Skip to main content
sharethis

8 มี.ค. 2559 วันสตรีสากล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 8.00 น. ที่ผ่านมา ในระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมเดินขบวนเพื่อรำลึกเนื่องในวันสตรีสากลและรณรงค์สิทธิแรงงานหญิง จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่นำโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และเครือข่ายแรงงานหญิงกว่า 400 คน  เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม ได้เข้ายึดป้าย "หยุดพลเรือนขึ้นศาลทหาร  ม.44(พร้อมเครื่องหมายขีดทับ) กรรมกรต้องมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ และสิทธิทำแท้งคือสิทธิสตรี" ของคนงานจากสหกรณ์คนงาน TRY ARM 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายึดป้ายดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง วิภา มัจฉาชาติ สมาชิกกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm ผู้ถูกยึดป้าย เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุตนกำลังเดินจาก ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อไปร่วมขบวนกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีฯ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยที่ยังไม่ได้มีการชูป้ายดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแค่ถือเพื่อที่จะไปร่วมขบวน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าแสดงตัวเพื่อยึดป้าย โดยแจ้งว่าไม่อนุญาตให้ถือป้ายที่มีข้อความทางการเมืองแบบนี้ พร้อมทั้งขอดูบัตรประชาชน และสอบถามด้วยว่าเป็นคนไทยหรือไม่

วิภา กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นวันสตรีสากล ตนออกมาใช้สิทธิของสตรี มาใช้สิทธิผู้ใช้แรงงาน เพราะตนก็ออกมาทุกปี วันนี้มากัน 2 คน แต่กลุ่มอื่นนั้นไม่รู้เนื่องจากตนเพียงมาร่วมกับเขา ก่อนถูกยึดป้ายตนได้ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่าสามารถตัดเอาข้อความประเด็นศาลทหารและ ม.44 ออก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดป้ายไปทั้งหมด

ภาพป้ายพร้อมวิภาก่อนถูกยึด

"รู้สึกตอนนั้น น้อยใจมากเลยว่าสังคมเราทำไมเป็นแบบนี้ แล้วก็ไม่ได้เดินชูไปด้วยนะ แค่แนบไป จะไปชูแค่ที่อนุสาวรีย์ก็เท่านั้น" วิภา เล่าถึงความรู้สึกที่ถูกยึดป้ายดังกล่าว

วิภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ตนคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น ว่า เนื่องเรายังคงมีศาลยุติธรรมอยู่ หากพลเมืองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ควรขึ้นศาลยุติธรรมตามปกติ รวมทั้งความกังวลในเรื่องความเป็นอิสระของศาลทหารหรือกรมพระธรรมนูญที่อยู่กับกระทรวงกลาโหม ซึ่งอาจเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้ ที่ต่างจากศาลยุติธรรมที่จะเป็นอิสระจากรัฐบาล 

"เราต่อต้านเขาแล้วไปขึ้นศาลเขา เราก็รู้อยู่ว่ายังไงเขาก็ว่าเราผิดอยู่แล้ว ใช่ไหม" วิภา กล่าว

ป้ายข้อความที่ถูกยึด

สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ เช่น สิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการนั้น วิภา กล่าวว่า เป็นข้อเรียกร้องที่พวกเราเคลื่อนไหวมานานแล้ว เพราะเราต้องการได้ตัวแทนที่อยู่ในที่ทำงานของเรา เนื่องจากเกือบตลอดทั้งวันคนงานแทบจะมีชีวิตอยู่บริเวณสถานที่ทำงาน จึงอยากมีผู้แทนเป็นคนงานของเราเองในพื้นที่ๆ ทำงาน เพื่อคอยเป็นปากเป็นเสียงแก้ปัญหาและผลักดันสวัสดิการให้คนงาน ต่างจากตัวแทนในปัจจุบันที่อยู่ต่างจังหวัดนั้นมักไม่ค่อยรู้เรื่องหรือใส่ใจกับกลุ่มคนงานที่เป็นแรงงานอพยพในเมือง

วิภา เสนอด้วยว่าอาจใช้บัญชีผู้มีสิทธิตามทะเบียนในระบบประกันสังคมก็ได้ 

สำหรับเหตุผลที่แรงงานอพยพเข้ามาในเมืองหรือตามนิคมอุตสาหกรรมแล้วไม่โอนทะเบียนบ้านจากต่างจังหวัดเข้ามาเพื่อให้ได้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยนั้น วิภา อธิบายว่า เนื่องจากคนงานส่วนมากจะอยู่ตามหอพัก ซึ่งไม่สามารถโอนชื่อเข้าทะเบียนบ้านได้ ส่วนถ้าจะโอนได้ต้องซื้อบ้านซึ่งรายได้ของคนงานส่วนมากก็ไม่เพียงพอที่จะจ่าย

ขณะที่ข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิการทำแท้งที่ถูกกฏหมายและถูกหลักอนามัยนั้น วิภา กล่าวว่า นอกจากผิดกฏหมายแล้ว ทุกวันนี้สังคมไม่ยอมรับคนทำแท้ง โดยตราหน้าว่าเป็นบาป ผิดหลักศาสนา แต่สำหรับตนผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้งได้อย่างถูกหลักอนามัย และสังคมก็ควรยอมรับสิทธิตรงนี้ เนื่องจากหลายคนที่ท้องโดยไม่พร้อม แล้วไม่สามารถทำแท้งได้ก็ต้องมีลูกส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว

วิภา ยังเล่าถึงสภาพของคนงานหญิงด้วยว่า การท้องไม่พร้อมนั้นไม่ได้มีแต่ในวัยรุ่นเท่านั้น บางครั้งคนงานที่มีลูกมีครอบครัวแล้ว อาจลืมกินยาคุมหรือยาไม่มีคุณภาพ ก็อาจท้องได้ บางคนอายุ 40 กว่าปีแล้วยังต้องเลี้ยงลูกอ่อนก็มี โดยเฉพาะบางคนมีลูกแล้ว 2 คน แล้วยังต้องมีลูกคนที่ 3 โดยไม่พร้อมนั้นยิ่งลำบากมาก นอกจากที่จะมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังกระทบต่อการทำงานด้วย

"คนเรามันไม่จำเป็นมันไม่ไปทำแท้งหรอก มันเจ็บตัวเองไง นั่นล่ะถึงอยากจะทำให้มันปลอดภัย ไม่ใช่ว่าจ้องแต่จะท้องแล้วไปทำแท้ง มันไม่ใช่ มันไม่มีหรอก" วิภา กล่าว

วิภา กล่าวด้วยว่า แม้แต่เด็กวัยรุ่นที่ท้องไม่พึงประสงค์ก็ควรมีสิทธิที่จะทำแท้งที่ถูกหลักอนามัย เพราะหากท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นนั้นนอกจากจะเป็นภาระที่ตัววัยรุ่นเองแล้วยังมีผลกระทบต่อครอบครัวอีกด้วย

นอกจากนี้ บีบีซีไทย สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ชนะสงคราม ระบุว่าไม่ได้มีการห้ามเดินรณรงค์ของแรงงานหญิงในวันนี้ และการเดินขบวนผ่านไปด้วยดีแม้จะมีผู้เข้าร่วมราว 400 คน แต่ที่ต้องยึดแผ่นป้ายดังกล่าวเนื่องจากขณะนี้ไม่อนุญาตให้เคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านรัฐบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net