป็นอย่างไรกันแน่ ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ชุดนี้เข้ามาจากนอกพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน  ซึ่งเวลานี้ชาวบ้านไม่อยากให้คนข้างนอกเข้าออกเพราะต้องการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และตอนที่ขอถ่ายรูปก็ให้ทุกคนถอดหน้ากากด้วย ทำให้ทุกคนรู้สึกกังวลใจเพิ่มอีก” นางสาวมึดา กล่าวและว่าล่าสุดวันนี้ทราบมาว่ามีคณะสำรวจโครงการเข้ามาในพื้นที่ บ้านแม่เงา อ.สบเมย ซึ่งที่ผ่านมาปิดชุมชนอย่างเข้มงวด การเข้ามาของคนนอกถือว่าไม่เคารพกฎของชุมชนเลย

ก่อนหน้านี้นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า งบประมาณโครงการ 70,000 กว่าล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จจะส่งประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยืนยันว่าเป็นไปตามระเบียบการศึกษาที่มีกฎหมายคุมทุกระดับ รวมถึงการพิจารณาทางเลือกอื่นกรณีหากไม่มีโครงการนี้ ก็พบว่าไม่สามารถมีปริมาณน้ำมาทดแทนกันได้แบบมีนัยสำคัญต่อลุ่มเจ้าพระยาที่ดูแล 22 จังหวัด หรือกรณีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานเดิมที่ก่อสร้างมาเป็นเวลานาน และกรมชลฯก็ได้ดำเนินการควบคู่กันไป รวมถึงการปรับวิธีการปลูกข้าวเปียก-สลับแห้ง ซึ่งเป็นการพิจารณาทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน

รองอธิบดีกล่าวกับสื่อมวลชนอีกว่า ส่วนประเด็นที่มีการปรับปรุงแก้ไข อาทิ 1.กรมจะสนับสนุนงบประมาณให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชปลูกป่าเพิ่ม 2 เท่า หรือประมาณ 7 พันไร่  2.ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 29 ราย 34 แปลง จะมีการชดเชยอย่างเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด 3.ด้านพันธุ์สัตว์น้ำ ได้ร่วมกับกรมประมงศึกษาระบบนิเวศและแนวทางแก้ไข จะมีการทำบันไดทางผ่านปลาเพื่อการอนุรักษ์ การป้องกันสัตว์น้ำข้ามลุ่มโดยระบบการยับยั้งปลาด้วยคลื่นเสียง การติดตั้งระบบรวบไข่ปลาจมและไข่ปลาลอยออกจากสถานีสูบน้ำ เป็นต้น 4.ออกแบบเขื่อนโดยให้ความสำคัญกับธรณีวิทยา ระบบสูบน้ำจะลึกลงไปใต้ผิวดิน 30 เมตร จึงไม่มีผลกระทบต่อตลิ่ง 5.การออกแบบปากอุโมงค์ทางน้ำออก ที่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ รวมถึงการปรับปรุงลำห้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ จะไม่กระทบต่อประชาชนห้วยแม่งูด สำหรับพื้นที่ 5 ไร่ใช้สร้างอาคารสลายพลังงาน จะชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และ 6.พื้นที่กองวัสดุจะมีการป้องกันไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศ และว่าเขื่อนน้ำยวม เป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีตกักเก็บน้ำ 68.74 ล้านลบ.ม. อุโมงค์ส่งน้ำยาว 61.52 กิโลเมตร จะผันน้ำในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-มกราคม ไม่ผันในช่วงฤดูแล้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net