Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเยอรมันชุดใหม่เล็งยกเลิกกฎหมายทำแท้ง มรดกยุคนาซี ซึ่งทำให้แพทย์ไม่กล้านำเสนอข้อมูลกระบวนการทำแท้ง เพราะอาจถูกฟ้องได้ และเชื่อว่าผลจากการยกเลิก จะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงข้อมูลก่อนการตัดสินใจและใช้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมมากขึ้น

มาร์โค บุชมันน์ รมว.กระทรวงยุติธรรมคนใหม่ของรัฐบาลเยอรมัน (ภายถ่ายเมื่อปี 2016 โดย Rob75 จาก wikicommon)

รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ของเยอรมนี ระบุจะยกเลิกกฎหมายอาญา วรรค 219a  ซึ่งถูกบังคับใช้มากว่า 90 ปี ทำให้แพทย์ไม่ต้องกลัวถูกฟ้อง หากนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง และผู้หญิงสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนทำแท้งมากขึ้น หลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมเคยใช้กฎหมายนี้กดดันแพทย์ และทำให้การทำแท้งลดลงอย่างมาก เมื่อปีที่แล้วมีรายงานด้วยว่า ในทางใต้ของแคว้นบาวาเรีย เหลือแพทย์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยังให้บริการผ่าตัดทำแท้งต่อไปแม้จะเกษียณอายุแล้ว

สำหรับกฎหมายวรรค 219a ของประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน ซึ่งคาดว่าจะถูกยกเลิกเร็วๆ นี้นั้น ห้ามมิให้ “โฆษณาเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์” และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายสำคัญที่กลุ่มอุดมการณ์ฝ่ายขวาใช้นำมารณรงค์ต่อต้านหมอที่โพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการทำแท้งบนเว็บไซต์

กรณีตัวอย่างที่มีชื่อเสียงในเยอรมนีได้แก่คดีของคริสตีนา ฮาเนล แพทย์ผู้ชำนาญทั่วไป ที่แพ้อุทธรณ์จากกรณีต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 6,000 ปอนด์ในปี 2560 หลังให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้งแก่ผู้รับบริการ เมื่อได้ทราบประกาศของรัฐมนตรีคนใหม่ คริสตีนา ระบุว่าเธอรู้สึก “ดีใจและขอบคุณ” กับนโยบายดังกล่าว จากที่ก่อนหน้านี้แพทย์ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องคดีมาโดยตลอด

มาร์โค บุชมันน์ (Marco Buschmann) รัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคที่มีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจ ระบุว่า กฎหมายปัจจุบันฟังดูไร้เหตุผล เพราะยังปล่อยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งมีอยู่ทั่วไปตามอินเทอร์เน็ต  “แต่ผู้ที่มีคุณสมบัติในด้านนี้กลับไม่ได้รับอนุญาตให้นำเสนอข้อมูลเสียเอง”

สำหรับเรื่องการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว เมื่อปีที่แล้ว 'มิธู ซานยาล' เคยเขียนบทความลงในสำนักข่าวเดอะการ์เดียน โดยพูดถึงกรณีของเว็บไซต์ฝ่ายขวาชื่อว่า "babycaust.de" ซึ่งรวบรวมรายชื่อของแพทย์ที่ให้บริการทำแท้งรวมถึงที่อยู่รหัสไปรษณีย์ และเรียกแพทย์เหล่านี้ว่ามี “ใบอนุญาตฆ่าเด็ก” เพื่อโน้มน้าวไม่ให้ประชาชนไปพบแพทย์เหล่านี้ และเฝ้าระวังเพื่อแจ้งตำรวจ หากแพทย์เหล่านี้ให้คำปรึกษาหรือโฆษณาเกี่ยวกับการทำแท้ง 

ที่ผ่านมา การรณรงค์ของฝ่ายขวาส่งผลกระทบต่อการยุติการตั้งครรภ์ในเมืองเบียร์อย่างมาก เนื่องจากการให้คำปรึกษาทำได้อย่างจำกัดหรือแทบทำไม่ได้เลย หลายต่อหลายครั้งหญิงตั้งครรภ์จึงไม่ได้รับการยุติการตั้งครรภ์จากแพทย์ด้วยวิธีที่เหมาะสม แม้แต่การปรึกษากับนักจิตวิทยาก็ทำได้อย่างจำกัด โดยนักจิตวิทยาไม่ได้รับอนุญาตแม้แต่จะให้รายชื่อแพทย์ที่บริการยุติการต้งครรภ์ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเป็นรายชื่อที่จัดทำโดยเว็บฝ่ายขวา

นอกจากนี้ เยอรมนียังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเรียนการสอนเรื่องการทำแท้งให้กับแพทย์ด้วย โดยคริสตีนา ฮาเนล ระบุในงานเสวนาแห่งหนึ่งว่า 'ชาริเต' หนึ่งในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ใช้เวลาสอนแพทย์เกี่ยวกับการทำแท้งเพียง 90 นาที และสิ่งที่เรียนทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมและข้อกฎหมายเท่านั้น

เพื่อแก้ปัญหานี้ องค์กรการกุศลชื่อว่า "Medical Students for Choice" ต้องจัดเวิร์กช็อปจำลองให้นักเรียนแพทย์ฝึกผ่าตัดเพื่อยุติการตั้งครรภ์ โดยใช้มะละกอซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับมดลูกที่สุดเท่าที่หาได้ (แพทย์จะต้องฝึกกะระยะมีดไม่ให้ทะลุมะละกอ หากผิดพลาดก็จะไม่ต่างจากการทำลายมดลูก)

มิธู ซานยาล ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แพทย์ผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ลดลงอย่างมาก ในแคว้นบาวาเรียใต้เหลือสูตินรีแพทย์เพียงคนเดียวเท่านั้น คือ "ไมเคิล สปานดาว" ซึ่งที่จริงเกษียณไปแล้ว แต่เขาเป็นสูตินรีแพทย์เพียงคนเดียวที่ยังปฏิบัติงานอยู่ เขาจึงยังตัดสินใจเปิดให้บริการต่อไป

ขณะนี้ มาร์โค บุชมันน์ กำลังหาทางพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ต่อต้านการทำแท้ง ซึ่งกังวลว่าการยกเลิกวรรค 219a จะทำให้มีการทำแท้งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บุชมันน์ ระบุว่าแพทย์จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเสนอข้อมูลการทำแท้งในเชิงข้อเท็จจริง กล่าวคือห้ามบอกว่าใครเป็นผู้รับบริการและรับบริการอย่างไร เพียงแต่ได้รับอนุญาติให้นำเสนอข้อมูลขั้นตอนและคำปรึกษาเท่านั้น

“สถานการณ์ของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบนั้นยากลำบากมากพอแล้ว เราไม่อยากให้มันยากขึ้นยิ่งกว่านี้” บุชมันน์ กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายวรรคดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคกรีน และพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งระบุว่า “ทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายคือส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขที่เชื่อถือได้”

เมื่อปี 2021 ผู้คนจำนวนมากในประเทศไอร์แลนด์ออกมาประท้วงบนถนนดับลิน หลังทราบข่าวว่าหญิงชาวอินเดียวัย 31 ปี รายหนึ่งเสียชีวิตเพราะถูกปฏิเสธการทำแท้ง (ภาพถ่ายโดย William Murphy)

ในทางเทคนิคแล้ว การทำแท้งยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศเยอรมนี แต่มีข้อยกเว้นให้ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์บางอย่าง กล่าวคือ ผู้ตั้งครรภ์จะต้องดำเนินการภายใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และผู้ตั้งครรภ์ต้องได้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาและแพทย์ต้องตรวจสอบว่าผู้ตั้งครรภ์ได้รับคำปรึกษาแล้วจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีข้อยกเว้นอีกว่าการทำแท้งไม่ถือเป็นความผิดหากชีวิตของผู้ตั้งครรภ์อยู่ในความเสี่ยง หรือหากการตั้งครรภ์อาจนำไปสู่ความพิการทางร่างกายหรือจิตใจอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลที่บริหารหรือได้สนับสนุนโดยศาสนจักรคาทอลิกจะไม่มีบริการทำแท้งให้กับผู้ตั้งครรภ์ตามเงื่อนไขดังกล่าว

แม้กฎหมายการทำแท้งของเยอรมนี จะคล้ายกับของไทยที่เพิ่งมีการแก้ไขเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตาม เยอรมนีแก้ไขกฎหมายนี้ในปี 1972​ (พ.ศ.​ 2515) ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเยอรมนีตะวันออก เยอรมนีตะวันตกนำนโยบายของเยอรมนีตะวันออกมาใช้ตามในปี 1974 (พ.ศ. 2517) อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีตะวันตกเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงต้องปรับให้การทำแท้งยังคงผิดกฎหมาย แต่จะได้รับการยกเว้นตามเงื่อนไขที่กำหนดแทน

ในการดำเนินการหลังจากนี้ บุชมันน์ ระบุเพิ่มเติมว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาด้านอื่นๆ ของการแพทย์เกี่ยวระบบเจริญพันธุ์ เพื่อนำมาพัฒนาต่อไป เช่น การสนับสนุนคู่รักที่มีบุตรยากให้ดีขึ้น เป็นต้น 

หนึ่งในผู้ต่อต้านการแก้ไขกฎหมายวรรคนี้คือพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยอลิซาเบธ วินเคลเมียร์ เบคเกอร์ โต้แย้งว่าผู้หญิงไม่ได้เผชิญกับอุปสรรคเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการตั้งครรภ์และผู้ให้ข้อมูลแต่อย่างใด

“เรากำลังพูดถึงสิทธิของมารดาในการกำหนดชะตาของตนเอง รวมถึง ชีวิตของเด็กที่ยังไม่เกิดด้วย” อลิซาเบธ วินเคลเมียร์ เบคเกอร์ ระบุโดยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว FAZ

สำหรับกฎหมายวรรค 219a นั้นถูกบังคับใช้เมื่อ พ.ค. 1933 (พ.ศ. 2476) ในช่วงที่ระบอบเผด็จการนาซีเริ่มต้นขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อ “ปกป้องชาติเยอรมัน” รัฐบาลของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในขณะนั้นถือว่าการทำแท้งเป็นความผิดฐานกบฎ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์เพื่อยกเลิกกฎหมายนี้เพิ่งเริ่มขึ้นอย่างเป็นลักษณะหลังการรวมเยอรมนีตะวันตกเข้ากับเยอรมนีตะวันออกในปี 1990 (พ.ศ.2533) 

ภาพถ่ายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี เยอรมนี เมื่อปี 1932 (ถ่ายโดย Georg Pahl ช่างภาพชาวเยอรมัน, wikicommon)

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.theguardian.com/world/2022/jan/18/germanys-new-government-to-scrap-nazi-era-abortion-law?CMP=fb_gu&utm_medium=Social&utm_source=Facebook&fbclid=IwAR2xHaEkj0GV5ntblL7IxWSSIKG2W2vv7l-Gk8LC7PG_1EYattI5aUO1Xxk#Echobox=1642526523

https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/jan/08/abortion-law-germany-nazis-women

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net