Skip to main content
sharethis
  • เมื่อ 11 ม.ค.65 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนก็กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการสื่อมวลชนทันที
  • ประเด็นที่คนในแวดวงสื่อแสดงความกังวลกันมากต่อร่างกฎหมายนี้ไม่พ้นคำที่ปรากฏในกฎหมายอย่างเช่นการรายงานข่าวต้องไม่ขัดต่อ "ศีลธรรมอันดี" และ "หน้าที่ของปวงชนชาวไทย" เพราะมักจะถูกรัฐไทยนำมาใช้ตีความจำกัดเสรีภาพเสมอ ไปจนถึงประเด็นโครงสร้างของสภาวิชาชีพสื่อที่มีคนจากฝ่ายรัฐเข้ามาร่วมด้วย
  • คำถามที่ตามมาคือกฎหมายนี้ออกมาเพื่อส่งเสริมให้สื่อทำงานได้อย่างมีคุณภาพหรือจะกลายเป็นกฎหมายที่มาจำกัดเสรีภาพการรายงานข่าวกันแน่? และสื่อที่ถูกละเมิดเสรีภาพจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายนี้มากน้อยแค่ไหน?  

เปิดเข้าปี 2565 มาสัปดาห์แรกรัฐบาลก็เปิดประเด็นให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเข้ามาควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมด้วยการมีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….

แต่ในขณะที่เรื่องแรกยังกรุ่นๆ สัปดาห์ต่อมา 11 ม.ค.2565 ในที่ประชุม ครม.ก็มีมติเห็นชอบแนวทางของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนจนกลายเป็นประเด็นร้อนของวงการสื่อสารมวลชนตามมาและขั้นต่อไปก็คือจะถูกส่งเข้าพิจารณาในสภาต่อไป

เนื่องจากทั้งสังคมและสื่อมวลชนต่างก็ระแวดระวังท่าทีของรัฐบาลมาตลอดว่าพยายามจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานสื่อ เพราะตลอดอายุรัฐบาลประยุทธ์ที่กำลังจะครบ 8 ปีเร็วๆ นี้ก็มีประเด็นกับสื่อมวลชนมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่ทำรัฐประหารเข้ามาทั้งการใช้กฎอัยการศึกคุมสื่อ การใช้กลไกในมืออย่าง กสทช.สั่งจอดำสถานีโทรทัศน์ กระทรวงดิจิทัลขอศาลปิดสื่อออนไลน์ จนล่าสุด กสทช.เรียกผู้รับสัมปทานไม่ให้รายงานข่าวการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค.2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง

ประชาไทได้ชวนคนแวดวงสื่อทั้งทั้งรายเก่ารายใหม่รายใหญ่รายเล็กอย่าง มงคล บางประภา จากบางกอกโพสต์ในฐานะนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหารของ “วันโอวัน” ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ ผู้จัดการทั่วไปของ Voice TV และณัฐพงศ์ มาลี หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โอปอ สำนักข่าวราษฎร"มาคุยถึงร่างกฎหมายนี้ว่ามีเรื่องถึงข้อกังวลและข้อท้าทายว่ากฎหมายสื่อที่อาจจะถูกเอามาใช้ครั้งนี้จะกลายเป็นข้อจำกัดเสรีภาพหรือส่งเสริมคุณภาพสื่อกันแน่

ช่างภาพขณะปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุมของมวลชนทะลุแก๊สที่หน้าสน.ดินแดง

ออกมายันร่างกฎหมายจากคณะรัฐประหาร

อย่างไรก็ตามปรากฏว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเกิดจากความพยายามผลักดันจากเครือข่ายสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้วยกันเอง เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. นั้นมีปัญหาอยู่ ทางฝ่ายเครือข่ายองค์กรสื่อจึงต้องผลักดันกฎหมายที่จะมากำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนด้วยกันเองออกมาเพื่อทำให้ทั้งฝ่ายรัฐและสังคมเห็นว่าสื่อมวลชนสามารถกำกับดูแลกันเองได้

แม้ดูเหมือนว่าเจ้าภาพหลักในการดันร่างกฎหมายฉบับล่าสุดนี้จะไม่ใช่รัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังคงมีคำถามอยู่ดีว่าเหตุใดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายลักษณะนี้ออกมาอีก การกำกับดูแลกันเองโดยสมาคมสื่อต่างๆ บนกรอบจรรณยาบรรณที่มีอยู่แล้วยังไม่เพียงพอหรืออย่างไร แล้วใครจะถูกนับรวมเป็นสื่อบ้าง จนถึงกรอบจริยธรรมและศีลธรรมอันดีของประชาชน

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยแม้เขาจะออกตัวก่อนว่าเขาไม่ได้เข้าไปร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยตัวเองแต่ก็ได้ร่วมแสดงความคิดและรู้รายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับที่ ครม.มีมติเห็นชอบไป เขาเล่าให้ฟังว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นร่างที่ทางฝ่ายเครือข่ายองค์กรสื่อร่วมกันผลักดันกันเองหลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงที่ยังรัฐบาลทหาร คสช. ตั้งก็มีความพยายามผลักดันกฎหมายจริยธรรมสื่อออกก่อนแล้วแต่ในเวลานั้นเครือข่ายองค์กรสื่อก็ออกมาร่วมกันคัดค้าน

นายกสมาคมนักข่าวฯ บอกกับเราว่า ร่างกฎหมายฉบับที่ สปช.ดันออกมามีเนื้อหาที่เป็นการเปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อได้ด้วยผ่านการเข้ามาเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะตั้งขึ้นตามมาตามกฎหมายโดยจะมีเจ้าหน้าที่รัฐ มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เข้ามาด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักผลประโยชน์ทับซ้อนและจะทำให้เกิดการตรวจสอบรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งจะไม่ได้เกิดปัญหากับเฉพาะการตรวจสอบรัฐบาลปัจจุบันแต่จะส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบรัฐบาลอื่นๆ ที่เข้ามีอำนาจด้วยโดยใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งสื่อมวลชน

มงคลเล่าต่อว่าแม้ว่าตอนนั้นรัฐบาลจะถอยไปเอง แต่สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ตั้งมาแทน สปช.ก็มารับช่วงดันกฎหมายต่อแต่ครั้งนี้ สปท.คงเห็นว่าที่ผ่านมาองค์กรสื่อต่างออกมาคัดค้านรอบนี้จึงเปิดให้ฝ่ายสื่อมวลชนเข้ามาแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมในการร่างได้ และทางออกในตอนนั้นฝ่ายเครือข่ายองค์กรสื่อก็ไปเอาโมเดลต้นแบบของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติรวมถึงต้นแบบจากองค์กรวิชาชีพในอินโดนีเซียและมาเลเซียมาใช้ทั้งคณะกรรมการที่จะให้มีทั้งฝ่ายวิชาการและสื่อมวลชนมาเป็นคณะกรรมการโดยปลอดจากอิทธิพลของรัฐ รวมถึงการเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของสื่อมวลชน

“ทาง สปท.เองก็มีคำถามที่สื่อมวลชนเองก็มีหน้าที่ต้องช่วยกันหาคำตอบคือ สังคมถามหาจริยธรรมของสื่อและระบบควบคุมกันเองถ้าไม่ให้รัฐควบคุม เมื่อโจทย์โยนกลับมาที่สื่อมวลชนแบบนี้ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนก็ต้องดูแลเรื่องจริยธรรมที่จะไม่สร้างปัญหาให้กับประชาชน” มงคลชี้ถึงความจำเป็นที่ฝ่ายสื่อมวลชนต้องมาออกแบบกฎหมายกันเองครั้งนี้

ใครบ้างจะได้เป็นสื่อมวลชน

“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในการรวบรวม รายงาน วิเคราะห์ สร้างสรรค์วิธีการนำเสนอ หรือกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อมวลชน”

ข้างบนนี้เป็นนิยามในกฎหมายที่ถูกระบุว่าใครบ้างที่จะถูกนับรวมเป็นสื่อมวลชนและเมื่อดูประกอบกับนิยามของสื่อมวลชน ที่ระบุว่าสื่อหรือช่องทางนำข่าวสารหรือเนื้อหาทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนได้เป็นการทั่วไป แต่ไม่รวมถึงการจัดทำสื่อหรือช่องทางเพื่อใข้แสดงความเห็นโดยไม่แสวงกำไร

จะเห็นได้ว่าคำนิยามที่ระบุไว้ตามกฎหมายนั้นอาจถูกตีความอย่างกว้างครอบคลุมตั้งแต่สื่อมวลชนที่ระบุว่าตัวเองเป็นสำนักข่าวไปจนถึงบรรดาสตรีมเมอร์ ยูทูปเบอร์ ติ๊กต็อกเกอร์ นักไลฟ์สดต่างๆ ที่สามารถทำเงินได้เข้ามาเป็นสื่อมวลชนได้หมด รวมถึงบทบาทของผู้ใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบันที่เลื่อนไหลไปมา บางวันอาจแค่ไลฟ์ขายของอย่างเดียว แต่บางวันอาจนำเสนอคอนเทนต์เชิงข่าวด้วยก็ได้

แล้วตกลงว่ากฎหมายนี้จะครอบคลุมใครบ้างเพราะไม่ใช่แค่ว่าใครจะได้ป้ายว่าเป็นสื่อบ้าง แต่กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดองค์กรสื่อหรือองค์กร สมาคมวิชาชีพที่จดแจ้งกับสภาวิชาชีพไว้ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อของสภา อีกทั้งคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนสามารถรับเรื่องร้องเรียนและมีคำวินิจฉัยออกมาลงโทษและประณามผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่มีสังกัดได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าหาก “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ” ถูกตีความอย่างกว้างสภาก็จะมีอำนาจให้โทษคนที่กฎหมายนี้ไปนับรวมเข้ามาในกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของสภาและในทางกลับกันถ้าสภาตีความอย่างแคบว่าคนๆ นั้นไม่ได้เป็นสื่อแล้วจะให้ความคุ้มครองได้หรือไม่เมื่อคนๆ นั้นนิยามตัวเองว่าเป็นสื่อนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สาธารณะแล้วถูกละเมิดสิทธิ

ในฐานะผู้มีส่วนร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างชวรงค์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในเวทีเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า นิยามสื่อตามกฎหมายนี้จะไม่ครอบคลุมถึงสื่อบุคคล อินฟลูเอนเซอร์ เพจ ไม่รวมในนิยามสื่อมวลชนและเขาเห็นว่าสภาวิชาชีพที่ตั้งขึ้นมาจะต้องขีดเส้นเรื่องนี้ให้ชัดเจน สื่อบุคคลกลุ่มนี้จะไปอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าแยกยากก็ให้ดูว่ามีการดำเนินงานอย่างไรหรือได้ประกาศตัวว่าเป็นสื่อหรือเปล่า

สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหารของ “วันโอวัน” สื่อออนไลน์ที่เน้นนำประเด็นทางสังคมมาขยายความต่อในเชิงวิชาการ มองว่าประเด็นนิยามสื่อมีความยากอยู่ในตัวมันเอง แม้ว่าสื่อระดับองค์กรจะมีความต่างกับสื่อที่บุคคลทั่วไป เขายกตัวอย่างกรณีมีอินฟลูเอนเซอร์บางคนมีผู้ติดตาม 1 ล้านคนที่โพสต์สารพัดเรื่องแล้วก็ยังมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยจะนับว่าเป็นสื่อได้หรือไม่ หรือที่เป็นลักษณะองค์กรอย่าง SpokeDark TV จะบอกว่าเป็นเหมือนสื่อมวลชนที่ทำข่าวเลยก็ไม่เชิงแต่จะบอกว่าไม่ใช่สื่อก็ไม่ได้เสียทีเดียว ซึ่งร่างกฎหมายตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายในการกำหนดในตัวบทกฎหมายด้วยเช่นกัน

บก.บห.วันโอวัน เห็นว่าที่กฎหมายใช้เส้นแบ่งเรื่องผลกำไรมาเป็นตัวตัดสินว่าใครเป็นสื่อไมน่าจะเพียงพอและกำกวมเพราะถ้าใครทำคอนเทนต์แล้วได้เงินนับเป็นสื่อหมดหรือบางคนที่แล้วได้เงินแต่เขาบอกว่าทำโดยไม่หวังผลกำไรแบบนี้จะวัดกันยังอย่างไรก็เป็นปัญหา ส่วนตัวเขาเองเห็นว่าน่าจะดูที่เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำงานมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามหากใช้ประเด็นเรื่องส่งผลกระทบเป็นตัวชี้วัดก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนกัน

ผู้จัดการทั่วไปของอดีตสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลอย่าง Voice TV ฤทธิกร มหาคชาภรณ์มองเรื่องนี้ว่าการแยกเอาสื่อกระแสหลักออกจากสื่อพลเมือง จะเป็นการตัดสื่อพลเมืองออกไปจากความเป็นสื่อทั้งๆ ที่ทุกคนควรเป็นสื่อได้ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล จริงอยู่ว่าใช้คำว่าส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ แต่จริงๆ แล้วเหมือนต้องการเอาสื่อพลเมืองออกไปและที่จริงก็ควรเข้าไปเติมเต็มให้การทำงานมีมาตรฐานมากกว่า ไม่ใช่ไปตัดสินว่าสื่อไหนดี หรือไม่ดี

ฤทธิกรยังเห็นว่านิยามของสื่อควรจะกว้างพอที่จะนับรวมสื่อพลเมือง ช่างภาพฟรีแลนซ์ที่รับงานอิสระที่ไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กรใดองค์กรหนึ่งชัดเจนแต่ก็ถ่ายงานส่งให้สำนักข่าวอยู่เข้ามาด้วย เพราะมีโอกาสที่สื่อกลุ่มนี้จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นการทำงานอยู่แล้ว

ณัฐพงศ์ มาลี หรือโอปอ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวราษฎร ถูกจับกุมขณะรายงาน #ม็อบ13กันยา

ประเด็นที่ฤทธิกรยกมาก็มักเป็นข้อห่วงกังวลของสื่ออิสระอยู่แล้ว อย่างที่ณัฐพงศ์ มาลี หรือที่แฟนๆ ของช่องรู้จักกันว่า โอปอ สำนักข่าวราษฎร สำนักข่าวหน้าใหม่ที่มีทีมงานเพียงคนเดียวก็สะท้อนถึงปัญหาการเข้าพื้นที่เพื่อทำงานข่าวเช่นกัน

โอปอกล่าวว่าปัญหาส่วนใหญ่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐออกข้อกำหนดที่ทำให้ทำงานได้ลำบากอย่างเช่น ไม่มีบัตรสื่อมวลชนที่กรมประชาสัมพันธ์ออกให้ก็จะไม่ให้เข้าพื้นที่ หรือกรณีที่คนจากรัฐบาลออกมารับหนังสือจากผู้ที่มาชุมนุมตำรวจก็อนุญาตเฉพาะคนที่มีบัตรจากกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น

นักข่าวราษฎรอย่างเขาเห็นว่าสื่อภาคพลเมืองมักถูกมองว่าเป็นคนไลฟ์สดธรรมดาอาจไม่ใช่เป็นสื่อมวลชนจริงๆ เพราะอาจติดกรอบนิยามว่าต้องเป็นพวกมีสถานีใหญ่ๆ หรือออกอากาศ มีห้องส่ง แต่เขาคิดว่าตอนนี้สถานการณ์ทั่วโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะสื่อมวลชนแตกขยายสาขาออกมามากขึ้น แม้ว่ารัฐก็อาจจะรู้ว่ามีสื่อแบบนี้อยู่แต่ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้สื่อพลเมืองเข้าไปทำงาน

“ให้รับฟังเสียงจากสื่อมวลชนทุกสำนัก ว่าเขามองเห็นอย่างไร รวมทั้งอยากจะให้ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของสื่อมวลชนจริงๆ เพราะสื่อมวลชนก็ทำหน้าที่เสนอข่าวสารเป็นผู้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ความโปร่งใสของผู้ใช้ภาษีของประชาชน” โอปอกล่าวถึงสิ่งที่เขาอยากเห็น

ควบคุมคุณภาพหรือข้อจำกัดใหม่

ประเด็นที่มักถูกพูดถึงเสมอเวลามีกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนคือกฎหมายฉบับนั้นจะถูกเอามาใช้เซนเซอร์หรือสร้างข้อจำกัดการทำงานของสื่อหรือไม่ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เช่นกัน ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่งในหมวดที่ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน “แต่การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”

แม้ว่าประโยคดังกล่าวจะล้อมาจากรัฐธรรมนูญของไทยและไม่ได้เขียนเรื่อง “ความมั่นคง” เข้ามาด้วย แต่ “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่พ้นเรื่องการรักษาความมั่นคงของชาติและสถาบันหลักของไทย แล้วที่ผ่านมาเมื่อมีประเด็นทางการเมืองที่แหลมคมอย่างประเด็นสถาบันษัตริย์อย่างกว้างขวางซึ่งคำตัดสินของศาลต่างๆ ก็มักจะผูกโยงเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกัน ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจตามกฎหมายนี้ว่าจะตีความอย่างไร

โอปอจากสำนักข่าวราษฎรมองปัญหาเรื่องนี้ว่า จริยธรรมที่ว่านั้นจะถูกตีความว่าอย่างไร การบอกว่าขัดกับศีลธรรมอันดีของประชาชนขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้นิยามศีลธรรมชุดนั้นด้วยซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจและก็จะตีความเพื่อให้เข้ากับผลประโยชน์ของตัวรัฐบาลเองมากกว่า

นักข่าวราษฎรตั้งข้อสังเกตว่าการตีความ “ศีลธรรมอันดี” อย่างปัจจุบันนี้ก็อาจจะทำให้รายงานข้อเรียกร้องในการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันเลยหรือไม่ ซึ่งเขาก็มองว่าสุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นการตีความเพื่อปิดปากสื่อมวลชนด้วย

บก.บห.วันโอวัน กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐไทยมักใช้ช่องกฎหมายมาตีความแบบจำกัดเสรีภาพได้ตลอดแม้ว่าในบางประเทศจะมีการเขียนกฎหมายที่มีเนื้อหาคล้ายกันในลักษณะนี้แต่เมื่อมาอยู่ในมือรัฐไทยแล้วมักจะถูกตีความเข้าข้างรัฐเยอะไปหน่อย ถ้าจะต้องเขียนก็ควรเขียนให้ชัดและมีลักษณะเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อไม่เปิดช่องให้ตีความ 

ฤทธิกร ในฐานะที่ทำงานอยู่ในอดีตสถานีทีวีดิจิทัลที่น่าจะถือได้ว่าถูก กสทช.สั่งจอดำจากการรายงานข่าวการเมืองบ่อยที่สุดก็สะท้อนว่า ปัจจุบันองค์กรสื่อหลายแห่งก็ขึ้นทะเบียนกับ กสทช.อยู่แล้ว(เนื่องจากประมูลสัมปทานช่องสัญญาณมาทำธุรกิจ) ก็ต้องทำตามมาตรฐานของ กสทช.และที่ผ่านมาVoice TVก็ถูกลงโทษนับสิบครั้งเสียทั้งฐานคน รายได้ และคุณภาพของงานที่ทำให้เนื้อหาบางอย่างไม่สามารถออกอากาศได้และที่ผ่านมามาตรฐานของผุ้มีอำนาจก็ขึ้นอยู่กับความสบายใจของเขาด้วย เช่น ถูกขอว่าอย่ารายงานข่าวได้ไหมเขารู้สึกไม่สบายใจ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Voice TV ทำให้ฤทธิกรมองว่าเสรีภาพของวิชาชีพสื่อในปัจจุบันยังเป็นเรื่องห่างไกล และเขาเห็นว่ากฎหมายส่งเสริมจริยธรรมสื่อฉบับนี้ก็อาจจะไม่ได้ช่วยส่งเสริมจริยธรรมสื่อจริงๆ ตามชื่อ เพราะจากประสบการณ์ข้างต้นทำให้เห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายมักตีความกฎหมายเป็นโทษกับสื่ออยู่เสมอ ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดมา

อย่างไรก็ตาม นอกจากร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีเนื้อหาส่วนที่จะเข้ามากำกับดูแลเนื้อหาแล้ว คำถามเหล่านี้ก็จะตกกลับไปที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะตั้งขึ้นมาภายหลังอีก เนื่องจากคณะกรรมการมีอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ให้กำหนดมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชนออกมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยของคณะกรรมการเองในประเด็นปัญหาทางจริยธรรมของสื่อมวลชน ซึ่งครอบคลุมทั้งองค์กรสื่อที่อยู่ภายใต้องค์กรวิชาชีพที่จดทะเบียนกับสภาและสื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภา

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการของ Voice TV โพสต์ภาพปิดปากในเฟสบุ๊ค เรียกร้อง กสทช. เปิดรายละเอียดหลังช่องถูก กสทช.สั่งปิด 15 วัน เมื่อ กุมภาพันธ์ 2562

มงคลตอบในประเด็นนี้โดยออกตัวก่อนว่าตัวเขาเองไม่ใช่ทั้งผู้ร่างกฎหมายและไม่คิดว่าจะได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการ แต่เขามีความเห็นในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่งว่าเขาคาดหวังว่าหลักการในการออกกติกาต่างๆ มาแล้วจะได้รับการยอมรับจากสังคมก็คือควรจะต้องทำการชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจนและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนหากมีการทักท้วงก็จะต้องรับไปปรับปรุงแก้ไขหากเป็นข้อเสนอที่ดีกว่า

“สุดท้ายแล้วสภาวิชาชีพสื่อมวลชนนี้เป็นองค์กรของสื่อมวลชนเองถ้าสามารถทำให้ปลอดการแทรกแซงจากการเมืองและอำนาจรัฐได้จริงๆ กติกาที่ออกมาไม่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิตเมื่อถึงจุดหนึ่งบริบทสังคมเปลี่ยนเทคโนโลยีเปลี่ยนมันต้องมีการปรับปรุงสังคายนาได้ตลอดเวลา ขอเพียงจุดเริ่มต้นหลักการไม่ผิดเพี้ยน ให้เปิดประตูตรงนี้ก่อนแล้วหลังจากนั้นก็อยู่ที่ทุกคนช่วยกัน”

สภาฯ จะเป็นอิสระจากรัฐได้?

ประเด็นที่ผูกโยงประเด็นข้างต้นทั้งหมดไว้ด้วยกันคือ สภาวิชาชีพนี้จะเป็นอิสระจากรัฐได้จริงหรือไม่เพราะงบประมาณที่สภาวิชาชีพสื่อใช้ในการดำเนินงานยังมีรายได้ที่อาจจะมาจากรัฐเป็นหลักทั้งเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมซึ่งเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ที่ตามกฎหมายนี้ระบุให้ว่าต้องจัดสรรเงินขั้นต่ำให้สภาวิชาชีพขั้นต่ำเป็นเงิน 25 ล้านบาททุกปี

และจากสาเหตุเรื่องรายได้จากรัฐข้างต้นทำให้สัดส่วนของคณะกรรมการชุดแรกสุดที่ตั้งขึ้นมาตามมาตรา 47 ในบทเฉพาะกาลที่มีทั้งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และ เลขาฯ กสทช.มานั่งอยู่ด้วย แม้ว่ากรรมการชุดแรกนี้จะต้องพ้นตำแหน่งไปเมื่อมีอายุครบ 2 ปีหลังจากสรรหาคณะกรรมการสภาวิชาชีพตามมาตรา 13 ได้แล้ว ไม่เพียงเท่านั้นกรรมการชุดแรกยังมีอำนาจหน้าที่ในการออกข้อบังคับต่างๆ ออกมาใช้

นอกจากนั้นในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อชุดต่อๆ มา ก็ยังมีผู้จัดการของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เข้ามานั่งเป็นกรรมการของสภาโดยตำแหน่งด้วยเนื่องจากในร่างกฎหมายก็มีการระบุถึงการใช้เงินจากกองทุนนี้ แต่คณะกรรมการของกองทุนนี้ที่เข้ามาโดยตำแหน่งก็คือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งก็จะมีคำถามตามมาอีกว่าสภาวิชาชีพสื่อนี้จะเป็นอิสระจากรัฐได้จริงหรือไม่?

สมคิดคิดว่า การรับเงินจากรัฐจะรับก็ได้แต่จะออกแบบกลไกอย่างไรให้เป็นอิสระจากรัฐได้จริงๆ เพราะเขาก็เห็นว่ามีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ สภาวิชาชีพสื่อที่ได้รับเงินจากรัฐมาจะกลับไปตั้งคำถามหรือตรวจสอบรัฐที่เป็นคนให้เงินหรือไม่และรัฐเองก็อาจจะเข้ามาแทรกแซงต่อรองด้วยจำนวนเงินงบประมาณ แต่อีกด้านหนึ่งรัฐเองก็มีหน้าที่ส่งเสริมการทำงานด้านสื่อมวลชนโดยใช้กลไกของสภาก็ได้ แล้วสภาวิชาชีพก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อเจ้าของเงินที่เป็นประชาชน แต่จะให้คนจากหน่วยงานรัฐเข้ามานั่งเป็นกรรมการสภาก็คงไม่ได้

ส่วนผู้จัดการทั่วไปของ Voice TV ก็มองว่าการที่สภาวิชาชีพรับเงินจากรัฐมาก็อาจจะกลายเปนช่องทางให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อได้และตั้งคำถามว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่สภาจะต้องมีเงินก้อนนี้ แล้วสภาที่มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานสื่อจะต้องกำหนดตามที่รัฐอยากให้เป็นหรือไม่ แล้วเงินที่รัฐให้สภามาก็เป็นเงินจากภาษีของประชาชนจะกลายเป็นว่ารัฐเอาเงินภาษีมาครอบงำสื่ออีกทีเป็นวงจรแบบนี้หรือไม่?

“สื่อก็คงจะเดินเหมือนมีตะกร้อมาครอบปาก จริงๆ กติกาที่ควรออกคือกติกาที่คุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งตัวนี้ไม่ใช่ แล้วถ้าหลักยังเป็นอย่างนี้ ผมว่าพ.ร.บ.นี้ยังไงก็ไม่จำเป็น ผมคิดว่าสื่อต้องการการคุ้มครองมากกว่าการส่งเสริมจริยธรรม”

สื่อจะได้รับการคุ้มครองจริงหรือ?

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นที่ปรากฏในกฎหมายคือเรื่องการคุ้มครองการทำงานของสื่อมวลชนด้วยกันเอง แต่ในกฎหมายกลับยังไม่ได้กำหนดหลักที่ชัดเจนนักว่าคณะกรรมการวิชาชีพที่ตั้งขึ้นมานี้จะมีบทบาทอย่างไรบ้างในการคุ้มครองสื่อมวลชน แม้ว่าร่างกฎหมายจะมีการกำหนดช่องทางให้คณะกรรมการสามารถออกแนวทางแก้ไขเยียวยาและกำหนดให้ผู้ก่อความเสียหายต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้นและคำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครองด้วย แต่กฎหมายก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียดหลักในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเอาไว้อย่างชัดเจนนักในกรณีที่สื่อมวลชนด้วยกันเป็นฝ่ายถูกละเมิดเสรีภาพ

ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ จาก PLUS SEVEN ถูกกระสุนยางเข้าที่สะโพก ทั้งที่สวมปลอกแขนสื่อมวลชนและอยู่กับกลุ่มผู้สื่อข่าว

ถ้าหากมองย้อนกลับไปในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเกิดกรณีที่สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ชุมนุมหลายครั้งและเกือบทั้งหมดมาจากการใช้กำลังโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงการใช้กฎหมายในการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนก็หลายครั้ง และยังอาศัยการออกประกาศหรือคำสั่งต่างๆ ออกมาจำกัดการใช้เสรีภาพของสื่อด้วยอย่างเช่นกรณีกระทรวงดิจิทัลฯ ขอศาลสั่งปิดเว็บไซต์สื่อ 6 แห่ง หรือการใช้อำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกประกาศควบคุมการนำเสนอข่าวเมื่อเดือนสิงหาคมปี 63

บก.บห.วันโอวันสะท้อนถึงเรื่องนี้ว่า ตัวเขาเองคาดหวังการได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนี้ได้น้อย เพราะสภาพปัจจุบันกฎหมายทั่วไปที่ใช้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเองก็มีอยู่เพียงพอแต่กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ได้อย่างที่ควรจะเป็น จะให้ไปคาดหวังกับกฎหมายเฉพาะที่จะเอามาใช้คุ้มครองสื่อก็คงคาดหวังไม่ได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม มงคลมองถึงมุมการรวมตัวกันขององค์กรวิชาชีพรวมถึงองค์กรสื่อต่างๆ ก็รวมตัวกันอยู่แล้วและสามารถคัดค้านทัดทานฝ่ายรัฐได้อย่างดีไม่ว่าจะเป็นกรณีปิดสื่อหรือการออกข้อกำหนดอะไรที่มากระทบการนำเสนอข่าว นอกจากนั้นก็ยังมีช่องทางกฎหมายอื่นๆ ที่สื่อมวลชนจะใช้เพื่อคุ้มครองตัวเองได้เช่นการยื่นศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งนายกสมาคมนักข่าวฯ เห็นว่าถ้ามีข้อกฎหมายนี้อยู่ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าจะมีองค์กรที่กฎหมายรองรับเป็นผู้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อที่ได้สัมปทานจากรัฐหรือสื่อของรัฐเองที่ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิร้องเรียน ส่วนการที่สื่อจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทางกฎหมายก็จะต้องเป็นคนที่ถูกละเมิดดำเนินการฟ้องร้องเองแต่ผลคำวินิจฉัยที่มีกฎหมายรองรับก็จะช่วยให้มีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อนำไปใช้ประกอบคำฟ้องได้

แล้วจะกำกับดูแลกันอย่างไร?

ในร่างกฎหมายนี้ลักษณะของกลไกกำกับดูแลคือสภาวิชาชีพจะมีหน้าบทบาทเหมือนเป็นร่มขององค์กรวิชาชีพอีกทีและเป็นผู้กำหนดมาตรฐานจริยธรรมสื่อ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่องค์กรวิชาชีพสื่อที่จดทะเบียนกับสภาจะต้องกำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเองไม่ต่ำกว่าที่สภากำหนดไว้

มงคล นายกสมาคมนักข่าว ก็ชี้ให้เห็นว่ากลไกแบบเดิมก็มีช่องโหว่ตรงที่ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักข่าวฯ หรือสภาการฯ ก็จะมีอำนาจใช้ได้กับเฉพาะสมาชิกเท่านั้นเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาบังคับใช้กับสื่อที่ละเมิดจริยธรรมก็ใช้วิธีลาออกไปแล้วถ้าสื่อรายดังกล่าวจะปฏิเสธความรับผิดชอบด้านจริยธรรมก็ไม่มีใครทำอะไรเขาได้

มงคลจึงอธิบายต่อว่าตามร่างกฎหมายนี้จึงออกแบบให้มีระบบการกำกับดูแลสองชั้น ชั้นแรกก็คือสื่อที่สมัครใจรวมกลุ่มกันเองแล้วออกธรรมนูญหรือจริยธรรมของตัวเองออกมาแล้วถ้ากรรมการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นว่ากำกับดูแลกันเองตามกรอบกติกาที่ตั้งกันขึ้นมาได้ก็จะไม่ไปยุ่ง ส่วนสื่อรายที่ไม่ได้รวมกลุ่มกับใคร ก็ต้องไปดูว่าปฏิบัติหน้าที่สื่อข่าวเป็นกิจวัตรและมีรายได้เหมือนสื่ออาชีพตามเกณฑ์ที่กฎหมายวางไว้สื่อเหล่านี้ก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรับผิดชอบตามจริยธรรมของสื่อมวลชน ดังนั้นสื่อที่ไม่ได้รวมกลุ่มก้อนและเป็นอิสระก็จะต้องยอมรับเข้าสู่การพิจารณาและการใช้ดุลพินิจของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจึงไม่มีช่องโหว่

“ทั้งหมดนี้มันเป็นหลักการสากล ไมใช่หลักการของการขัดขวางเสรีภาพ ทุกคนมีเสรีภาพได้ แต่ทุกคนจะใช้เสรีภาพสร้างความเสียหายให้คนอื่นไม่ได้”

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการใช้สิทธิ์โดยชอบตามกฎหมายของกลุ่มสื่อมวลชนและภาคประชาชนsหลังจากรัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ควบคุมการนำเสนอข่าว

โอปอจาก สำนักข่าวราษฎรมองเรื่องนี้ที่ผ่านมาองค์กรและสมาคมวิชาชีพสื่อต่างๆ ที่มีอยู่เดิมก็เพียงพอแล้วในการกำกับดูแลสื่อมวลชนด้วยกันเอง พร้อมกับตั้งคำถามว่าการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนนี้ขึ้นมาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐหรือไม่ทั้งที่สื่อมวลชนจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐมากกว่า

ส่วน บก.บห.วันโอวัน มองว่าการทำงานของสื่อยังส่งผลกระทบต่อสาธารณะเยอะ เขาคิดว่าอย่างกรณีช่วงโควิด-19 ระบาดก็คาดว่าจะมีคนที่รับข่าวสารผิดๆ ไปแล้วไปรักษาผิดวิธีอยู่ ก็คิดว่าการทำงานของสื่อก็ยังคงต้องมีการกำกับดูแลอยู่ให้มีมาตรฐานขั้นต่ำว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานของสื่อมีผลกระทบเชิงบวกต่อสาธารณะ

สมคิดอธิบายว่าในการกำกับดูแลมีอยู่ 3 ระดับ คือ หนึ่งองค์กรสื่อกำกับดูแลกันเอง สององค์กรสื่อกำกับดูแลร่วมกับรัฐ และสามก็คือให้รัฐเข้ามากำกับดูแล ซึ่งการจะปล่อยให้รัฐเข้ามากำกับดูแลฝ่ายเดียวก็ตัดออกได้เลย ส่วนการกำกับดูแลกันเองก็มีปัญหาในตัวเองและเขามองภาพปัญหาของการกำกับดูแลกันเองไม่ต่างจากมงคลนัก

สมคิดตั้งคำถามว่ารูปแบบองค์กรวิชาชีพในปัจจุบันที่ใช้กำกับดูแลกันเองว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษได้จริง เครื่องมือเดิมอย่างการประณาม เตือน หรือขับไล่ออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพ แต่ก็เห็นได้ว่าเวลามีกรณีที่สื่อเอาองค์กรตัวเองไปขับเคลื่อนทางการเมือง องค์กรวิชาชีพก็ไม่ได้ออกมาเตือน หรือก็มีกรณีที่สำนักข่าวหนังสือพิมพ์ก็ออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพไปหลังมีจดหมายเตือนถึงแล้วก็ดำเนินงานไปเหมือนปกติ ซึ่งเขาคิดว่าการกำกับดูแลกันเองจะทำงานได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสังคมที่มีความเชื่อมั่นต่อกันสูงแล้วคนในวงการก็กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันเอง แต่เขามองว่าคนในวงการสื่อของไทยไม่ค่อยเชื่อใจกันเองแล้วก้ไม่เชื่อว่าจะควรจะกำกับดูแลกันเอง

“วิธีคิดแบบ co-regulator (การกำกับดูแลร่วมกันระหว่างรัฐและองค์กรวิชาชีพสื่อ) ที่กฎหมายฉบับนี้ยังทำคิดว่ามีความน่าสนใจอยู่ในแง่ของการออกแบบระบบให้ทำยังไงให้การกำกับดูแลมันเวิร์ค ขอพูดหลักก่อน ก็คือในต่างประเทศ หลายประเทศก็ทำ co-reg เช่นที่ออสเตรเลียหรืออังกฤษ มันพยายามออกแบบให้การกำกับดูแลกันเองมันเชื่อมกับรัฐบางอย่าง มันก็มีข้อดีของมันอยู่ เช่น โดยธรรมชาติสื่อจะไม่ชอบให้รัฐมากำกับ พอมันเชื่อมกับรัฐแล้วออกแบบกลไกได้ดีพอ องค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่กำกับมันจะต้องพยายามกำกับอย่างเต็มที่เพราะมันไม่อยากให้รัฐมายุ่งเลย มันพยายามจัดการกันเองก่อน ถ้าจัดการกันแล้วไม่เวิร์ค จากนั้นค่อยให้รัฐเข้ามายุ่ง นี่คือโมเดลแบบที่เขาพยายามจะทำกัน”

สมคิดมองไปที่รูปแบบการกำกับดูแลในร่างกฎหมายฉบันนี้และคิดว่าการได้ทรัพยากรจากภาครัฐมาใช้ก็อาจจะเป็นข้อดีที่ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อทำอะไรได้มากขึ้น แต่เขาก็มีคำถามว่ามันจะเป็นไปตามทฤษฎีของการกำกับดูแลร่วมกันหรือไม่ซึ่งเขาก็เห็นว่าที่อยู่ในกฎหมายยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะกลไกบางอย่างก็ไม่ได้ทำให้สภาวิชาชีพสื่อเป้นอิสระได้จริง ซึ่งก็ต้องมาคิดต่อว่าจะทำให้การกำกับดูแลร่วมกันควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เขามองว่ามีเรื่องที่ต้องให้ได้อยู่ 3 ประเด็น

รายงานความรุนแรงต่อสื่อมวลชน: ถูกคุกคาม ทำร้าย ฟ้องปิดปาก จนกลายเป็นเรื่องปกติ

สมคิดชี้ว่าประเด็นแรก อะไรจะการันตีว่าจะไม่ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงสื่อ ทั้งในแง่การออกแบบกลไกต่างๆ กฎหมายฉบับนี้ยังไม่เคลียร์ และสองกลไกอะไรจะทำให้องค์กรวิชาชีพ หรือสภาฯ ทำงานกำกับดูแลได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับหลายโจทย์หนึ่งในนั้นคือความเป็นตัวแทนขององค์กรสื่อและโดยส่วนตัวเขาคิดว่ามีเรื่องที่จะต้องทบทวนกันใหม่อยู่อีกหลายเรื่องเกี่ยวกับการกลไกกำกับดูแลสื่อ

สมคิดกล่าวต่อว่า ประเด็นสุดท้ายองค์กรสื่อจะเป็นตัวแทนของคนทำสื่อจริงๆ ได้อย่างไร ตั้งแต่เรื่องนิยามสื่อ รวมไปถึงเป้าหมายหลักของสภาฯ ในการกำกับ คิดว่าสภาไม่ได้เป็นสหภาพของคนทำสื่อ เราไม่ควรมองมันเป็นสหภาพหรือที่ๆ สื่อเข้าไปต่อรอง แต่ควรมีหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือผู้บริโภคเป็นหลัก เน้นย้ำว่าการกำกับดูแลเพื่อให้พอมีอะไรรับประกันว่าการทำงานของสื่อจะเป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ควรมีหลักพวกนี้ให้ชัดเจนว่าเปน ตัวแทนคนทำสื่อ เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะได้จริง อันนี้ต้องการการดีไซน์โดยละเอียด

บก.บห.วันโอวันกล่าวสรุปว่า ถ้าคิดจะมีกฎหมายแบบนี้ออกมา จะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้องค์กรสื่อมีความรับผิดรับชอบต่อสาธารณะ ไม่ใช่ต่อรัฐและคนทำสื่อด้วย คือจะต้องยึดผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคทางกฎหมาย เช่น กรรมการสรรหา ที่เป็นนักนิเทศศาสตร์ทั้งหมดเพียงแต่แบ่งเค้กตามสถาบัน เพราะเขาเกรงว่าว่าจะกลายเป็นคณบดีจากมหาลัยชั้นนำจะยึดเก้าอี้ไปหมดก็เป็นวิธีเขียนกฎหมายที่ไม่ค่อยเข้าท่านัก กรรมการสรรหาควรคำนึงถึงความหลากหลาย ควรมีคนที่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยหรือไม่ ต้องเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีด้วยหรือไม่

“พูดแบบตรงไปตรงมา โดยเนื้อหา กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ดี แต่ไม่ได้โคตรแย่ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ออกมาแล้วใกล้อุดมคติ แต่ก็ไม่ใช่กฎหมายที่ห่วยแตก เพียงแต่พอมันมาสวมกับบริบทสังคมไทย กฎหมายที่กลางๆ กลายเป็นกฎหมายที่มีโอกาสที่จะแย่ ถ้าเราคิดแบบถอดหน้าคนออก จะให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นชุดประเดิม ก็อาจจะไม่ได้แย่ แต่เราก็รู้ว่ากรมประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือของรัฐ เป็น power play ในกฎหมายไทยๆ อยู่แล้วก็เป็นคนที่สังคมไม่ไว้ใจ”

 

ประเด็นที่ต้องจับตาในร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
  • มีข้อสังเกตว่าในหมวด 1 เรื่องการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มาตรา 5 ที่กำหนดว่า

“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิปฎิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งใดที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนโดยมิให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาแต่เป็นการใช้สิทธิดังกล่าวต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย”

แต่กลับไม่ถูกระบุไว้ในเรื่องจริยธรรมในการทำงานสื่อที่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้ในหมวด 5 เรื่องจริยธรรมสื่อมวลชน มาตรา 30 อีก แต่กลับไม่ปรากฏประเด็นเรื่องศีลธรรมหรือการขัดหน้าที่ของประชาชน

อย่างไรก็ตามเนื่องจากในร่างกฎหมายได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการในการออกมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อออกมาด้วย หากร่างกฎหมายฉบันนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ก็มีเรื่องที่ต้องจับตาต่อว่าคณะกรรมการสภาฯ จะกำหนดมาตรฐานมาอย่างไร

  • มาตรการการคุ้มครองสื่อมวลชนตามมาตรา 45 ที่ระบุว่าในกรณีที่สื่อมวลชนถูกละเมิดเสรีภาพหากปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมสื่อมวลชน นอกจากที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าคณะกรรมการสภามีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งทางปกครองให้ผู้ละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายและเยียวยาแก่สื่อมวลชนคนที่ถูกละเมิดแล้ว ก็อาจจะมีเรื่องการปฏิบัติงานนั้นๆ จะถูกตีความอย่างไรภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมที่สภาฯ กำหนด

  • ประเด็นโครงสร้างคณะกรรมการของสภาตามมาตรา 13 มาตรา 15 และคณะกรรมการชุดแรกในบทเฉพาะกาล

    • กระบวนการสรรหาคณะกรรมการสภาวิชาชีพตามมาตรา 15 ที่ในคณะกรรมการสรรหานอกจากจะมีผู้แทนจากภาคนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนรวมถึงตัวแทนจากองค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ ออนไลน์ และวิทยุโทรทัศน์แล้วให้มีตัวแทนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมด้วยซึ่งกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้ กสทช. ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นตัวแทนจากภาครัฐแต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากทุนประเดิมการตั้งสภาวิชาชีพนี้ก็มาจากงบประมาณของกองทุนด้วยเช่นกัน

    • นอกจากประเด็นคณะกรรมการสรรหาจะมีตัวแทนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการฯ แล้วในคณะกรรมการของสภาตามมาตรา 13 ก็กำหนดให้มีกรรมการที่มาโดยตำแหน่งด้วยโดยเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย ซึ่งกองทุนดังกล่าวคณะกรรมการของกองทุนนี้ที่เข้ามาโดยตำแหน่งก็คือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงต่างๆ

    • อีกทั้งในบทเฉพาะการการตั้งคณะกรรมการชุดแรกมีการกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากภาครัฐ 2 ตำแหน่งคืออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และเลขาธิการ กสทช.เข้ามาด้วย แม้ว่าคณะกรรมการชุดแรกนี้จะมีดำรงตำแหน่งอยู่ 2 ปี ตามมาตรา 49 แต่ก็เป็นการจับฉลากออกซึ่งก็เป็นไปได้ที่คณะกรรมการที่มาโดยตำแหน่งนี้จะยังอยู่ในกรรมการชุดต่อไปด้วย และกรรมการชุดแรกยังถูกกำหนดให้มีหน้าที่ออกข้อบังคับ ระเบียบและประกาศ “เท่าที่จำเป็น” ซึ่งมีเพียงการระบุว่า “อย่างน้อย” จะต้องมีข้อบังคับหรือประกาศว่าด้วยการได้มาซึ่งคณะกรรมการสภา หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของกรรมการ และการรับจดแจ้ง โดยไม่ได้มีกรอบชัดเจนว่ารวมถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวกับประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยหรือไม่ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่คณะกรรมการที่มีคนจากหน่วยงานรัฐเข้าร่วมในการออกข้อกำหนดทางจริยธรรมสื่อด้วย

สามารถอ่าน ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ได้ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net