Skip to main content
sharethis
  • ส.ส.พรรคประชาชาติเผยคนในพื้นที่มีจิตสำนึกด้านมนุษยธรรมผ่านกิจกรรมทางสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดโอกาสการเรียนรู้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
  • ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพยันหน่วยงานรัฐควรตระหนักรู้ประเด็นนี้ เพื่อส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ขออย่าไปกีดกัดองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ 
  • ชี้หลังเจรจาผลกระทบต่อพลเรือนลดลง แต่การโจมตีพลรบกลับเพิ่มขึ้น
     

กว่า 17 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส วันที่ 4 ม.ค.2547 สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี ปมความขัดแย้งกลับมาปะทุอีกครั้ง อย่างต่อเนื่อง รายงานชุดสัมภาษณ์ตั้งเป้าสัมภาษณ์เพื่ออัพเดทสถานการณ์สงคราม ความขัดแย้ง รวมทั้งประเด็นมนุษยธรรมในพื้นที่ผ่านมุมมองนักวิชาการ นักวิจัย ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ สื่อ ข้าราชการและนักการเมือง

ตอนที่ 3 นี้ เป็นการพูดคุยกับ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ และทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ กับ มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในประเด็นสถานการณ์ในพื้นที่และความรับรู้เรื่องมนุษยธรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง

คนในพื้นที่มีจิตสำนึกด้านมนุษยธรรมผ่านกิจกรรมทางสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดโอกาสในการเรียนรู้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ เปิดเผยต่อประเด็นการรับรู้เรื่องมนุษยธรรมของคนในพื้นที่ว่า โดยภาพรวมแล้วพื้นฐานจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่มันมีพื้นฐานในคุณค่าด้านมนุษยธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้พูดถึงคำว่ามนุษยธรรมตามรูปแบบของกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง แต่ตามขนบธรรมเนียมจะเห็นได้จากปรากฎการณ์กิจกรรมทางสังคมอย่างชัดเจน

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ และทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้

ส่วนการรับรู้และความเข้าใจประเด็นด้านมนุษยธรรมที่เป็นสากลตามกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันนั้น คิดว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึง เพื่อการรับรู้และเข้าใจในประเด็นดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมาก อาจจะมีประชาชนบางส่วน ซึ่งคิดว่าส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความตื่นตัวและเข้าถึงโอกาสในการรับรู้ประเด็นด้านมนุษยธรรม เช่น กลุ่มคน หรือ ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง หรือ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนโดยตรง

“ถ้าจะยกระดับเพื่อให้สังคมหรือประชาชนในพื้นที่ให้มีความตระหนัก ตื่นตัวและเกิดการขับเคลื่อนประเด็นการปกป้องพลเรือน จะต้องขยับอีกพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการรับรู้และการเข้าใจในประเด็นดังกล่าว ตลอดจนการสร้างและพัฒนากลไกด้านการปกป้องมนุษยธรรมที่เป็นรูปธรรมอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในพื้นที่” กมลศักดิ์ เปิดเผย

หน่วยงานรัฐควรตระหนักรู้ด้านมนุษยธรรม เพื่อส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ย้ำอย่าไปกีดกันองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า การรับรู้ในประเด็นเรื่องมนุษยธรรรมไม่ถึงขนาดว่าผู้คนจะมีความรู้ในระดับที่สูง ส่วนใหญ่จะรู้เพียงแค่ผิวเผิน แต่โดยพื้นฐานคนพอจะเข้าใจบ้าง แต่หากถามลึกลงไปก็ไม่มีความรู้เหมือนกัน เพราะโดยปกติแล้วคำว่ามนุษยธรรมพื้นฐานมันมีอยู่ในตัวของคนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีความรู้ในเชิงวิชาการ ฉะนั้นหากรู้เพียงผิวเผินอาจจะส่งผลถึงความเข้าใจผิดก็ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านอย่างเดียวที่ต้องรู้ ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่ผู้ที่ถืออาวุธสงครามก็ควรรู้เรื่องนี้ด้วย

หากประเมินตอนนี้การรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเรื่องมนุษยธรรมถือว่าค่อนข้างต่ำมาก หรือ อาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ในเรื่องการถ่ายรูปบัตรประชาชนช่วงที่ถูกสกัดตรงด่านตรวจ มันก็เหมือนเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แล้ว หรือแม้แต่เรื่องการเก็บดีเอ็นเอของเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้หญิง

แต่เมื่อองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเพื่อที่จะให้ความรู้ในเรื่องมนุษยธรรมระดับกฎหมายสากลกลับถูกกีดกันโดยรัฐไม่ให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับพื้นที่แห่งนี้ เพราะรัฐมีมุมมองแบบเหมารวมกลายเป็นเรื่องความมั่นคงไปหมด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกลุมบีอาร์เอ็น (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี - BRN) ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวช่วงโควิดเพื่อตอบสนองต่อการขอของสหประชาชาติ (UN) แต่การตอบสนองหรือการตอบรับโดยรัฐกลับไม่เห็นคุณค่า เพราะการมองแบบเหมารวมเป็นว่าเรื่องการช่วงชิงทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศ  แต่ไม่ได้มองเป็นเรื่องมนุษยธรรมแม้แต่สักนิดเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วรัฐควรตอบสนองในเรื่องนี้ให้เป็นไปในทางที่ต้องยินดี เพราะมันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น

ด้านกลุ่มเป้าหมายที่ควรต้องมีความรู้ในเรื่องมนุษยธรรมนี้อันดับแรกต้องเป็นกลุ่มของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่บังคับใช้กฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องมนุษยธรรม ที่ผ่านมารัฐบังคับใช้กฎหมายพิเศษเต็มอัตราศึก กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้นำหมู่บ้าน หรือผู้นำชุมชน อย่างเช่น อีหม่าม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องนี้เช่นเดียวกัน เพราะหน่วยงานรัฐเหล่านี้ต้องเป็นผู้ให้ความรู้ต่อคนในพื้นที่ เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เห็นหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เลย กลับเป็นหน่วยงานรัฐเสียเองที่เป็นฝ่ายละเมิดสิทธิด้านมนุษยธรรม

“ถ้ารัฐทำไม่ได้ หรือ ไม่มีความรู้ ก็ควรเปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมมาเทรนด์ มาให้ความรู้ดังกล่าว ไม่ใช่กีดกันให้เขาออกจากพื้นที่ มันไม่ใช่” มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว

หลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างพลรบมากกว่าพลเรือน แต่ก็ส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อเด็กที่ต้องขาดผู้ปกครองไป

ส.ส.พรรคประชาชาติมองพัฒนาการของเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อพลเรือนและเด็กว่า เท่าที่ติดตามสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือ จากองค์กรภาคประชาสังคม รวมไปถึงองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ จะเห็นว่าจำนวนสถิติเหตุการณ์ลดลงมากพอสมควร หากเทียบกับช่วงแรกของสถานการณ์

 “มีความลดลงพอสมควรเช่นกัน ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะมีเกิดขึ้นบ้างเป็นช่วงๆ แต่ลักษณะเหตุการณ์จะเป็นการปะทะวิสามัญระหว่างคู่ขัดแย้งหลักบ่อยขึ้น ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มคนที่ถืออาวุธเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม  อย่างไรก็ตามเมื่อมีการสูญเสีย เด็กจำนวนไม่น้อยมักจะตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบในทางอ้อมด้วย จะเห็นได้ว่าจำนวนเด็กกำพร้าโดยเฉพาะในพื้นที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคิดว่าจะต้องได้รับการดูแลและคุ้มครองด้วยเช่นกัน” ส.ส.พรรคประชาชาติ กล่าวถึงผลกระทบโดยตรงต่อพลเรือนโดยเฉพาะเด็ก

หลังเจรจาผลกระทบต่อพลเรือนลดลง แต่การโจมตีพลรบกลับเพิ่มขึ้น

“ผมอยากชวนมองพัฒนาการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วง ปี 2556-2564 หลังจากมีกระบวนการเจรจาเกิดขึ้น ผลกระทบกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอลดลงอย่างต่อเนื่อง บางช่วงก็มีเกิดขึ้นเป็นประปราย และบางช่วงแทบที่จะไม่มีให้เห็นเลย แต่การโจมตีเป้าหมายที่ติดอาวุธสงครามกลับเพิ่มมากขึ้น” ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ กล่าว

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ กล่าวด้วยว่า สังเกตดูแล้วส่วนใหญ่จะมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ติดอาวุธสงคราม บางทีมันก็เกี่ยวโยงกับการเมืองท้องถิ่น เรื่องยาเสพติดบ้าง ค้าของเถื่อนบ้าง ก็นำมาเชื่อมโยงไปเป็นเหตุการณ์ความมั่นคงหมด เพราะรูปแบบวิธีการก็มีการลอกเลียนแบบก่อเหตุให้คล้ายกับเหตุการณ์ความมั่นคงอย่างเช่น เรื่องวางระเบิดใต้ท้องรถของนักการเมืองท้องถิ่น หรือ ขว้างไปป์บอมไปยังบ้านพ่อค้ายาเสพติด เป็นต้น

เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ดี ส่งผลบวกต่อการปกป้องพลเรือนตามหลักการมนุษยธรรม

ส.ส.กมลศักดิ์ แสดงความเห็นในเรื่องการประกาศเดี่ยวของ BRN กับ Geneva Call ว่าด้วยการปกป้องเด็กจากการขัดกันทางอาวุธว่า ตนไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับคำประกาศดังกล่าวในรายละเอียดเท่าไหร่นัก แต่พอทราบบ้างว่ามันมีประกฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ส่งผลบวกต่อการปกป้องพลเรือน โดยเฉพาะเด็กตามหลักการมนุษยธรรมให้ไม่ตกเป็นเหยื่อจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ส.ส.กมลศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ว่าการประกาศดังกล่าวจะเป็นการประกาศฝ่ายเดียวก็ตาม แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายในแง่ของผลจากการประกาศดังกล่าว อีกทั้งมันเหมือนกับเป็นการให้คำมั่นสัญญากับประชาคมทั้งในและระหว่างประเทศว่าจะปฎิบัติตามคำประกาศดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์ในแง่ของการปกป้องพลเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเด็กเพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

BRN กล้าประกาศ เพราะเป็นเรื่องที่โดยปกติเขาไม่เคยมุ่งเป้าไปยังเด็กอยู่ก่อนแล้ว

มูฮำหมัดอาลาดี ปิดท้ายเรื่องการประกาศฝ่ายเดียวของ BRN ว่า เป็นเรื่องที่ดีเช่นเดียวกัน แต่ปกติแล้วหากสังเกตการณ์ตั้งแต่แรก การมุ่งเป้าไปยังเด็กโดยตรงของฝ่าย BRN  แทบจะไม่มีนอกเสียจากโดนลูกหลง หรือ การนำเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีมาเป็นกองกำลังติดอาวุธ สังเกตุจากเหตุการณ์วิสามัญแต่ละครั้งก็ยังไม่เห็นผู้เสียชีวิตจะมีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในระดับ 20 ต้นๆ จนถึงปลาย 40

อย่างกรณีเด็กอายุ 14 ปี ที่ถูกทหารวิสามัญเสียชีวิต พิสูจน์แล้วว่าเป็นการจัดฉากโดยเจ้าหน้าที่ทหารพรานในพื้นที่ แต่กล่าวหาว่าเด็กใช้อาวุธปืนยิงถล่มมค่าย จึงมีการสวนกลับโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส สามารถเสริชหาได้ใน Google

“BRN  เลยกล้าที่จะออกมาประกาศให้สัญญาในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับ BRN  ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นอยู่แล้ว” มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net