Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง "เสาร์" คดี ม.112 จากเหตุไปร้องศาลฎีกาคดีอาญานักการเมืองเพื่อฟ้องอดีตนายกฯ ทักษิณเอาเงินคืนให้ในหลวง ร.9 ยกเหตุแม้ข้อความจะเป็นความผิด แต่จำเลยมีอาการทางจิตขณะก่อเหตุ ทนายชี้ตำรวจสามารถใช้ดุลพินิจที่กฎหมายให้อำนาจไว้ส่งรักษาแทนการดำเนินคดีได้ ลูกความคงไม่ต้องแบกภาระทางคดีกว่า 7 ปี

 

24 ก.พ. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 ก.พ.) ที่ศาลาอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ "เสาร์" (สงวนนามสกุล) ชาวไทลื้อ ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  จากเหตุเมื่อ 18 มี.ค.2558 เสาร์ไปยื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอเป็นคู่ความกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดียึดทรัพย์ ต่อมาเจ้าหน้าของฎีกาคดีอาญานักการเมืองฯ แจ้งความดำเนินคดี

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์หลังศาลมีคำพิพากษาว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องเสาร์ เนื่องจากศาลไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานเจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาคดีอาญานักการเมืองที่อ้างว่าเสาร์สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้กว่า 20 นาที ซึ่งศาลชั้นต้นมองว่าเสาร์ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างจึงต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรค 2 

คุ้มเกล้า ระบุว่า ทางทนายความได้อุทธรณ์คดีในประเด็นนี้เนื่องจากในตอนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น มีการสืบพยานจิตแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาเข้ามาเป็นพยาน โดยจิตแพทย์ได้ให้รายละเอียดถึงอาการของโรคจิตเภทของเสาร์ จึงเห็นว่าศาลควรจะต้องรับฟังจิตแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้ทำการรักษา

ทนายความกล่าวต่อว่า ศาลอุทธรณ์มีความเห็นในประเด็นนี้โดยรับฟังความเห็นของจิตแพทย์แล้วเห็นว่า แม้ว่าข้อความของจำเลยจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่เมื่อจำเลยทำในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองได้เพราะเป็นโรคจิต จิตฟั่นเฟือน ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรค 1 ให้ยกฟ้อง

ทั้งนี้ ทางทนายความและเสาร์จะไปยื่นคำร้องขอชดเชย เนื่องจากเสาร์ เคยต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตามที่ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฝากขังในชั้นสอบสวนตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นเวลา 88 วัน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องตามมาตรา 65 วรรค 1 

คุ้มเกล้า แสดงความเห็นว่า แม้คดีนี้เป็นการบังคับใช้มาตรา 112 ณ สถานการณ์รัฐประหาร เจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจที่เป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมก็ควรมีดุลพินิจส่วนตัวพิจารณาได้เองว่าผู้ต้องหาเป็นคนป่วยที่ควรต้องส่งตัวไปรักษาก็ได้แบะกฎหมายก็ให้อำนาจแก่ตำรวจในการจะใช้ดุลพินิจเรื่องนี้ แต่พอตำรวจเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกดำเนินคดีไปเกี่ยวม.112 ก็เอาผู้ป่วยเข้าสู่การดำเนินคดีทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมลำยากอยู่แล้วทั้งทนายความและความสามารถในการต่อสู้คดี

ตร.แจงเสนอศาลส่งรักษา 'เค ร้อยล้าน' ตะโกนร.10 ประกาศชัยบนแผ่นดินสยามเทวธิราชกลางห้าง

ทนายความได้ยกตัวอย่างคดีของ "เค ร้อยล้าน" ที่มีการแสดงออกในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในลักษณะเดียวกันว่า ตามที่ตำรวจได้แถลงข่าวไปก็เห็นว่าคดีนี้ตำรวจกลับสามารถดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายได้ ดำเนินการส่งตรวจและใช้ผลตรวจและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบสำนวนส่งให้ศาลพิจารณาว่าจะส่งรักษาหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิที่เสาร์ควรจะได้รับตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว เพราะการต่อสู้คดีของเสาร์มีต้นทุนทุกขั้นตอนกว่าที่ศาลจะมายกฟ้องวันนี้ ขนาดคนปกติจะยืนยันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในคดีของตัวเองยังเป็นเรื่ิงยาก แต่สำหรับคนที่มีโรคจิตเวชการเข้าถึงสิทธิเฝยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นไปอีก

คุ้มเกล้าให้ความเห็นต่อกองทุนยุติธรรมว่าแม้ว่าคดีนี้จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในการช่วยเหลือเงินประกัน แต่ก็เกิดจากการพยายามเข้าติดต่อขอความช่วยเหลือของอาสาสมัคร ซึ่งทนายก็มองว่ากองทุนควรจะมีการทำงานเชิงรุกมากกว่านี้เพื่อให้คนกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ปัจจุบันยังคงมีคดีม.112 ที่จำเลยที่มีผลตรวจยืนยันว่ามีอาการของโรคจิตเภทอยู่ระหว่างรอผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อยู่อีก 2 คดี คือ "บุปผา (นามสมมติ)" และ "ฤๅชา (สงวนนามสกุล)" ทั้ง 2 คดีต่างก็เป็นคดีเก่าที่เริ่มขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช. และเคยอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารเช่นเดียวกับคดีของเสาร์ก่อนที่จะถูกโอนย้ายคดีมาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมจากคำสั่ง คสช.ที่ให้ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ให้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงและอาวุธอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร

นอกจากคดีเก่าที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหารแล้ว หลังจากเกิดการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัติรย์จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีกับขบวนการทางการเมืองนี้ทำให้มีการใช้มาตรา 112อีกครั้งเมื่อพฤศจิกายน 2563 หลังจากมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตรา 112 ช่วงสั้นๆ ช่วงปี 2561-2563

ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 รายใหม่ที่มีอาการทางจิตอีก 3 คน และมีคดีหนึ่งที่อัยการเพิ่งมีความเห็นสั่งฟ้องไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาคือคดีของ สุภิสรา (สงวนนามสกุล) หญิงวัย 28 ปี ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยวริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินแฟนเพจ “เชียร์ลุง” คดีนี้อัยการได้ฟ้องเธอจากโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก จำนวน 4 ข้อความในช่วงวันที่ 6-7 ม.ค. 2564 โดยเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ในชุดเสื้อครอปท็อปสีดำ และเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ ในชุดเสื้อครอปท็อปสีขาวและมีข้อความประกอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net