ฟังเสียง 'มนุษย์ม็อบ' ทั้งไทยและเทศใน #ม็อบ14พฤศจิกา64 สะท้อนความเห็นต่อศาล รธน.

14 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวประชาไทลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา65 'ไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์' ที่บริเวณแยกปทุมวัน ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเข้าร่วม ซึ่งทุกคนแสดงความคิดเห็นในทางเดียวกันเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยใส่ใจประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทยให้มากขึ้น

จุดประสงค์ของเครือข่ายผู้จัดการชุมนุมในวันนี้คือเพื่อยืนยันว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ไม่ได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองและยืนยันว่าประเทศนี้ต้องปกครองด้วยระบอบที่คนทุกคนเสมอหน้าเท่าเทียมกัน นี่คือการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย

"ในประเทศของผม คุณไม่ต้องเรียกร้องสิ่งเหล่านี้"

เค (นามสมมติ) ชาวต่างชาติจากยุโรป มาร่วม #ม็อบ14พฤศจิกา64 เขาระบุว่าถึงแม้ว่าตนจะไม่ใช่คนไทย แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมา 15 ปีแล้วและรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

เคกล่าวว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำตัดสินที่น่าสงสัย เนื่องจากข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อไม่ได้ใกล้เคียงเลยกับคำว่าล้มล้างการปกครอง

"พวกเขาแค่ขอให้สถาบันกษัตริย์มีความเป็นธรรม อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นภาระของประชาชนน้อยลง" เค กล่าว

นอกจากนี้ เคยังเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ โดยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ ส.ว. แต่งตั้ง 250 เสียงและความไม่ปกติบางประการในผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา

"[ข้อเรียกร้องเหล่านี้] มีเหตุผล ในประเทศของผม คุณไม่ต้องเรียกร้องสิ่งเหล่านี้" เค ระบุ

เคกล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เขาอยากให้นักท่องเที่ยวรับรู้ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ชอบธรรม และเขายังอยากให้นักท่องเที่ยวมาสังเกตการณ์การชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลที่กดขี่ประชาชนรู้ว่ามีคนกำลังจ้องมองพวกเขาอยู่

ชาวมาเลเซียเรียกร้องให้ "ยกเลิก ม.112" พร้อมวอนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจสิทธิมนุษยชนในไทย

 

ชุง (นามสมมติ) ชาวมาเลเซียผู้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา กล่าวว่าประชาชนควรสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม ชุงระบุว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฉบับปัจจุบันของไทยนั้นกดขี่เสรีภาพเหล่านี้ และคนไทยที่มีความเห็นขัดแย้งกับกฎหมายนี้ต้องขอลี้ภัยไปยังประเทศอื่น ตนคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ควรถูกยกเลิก เพื่อให้ประชาชนแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบทางกฎหมายที่จะตามมา อีกทั้งยังทำให้ผู้อพยพลี้ภัยกลับบ้านของตนได้

ชุงเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อจากนี้ ควรให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนของที่นี่ และอย่างน้อยควรรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาพูดในตอนนี้

"ถ้าเราไม่ส่งเสียง แสดงว่าเรายอมรับ วันนี้เราอาจจะรับได้ แต่วันข้างหน้า มันอาจจะแย่ไปกว่านี้"

โด่ง วัย 47 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เผยกับผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เขามาร่วมชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา64 วันนี้ว่า "ก็จริงร่วมมาหลายกิจกรรมที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่วันนี้เป็นเรื่อง 112 โดยเฉพาะ เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ เราไปร่วมกิจกรรมประชาธิปไตยเท่าที่จะเป็นไปได้อยู่แล้ว"

 

โด่ง แสดงความเห็นต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, อานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ล้มล้างการปกครองนั้น ส่วนตัวเขามองว่ามันเป็นการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยกลับมาอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งมันเพิ่งหายไปเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่การล้มอะไร

โด่ง กังวลว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความแบบนี้อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่และมีโทษที่รุนแรงขึ้นที่จะเข้ามาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมจากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปใครพูดเรื่องที่มีเจตนาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจะถูกตีความเป็นการล้มล้างหมด

แม้ว่าตอนนี้รัฐจะทำให้พวกเขากลายเป็นกบฎ แต่โด่งทิ้งท้ายว่า "ถ้าเราไม่ส่งเสียง แสดงว่าเรายอมรับ วันนี้เราอาจจะรับได้ แต่วันข้างหน้า มันอาจจะแย่ไปกว่านี้ มันอาจจะไม่ได้แก้ได้ง่าย"

"บางคนมองว่าเราทนได้ แต่เราต้องรอจนถึงตอนที่ทนไม่ได้จริงๆ เหรอ อะไรที่มันไม่ถูก เราควรจะแสดงออกมาบ้าง

"ไม่ใช่ว่าเราต้องการทำตามแกนนำ แต่เรามีแกนๆ หนึ่งที่ต้องการทำให้ประเทศมันดีขึ้น เราจะไม่ยอมอยู่ใต้ระบอบแบบนี้อีกต่อไปแล้ว"

'ณะ' คอนเทนต์ครีเอเตอร์ วัย 27 ปี ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา64 กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีคำวินิจฉัยออกมา เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่ ตั้งแต่แรก ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย เราก็รู้อยู่แล้วว่าการปฏิรูปมันก็ต้องไม่เท่ากับการล้มล้างอยู่แล้ว

"ถ้าแบบ...ความ make sense ทั่วไป ปฏิรูปจะเท่ากับการล้มล้างได้อย่างไร" ณะ กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า เมื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็เกิดคำถามว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยมาก่อนอย่างนั้นหรือ

"การที่บอกว่าอำนาจเป็นของกษัตริย์มาตั้งแต่สุโขทัย แปลว่ายอมรับแล้วใช่มั้ยว่าที่ผ่านมาเราไม่ใช่ประชาธิปไตย เราเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหรอ เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว"

ณะกล่าวว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมออกมาเรียกร้องเมื่อปีที่แล้ว ตลอดจนข้อเรียกร้อง 10 ข้อของกลุ่มราษฎร ยกเลิก 112 ประกาศไว้เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา จะช่วยลดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมือง และทำให้สถาบันฯ น่าเคารพนับมากขึ้นกว่าเดิม โดยส่วนตัว ณะเห็นว่าภาพลักษณ์ของสถาบันฯ ที่ไม่มีการประนีประนอมในตอนนี้เหมือนเป็นการตอกย้ำความคิดของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้มีสถาบันฯ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

"กษัตริย์ไม่ต้องลงมายุ่งการเมืองอยู่แล้ว สำหรับเรานะ ซึ่งถ้าเกิดว่าสถาบันฯ มีการประนีประนอม ลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญได้ ประเทศเราก็จะมีสถาบันกษัตริย์ที่อยู่คู่กันไปได้ยาวนานขึ้น อย่างนี้เหมือนกับสถาบันฯ ตัด (เวลา) ให้สั้นลง คนยิ่งเสื่อมศรัทธาในตัวสถาบันฯ" ณะกล่าว

 

ด้าน 'แนน' นักศึกษาวัย 24 ปี กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยแบบนี้ก็ยิ่งพิสูจน์ความเชื่อของตนและอีกหลายคนว่า ถ้าเราอยากปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นก็อาจจะจำเป็นลดข้อเรียกร้องให้เหลือเพียงข้อเดียว แต่ตนยังมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับคนบางกลุ่ม ดังนั้น การที่สถาบันฯ ลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญจะทำให้มีการตรวจสอบ และเกิดการปรับตัวให้เท่าทันกับโลกสมัยใหม่ และทำให้สถาบันฯ คงอยู่ต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่ากังวลหรือไม่ที่ออกมาร่วมชุมนุมหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนั้นออกมา ณะและแนนตอบว่าไม่กังวล เพราะต้องการต่อสู้เพื่ออนาคตของตนและต้องการให้ประเทศไทยดีขึ้น

"ไม่ใช่ว่าเราต้องการทำตามแกนนำ แต่เรามีแกนๆ หนึ่งที่ต้องการทำให้ประเทศมันดีขึ้น เราจะไม่ยอมอยู่ใต้ระบอบแบบนี้อีกต่อไปแล้ว" ณะ กล่าว

"เรารู้สึกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ เรามองไม่เห็นแสงสว่างและอนาคตของตัวเองในประเทศนี้ อย่างน้อยการที่เราออกมา มันก็ไม่น่ากลัวเท่ากับการที่เรามองไม่เห็นตัวเองให้ประเทศนี้เลย" แนน กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'กลุ่มไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์' ประกอบด้วย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย DRG, กลุ่มเหล่าทัพราษฎร, ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, SUPPORTER THAILAND, We Volunteer (Wevo) และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ม็อบ3สิงหา เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ทั้ง 3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสองนั้น เกิดกระแสการคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งออกในรูปของแถลงการณ์และการปิดป้ายข้อความประท้วงในหลายพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท