Skip to main content
sharethis

'ปรับภูมิทัศน์' ทิศทางประวัติศาสตร์ 'อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม' เล็ง ปรับเพิ่ม 'ต้นไม้ 17 ต้น' หวังเป็นจุดเชื่อมคนรุ่นเก่า-ใหม่ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นสมบัติของคนรุ่นใหม่ต่อไป

 

25 ก.พ.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก Thai Intelligence ว่าที่ อนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 พร้อมด้วย ปริญญา เทวานฤมิตกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และรองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิศิษฏ์ เตชะเกษม สถาปนิกผู้ศึกษาค้นคว้าศาสตร์ ปรัชญาวัฒนธรรมตะวันออก และ ปราณิศา บุญค้ำ อาจารย์ประจำคณะ สถาปัตยกรรมศาศและผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาศและผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 30 คน  มีนัดหมาย ดูพื้นที่เพื่อกำหนดจุด ปลูกต้นไม้ 17 ต้น บริเวณอนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม ถนน ราชดำเนิน โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 

ปริญญา เปิดเผยว่า จะมีการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ทั้งหมดให้เป็นพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ประชาธิปไตย และจะมีการนำมาปลูกมากขึ้น ก่อนหน้านี้ต้นไม้ 17 ต้นที่ปลูกโดยใช้สัญลักษณ์วันที่ 17 พฤษภาคม ได้ถูกล้อมย้ายออกไปชั่วคราว พื้นที่นี้ต้องใช้ในการจัดงานพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงเสด็จสวรรคตตอนนี้ก็ได้เวลาที่จะเอาต้นไม้กลับคืน

กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า  วันนี้ได้มีการร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการดูที่หรือฮวงจุ้ย ซึ่งมีความรู้ทางด้านสถาปัตย์ไม่ใช่อาจารย์ซินแสฮวงจุ้ย ดูว่าต้นไม้จะลงอย่างไรเมื่อเกิดร่มเงา เกิดการเรียนรู้ และขั้นตอนต่อไปไม่ใช่แค่ต้นไม้ ต้องปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งนักศึกษาได้ลงมาเก็บข้อมูลในวันนี้ หลังจากนี้ประมาณหนึ่งเดือนจะได้มีการนำแนวคิดเบื้องต้น มานำเสนอ ต่อมูลนิธิเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นแบบจริงต่อไป 

ปริญญา กล่าวว่า แม้ว่าจะเป็นงานของนักศึกษา แต่อาจารย์ก็จะเป็นคนคุมและดูแล โดยใช้งานชิ้นนี้มาพัฒนาต่อ ในการปรับปรุงสถานที่ให้พื้นที่นี้ ไม่ใช่เพียงแค่รำลึกวีรชนพฤษภาประชาธรรม แต่เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนทุกคนกรุงเทพชั้นใน สนามหลวงและเป็นพื้นที่บริเวณ ถนนราชดำเนิน เป็นเรื่องราวที่มีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตรงนี้จึงเป็นจุดสำคัญ ในการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย เราจะออกแบบอย่างไรให้เกิดประโยชน์ นั่นคือโจทย์ของการมาในวันนี้

วิศิษฏ์ เปิดเผยว่า อนุสรณ์สถานถูกออกแบบมา โดยสถาปนิกที่มีการประกวดชนะรางวัล ในระหว่างที่มีการทำเรื่องขอสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ได้มีประชาชน นักธุรกิจ นักวิชาการและคนที่มองเห็นเรื่องของประชาธิปไตย เป็นเรื่องสำคัญได้มาร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไรให้เรามีอนุสรณ์สถานนี้จึงได้ทำเรื่องไปถึงรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติโครงการนี้ขึ้นมา

สถาปนิกผู้ศึกษาค้นคว้าศาสตร์ ปรัชญาวัฒนธรรมตะวันออก กล่าวว่า มีการสร้างและประกวดวางตำแหน่งต่างๆ ปรากฏว่ามีการย้ายเอาที่เวนคืน รวมทั้งมีการก่อสร้างที่ไม่ลงตัว 2-3 ครั้งใช้เวลาหลายปี จนกระทั่งคณะกรรมการฯเห็นว่า น่าจะสรุปลงตัวให้มีการกำหนดสถานที่โดยให้บริเวณที่อยู่นี้ ซึ่งตนได้รับเกียรติให้มาเป็นที่ปรึกษาและมีความรู้เรื่องโหราศาสตร์จีน

“เราจะวางแกนอย่างไรเพื่อให้สถานที่นี้มีความหมาย และมีสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล เราจึงได้มาเลือกสถานที่นี้โดยใช้แกนของถนนราชณดำเนิน วิ่งตรงมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาถึงบริเวณนี้ ณ จุดตัดตรงนั้นอีกเส้นหนึ่งคือแกนกลาง ของถนนจากพระบรมหาราชวัง ที่วิ่งมาตัดกัน ในจุดนี้คือ 2 แกนและแกนนี้เป็นตำแหน่งที่บอกว่า คือการรวมกันของประชาชนและประชาธิปไตย รวมกับถนนสายที่เป็นพระมหาราชวัง หมายถึงว่าแผ่นดินนี้อยู่ร่วมกัน ใต้พระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทย ทำให้เกิดความสงบขึ้นมาได้ จนกระทั่งถึงเวลานี้ดังนั้นตำแหน่งนี้จึงถูกกำหนดขึ้นมาหลังจากนั้น” วิศิษฏ์ กล่าว

วิศิษฏ์ กล่าวว่า เมื่อกำหนดได้แล้วการก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการแล้ว ณ วันนี้เวลาผ่านไปหลายปีสถานที่นี้มีการปรับปรุงจัดสวนพื้นที่มากมาย วันนี้จึงอยากให้เข้ามาช่วยตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะทำอย่างไรที่จะวางให้พื้นที่ตรงนี้ ให้มีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น โดยโครงการนี้ได้รับต้นไม้มา 17 ต้นเพื่อที่จะปลูก คำว่า 17 ความหมายคือวันที่ 17 แต่ขณะเดียวกัน ความหมายของเดือนพฤษภาคมเราจะต้องหาสัญลักษณ์ของการเวลาขึ้นมาด้วย 

สถาปนิกผู้ศึกษาค้นคว้าศาสตร์ ปรัชญาวัฒนธรรมตะวันออก กล่าวว่า ตนจึงได้นึกถึงกลุ่มดาวโซเดียหรือกลุ่มจักรราศีพฤษภ ซึ่งมีลักษณะของการวิ่งเป็นเส้นตรงและเป็นสองแกนขึ้นมา แต่เราจะใช้ต้นไม้ 17 ต้นมาเป็นตัวกำหนดผังของดาวจากราศีในพื้นที่นี้ด้วย เพราะพื้นที่นี้เป็นลักษณะของรูปร่างสามเหลี่ยมและกลุ่มดาวจักรราศีพฤษภ ก็เป็นเส้นและแยกออกไปสองแกน จึงทำให้เหมาะสมในการที่จะลงในพื้นที่นี้ได้ ดังนั้นวันนี้เราจึงได้เข้ามาในสถานที่จริง เพื่อดูว่าสภาพแวดล้อมตรงนี้ จะสามารถนำสเกลหรือสัดส่วนลักษณะ ของกลุ่มดาวจักรราศี ลงมาสถานที่นี้ได้อย่างไร

วิศิษฏ์ กล่าวว่า หลักในการออกแบบเป็นไปได้หลายวิธี อาจจะใช้ต้นไม้ 17 ต้น วางเป็นแนวแกน เพื่อดึงมาจากถนนราชณดำเนิน โครงการมาหาอนุสาวรีย์ก็เป็นไปได้แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยที่สุดวันนี้เราได้ให้นักศึกษามหาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาทำการศึกษาวิจัยสารนิพนธ์ เพื่อจะดูว่าแนวคิดหรือหลักการของคนรุ่นใหม่คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง เราอาจจะได้คำตอบหรืออะไรที่มากกว่านั้น แต่ ณ วันนี้เราต้องการที่จะบอกว่าอนุสรณ์สถานตรงนี้กำลังเริ่มเติบโตขึ้น

สถาปนิกผู้ศึกษาค้นคว้าศาสตร์ ปรัชญาวัฒนธรรมตะวันออก กล่าวว่า มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้งอนุสรณ์สถานนี้บอกว่า ต้นไม้ที่จะนำมาใช้อยากให้เป็นต้นไม้ที่สามารถผลิตดอกใบขึ้นในเดือนพฤษภาคม จึงมองถึงต้นอินทนิลที่จะออกช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เรื่องนี้เป็นอีกปรัชญาหนึ่งซึ่งจะทำให้สถานที่แห่งนี้มีความหมาย สำหรับคนรุ่นหลังเพื่อมาเที่ยวอนุสรณ์สถาน เพราะดอกไม้เป็นความหมายของประชาธิปไตย ที่เบิกบานขึ้นมาพร้อมกัน เป็นการร่วมกันระหว่างประชาธิปไตยกับการปกครองแผ่นดิน และความสงบสุขที่เกิดขึ้น เพราะบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ ตำแหน่งนี้

 

วิศิษฏ์ กล่าวว่า วันนี้มีเจ้าหน้าที่ของสำนัก กทม.ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลสถานที่ดังกล่าวมาร่วมด้วย เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะที่มีความหมาย สำหรับประชาชนและประเทศ จึงได้ร่วมให้ความคิดเห็นและออกแบบกำหนดทิศทาง ว่าจะต้องดูแลอย่างไร แต่ กทม.อยากให้งานนี้เป็นงานของทางคณะกรรมการฯตัดสินแล้วสรุปออกมา โดยทางกทม.จะดูแลพื้นที่ในส่วนนี้

สถาปนิกผู้ศึกษาค้นคว้าศาสตร์ ปรัชญาวัฒนธรรมตะวันออก กล่าวว่า ในส่วนของเด็กๆคณะสถาปัตยกรรมมาดูในจุดนี้ด้วย จะเป็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่จะเชื่อมกันเวลาระหว่างอดีตกับอนาคตเข้าด้วยกัน เพื่อเกิดรอยต่อที่มีความหมาย ซึ่งวันนี้เราได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ ณ วันนั้นสถานการณ์รวมทั้งแนวคิดต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่มองเห็นภาพ เพราะเขาเกิดไม่ทันแต่เมื่อเขาเห็นภาพแล้ว เขาคิดว่าจะเชื่อมรอยต่อของกาลเวลาในอนาคตกับอดีต ณ จุดนี้อย่างไร หมายถึงว่าเพื่อให้คนรุ่นใหม่สานต่อเจตนารมณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อเป็นสมบัติของคนรุ่นใหม่ต่อไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net