สืบพยานปากแรกคดี #19กันยาคืนอำนาจราษฎร ต่อ 'ไมค์' ขอเลื่อนไต่สวนประกันมาบ่ายนี้แต่ศาลไม่ให้

พยานโจทก์ปากแรกคดี #19กันยาคืนอำนาจราษฎร เบิกความตอบอัยการเสร็จ รอสืบต่อนัดหน้าวันที่ 14 ธ.ค.นี้ "ไมค์ ภาณุพงศ์" ขอให้ฝ่ายบริหารศาลอาญาพิจารณาเลื่อนไต่สวนประกันจาก 17 ธ.ค.มาเป็นบ่ายวันนี้ ศาลไม่ให้เลื่อนอ้างว่าจำเลยมีหลายคดีและขอเวลาส่งหมายตามผู้เกี่ยวข้องมาทำการไต่สวนด้วย

3 ธ.ค.2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสืบพยานปากแรกในคดี #19กันยาคืนอำนาจราษฎร ต่อจากเมื่อวานนี้ โดยพยานที่มายังเป็นพ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร รองผู้กำกับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งเป็นอดีตผู้กำกับการสน.ชนะสงครามในช่วงที่มีการชุมนุม 19 ก.ย.2563 เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีนี้ อีกทั้งยังเป็นประจักษ์พยานที่คุมกำลังเข้าไปควบคุมสถานการณ์การชุมนุมด้วย

สืบพยานคดี #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ระอุ จำเลยขอให้ศาลเรียกหลักฐาน ร.10 ไปเยอรมัน แต่ศาลไม่อนุมัติ

การสืบพยานในวันนี้เป็นส่วนที่อัยการโจทก์ถามพยานต่อเนื่องในช่วงที่พยานอยู่ในสถานการณ์ช่วงบ่ายของวันที่ 19 ก.ย.ต่อเนื่องไปจนถึงการชุมนุมเสร็จสิ้นในวันที่ 20 ก.ย.2563 และการรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วเข้าแจ้งความดำเนินคดีจำเลยทั้ง 22 คนในคดีนี้

พ.ต.อ.วรศักดิ์ เบิกความต่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสนามหลวงช่วงบ่ายว่าในสนามหลวงมีแนวแผงกั้น 2 ชั้นด้านพระบรมมหาราชวัง โดยชั้นแรกเป็นแผงกั้นอยู่ก่อนถึงแนว 150 ม.จากเขตพระราชฐาน โดยมีตำรวจประจำแนวไว้ และมีแผงเหล็กกั้นอีกชั้นที่แนว 150 ม.

ขณะนั้นเขาเห็นว่าทางด้านผู้ชุมนุมมีอยู่ในบริเวณนั้นหลายพันคน ตอนประมาณ 15.30 น. ขณะที่เขากำลังติดป้ายประกาศให้ยุติการชุมนุมในเวลา 16.30น. ทางฝ่ายแกนนำบนเวทีก็ประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่สนามหลวงเรื่อยๆ จนใกล้ถึงเวลาตามที่ประกาศให้ยุติแกนนำได้ประกาศชักชวนให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นก่อนถึงระยะ 150 ม.เข้ามา ทำให้ตำรวจที่ตั้งแนวอยู่ต้องถอยร่นไปที่แนว 150 ม.จากพระบรมราชวัง แต่หลังจากที่ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นก่อนถึงระยะ 150 ม.มาแล้วผู้ชุมนุมก็หยุดเคลื่อนไหวแล้วก็นั่งลง

พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความในประเด็นนี้ว่าการที่ผู้ชุมนุมจะเข้ามาได้ต้องใช้กำลังมวลชนจำนวนมากเพื่อดันแผงเหล็กจนล้ม ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ต้องถอยไปที่แนว 150 ม.จากพระบรมมหาราชวังซึ่งก็ต้องปีนเข้าไปในแนวเนื่องจากแนวชั้นนี้มีการผูกแผงเหล็กไว้ด้วยกันจึงไม่มีทางเข้า หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับแนวแผงกันระยะ 150 ม.พระบรมมหาราชวังอีกแนวกั้นยังคงอยู่เป็นปกติ

จากนั้นทางด้านผู้ชุมนุมก็เริ่มตั้งเวที เล่นละคร เหมือนการมาใช้สนามหลวง ส่วนจุดที่ตั้งเวทีคือบริเวณฝั่งใกล้ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และบนเวทีมีการติดตั้งจอ LED ขนาดใหญ่ไว้ฉายภาพที่เกี่ยวกับการชุมนุม จนเมื่อตั้งเสร็จแล้วตัวเขาเองก็กลับไปติดตามการชุมนุมต่อที่สน.ชนะสงครามจากการถ่ายทอดสดของผู้ชุมนุมเองและสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าว

พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความด้วยว่าหลังจากได้ประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมแล้วแต่ทางฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ยุติตามคำสั่ง จึงได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมด้วย

พ.ต.อ.วรศักดิ์ บอกว่าจากการติดตามพบว่าบนเวทีมีการปราศรัย ร้องเพลงเล่นดนตรี ประเด็นการปราศรัยของผู้ชุมนุมเป็นเรื่องความไม่พอใจรัฐบาล เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเนื้อหาการปราศรัยนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของสน.ชนะสงครามมีหน้าที่ถอดเทปและพิสูจน์ตัวบุคคลที่ปราศรัยโดยมีการนำภาพถ่ายจากมุมต่างๆ มาสืบหาเมื่อทราบชื่อแล้วจึงมีการนำเข้าไปคนหาในทะเบียนราษฎร์ ซึ่งหน่วยงานที่ร่วมสืบมีทั้ง ฝ่ายสืบสวนของ บก.น.1 ฝ่ายสืบสวนของบช.น. และตำรวจสันติบาล

เขาเบิกความด้วยว่าได้ติดตามการปราศรัยบนเวทีจนถึงเวลาประมาณตี 3-4 ของวันที่ 20 ก.ย.จึงไปพักผ่อน โดยระหว่างติดตามก็มีการไปพักทานอาหารเข้าห้องน้ำบ้าง จนกระทั่ง 6 โมงครึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาจึงรายงานว่าจากการถ่ายทอดสดเห็นว่าทางด้านหน้าเวทีผู้ชุมนุมมีการทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง ตนจึงออกจากสน.ชนะสงครามไปสังเกตการณ์ที่ชุมนุมอยู่บริเวณหน้าศาลฎีกาและดูสถานการณ์จากการถ่ายสดในมือถือไปด้วย

รอง.ผบก.น.1 กล่าวว่าจากที่เห็นคือมีการตั้งเต๊นท์กั้นเอาไว้แล้วใช้อุปกรณ์ขุดเจาะทำการเจาะพื้นสนามหลวง เบื้องต้นเขาก็ไม่ทราบว่าจุดประสงค์ในการเจาะพื้นดังกล่าว แต่ทราบภายหลังว่ามีการวางหมุดคณะราษฎรลงไป โดยระหว่างที่มีกิจกรรมก็มีการถ่ายทอดสดบนจอ LED ไปด้วยพร้อมกับอธิบายถึงสิ่งที่กำลังทำกัน เขาติดตามการกระทำนี้ตั้งแต่เริ่มทำการขุดเจาะจนกระทั่งผู้ชุมนุมทำพิธีฝังหมุดเสร็จสิ้นกิจกรรมดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการกว่าชั่วโมง

จากนั้นทางด้านผู้ชุมนุมมีการประกาศว่าจะเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลแต่ก็ได้ประกาศเปลี่ยนในภายหลังว่าจะไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบองคมนตรีที่อยู่ถัดไปจากศาลหลักเมืองฝั่งตรงข้ามวัดพระแก้วแทน ทั้งนี้จำนวนผู้ชุมนุมในเวลานั้นลดลงไปมากตั้งช่วงเช้ามืดของวันที่ 20 ก.ย.แต่ก็ยังคงมีผู้ชุมนุมกว่า 3,000 คนที่มาร่วมเดินขบวน

พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความว่าหลังจากทางเจ้าหน้าที่ทราบว่าผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนก็มีการตั้งแนวกั้นที่ระยะ 150 ม.จากพระบรมมหาราชวังบนถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้าศาลฎีกา แต่ขณะนั้นเขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์แล้วแต่เป็นชุดควบคุมฝูงชนอยู่ที่แนวกั้นร่วมกับตำรวจที่สนธิกำลังกันระหว่างสน.พระราชวังและสน.ชนะสงครามหลายร้อยนายแต่เขาจำจำนวนไม่ได้แน่ชัด ส่วนผู้บัญชาการเหตุการณ์ขณะนั้นคือพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)

เขาเบิกความต่อว่าทางด้านผู้ชุมนุมให้ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลมาเป็นตัวแทนเจรจาเพื่อขอผ่านแนวไปเพื่อยื่นคำร้องแต่พล.ต.ท.ภัคพงศ์ที่มาเป็นผู้เจรจาไม่ยินยอม ทำให้ปนัสยาต้องยื่นคำร้องผ่านพล.ต.ท.ภัคพงศ์แทน แล้วจึงได้ประกาศยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงเดินทางกลับแต่บางส่วนก็ไปถ่ายภาพร่วมกับหมุดคณะราษฎรในสนามหลวงต่อ

พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความตอบอัยการโจทก์ว่าจากการประเมินของเขาเห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้ฝ่าฝืนกฎหมายหลายอย่าง ได้แก่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวาย, กีดขวางจราจร, มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขต จากนั้นเขาจึงได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับจำเลย 4 คน ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา, อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก ก่อนและระบุว่าจะทำการตรวจสอบเทปบันทึกและพิสูจน์ตัวตนของบุคคลอื่นที่มีการกระทำผิดกฎหมายเพิ่มและมาแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มในภายหลัง

นอกจากนั้นพ.ต.อ.วรศักดิ์ยังเข้าไปพื้นที่พร้อมกองพิสูจน์หลักฐานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงเพื่อทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุแต่ก็ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เนื่องจากยังมีผู้ชุมนุมเข้าไปถ่ายภาพที่หมุดคณะราษฎรจนต้องรอถึงเวลาประมาณตี 2 เพื่อเข้าพื้นที่ไปทำการตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วจึงได้ให้ทางกรุงเทพมหานครมาขุดหมุดออกและส่งมาเป็นของกลางในคดี และนอกจากหมุดแล้วทางกองพิสูจน์หลักฐานยังได้มีการเก็บตัวอย่างลายนิ้วมือ เส้นผมและ DNA จากที่เกิดเหตุด้วย และมีการเก็บพยานหลักฐานอื่นๆ ด้วยเช่นภาพถ่าย วิดีโอบันทึก จากทั้งเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และผู้ชุมนุมที่มีการเผยแพร่อยู่ และเขาได้ทำแผนที่จุดเกิดเหตุไว้ด้วย

พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความว่า จากข้อมูลต่างๆ ที่รวมรวมมาจากทั้งฝ่ายสืบสวนของ บก.น. บช.น.และสันติบาล มาประมวลได้มีการสืบหาผู้กระทำความผิดเพิ่มเติ่มพบว่ามีกว่า 20 คน เขาจึงได้แจ้งความดำเนินคดีเพิ่มและให้การเพิ่มเติมไว้กับพนักงานสอบสวนและจากการสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการชุมนุมก็พบว่าก่อนหน้าการชุมนุม 19 ก.ย.63 เคยมีการชุมนุมในพื้นที่ปทุมธานีมาก่อนและมีการแจกเอกสารข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย ตนจึงได้ทำหนังสือไปถึงสภ.คลองหลวง เพื่อขอเอกสารข้อเรียกร้องดังกล่าวมาใช้ประกอบในคดีนี้ด้วย

พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความตอบคำถามอัยการโจทก์เสร็จสิ้นแล้วในช่วงเช้าวันนี้ แต่เนื่องจากพยานมีเหตุธุระต่อในตอนบ่ายจึงยังไม่มีการถามค้านจากทนายความจำเลยในวันนี้และให้เลื่อนกระบวนการพิจารณาคดีไปนัดหน้าคือวันที่ 14 ธ.ค.2564 ต่อ

ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ภาณุพงศ์ จาดนอกได้แถลงขอให้ศาลปรึกษากับฝ่ายบริหารของศาลอาญาเพื่อเลื่อนวันนัดไต่สวนประกันตัวเขา พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภาและจตุภัทร บุญภัทรรักษามาเป็นวันนี้แทนเนื่องจากพวกเขายังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ ซึ่งเมื่อวานนี้หลังจากทั้ง 4 คน ยื่นคำร้องขอประกันตัวไว้และศาลได้นัดไต่สวนการประกันตัวไว้วันที่ 17 ธ.ค.นี้

ภาณุพงศ์ให้เหตุผลว่าในช่วงบ่ายวันนี้ถ้าไม่มีการสืบพยานแล้วก็ขอให้ศาลเลื่อนไต่สวนประกันตัวมาเป็นวันนี้แทนเพราะวันที่ 17 ธ.ค.ทนายความหลายคนไม่สะดวกมาตามนัดเนื่องจากติดการพิจารณาคดีในศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลตอบภาณุพงศ์ว่าจะรับไปปรึกษากับฝ่ายบริหารให้

อย่างไรก็ตามเวลา 12.57 น. เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบว่าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนเนื่องจากจำเลยมีหลายคดีและจำเลยหลายคนต้องมีการส่งหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมาทำการไต่สวน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท