Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชนร่วมแถลงในนาม 'กลุ่มไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์' ยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นัดชุมนุมค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 14 พ.ย. 2564 นี้

13 พ.ย. 2564 Thai PBS รายงานว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ กลุ่มปฏิรูปสถาบัน รวมถึงองค์กร-เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ร่วมแถลงในนาม "กลุ่มไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" พร้อมอ่านแถลงการณ์ต่อต้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง โดย น.ส.ปนัสยา ยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

แถลงการณ์มีสาระสำคัญ ระบุว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนตำแหน่งประมุขให้เป็นอย่างอื่นนอกจากพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ไม่สามารถยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้อำนาจไม่สุจริต เป็นการอ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำจัดศัตรูทางการเมือง ดังนั้นการใช้อำนาจจึงต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย การที่ศาลใช้อำนาจเกินขอบเขต เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจนี้จึงไม่ถือว่าเป็นที่สุด และเห็นว่าอำนาจนี้ไม่เป็นการผูกพันองค์กรใด

นอกจากนี้ยังชี้แจงการจัดกิจกรรมชุมนุม ของกลุ่มมวลชนปฏิรูปสถาบันฯ-กลุ่มราษฎรเอ้ย นัดชุมนุมใหญ่พรุ่งนี้ วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย. เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ก่อนจะเดินเคลื่อนขบวนไปยังสนามหลวงด้วย โดยเป้าหมายเป็นการต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้หัวข้อ "ต่อต้านการปกครอง ต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

แถลงการณ์ต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีล้มล้างการปกครอง

ด้าน เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เผยแพร่แถลงการณ์ต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีล้มล้างการปกครอง โดยระบุว่าพวกเราขอส่งสารนี้ ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกท่าน เนื่องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563  ศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวมีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1  และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2  พวกเราขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ข้อเรียกร้องของพวกเรา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพวกเราไม่อาจยอมรับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้ 

พวกเราขอประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่า ด้วยจิตวิญญาณอันยึดมั่นต่อหลักนิติธรรมและหลักการทางกฎหมาย พวกเราเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดแย้งอย่างร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงเป็นการใช้อำนาจโดยไม่สุจริตมีวัตถุประสงค์เพื่ออ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการกำราบปราบปรามศัตรูทางการเมือง

ทั้งนี้ ด้วยเหตุว่า ศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นศาลที่มีหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำทั้งหลาย โดยมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กร   โดยหลักการแล้ว การใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็น ‘ศาลที่มีอำนาจจำกัดเฉพาะในขอบเขตของศาล’ (Enumerationprinzip) เพื่อป้องกันมิให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขต มิให้พิจารณาคดีตามอำเภอใจ และกลายเป็นผู้ทรงอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญเสียเอง  ด้วยเหตุนี้ การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตตัวบทของกฎหมาย และไม่อาจใช้อำนาจเกินเลยไปกว่าขอบเขตที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้  ทั้งนี้ด้วยเพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ถือกำเนิดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นปฐมเหตุ  ดังนั้นการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินไปกว่าขอบเขต หรือไม่ดำเนินตามตัวบทของรัฐธรรมนูญ ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจดังกล่าวจึงย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นที่สุด และปราศจากผลผูกพันใด ๆ ต่อทุกองค์กร 

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ยกเหตุผลสนับสนุนต่าง ๆ รวมทั้งเหตุผลทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุน ทั้งที่ไม่ใช่สาระสำคัญของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   ทั้งนี้ พวกเราขอถือโอกาสนี้ อธิบายแก่ศาลรัฐธรรมนูญว่า โดยหลักการและตามรัฐธรรมนูญนั้น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสาระสำคัญ ได้แก่ 1) ส่วนของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันหมายถึง รูปแบบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ผู้เป็นที่มาแห่งอำนาจของสถาบันทั้งปวง ผู้มีศักดิ์ศรี สิทธิ และเสรีภาพ เสมอภาคกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งยังได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผล มีอัตตานัติกำหนดทิศทางของรัฐด้วยตนเองเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน  และ 2) ส่วนการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันหมายถึง การกำหนดให้ตำแหน่งประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีที่มาจากการสืบทอดทางสายโลหิตจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้า โดยทรงสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ทรงมีพระราชอำนาจแต่ในเชิงพิธีการ ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ   ทั้งนี้ประเทศทั้งหลายที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้วนแต่ประกอบด้วยสาระสำคัญทั้ง 2 ประการข้างต้นทั้งสิ้น  โดยแม้อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป ดังเช่น การได้รับการจัดสรรงบประมาณรายปีที่แตกต่างกัน การไม่มีส่วนราชการในพระองค์ การไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งความแตกต่างทั้งหลายล้วนแต่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งมิอาจถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
 
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันมีข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นอาทิ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเราขอยืนยันด้วยความสัตย์จริงว่า นับตั้งแต่การประกาศ 10 ข้อเรียกร้องจนถึง ณ วินาทีนี้ ไม่มีซักเสี้ยวลมหายใจเลยที่เจตนา และข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ที่พวกเราได้ประกาศจะเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สถิตย์แห่งอำนาจอธิปไตย หรือทำลายศักดิ์ศรี สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน หรือปิดกั้นประชาชนจากการใช้อัตตานัติเพื่อกำหนดทิศทางของรัฐ หรือเปลี่ยนตำแหน่งประมุขให้เป็นอื่นจากพระมหากษัตริย์ หรือการเปลี่ยนพระราชอำนาจให้เป็นอื่นไปจากอำนาจเชิงพิธีการ   และข้อเรียกร้องทั้ง 10 ประการนั้น ไม่มีข้อใดเลยที่เป็นไปตามลักษณะดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ที่ 3/2562 ที่ได้วางหลักคำว่า ล้มล้าง ว่า เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนได้ รวมถึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะทำลาย หรือล้างให้สูญสลายหรือสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อพวกเราพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ รวมถึงการกระทำทั้งปวงขององคาพยพชนชั้นนำที่เกิดขึ้นในช่างหลายปีที่ผ่านมา ด้วยหลักแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  พวกเราจึงเกิดข้อสงสัย และตั้งข้อสังเกตว่า หรือแท้ที่จริงแล้ว เป็นพวกท่านเอง ที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงที่สถิติแห่งอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน ทำลายศักดิ์ศรี สิทธิ และเสรีภาพ ปิดกั้นประชาชนจากการใช้อัตตานัติเพื่อกำหนดทิศทางทางการเมืองด้วยตนเอง หรือพยายามเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จากอำนาจเชิงพิธีการสู่อำนาจในรูปแบบอื่น

แท้ที่จริงแล้ว คือพวกท่านเองหรือไม่ ที่กำลังพยายามล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พยายามเปลี่ยนแปลงที่สถิตย์แห่งอำนาจอธิปไตย สู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง  หรือในความเข้าใจที่แท้จริงของพวกท่าน ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงนี้เอง คือโฉมหน้าที่จริงแท้ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่พวกท่านกำลังวาดหวังตั้งแต่ต้น
 
นอกจากเหตุผลข้างต้นที่ทำให้พวกเราไม่อาจยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว  ในคำตัดสินของศาล พวกเราเห็นว่ามีข้อเท็จจริงหลายประการที่ศาลนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี และสนับสนุนคำวินิจฉัย โดยที่พวกเรามิได้มีโอกาสในการเสนอพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว   ทั้งนี้พวกเราไม่อาจทราบได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ข้อมูลดังกล่าวมาจากที่ใดและเมื่อใด แต่ที่พวกเราทราบอย่างแน่แท้คือ  แม้พวกเราจะได้ยื่นร้องขอต่อศาลให้มีการไต่สวน เพื่อแสดงพยานหลักฐาน หักล้างหรือยืนยันข้อเท็จจริงที่ศาลมีอยู่  แต่ศาลกลับไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน  โดยศาลได้ให้เหตุผลว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน

พวกเราขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า กระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลไม่อาจยอมรับได้ เพราะขาดซึ่งความเป็นธรรมอย่างยิ่ง  ทั้งนี้ กฎหมายได้ระบุให้กระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ใช้ระบบไต่สวน ซึ่งเปิดโอกาสให้ศาลมีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  โดยแม้ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดให้ศาลต้องเปิดเผยพยานหลักฐานที่ศาลสามารถรวบรวมได้ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายทราบเพื่อยืนยันหรือโต้แย้ง  แต่กระนั้นก็ดี ในระบบการวินิจฉัยคดีด้วยการไต่สวน ย่อมมีหลักการสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ การมีสรุปข้อเท็จจริงในสายตาของศาลให้คู่กรณีทราบ เพื่อโต้แย้งก่อนการตัดสินคดี อันปรากฏในศาลที่ใช้ระบบไต่สวนทั้งหลาย   ทั้งนี้เพื่อให้ ลูกความทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานที่ศาลรวบรวม และสามารถโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าวได้ อันจะเป็นการทำให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่การพิจารณาคดี  ทั้งนี้ ในกระบวนการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้น ศาลไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน แม้จะมีการร้องขอแล้วก็ตาม พวกเราจึงไม่อาจทราบถึงพยานหลักฐานที่ศาลรวบรวมได้ และไม่มีโอกาสในการยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงที่ศาลมีอยู่   พวกเราจึงขอยืนยันว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่อาจยอมรับได้ เพราะขาดซึ่งความเป็นธรรมอย่างยิ่งด้วยกระบวนพิจารณาคดี

นอกจากประเด็นดังกล่าว ด้านการออกคำสั่งของศาล  ด้วยความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของรัฐ  พวกเราขอยืนยันว่า พวกเราไม่อาจยอมรับในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งว่า “ให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” อันถือเป็นการใช้อำนาจสั่งการล่วงล้ำสู่แดนแห่งอนาคตกาล และเป็นการขยายขอบเขตคำสั่งนอกเหนือไปจากตัวผู้ถูกร้องสู่บุคคลอื่นอย่างไม่มีประมาณ   การออกคำสั่งดังกล่าว ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2 เป็นเหตุให้คำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ   พวกเราขอยืนยันว่า พวกเราไม่อาจฝืนปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ เพราะหากพวกเราปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ย่อมหมายความว่าพวกเราไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญอันตั้งตระหง่านเหนือศาลรัฐธรรมนูญ และมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  

ทั้งนี้ พวกเราขอส่งสารนี้ด้วยความห่วงใยถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นกัลยาณมิตรว่า  การพิจารณาวินิจฉัยสั่งการเหล่านี้ของท่าน กำลังทำให้สังคมเห็นว่า พวกท่านกำลังใช้อำนาจเกินขอบเขตของศาล อันเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  และอาจเห็นว่า พวกท่านกำลังยกตนขึ้นเหนือรัฐธรรมนูญอันเป็นปฐมเหตุแห่งอำนาจของพวกท่าน รวมถึงอาจเห็นว่า พวกท่านกำลังใช้อำนาจโดยมิชอบ เข้าแทนที่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อันเป็นอำนาจสูงสุดที่สถิตอยู่กับประชาชน  อีกทั้งคำวินิจฉัยของท่าน ซึ่งตัดสินให้การเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เกิดขึ้นโดยความสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ เป็นการล้มล้างการปกครอง ผิดกับการวินิจฉัยคดีรัฐประหาร ซึ่งเป็นการใช้กำลังทหารยึดอำนาจการปกครอง ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ฉีกรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง แต่ท่านกับรับรองความชอบธรรมแก่การกระทำดังกล่าว อันเป็นการหันหลังแก่หน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยอย่างปราศจากมาตรฐาน สะท้อนเจตนาไม่สุจริต เพื่อสนับสนุนอุ้มชูมิตร และทำลายล้างผลาญศัตรูทางการเมือง

พวกเราขอย้ำเตือนด้วยความห่วงใยว่า อำนาจที่พวกท่านมีอยู่ขณะนี้ พวกท่านมีได้เพราะอาศัยความชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญ และอาศัยความเชื่อมั่นของประชาชน  หากสังคมเห็นว่า พวกท่านขาดความเคารพต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นปฐมเหตุแห่งอำนาจของพวกท่านแล้ว และเห็นว่าการวินิจฉัยของท่านไม่ได้เป็นไปเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง  การใช้อำนาจของพวกท่านย่อมปราศจากความศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นที่สุด และปราศจากผลผูกพันใด ๆ ต่อทุกองค์กร   อย่างไรก็ดี พวกเรายังเชื่อมั่นว่า ไม่สายเกินไปหากท่านจะพิจารณาถึงข้อห่วงใยดังกล่าว และปรับปรุงแก้ไขการวินิจฉัย เพื่อให้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกลับเข้าสู่ครรลองตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลับกลายป็นที่สถิตของความยุติธรรม อันจะอำนวยความเป็นธรรม และเป็นที่พึ่งสุดท้ายแก่มหาชนทั้งหลายได้ ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

พวกเราขอเน้นย้ำอย่างบริสุทธิ์ใจว่า  ข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในทางกลับกัน พวกเรากลับเห็นว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมจะส่งผลเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง และเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์ธำรงสถาพรขึ้น ควบคู่กับสถาบันประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง
และด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงยังขอยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ที่ว่า

ข้อ 1.ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ

ข้อ 2.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ข้อ 3.ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561

ข้อ 4.ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์

ข้อ 5.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์

ข้อ 6.ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด

ข้อ 7.ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

ข้อ 8.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม
 
ข้อ 9.สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎร
 
ข้อ 10.ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
 
พวกเราขอยืนยันด้วยจิดอันเห็นประโยชน์แห่งมหาชนเป็นที่ตั้งว่า หนทางที่ดีที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การใช้กลไกทางกฎหมาย หรือความรุนแรง เพื่อเป็นเครื่องมือในการกดปราบ คุกคาม หรือการพยายามสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว  แต่คือการพยายามร่วมมือกันจาก ‘ทุกภาคส่วน’ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม  ‘ทุกความคิดทางการเมือง’ ทั้งฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายอนุรักษ์นิยม  และจาก ‘ทุกองคาพยพของรัฐ’ ทั้งองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร องค์การตุลาการ องค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ  เพื่อร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถดำเนินไปจนประสบผลสำเร็จสถาพรได้จริง อันจะเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเป็นเหตุแห่งความเจริญวิวัฒน์ของสถาบันกษัตริย์ควบคู่กับสถาบันประชาชนอย่างสง่างาม ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐสถิตอยู่ที่ประชาชนอย่างแท้จริง

ฟ้าดินทั้งหลายโปรดเป็นพยานรับรู้เถิดว่า เมื่อใดก็ตามนั้นที่บ้านเมืองนั้นไร้ขื่อแปร ราษฎรพบแต่ความทุกข์ร้อน แต่เจ้าหน้าที่รัฐแลศาลสถิตยุติธรรมกลับมีแต่พวกกังฉิน คดโกงไม่ซื่อตรงต่อประชาชน แลเป็นเครื่องมือของเผด็จการ แทนที่ผู้คนเหล่านี้จะขจัดทุกข์ บำรุงสุขราษฎร แต่ก็มิแยแสถึงความเดือดร้อนของราษฎรผู้ทุกข์ร้อนอยู่ทุกข์ย่อมหญ้า ซ้ำยังตราหน้าราษฎรผู้ยึดมั่นในระบอบการปกครองให้กลายเป็นกบฎ 

บัดนี้เองนั้น พวกเราขอถือโอกาสนี้ ประกาศแก่ประชาชนผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยทุกท่านว่า ใน วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้ พวกเราขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยผู้บริบูรณ์พร้อมด้วยศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทุกท่าน ทุกความคิดทางการเมือง ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทุกช่วงวัย ทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ โปรดมารวมตัวพร้อมกัน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตจำนง ยืนยันว่า การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากแต่เป็นการยืนยันว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ดังกล่าว เป็นไปเพื่อธำรงระบอบการปกครองอันอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุข พวกเราขอยืนยันด้วยใจอันตั้งมั่นว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมจะส่งผลเป็นการพิทักษ์ระบอบการปกครอง มิให้เหล่าบรรดาชนชั้นนำศักดินา อ้างความจงรักภักดีเพื่อหมุนกงล้อประวัติศาสตร์กลับคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงได้ 

“เมื่อผู้อ้างความจงรักภักดีกลายเป็นกบฎต่อระบบการปกครอง การเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นหน้าที่ของประชาชน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net