เปิด จม.ข้อเสนอ ส.ว. ถึงนายกฯ หนุนไทยเร่งด่วนตัดสินใจเจรจาเข้า CPTPP 

เปิดหนังสือข้อเสนอของ ส.ว./กรรมาธิการพาณิชย์ฯ ส่งถึงนายกฯ แนะเริ่มเร่งด่วนตัดสินใจเจรจาเข้า CPTPP หวังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะกมธ.พาณิชย์ฯ จัดประชุม 3 ฝ่าย แต่ไม่มีตัวแทนภาคประชาชน ด้าน FTA WATCH ตอบรับ รมว.ต่างประเทศ เข้าหารือ เปิด 4 ข้อกังวลหลักหากเข้าร่วม

4 ธ.ค.2564 จากความพยายามผลักดันของรัฐบาลไทยในการเข้าภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ขณะที่มีเครือข่ายภาคประชาสังคม #NOCPTPP ออกมาคัดค้านนั้น

ล่าสุดประชาไทได้เอกสาร หนังสือข้อเสนอของวุฒิสภา/กรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมในการเริ่มกระบวนการขอเจรจาเข้า CPTPP ถึงนายกฯ วันที่ 6 ต.ค.64 ลงชื่อโดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. 

เอกสารดังกล่าวระบุว่า

กมธ.พาณิชย์ฯ จัดประชุม 3 ฝ่ายระหว่าง กมธ. ภาคเอกชน โดยมีผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประกอบด้วย สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าฯ มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ เลขาฯ อุตกรรม และชูศักดิ์ ชื่อประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะทำงานความตกลงการค้าเสรีของ กกร. ตลอดจนนักวิชาการอิสระที่มีความเชียวชาญด้านเศรษฐกิจและเรื่องความตกลง CPTPP (ดร.วีระไท สันติประภพ ดร.สมประวิน มันประเสริฐ ดร.ปิติ ศรีแสนนาม และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2564 

ผลการประชุมหารือสรุปได้ดังนี้ 1. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสนับสนุนให้มีการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยเห็นว่า ความตกลง CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ประเด็นข้อห่วงกังวลต่าง ๆ เป็นประเด็นที่ต้องมีการเตรียมพร้อม อาทิ การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบในประเทศ การเตรียมมาตรการ รองรับสําหรับการปรับตัว ตลอดจนการเตรียมท่าที่ไทยในการเจรจา โดยในบางกรณีอาจจําเป็นต้องทํา sides letter ใน 8 ประเด็นสําคัญ ได้แก่ 1) เกษตรและพันธุ์พืช 2) การแพทย์และสาธารณสุข 3) การค้าสินค้าการค้าบริการ และการลงทุน 4) กลไกการระงับข้อพิพาท (ระหว่างรัฐกับรัฐ และเอกชนกับรัฐ) 5) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 6) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ 7) แรงงาน และ 8) การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

2. ในส่วนของนักวิชาการ ต่างเห็นพ้องว่า ความตกลง CPTPP เป็นโอกาสสําหรับประเทศไทย และความท้าทายจาก CPTPP จะนําไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ที่สําคัญ โดยเฉพาะ ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Coid-19 ซึ่งส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานสั้นลง ทั้งนี้ การที่สาธารณรัฐ ประชาชนจีนและจีนไทเปจะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะทําให้เกิดประโยชน์ในลักษณะ Win-Win ทั้งในมิติของตลาด ทรัพยากร และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเสริมห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นักวิชาการ ได้แสดงข้อห่วงกังวลถึงค่าเสียโอกาสของไทยจากการไม่มีนโยบายเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งจะส่งผล ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการพัฒนาเทคโนโลยี และอาจกลายเป็นประเด็น อุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยตามแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ ที่ตั้งไว้

3. ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก Coid-19 ประกอบกับแนวโน้มสงครามการค้าระหว่างประเทศคู่ค้ารายใหญ่ยังคงคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง เนบณะเดียวกัน Covid -19 ได้ส่งผลให้รูปแบบการผลิต การค้า และการลงทุน มีแนวโน้มเปลี่ยนจากโลกาภิวัตน์ มาเป็นการค้าการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่สั้นลงและจํากัดในวงสมาชิกที่เป็นพันธมิตรทางการค้าระหว่างกัน เท่านั้น ในการนี้ ประเทศไทยจึงควรให้ความสําคัญเร่งด่วนในการตัดสินใจระดับนโยบายในเรื่องนี้ และพร้อมที่จะ “เริ่มกระบวนการ" เจรจาความตกลง CPTPP โดยเร่งพิจารณาแนวทาง การขยายเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน และพิจารณาโอกาสในการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ของไทย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หลังยุค Covid-19 ผ่านกลไกการเจรจาเพิ่มความใกล้ชิดกับพันธมิตร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย กระชับความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจกับพันธมิตร และพัฒนาความแน่นแฟ้นของความร่วมมือภายในห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค ตลอดจนเพื่อรักษาการลงทุน และดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ทั้งนี้ การเจรจาย่อมมีทั้งผลได้และผลเสีย แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ทุกภาคส่วนมีความเชื่อมั่นในกระวยการเจรจา จึงควรดำเนินการเตรียมความพร้อมของไทยในการเจรจาและพิจารณา มาตรการรองรับผลกระทบที่ชัดเจน ดังนี้ 3.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รัฐบาลควรเร่งตัดสินใจเชิงนโยบาย แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP กระชับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจในความตกลงฯ โดยเร็ว เพื่อใช้เป็นกลไกหลักในการพลิดฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นวิกฤติเศรษฐกิจจาก COVID-19 

3.2 งบประมาณรองรับผลกระทบจากการเจรจาเข้าร่วม CPTPP ประกอบด้วย 1) การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2) มาตรการเยียวยาต้องนำปสู่การฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ และ 3) มีวงเงินที่ชัดเจนและพอเพียง ทั้งมาตรการรองรับจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีการเติบโตอย่างยังยืน ตลอดจนเป้าหมายการปฏิรูปเพื่อยกระดับประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม 3.3 กลไกการเจรจา ควรมีการแต่งตังคณะที่ปรึกษาทางวิชาการอิสระ พร้อมงบประมาณสนับสนุนเพื่อศึกษา วิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอแนะในประเด็นเจรจาต่างๆ ควบคู่ไปกับกระบวนการเจรจาเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการเจรจาและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน

FTA WATCH ตอบรับ รมว.ต่างประเทศ เข้าหารือ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA WATCH) ตอบจดหมาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาหารือได้ ถ้าไม่ลักไก่สรุปก่อน ตามที่ประธานกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แสดงความประสงค์จะขอเข้าหารือกับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนนั้น ทางกลุ่มฯได้ตอบจดหมายกลับไป ความว่า ทางกลุ่มฯ จะยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าประธานกรรมการฯ สามารถให้คำมั่นว่าจะนำข้อมูลและข้อเสนอขององค์กรภาคประชาสังคมไปผนวกเป็นเนื้อหาสำคัญที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับกรณี #CPTPP และเพื่อให้การพบปะหารือมีความหมายยิ่งขึ้น โปรดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยที่คณะกรรมการได้จัดทำขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญเข้าร่วม CPTPP สภาผู้แทนราษฎร นำมาเสนอในการหารือครั้งนี้ด้วย โดยกลุ่มฯขอเสนอวันในการหารือเป็นวันที่ 20 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00-12.00 น. ณ สวนชีววิถี ไทรม้า นนทบุรี

4 ข้อกังวลหลักหากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP

ทั้งที่ เครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ออก 4 ข้อกังวลหลักหากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP ดังนี้

  • การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991ซึ่งตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป แต่กลับเพิ่มสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรนอกเหนือจากค่าเมล็ดพันธุ์
  • CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ หรือ remanufactured goods โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้เป็นการนำเข้าขยะทางการแพทย์ ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก 
  • CPTPP จะคุ้มครองการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีบทที่ว่าด้วยการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยฟ้องร้องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่มีคณะอนุญาโตตุลาการนอกประเทศทำหน้าที่ตัดสิน ทั้งนี้ นิยามการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP กินความกว้างขวาง ซึ่งรวมถึง portfolio ของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในระยะก่อนการลงทุน (pre-establishment) ที่ยังหรือไม่ได้มาลงทุนจริง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการคุ้มครองการลงทุนเช่นนี้มาก่อนการคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนใน CPTPP จะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะก่อให้เกิดสภาวะหวาดกลัวหรือ Chilling effect ทำให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะออกหรือบังคับใช้กฎหมายใด ๆ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเข้าถึงยา และการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกลัวจะถูกฟ้องโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน รวมทั้งอาจทำให้ไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนในประเทศได้ และอาจขัดต่อมาตรการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งนี่สวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 10.3 ที่มุ่งลดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมจากนโยบายและกฎหมาย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ 
  • ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน เป็น 89% และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท  ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบต่องบประมาณค่ายาเท่านั้น CPTPP ยังจะก่อให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการนำเข้ายา เช่น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ และมาตรการป้องปรามการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเหล้าและบุหรี่ด้วย รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เช่น เครื่องสำอาง สินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ สินค้าที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนสิ่งที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ฯลฯ  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท