ยิ่งแบน ยิ่งน่าอ่าน: รู้จัก ‘Maus’ หนังสือเด็กติดอันดับขายดีในสหรัฐอเมริกา

‘Maus’ หนังสือชุดนิยายภาพสำหรับเด็ก ที่เปรียบเปรยเผด็จการนาซีเป็น ‘แมว’ และชาวยิวเป็น ‘หนู’ เพื่อเล่าเรื่องเหตุการณ์โฮโลคอสต์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มียอดขายติดอันดับต้นๆ ในสหรัฐอเมริกา หลังคณะกรรมการโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐเทนเนสซี สั่งแบนหนังสือดังกล่าวในการเรียนการสอน โดยอ้างว่า ‘ใช้คำไม่เหมาะสม’ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ เผย ไม่มีอะไรทำให้คนอยากอ่านหนังสือได้เท่ากับการแบนแล้ว

การสั่งแบนหนังสือเล่มนี้ แม้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่เพิ่งเป็นกระแสในสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องในวันรำลึกเหตุการณ์โฮโลคอสต์สากล สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า นี่เป็นหนึ่งในความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาในการแทรกแซงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยพุ่งเป้าไปที่เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การค้าทาสและอคติของการเหยียดชาติพันธุ์

‘Maus’ เป็นนิยายภาพที่เขียนโดย อาร์ต สปีเกลแมน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1986 และตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 1991 หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลพูลิทเซอร์ในปี 1992 พ่อแม่ของอาร์ต สปีเกลแมน เป็นผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ สถานที่ซึ่งระบอบนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวยิวไปกว่า 1.1 ล้านคน หนังสือเล่มนี้เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของพ่อแม่ของสปีเกลแมนในค่ายกักกันดังกล่าว รวมถึงการฆ่าตัวตายของแม่ของเขา

ช่วงปลาย ม.ค. ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการโรงเรียน 10 คนในเมืองแม็กมินน์ พบว่าหนังสือดังกล่าวถูกถอดออกจากหลักสูตรของชั้นเกรด 8 (เทียบเท่ามัธยมต้นของไทย) โดยแถลงการณ์ในเวลาต่อมาอ้างว่าหนังสือดังกล่าว “ใช้คำหยาบคายและภาพเปลือยอย่างไม่จำเป็น และนำเสนอภาพความรุนแรงและการฆ่าตัวตาย” ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าไม่เหมาะสำหรับนักเรียนอายุ 13 ปี

คณะกรรมการระบุว่า “หนึ่งในบทบาทที่สำคัญที่สุดของคณะกรรมการการศึกษาที่มาจากการเลือกตั้ง คือการสะท้อนคุณค่าของชุมชนที่คณะกรรมการมุ่งรับใช้” คณะกรรมการไม่ได้ลดทอนความสำคัญของการสอนนักเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์โฮโลคอสต์ และเข้าใจหน้าที่ของการสอนให้คนรุ่นหลังรู้จักเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจะมองหาหนังสือเล่มอื่นที่เหมาะสมกว่า เพื่อนำเสนอเรื่องนี้ให้เด็กเข้าใจด้วยวิธีการที่เหมาะสมขึ้น

ตามบันทึกรายงานการประชุม ไมค์ คอกแรน หนึ่งในคณะกรรมการโรงเรียนบอกว่า “เราไม่จำเป็นต้องใช้ของแบบนี้เพื่อสอนประวัติศาสตร์เด็กหรอก เราสอนประวัติศาสตร์พวกเขาได้ และเราสอนประวัติศาสตร์พวกเขาโดยใช้ภาพได้ แต่เราบอกพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่เราไม่จำเป็นต้องมีภาพเปลือยและสิ่งอื่นๆ” นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการพูดถึงความเป็นไปได้ของการปิดข้อความไม่เหมาะสมด้วย ก่อนจะมาสู่ข้อสรุปในการแบน

เมื่อ ร็อบ แชมบลิน หนึ่งในคณะกรรมการถามว่าจะต้องถอดหนังสือเล่มใดออกจากหลักสูตรเนื่องจากมีการใช้คำไม่เหมาะสมอีกหรือไม่ หนังสือคลาสสิคสำหรับนักเรียนระดับประถมในรัฐเทนเนสซี เช่น Bridge to Terabithia, The Whipping Boy และ To Kill the Mocking Bird ต่างก็มีการใช้คำที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น ชารอน บราวน์ ประธานคณะกรรมการ ตอบว่า “นี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เอาไว้คุยวันหลัง”

ยิ่งแบน ยิ่งน่าอ่าน

การตัดสินใจของคณะกรรมการก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากหลายฝ่าย รวมถึงตัวผู้เขียนเอง จากการให้สัมภาษณ์กับ CNBC อาร์ต สปีเกลแมน ว่าเขารู้สึกงงและอ้าปากค้างกับการตัดสินใจดังกล่าว “นี่เป็นภาพที่รบกวนจิตใจ แต่คุณรู้อะไรไหม มันเป็นประวัติศาสตร์ที่รบกวนจิตใจไง” เขากล่าว “ผมเคยพบกับเด็กหลายคนที่...เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากหนังสือของผมนะ”

สตีฟ โคเฮน ชาวยิวคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ปัจจุบันของรัฐเทนเนสซี กล่าวในการสัมภาษณ์ว่าการแบนหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์โฮโลคอสต์ หรือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ เป็นการลบความเข้าใจของคนๆหนึ่ง ต่อความโหดร้ายทารุณที่มนุษย์ก่อให้เกิดขึ้นได้ “มันน่าหดหู่ที่ต้องมาเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ว่าในที่ใดก็ตามของประเทศ และเมื่อเป็นเรื่องของการปิดกั้นวิธีที่เข้าถึงเด็กได้ง่าย และสอนพวกเขาเกี่ยวกับโฮโลคอสต์ มันยิ่งรบกวนจิตใจเป็นพิเศษ”

พิพิธภัณฑ์โฮโลคอสต์แห่งสหรัฐอเมริกาโพสต์ทวิตเตอร์เนื่องในวันรำลึกเหตุการณ์โฮโลคอสต์สากล ระบุว่า ‘Maus’ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์โฮโลคอสต์ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของเหยื่อและผู้รอดชีวิตอย่างละเอียด การสอนเกี่ยวกับโฮโลคอสต์โดยใช้หนังสือ เช่น ‘Maus’ จะทำให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจในการ “คิดเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับอดีตและบทบาทหน้าที่ของตนเองในปัจจุบัน”

หลังจากการแบนหนังสือดังกล่าว สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า ‘Maus’ ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมาก โดยมียอดขายติด 10 อันดับแรกผ่านการจัดอันดับหลายรูปแบบในเว็บไซต์ของ Amazon ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 31 ม.ค. พบว่า ‘Maus ฉบับสมบูรณ์’ มียอดขายเป็นอันดับ 2 ในภาพรวม ‘Maus เล่ม 1’ มียอดเป็นอันดับ 1 ในหมวดประวัติศาสตร์ และมียอดติดอันดับในหมวดนิยายภาพด้วย

นอกจากการแบนจะทำยอดขายติดอันดับแล้ว ยังมีความพยายามอื่นๆ ในการส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงหนังสือเล่มนี้ง่ายขึ้นด้วย สก๊อต เดนแฮม จากวิทยาลัยเดวิดสัน รัฐนอร์ทแคโรไลนาระบุว่า เขาจะเปิดคลาสออนไลน์ฟรีให้แก่นักเรียนมัธยมในเมืองแม็กมินน์ที่สนใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มดังกล่าว “หลายปีมานี้ ผมเคยสอนหนังสือของสปีเกลแมนมาหลายครั้งแล้วในวิชาของผมหลายวิชาที่เกี่ยวกับโฮโลคอสต์” เขากล่าว

ขณะที่ ริชาร์ด เดวิส เจ้าของร้านหนังสือการ์ตูน Nirvana Comics ในน็อกส์วิลล์ รัฐเทนเนสซี ตัดสินใจทำการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ GoFundMe เพื่อซื้อหนังสือ Maus มาบริการให้ยืมอ่านฟรีหรือบริจาคให้ฟรีแก่นักเรียนที่สนใจ ล่าสุดได้รับเงินบริจาคกว่า 110,367 ดอลล่าร์และปิดบริจาคแล้ว หลังจากตอนแรกตั้งเป้าไว้เพียง 20,000 ดอลล่าร์เท่านั้น

“งานชิ้นเอกของอาร์ต สปีเกลแมน เป็นหนึ่งในนิยายภาพที่สำคัญ สร้างแรงสั่นสะเทือน และมีอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาล” ริชาร์ด เดวิส กล่าว นอกจากนี้เจ้าของร้านยังระบุด้วยว่าเงินดังกล่าวมากเกินพอสำหรับการบริจาคหนังสือฟรีให้แก่นักเรียนในเมืองแม็กมินน์ และนักเรียนคนอื่นๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา และยังมีงบเหลือสำหรับการแถมคู่มือสำหรับพ่อแม่ในการสอนเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘Maus’ และบริจาคให้กับองค์กรต่างๆ อีกด้วย

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา โรเบิร์ต ไรค์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาโพสต์ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ระบุว่าตอนที่เขายังเป็นวัยรุ่น เขาเคยขอยืมหนังสือ The Catcher in the Rye จากบรรณารักษ์ โดยโกหกว่าพ่อแม่ของเขาบอกว่ามันเป็นวรรณกรรมชั้นเยี่ยม แต่จริงๆ แล้วเขาอยากอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวเพราะมันโดนแบนจากห้องสมุด

โรเบิร์ต ไรค์ รู้ว่าบรรณารักษ์ซ่อนหนังสือดังกล่าวไว้หลังโต๊ะทำงานของเธอ เขาจึงไปขอยืมหนังสือเล่มดังกล่าวจากบรรณารักษ์ บรรณารักษ์ตัดสินใจให้เขายืมเล่มหนังสือดังกล่าวด้วยความลังเล หลังจากที่ยืมหนังสือเล่มดังกล่าวมา เขาก็อ่านมันอย่างสนุกสนาน จากประสบการณ์ส่วนตัวเขาสรุปว่า “ไม่มีวิธีไหนทำให้วัยรุ่นอ่านหนังสือได้ดีกว่าการแบนมันอีกแล้ว”

ไม่ใช่ครั้งแรก

การแบนหนังสือ ‘Maus’ เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น

  • คณะกรรมการโรงเรียนเมืองสปอตซิลเวเนีย ในรัฐเวอร์จิเนีย มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อปีที่แล้วให้ถอดหนังสือที่มีเนื้อหา “เรื่องเพศอย่างชัดแจ้ง” ออกจากชั้นหนังสือของห้องสมุด หลังจากที่พ่อแม่คู่หนึ่งร้องเรียนเกี่ยวกับหนังสือ​Call me By Your Name ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เกย์และ 33 Snowfish ซึ่งได้รับรางวัลจากสมาคมห้องสมุดอเมริกัน ต่อมามีการประท้วงเกิดขึ้นคณะกรรมการจึงตัดสินใจถอนมติดังกล่าว

  • ในเมืองยอร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย ครูและนักเรียนออกมาประท้วงและรณรงค์ให้มีการถอนมติแบนหนังสือหลายเล่ม ที่เล่าเรื่องราวจากมุมมองของเด็กที่เป็นเกย์ คนผิวสี หรือลาติโน่ เช่น A Boy Called Bat, I Am Rosa Parks และ Cece Loves Science และประสบความสำเร็จในการเรียกร้องดังกล่าว แต่อนาคตยังไม่แน่ว่าจะมีการแบนหนังสือเกิดขึ้นอีกหรือไม่

  • ส.ส. พรรครีพับลิกันในรัฐเท็กซัสส่งจดหมายไปสอบถามโรงเรียนต่างๆ ว่ามีหนังสือในลิสต์ 850 เล่มที่เขาจัดทำขึ้นอยู่บนชั้นหรือไม่ และมีการรณรงค์จากพ่อแม่ให้โรงเรียนถอดหนังสือดังกล่าวออก นอกจากนี้ยังมีการผ่านกฎหมายเพื่อควบคุมการสอนเกี่ยวกับชาติพันธุ์และเพศสภาพ หนังสือบางเล่มที่ถูกแบนในจีนก็ถูกแบนในรัฐเท็กซัสด้วย เช่น Far From the Tree ของแอนดรูว์ โซโลมอน

  • คณะกรรมการโรงเรียนมาตานุสกา-ซูซิตนา ในปาล์มเมอร์ รัฐอะลาสกา แบนวรรณกรรมอเมริกัน 5 เล่ม ได้แก่ Invisible Man ของราฟ เอลลิสัน Catch-22 ของโจเซฟ เฮลเลอร์ The Things They Carried ของทิม โอ’ ไบรเอน I Know Why the Caged Bird Sings ของมายา แองเกโล และ The Great Gatsby ของ เอฟ สก๊อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์

  • เมื่อปลายปีที่แล้วในรัฐโอคลาโฮมา มีการเสนอกฎหมายเพื่อห้ามห้องสมุดบริการหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และมีการตั้งค่าหัว 10,000 ดอลล่าร์สำหรับพ่อแม่ที่จับได้ว่าห้องสมุดยังมีหนังสือดังกล่าว และเป็นค่าปรับที่คิดแบบรายวัน นอกจากนี้ ยังมีการผ่านกฎหมายห้ามไม่ให้มหาวิทยาลัยกำหนดวิชาเกี่ยวกับเพศสภาพและชาติพันธุ์เป็นวิชาบังคับ

Anti-Defamation League และกลุ่มอื่นๆ เคยออกมาเตือนว่าที่ผ่านมามีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) เพิ่มสูงมากขึ้น ขณะที่เริ่มมีขบวนการเคลื่อนไหวจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาให้แบนหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ เพศสภาพ และประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ LGBTQ+ และมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการเรียนการสอนเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศไทยก็มีความพยายามในการแบนหนังสือเด็กเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการตรวจสอบหนังสือเด็กของเพจ ‘วาดหวังหนังสือ’ และการบุกยึดหนังสือดังกล่าวจาก 1932 People Space Library นอกจากนี้ ยังมีกรณีการตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเพื่อยึดหนังสือ ‘สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย’ และการดำเนินคดีกับณัฐพล ใจจริง จากการเขียนวิทยานิพนธ์ ที่ต่อมาถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ ด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท