Skip to main content
sharethis

เปิดรายงานที่มูลนิธิ ทอมป์สัน รอยเตอร์ ไปสำรวจมุมมองของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก และบริษัทท่องเที่ยวในไทยและบาหลี ต่อนิยาม "นักท่องเที่ยวคุณภาพ" ก่อนเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ พร้อมข้อเสนอของ 'ธนาธร' ที่แนะให้เปิดภายในก่อน ขณะที่ 'ทักษิณ' เตือนว่าระบบสาธารณสุขต้องเรียบร้อยกว่านี้

นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป ประเทศไทยจะยกเว้นการกักกันผู้มาเยือนที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนจาก 46 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โดยมุ่งเน้นที่นักท่องเที่ยวระดับพรีเมียมหรือนักท่องเที่ยวคุณภาพ 

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงการณ์ถึงข้อสรุปการประชุมวางแผนแนวทางในการเปิดประเทศจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงข้อพิจารณาหลักในการเปิดประเทศ ได้ข้อสรุปด้วยกัน 3 ปัจจัย ดังนี้ 1. ปัจจัยด้านมาตรการสาธารณสุข 2. ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ 3. ความสอดคล้องกับมาตรการเข้า - ออกของประเทศอื่นๆ 

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามานั้น ประเทศไทยยินดีต้อนรับ แต่จะมีเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของประเทศต้นทาง และการฉีดวัคซีนของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เป็นไปตาม 3 แนวทางการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ของ ททท. รัฐบาลเชื่อมั่นว่านโยบายการเปิดประเทศดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้

แต่การเปิดประเทศต้อนรับต่างชาติเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจนี้ ดูเหมือนว่าธุรกิจตั้งแต่ชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นล่างในห่วงโซ่เศรษฐกิจการบริการทั้งวงจร อาจไม่ได้รับการกระจายรายได้เท่าที่ควร

แฟ้มภาพจาก Pixabay

มูลนิธิ ทอมป์สัน รอยเตอร์ (Thomson Reuters Foundation) โดย Rina Chandran เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2564 ไปคุยกับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก และบริษัทท่องเที่ยวในไทยและบาหลี ว่าความพยายามดึง "นักท่องเที่ยวคุณภาพ" ที่ขาดคำนิยามชัดเจนที่มากไปกว่าจ่ายเงินเยอะ จะทำให้เกิดปัญหาในการเลือกปฏิบัติ คนชั้นกลางไปจนถึงชั้นล่างในห่วงโซ่เศรษฐกิจการบริการจะได้อะไรจากการเปิดประเทศน้อย 

สะท้อนห่วงโซ่เศรษฐกิจการบริการผ่านการท่องเที่ยวเชียงใหม่

ผู้ประกอบการเชียงใหม่ต่างรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ บรรยากาศเมืองเก่าในเชียงใหม่เป็นตรอกซอกที่มีวัดพุทธโบราณ เกสต์เฮาส์ โรงแรมหรู บาร์และร้านอาหาร รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่จัดเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยวนับล้านที่มักจะแห่กันไปที่นั่น

ขณะนี้ธุรกิจจำนวนมาก ณ เชียงใหม่ปิดตัวลง บาร์ส่วนใหญ่ก็พากันปิดตัวลงท่ามกลางการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปิดให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 

รบ.ไทย ประกาศปรับทิศเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานแถลงข่าวว่าประเทศไทยจะหันมาเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพเพื่อสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น

“แทนที่จะพึ่งพานักท่องเที่ยว 40 ล้านคนเพื่อสร้างรายได้ 2 ล้านล้าน เราจะหันมาเน้นที่นักท่องเที่ยวคุณภาพที่สามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น สิ่งนี้จะดีต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” 

สุพัฒนพงษ์กล่าว และเสริมว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ประมาณ 1 ล้านคนก่อนเดือน เม.ย. 2565  โดยไม่ระบุว่าใครเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 40 ล้านคนในปี 2019 มีการใช้จ่ายคิดเป็น 11.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งลดลง 82% และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 100,000 คนในปีนี้

ธุรกิจบริการราคาประหยัดถูกละเลย

ในขณะที่ประเทศกำลังเตรียมที่จะเปิดให้บริการในช่วงไฮซีซั่นของนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม โรงแรมราคาประหยัดและธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาแบ็คแพ็คเกอร์และผู้เดินทางราคาประหยัดก็ถูกละเลย เพราะประเทศไทยจะเน้นไปที่นักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม

รัชนา ผู้จัดการเกสท์เฮ้าส์ราคาปานกลางในเมืองเชียงใหม่เล่าว่า การเจาะเน้นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายราคาสูงนั้นไม่ถูกต้อง เธอต้องการให้นักท่องเที่ยวทุกประเภทเข้ามาพักโดยเร็ว

“เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวทุกประเภทมาโดยตลอด ดังนั้น การจะเน้นเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงนั้นไม่ถูกต้อง แล้วเราล่ะ? ธุรกิจทั้งหมดควรมีโอกาสเหมือนกันเมื่อเราเปิดใหม่อีกครั้ง” 

“มันดีถ้านักท่องเที่ยวใช้เงินเยอะ แต่เราอยากให้นักท่องเที่ยวทุกประเภทมากัน เพราะเราเดือดร้อนมามากแล้ว” รชนากล่าวทิ้งท้าย

ทบทวนนิยาม 'นักท่องเที่ยวคุณภาพ' ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว (Center of Tourism Research and Development) ได้ให้ความหมายของนักท่องเที่ยวคุณภาพ ว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยวสูง เลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เที่ยวอย่างรับผิดชอบ และไม่สร้างผลกระทบทางลบให้กับแหล่งท่องเที่ยว

ลูฮุท บินซาร์ ปันด์จัยตัน รัฐมนตรีประสานงาน กิจการการเดินเรือและการลงทุนของอินโดนีเซีย ที่ดูแลการเปิดประเทศกล่าวในบาหลี ซึ่งเปิดทำการอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 20 ประเทศ โดยต้องกักตัวเป็นเวลา 5 วัน ว่าทางการมุ่งเน้นที่จะคัดเลือกนักท่องเที่ยวให้มากกว่านี้

“เราจะกรองนักท่องเที่ยว เราไม่ต้องการให้แบ็คแพ็คมา เพื่อให้บาหลียังคงสะอาดซึ่งผู้คนที่มามีคุณภาพ” ลูฮุทกล่าว

เกาะบาหลีขึ้นชื่อเรื่องหาดทรายและวัดฮินดูที่โดดเด่น มีผู้เข้าชมมากกว่า 6 ล้านคนในปี 2019 และอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งของประเทศ

ด้าน เนียวมัน สุขมา อาริดา อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยอูดายานาในบาหลีกล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพนั้นไม่ใช่เพียงแค่คนที่จ่ายเงินท่องเที่ยวในราคาที่สูงเท่านั้น แต่ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

"เราต้องชี้แจงความหมายของการท่องเที่ยวระดับพรีเมียมและการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพก่อน  ความเข้าใจของรัฐบาลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเป็นเพียงคนที่จ่ายราคาสูง" เนียวมันกล่าว

“แต่นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพคือผู้ที่ใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่น นี่คือข้อกำหนดในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เงิน” เขากล่าวทิ้งท้าย

นักท่องเที่ยวคุณภาพอาจส่งผลให้เศรษฐกิจรั่วไหล

Stuart McDonald ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ช่องว่างที่ถูกบังคับโดยโควิด-19 เป็น "โอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต" ที่จะคิดใหม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การจัดลำดับความสำคัญที่เรียกว่านักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม ทางการได้ประเมินคุณภาพอย่างไม่ถูกต้องด้วยการใช้จ่ายที่สูงขึ้นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จำกัด

“แน่นอนว่ามันสมเหตุสมผลแล้วที่ประเทศควรมุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ แต่นั่นไม่จำเป็นต้องหมายถึงนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง การท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด และมีแนวโน้มสูงสุดต่อการรั่วไหลของเศรษฐกิจ”  แมคโดนัลด์กล่าว

‘ธนาธร’ แนะเปิดภายในก่อน ‘ทักษิณ’ ย้ำระบบสาธารณสุขต้องเรียบร้อยกว่านี้

ขณะที่ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานความเห็นของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ถึงกรณีรัฐบาลมีแผนจะเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ โดย ธนาธร กล่าวว่า การเปิดประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การเปิดประเทศจำเป็นจะต้องเปิดภายในก่อน ซึ่งเป็นวิธีที่ต่างประเทศใช้กันทั่วไป ต้องคลายล็อคภายในก่อน ให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติก่อนถึงจะเปิดจากภายนอกเข้ามา ไม่มีประเทศใดจะเริ่มเปิดจากข้างนอกโดยที่ข้างในไม่มีการคลายล็อค

“การเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาสำคัญมากๆ กับเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตาม เราจะไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของทั้งนักท่องเที่ยวและคนในชาติได้เลย ถ้าเกิดว่าเราไม่เริ่มจากการเปิดประเทศให้เป็นปกติเสียก่อน” ธนาธร กล่าว

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในนาม 'Tony Woodsome' กล่าวผ่านทาง Live CareTalk x Care ClubHouse ของช่อง Voice TV ระบุว่า หากประเทศจะเปิดได้ ประชาชนจะต้องฉีดวัคซีน 2 เข็มไปกว่า 60 – 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว และต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ รวมทั้งต้องจัดการระบบสาธารณสุขให้เรียบร้อยกว่านี้ คนป่วยต้องมีที่รักษาพร้อม นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศจะเปิดได้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีไปทบทวน และต้องคำนวณให้ชัดเจนว่าจะเปิดด้วยหลักการใด 

สำหรับการเปิดประเทศที่จะถึงนี้ ศบค. ออกแถลงการณ์จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 

(บลูโซนหรือพื้นที่สีฟ้า) ในแต่ละระยะ รวมทั้งหมด 4 ระยะ โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้

ระยะนำร่อง (ตั้งแต่ 1 - 31 ต.ค. 2564) จำนวน  4 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเดิมที่ดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค. - ส.ค. 2564 ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) พังงา (เขาหลักและเกาะยาว) และกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เลย์)

ระยะที่ 1 (ตั้งแต่ 1 - 30 พ.ย. 2564) เปิดอีก 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน และหนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง และ อ.ศรีราชา) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อ.เมือง) หนองคาย (อ.เมือง อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ และ อ.สังคม) อุดรธานี (อ.เมือง อ.นายูง อ.หนองหาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.กุมภวาปี และ อ.บ้านดุง) ระยอง (เกาะเสม็ด) และตราด (เกาะช้าง) รวมทั้งหมด 17 จังหวัด

ระยะที่ 2 (ตั้งแต่ 1 - 31 ธ.ค. 2564) เปิดอีก 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งหมด 33 จังหวัด

และระยะที่ 3 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565) เปิดอีก 12 จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล รวมทั้งหมด 45 จังหวัด

สำหรับ ทอฝัน ช่วยชู ผู้แปล พร้อมทั้งเสริมข้อมูลชิ้นนี้ นักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net