สนทนาคลับเฮาส์ #saveแอมเนสตี้ทำไม สงสัยรัฐบาลหวังจัดการเอ็นจีโอในไทย

สนทนาคลับเฮาส์ #saveแอมเนสตี้ทำไม ตั้งข้อสงสัยรัฐบาล 'ประยุทธ์' หวังจัดการเอ็นจีโอในไทย เพราะถ้าเอ็นจีโอร่วมมือกันคงมีพลังพอที่จะสะเทือนรัฐ ระบุต้องช่วยกันเคลื่อนไหวขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่แอมเนสตี้ฯ ทำอยู่ให้เกิดพลังมากขึ้น จึงจะเป็นการปกป้องแอมเนสตี้ฯ อย่างเป็นรูปธรรมที่ดีที่สุด

4 ธ.ค. 2564 วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม และอดีตกรรมการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสถาบันสังคมประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมการสนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ หัวข้อ “#saveแอมเนสตี้ทำไม???” โดยมีผู้นำสนทนาประกอบด้วย ยิ่งชัพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) อดีตกรรมการและเลขานุการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และนาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษาด้านงานรณรงค์ มูลนิธิมนุษยะ ดำเนินรายการโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม อดีตกรรมการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 
    
โดยที่การสนทนาครั้งนี้ นอกจากบุคคลทั่วไปที่ให้ความสนใจแล้วยังมี จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา, อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ตวงพร อัศววิไล สื่อมวลชนชื่อดัง, ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ให้ความสนใจเข้ามาร่วมรับฟัง และยังมีสมศรี หาญอนันทสุข กับ ชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งเป็นอดีตประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทั้ง 2 ท่าน มาร่วมตอบข้อซักถาม เสริมประเด็นเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อีกด้วย
    
ก่อนเริ่มการสนทนา วรภัทร กรรมการมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม อดีตกรรมการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะผู้ดำเนินการสนทนา ได้ชี้แจงว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ ไม่ได้จัดโดยองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แต่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะให้สังคมได้รับฟังมุมมองเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จากปากคำของนักสิทธิมนุษยชนที่ไม่เคย หรือไม่ได้เป็นคณะกรรมการ/บุคลากรของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในปัจจุบันบ้าง หลังจากที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในเบื้องต้นไปแล้ว 
    
เมื่อเริ่มการสนทนา นาดา ที่ปรึกษางานรณรงค์ มูลนิธิมนุษยะ กล่าวว่าถ้าพูดว่าทำไมเราต้องพูดเรื่องsaveแอมเนสตี้ฯ จุดนี้ตนในฐานะนักสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศก็มีความเสียใจมากว่าในตอนที่มีการระดมรายชื่อเพื่อขับไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศไทย เพื่อนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เรารู้จักและเคารพความแตกต่างทางการเมืองซึ่งกันและกันก็มาร่วมลงชื่อด้วย ด้วยความที่พวกเขาไม่รู้ว่าแอมเนสตี้ฯทำประโยชน์ต่อประเทศไทย ต่อสังคมโลกมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ตนเห็นมาตลอดคือการที่แอมเนสตี้ฯ เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างในประเทศออสเตรเลีย แอมเนสตี้ฯ ได้ผลักดันร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในประเทศ ซึ่งเราก็จะเห็นในมุมของคนภายนอกว่าว่าประเทศออสเตรเลียก็มีความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจริง ๆ การทำให้นโยบายของรัฐ หรือว่ากฎหมายมันคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ทับซ้อน (intersexuality) ถูกบรรจุไว้ในการตอบรับของรัฐบาลออสเตรเลีย เพราะว่ามาจากการขับเคลื่อนของแอมเนสตี้ฯ ที่ได้ทำให้การล็อบบี้กระบวนการ UPR มีความคมคาย มีความชัดเจนมากขึ้น หมายความว่าสิ่งที่แอนมเนสตี้ฯ เสนอมันเป็นสิ่งที่พร้อมใช้ เหลือแค่รัฐหยิบไปลงมือทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ 

ทำให้เราเห็นว่าแอมเนสตี้ฯ เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนและการทำงานรณรงค์ ซึ่งก็น่าเสียใจที่คนมีความเชื่อทางการเมืองบางอย่างกลับมองไม่เห็นและมองว่าแอมเนสตี้ฯ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ แต่อย่างน้อยเราก็ยังเห็นว่าแอมเนสตี้ฯไม่ได้โดดเดี่ยว อย่างในความพยายามของรัฐบาลที่จะออกกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน) ที่พวกเราพยายามต่อสู้คัดค้านกันอยู่ เราก็เห็นเลยว่ารัฐพุ่งเป้าที่จะมาจัดการ ควบคุมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นอันดับแรก ๆ เลย นอกจากนี้ก็จะมีฮิวแมนไรท์วอช หรือมูลนิธิมนุษยะที่ตนเป็นที่ปรึกษางานรณรงค์อยู่ก็โดนไปด้วยเหมือนกัน เราเลยต้องเป็นหลักพิงให้กันและกัน แสดงจุดยืนกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงสำคัญมาก
    
เมธา เลขาธิการ ครป. อดีตกรรมการและเลขานุการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายว่าแอมเนสตี้ฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2504 ส่วนในประเทศไทยนั้น แอมเนสตี้ฯ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังการรณรงค์ประสบความสำเร็จ มีจดหมายนับแสนฉบับจากสมาชิกแอมเนสตี้ฯ ในประเทศต่าง ๆ ส่งมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษทางความคิด หลังจากนั้นเริ่มมีการรวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนแอมเนสตี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งคณะกรรมการแอมเนสตี้ฯ ในประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมแอมเนสตี้ฯ ระดับนานาชาติและเริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2536 และจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อปี พ.ศ.2546 ภารกิจหลักของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประกอบด้วยงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและงานผลักดันเชิงนโยบาย รณรงค์เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม รณรงค์เพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รณรงค์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รณรงค์เพื่อบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รณรงค์ยุติการทรมานและการอุ้มหาย รณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต และงานสิทธิมนุษยชนศึกษา สำหรับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน โดยมีกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชน งานเสวนาและกิจกรรมสาธารณะด้านสิทธิมนุษยชน ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนามาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศ
    
เมธายังกล่าวต่อไปอีกว่าทำไมกระแสการเรียกร้องขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงเกิดขึ้นในยุครัฐบาลประยุทธ์ คำถามคือเขาอยู่มาหลายสิบปีแล้วทำไมเพิ่งจะมีปัญหาในรัฐบาลนี้ เพราะเขาออกมาตรวจสอบรัฐบาลใช่หรือไม่ ซึ่งหากจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็ต้องถูกตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะออกกฎหมายปิดปากประชาชน ออกกฎหมายจำกัดข้อมูลข่าวสาร และใช้กฎหมายอำนาจนิยมคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง 
    
น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยไม่ทำงานบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ การแสดงออกภายในย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย การทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรประชาธิปไตยและองค์กรสิทธิมนุษยชนจะยิ่งตอกย้ำว่าประเทศไทยเปิดกว้างและรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน มีสมาชิกที่ร่วมกันบริจาคเงินกว่า 10 ล้านคน มีสำนักงานกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ยุคก่อนหน้านี้มีข้อตกลงว่า แอมเนสตี้ฯในประเทศต่าง ๆ จะไม่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศตนเองเพื่อความปลอดภัยและความเป็นกลางในประเด็น แต่ภายหลังมีการตั้งกฎใหม่ว่าให้สามารถรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศได้ เนื่องจากสมาชิกที่จ่ายค่าบำรุงก็เหมือนประชาชนที่จ่ายภาษีต้องการให้บ้านเมืองของตนเองได้รับการพัฒนาอย่างโปร่งใสและเคารพสิทธิมนุษยชน
    
ทั้งนี้การที่นายกไฟเขียวสั่งการให้ปิดแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่เรากำลังอยู่ในช่วงการเปิดประเทศ และยังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นจุดจบรัฐบาล กระแสนี้จะนำพาประเทศล่มจม เราจะปิดประเทศ ปิดกั้นสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบ ประเทศไทยถึงจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างสันติ และหาหนทางปรองดองกัน ไม่เช่นนั้นจะสะสมความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้ คนไทยคงไม่ต้องการสงครามกลางเมืองเหมือนในอดีตหรือกลายเป็นเหมือนพม่าแล้ว
    
ยิ่งชีพ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นเหมือนพื้นที่ที่ทำให้คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าในประเด็นอะไรก็ต้องเคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับแอมเนสตี้ฯมาก่อน ปรากฏการณ์ไล่ แอมเนสตี้ฯ มันเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่แปลก ตั้งแต่กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ตั้งแต่การส่งโปรแกรม แฮ๊คไปตามมือถือของนักกิจกรรม การมาไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามออกกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ มีการให้ประกันตัวนักโทษการเมืองที่เหมือนไม่ให้ประกันตัว มีการคุกคามพระภิกษุที่มีบทบาทวิจารณ์การเมือง รวมถึงกรณีจับกุมพระภิกษุชาวกัมพูชาที่เข้ามาลี้ภัยทางการเมือง หลังจากปี 2563 ที่มีการเคลื่อนไหว “ทะลุเพดาน” ซึ่งปรากฏว่าแทบไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ แต่เราก็เชื่อว่า รัฐไม่อยู่เฉยแน่ ๆ จนกระทั่งในปี 2564 เราก็ได้เห็นการจับกุมแกนนำ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างมากมาย มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 มาดำเนินคดีกับ ผู้เห็นต่างทางการเมืองมากที่สุด นับได้ว่าช่วงที่ผ่านมามันเกิดความผิดปกติไปเสียทุกอย่างกับเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน 
    
ถ้าเขาไล่จัดการไล่แอมเนสตี้ฯ ออกไปจากประเทศไทยได้สำเร็จ องค์กรอื่น ๆ อย่างฮิวแมนไรท์วอช องค์กรที่ทำงานประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ดี หรือแม้แต่ไอลอว์เอง ก็คงต้องเตรียมตัวเหมือนกัน แต่ตนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ นอกจากจับเจ้าหน้าที่ปัจจุบันเข้าคุกให้หมด ทั้งนี้มีความพยายามปิดแอมเนสตี้ฯเกิดขึ้นในหลายๆประเทศ ซึ่งที่ปิดได้ก็คือแอมเนสตี้ฯ ในประเทศนั้น ๆ เลือกปิดไปเอง อาจเพราะเห็นว่าอยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้กับสถานการณ์ในประเทศนั้น ๆ ในประเทศไทยเองก็คงเช่นกัน คือต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่า อยู่ต่อไปก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ยกเลิกไปดีกว่า 
    
แต่ทั้งนี้ตนก็มองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อปิดแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก ๆ เพราะไม่รู้จะปิดด้วยเหตุอะไร เพราะองค์กรนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเลย ไม่ได้ขัดต่อศีลธรรม หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงเลย ในทางกฎหมายไม่มีเหตุที่จะต้องให้ปิดเลย นอกเสียจากว่าจะมีการใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน อย่างเช่นอาจจะมีคำสั่งให้สถานการณ์เป็น “สมาคม” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งสั่งแล้ว หากเป็นตน ตนจะไปอุทธรณ์ ฟ้องศาลปกครองสูงสุด สู้คดีกันสักประมาณ 5 ปี ซึ่งตนเชื่อว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังไงก็ชนะ หรือต่อให้แพ้ ศาลปกครองยืนยันให้ปิดสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (ชื่อจดทะเบียนขององค์การแอมเนสตี้ฯ ในประเทศไทย) ก็ปิดไป อย่างมากตนก็ยื่นขอจดทะเบียนเป็นสมาคมใหม่ เปลี่ยนชื่อใหม่ ความเป็นสมาคมก็มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการจัดการทรัพย์สินอย่างเป็นระบบเท่านั้นเอง หรือต่อให้จดทะเบียนเป็นองค์กรตามกฎหมายรูปแบบใด ๆ ไม่ได้เลย ถ้ายังต้องการทำงาน ก็ทำต่อไป จึงไม่เข้าใจว่า ที่ว่าจะจัดการกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทำเพื่ออะไร นอกจากว่าถ้าบอกว่าจะจัดการกับเอ็นจีโอในประเทศไทยทั้งหมด ก็คงพอเข้าใจได้ว่าทำทำไม เพราะถ้าเอ็นจีโอทั้งหมดในประเทศร่วมมือกัน มันก็คงมีพลังพอที่จะสะเทือนรัฐอยู่ไม่น้อย 

ยิ่งชีพกล่าวปิดท้ายว่าทั้งนี้ตนมองว่าสิ่งที่เราจะทำได้ดีกว่าการ #saveแอมเนสตี้ ก็คือการที่พวกเราช่วยกันส่งเสียง ช่วยกันเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่แอมเนสตี้ฯ ทำอยู่ ให้มันเกิดพลังมากขึ้น จึงจะเป็นการปกป้องแอมเนสตี้ฯ อย่างเป็นรูปธรรมที่ดีที่สุด
    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท