Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีวิธีเดียวเท่านั้นที่จะต่อสู้เพื่อคว่ำ 'ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....' คือสู้ให้เหมือนพี่น้องจะนะ และพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวต่อสู้เหมือนพี่น้องจะนะ หรือต่อสู้ให้เหมือนพี่น้องปลดแอกและราษฎรที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการต่อสู้แบบมุ่งให้ 'การเคลื่อนไหวเป็นทัพหน้า การเจรจาเป็นทัพหลัง'

แน่นอนว่าการต่อสู้ของพี่น้องจะนะมีการเจรจาล็อบบี้ฝุ่นตลบไปหมด แต่ก็ยังรักษาการเคลื่อนไหวให้เป็นทัพหน้าได้ ไม่ปล่อยให้ผู้ที่ชอบเจรจาล็อบบี้มากำหนด สั่งการหรือเจ้ากี้เจ้าการการเคลื่อนไหวมากเกินไปจนเสียจุดยืนของพี่น้องจะนะ และทำให้แนวร่วมที่กว้างขวางหลากหลายความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองที่มาร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนการต่อสู้พี่น้องจะนะเสียความรู้สึก

ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามและภาคภูมิใจ สามารถรักษาและผสาน 'จุดยืน' และ 'แนวร่วม' ได้อย่างมีพลัง

ต่อเรื่อง 'ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....'* ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ธันวาคม 2564) เพื่อที่จะปรับหรือไม่ปรับแก้เพิ่มเติมก่อนส่งต่อไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาพิจารณาตามวาระต่างๆ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเป็นลำดับต่อๆ ไป นั้น ถ้าคิดจะต่อสู้ก็ต้องสู้เหมือนพี่น้องจะนะ ไม่ใช่สู้ไปกราบไป เพราะสิ่งที่ยังไม่เคยเห็นเลยจนกระทั่งบัดนี้ที่เหตุการณ์บานปลายจาก 'ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่าหมื่นรายชื่อ จนกลายมาเป็น 'ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....' คือ 'พลังของประชาชน' แบบที่พี่น้องจะนะทำให้เห็น มีแต่การจัดเวทีเสวนาและเจรจาล็อบบี้กันจนวุ่นไปหมด

โดยเฉพาะพวกผู้อาวุโสของเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการที่ชอบยืนเหยียบอยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนที่เอาแต่วิ่งเข้าหาเพื่อเจรจาล็อบบี้กับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ควรออกมาสู่ท้องถนนได้แล้ว เพื่อให้แสงแดดและสายลมหนาวได้ชำระล้างความละอายที่ตัวเองกระทำ

ร่างกฎหมายฉบับนี้สะท้อนแนวคิด 'ควบคุมสังคม' ของรัฐบาลเผด็จการทหารโดยประยุทธ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลแบบกึ่งเลือกตั้งที่จำแลงมาเพื่อสืบต่ออำนาจจากรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ได้เป็นอย่างดี เป็นแนวคิดที่ต่อยอดจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างการแพร่ระบาดของโควิดเพื่อควบคุมสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะของประชาชน เพื่อต้องการเล่นงานแหล่งทุนและการดำเนินงานของเอ็นจีโอ ขบวนประชาชนและประชาสังคมต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับพี่น้องปลดแอกและราษฎรที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีกำลังอ่อนแอลงไป หรือจนกระทั่งทำให้สูญพันธุ์ไป

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ขยายตัวเป็นวงกว้าง ลึกและทั่วถึงต่อเอ็นจีโอ ขบวนประชาชนและประชาสังคมทุกกลุ่ม/องค์กร ไม่เฉพาะแต่เอ็นจีโอ ขบวนประชาชนและประชาสังคมที่ออกมาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น โดยทำให้เอ็นจีโอ ขบวนประชาชนและประชาสังคมทั้งหมดต้องอยู่ใต้กำกับ ตรวจสอบ สอดส่อง ควบคุม ชี้นำ บงการ สั่งการและกำหนดโทษโดยรัฐไม่ต่างจากรัฐบาลจีน

ขอพูดดักคอไว้ก่อนถึงเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการที่กำลังชวนคิดชวนคุยเพื่อหาหนทางคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขณะนี้ ถ้าถึงที่สุดแล้วไม่อาจสู้ได้จนทำให้ถูกประกาศเป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้ หวังว่าคงไม่มีเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการคนใดที่เป็นผู้ชักชวนผู้คนให้มาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปเป็น 'กรรมการผู้แทนองค์กรไม่แสวงหากำไร' และ 'กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ' ใน 'คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร' ตามมาตรา 6 (3) และ (4) ของร่างกฎหมายฉบับนี้แม้สักคนเดียว มิเช่นนั้นแล้ว จะถือว่าเป็นการหลอกใช้ประชาชนเพื่อเหยียบหัวขึ้นไปมีอำนาจเสพย์สุข โดยยอมตกเป็นเครื่องมือรัฐในการทำร้ายและทำลายเอ็นจีโอ ขบวนประชาชนและประชาสังคมด้วยกันเองและด้วยน้ำมือตนเอง

ออกมาเถอะครับ ออกมาร่วมกันสร้าง 'พลังประชาชน' ด้วยการต่อสู้บนท้องถนนเหมือนพี่น้องจะนะ หรือพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวต่อสู้เหมือนพี่น้องจะนะ หรือต่อสู้ให้เหมือนพี่น้องปลดแอกและราษฎรที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์


หมายเหตุ: แรกเริ่มเดิมทีเอ็นจีโอ ขบวนประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการกลุ่มหนึ่งเข้าชื่อเสนอ 'ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับประชาชน ต่อมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้เสนอร่างฯในชื่อเดียวกันกับฉบับประชาชน โดยตัดเรื่องกองทุนออก และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เสนอ 'ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....' ประกบ โดยที่ ครม. ได้มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวมร่างของ พม. และร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าด้วยกัน จึงออกมาเป็นร่างฉบับนี้ (ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....') เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net