Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางข่าวการคุมเข้มของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการเสด็จเยือน จ.นครสวรรค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีนักกิจกรรมโพสท์วิดีโอโดยอ้างว่ารุ่นน้องของเธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำเส้นทางเสด็จตบหน้าและสั่งให้นั่งลง และมีการท้าให้ไปแจ้งความ

10 ก.พ. 2565 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 ก.พ.) พิมพ์ชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมกลุ่มมังกรปฏิวัติได้โพสท์วิดีโอลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่ารุ่นน้องของเธอถูกตำรวจตบหน้าและสั่งให้นั่งลงขณะขบวนของสมเด็จพระเทพฯ กำลังเสด็จผ่านพื้นที่ใน อ.เมืองนครสวรรค์ ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ระบุว่าในวันดังกล่าว สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ วัดศรีอุทุมพร ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์

ในเนื้อหาวิดีโอจะพบการถกเถียงระหว่างผู้ถ่ายคลิปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง โดยผู้ถ่ายพูดว่าจะขอเดินทางกลับบ้านผ่านถนนเส้นข้างหน้า และระบุว่าถูกตำรวจตบเข้าที่กราม โดยจะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นพยายามรีบบอกให้เขานั่งลง หลังจากมีการโต้เถียงกันครู่หนึ่งก็มีตำรวจอีกนายพยายามเข้ามาแยกคู่กรณีออกจากกัน ตำรวจคู่กรณีที่ล่าถอยไปมีการตะโกนท้าให้ผู้ถ่ายวิดีโอไปแจ้งความและผู้ถ่ายวิดีโอก็ท้าให้ตำรวจตรวจสารเสพติดจากปัสสาวะของเขา เมื่อขบวนเสด็จผ่านไป ชายหนุ่มคนดังกล่าวก็ถูกปล่อยให้เดินทางต่อไป

ทอม (นามสมมติ) ชายหนุ่มผู้ถ่ายวิดีโอ ให้ข้อมูลกับประชาไทเพิ่มเติมว่า ในวันนั้นเขาเพิ่งกลับออกมาจากบ้านเพื่อน และกำลังจะกลับบ้านผ่านเส้นทางวัดสุคตวรารามที่อยู่ใกล้ๆ แต่เมื่อออกมาแล้วก็พบว่ามีขบวนเสด็จและตำรวจก็กักเขาเอาไว้ก่อน เขาจึงพยายามสอบถามว่าขอไปก่อนได้หรือไม่ จากนั้นก็ถูกตำรวจตบเข้าที่กรามขวา

"วันนั้นผมกำลังจะกลับบ้าน ผมไปบ้านเพื่อนผมมา ทีนี้เหมือนมีขบวนเสด็จผมไม่รู้ว่าข้างหน้าเป็นขบวน ผมเลยจะเข้าจะออก ตำรวจก็กักไว้ก่อน ทีนี้เลยบอกเขาดีๆ ว่า ขอผมไปก่อนได้มั้ยผมจะกลับบ้าน จะเข้าไปทางวัด เขาก็ไม่พูดอะไรกับผม เขาก็ตบหน้าผมก่อน"

ทอมได้รับแจ้งจากแม่ในวันต่อมา ว่าตำรวจได้โทรศัพท์มาแจ้งให้ทอมไปให้ปากคำที่ สภ.เมืองนครสวรรค์เพื่อที่จะช่วยตามตัวตำรวจคนดังกล่าว ทอมจึงได้เดินทางไปให้ปากคำและลงบันทึกประจำวัน ทอมเล่าว่าตำรวจ ที่ สภ. ก็บอกว่าไม่คุ้นหน้ากับตำรวจที่เป็นคู่กรณีของเขา เพราะวันนี้มีการนำกำลังตำรวจจาก 9 จังหวัดเข้ามาปฏิบัติการร่วมกัน

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ประชาไทติดต่อ สภ.นครสวรรค์เพื่อขอข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่กำลังจะออกเวรให้ข้อมูลว่าไม่ทราบเรื่องเหตุการณ์ดังกล่าว และไม่สามารถให้ข้อมูลว่าต้องติดต่อใครในระดับบังคับบัญชาที่จะสามารถให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเป็นใคร และการประจำจุดเส้นทางเสด็จในวันนั้นก็มิใช่ระยะทางสั้นๆ

ประชาไททำการค้นหาตำแหน่งที่เกิดเหตุตามภูมิทัศน์ที่เป็นจุดสังเกตในคลิปวิดีโอ ผนวกกับข้อมูลเส้นทางการเดินทางของทอม จากการค้นหาพื้นที่ดังกล่าวใน Google Street View เชื่อได้ว่าจุดเกิดเหตุน่าจะเป็นซอยสวรรค์วิถี 53 ตัดกับ ถ.สวรรค์วิถี ใกล้บ้านพักอัยการจังหวัด บ้านพักประมงจังหวัด และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.นครสวรรค์

ทอมเล่าว่าเขาและครอบครัวตกใจที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น 

"เขาก็ตกใจ เพราะว่าผมโดนตบหน้า เขาไม่เคยตบหน้าผมเลย คนในครอบครัว พ่อแม่ก็ไม่เคยตบหน้าผมเลย พอมีคนอื่นมาตบหน้าผมเขาก็ตกใจ ยิ่งเป็นตำรวจด้วย" 

"ผมก็แค่ไม่เข้าใจ คือถ้าเป็นขบวนเสด็จทำไมไม่ไล่ผมเข้าไปข้างในก่อน เออ บอกว่าน้องไปรอข้างในก่อน คือเขาไม่พูดกับผมเลย เขาตบหน้าผมทำไม แล้วทำไมต้องตบซ้ำๆ เหมือนคำพูดคำจาเขาเหมือนกับผมเป็นผู้ก่อการร้ายอ่ะพี่" ทอมกล่าว

ในวันเดียวกัน ตำรวจได้ไปบ้านของนักกิจกรรมกลุ่มมังกรปฏิวัติ และห้ามไม่ให้สมาชิกกลุ่มไปเข้าร่วมรับเสด็จ ข้อมูลจากเพจมังกรปฏิวัติระบุว่ากลุ่มนักกิจกรรมมีแผนจะไปรับเสด็จพร้อมป้ายผ้าที่มีข้อความ “ทรงพระเจริญ” พิมพ์ชนก ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มมังกรปฏิวัติได้โพสท์เฟซบุ๊คว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบราว 14-15 นายไปที่บ้านของเธอ

ก่อนวันที่ 7 ก.พ. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังรายงานด้วยว่าตำรวจนครสวรรค์มีการไปเยี่ยมกลุ่มนักกิจกรรมอาชีวะ

หลังการรัฐประหาร 2557 เริ่มมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐไปเยี่ยมและจับตามองนักกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่จะมีการรับเสด็จหรือในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น การนำตัวเอกชัย หงษ์กังวาน นักกิจกรรมอิสระไป จ.กาญจนบุรีเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2560 หลังโพสท์ในเฟสบุ๊คว่าจะใส่เสื้อแดงในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 

เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา นักเรียน ม.ปลาย วัย 17 ปี ใน อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ถูกตำรวจ สภ.หนองกี่ เรียกไปลงนามทำข้อตกลง “ห้ามจัดกิจกรรมระหว่างมีขบวนเสด็จ” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จผ่านเขต อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ในวันนี้ (5 ม.ค. 2565) อ้างเป็น "บุคคลต้องระวัง" ทั้งที่เขาไม่มีแผนจัดกิจกรรมใดๆ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังมีนักกิจกรรมไปชูป้าย “ยกเลิก 112” ณ พื้นที่รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในกรุงเทพฯ เมื่อ 28 ธ.ค. 2564 และการชูป้ายข้อความโดยนักกิจกรรมสองคนบริเวณพระบรมรูปทรงม้าในขณะที่กำลังมีขบวนเสด็จเมื่อ 30 ธ.ค. 2564

เมื่อ 20 ธ.ค. 2563 ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักกิจกรรมก็ถูกตำรวจ จ.เชียงใหม่เข้าเยี่ยมก่อนกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net