Skip to main content
sharethis

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เผยตรวจสอบพบความผิดปกติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ในยุครัฐบาลประยุทธ์ พบปัญหาจัดซื้อไปแล้ว 12,424 ล้านบาท แต่ยังไม่มีเครื่องยนต์และอยู่ระหว่างการเจรจาขอเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นคนละยี่ห้อกับที่ได้ระบุไว้ในสัญญา 'สุทิน' เผยเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อน ส.ค.แน่นอน ด้าน ทร. ยันซื้อเรือดำน้ำ แบบ G to G ระบุ เครื่องยนต์ อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกัน เพื่อหาทางออก ย้ำความต้องการ ยังเป็นเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมัน

 

28 ก.พ.2565 เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พรรคเพื่อไทย' โพสต์ข้อความรายงานว่า ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตรวจสอบพบความผิดปกติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ มูลค่า 44,222 ล้านบาท ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา พบปัญหาว่า เรือดำน้ำลำที่ 1 ซึ่งได้มีการจัดซื้อไปแล้วมูลค่า 12,424 ล้านบาท โดยจะต้องส่งมอบให้กับกองทัพเรือไทยในปี 2566 แต่ยังไม่มีเครื่องยนต์และอยู่ระหว่างการเจรจาขอเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นคนละยี่ห้อกับที่ได้ระบุไว้ในสัญญา

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ โดยลำที่ 1 มูลค่า 12,424 ล้านบาท ได้มีการจัดซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนอีก 2 ลำ มูลค่ารวม 22,500 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ซื้อ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยคัดค้านจนรัฐบาลต้องชะลอเอาไว้ ปรากฎว่า เรือดำน้ำลำที่ 1 ในขณะนี้ยังไม่มีเครื่องยนต์ เนื่องจากสัญญาที่มีการลงนามกันจะต้องมีการติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลยี่ห้อ MTU เท่านั้น ซึ่งต้องซื้อจากประเทศเยอรมัน หากเยอรมันไม่ขายเครื่องยนต์ MTU ให้กับจีนจะทำอย่างไร ขณะนี้จึงเกิดปัญหาว่ามีแต่ตัวเรือไม่มีเครื่องยนต์ ล่าสุดทราบว่ากำลังมีการเจรจาเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นแบบอื่น

“ผมจะทำหนังสือไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อเรียกร้องไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสำหรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ซึ่งมีความสำคัญกับการทำงานของเรือดำน้ำและความปลอดภัยกับผู้เกี่ยวข้อง ซื้อเรือดำน้ำแต่ไม่มีเครื่องยนต์ แล้วจะปล่อยให้เอาเครื่องยนต์แบบอื่นมาติดตั้ง อย่างนี้จะเชื่อได้อย่างไรว่าเป็นจีทูจีจริง” ยุทธพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ในส่วนของโครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำและอาคารสนับสนุน ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2563 และ 2564 มูลค่า 900 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ และระบบสาธารณูปโภค ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2564-2565 มูลค่า 950 ล้าน รวมทั้งหมด 1,850 ล้านบาท บริเวณท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งได้รับงบประมาณไปเรียบร้อยแล้วนั้น ปรากฎว่า บริษัท CSOC ซึ่งเป็นผู้ลงนามในการจัดซื้อเรือดำน้ำแทนรัฐบาลจึงจนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจี จริงหรือไม่นั้น ก็เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำด้วย

โดยบริษัท CSOC ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และรับงานกองทัพเรือหลายหมื่นล้าน ได้ส่งคนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ และอาคารสนับสนุน แต่ตัวละครสำคัญที่ถูกส่งเข้ามา คือ ผู้จัดการโครงการ รองผู้จัดการโครงการ รองผู้จัดการโครงการฝ่ายก่อสร้างและหัวหน้าฝ่ายควบคุมคุณภาพ กลับทำเรื่องขออนุญาตทำงานในประเทศไทยกับกระทรวงแรงงานด้วยการขออนุญาตทำงานเป็นครูสอนภาษาจีน ในโรงเรียนสอบภาษาและโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ทั้งที่โครงการนี้เป็นโครงการพิเศษขนาดใหญ่และเป็นความลับทางทหารและความมั่นคง ที่จะต้องใช้วิศกรที่เชี่ยวชาญกลับกลายเป็นครูสอนภาษาจีนได้อย่างไร

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังระบุอีกว่า โครงการนี้ มีการเบิกเงินล่วงหน้าไปแล้วกว่า 15% ตั้งแต่เมษายน 2564 ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 10 เดือน กลับยังไม่ปรากฎความคืบหน้าการก่อสร้างแต่อย่างใด

'สุทิน' เผยเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อน ส.ค.แน่นอน

วันเดียวกัน (27 ก.พ.) ไทยรัฐ รายงานว่า สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมรัฐสภาตีตกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 3 ร่าง จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หรือไม่ ว่า การที่เขาตีตกร่างกฎหมายลูกของฝ่ายค้านทำให้เห็นว่าไม่จริงใจในการปฏิรูปการเมือง ดูเหมือนจะทำให้การเมืองเดินไปสู่ทางตันดู เหมือนว่าจะวางกติกาทางการเมืองเองโดยไม่ฟังเสียงฝ่ายค้านเพื่อเอื้อประโยชน์ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงการจะคลี่คลายปัญหาทางการเมืองให้ประเทศเดินได้ เหล่านี้คือข้อหาที่เราไม่ควรไว้วางใจรัฐบาลทั้งสิ้น จึงเป็นมูลเหตุหนึ่งที่จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ เรารู้ล่วงหน้าว่าอนาคตประเทศจะเดินลำบากอีก สมควรหยิบยกเป็นเหตุในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ส่วนประเด็นที่ว่า จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อใด ทันทีที่เปิดสมัยประชุมวันที่ 22 พ.ค.เลยหรือไม่ นั้น สุทินกล่าวว่า ต้องดูเวลาเหมาะสม อาจเปิดมาแล้วดำเนินการเลยหรืออาจทอดเวลาหากมีเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่เป็นประโยชน์ของประชาชนในช่วงนั้น จะใช้สภาฯแก้ปัญหาให้ประชาชนก่อน ที่สุดแล้วต้องประเมินอีกครั้ง เมื่อถามว่าจะยื่นอภิปรายก่อนวันที่ 24 ส.ค. ที่นายกฯจะครบการดำรงตำแหน่ง 8 ปี นับตั้งแต่ยุค คสช.หรือไม่ สุทินกล่าวว่า เราคงต้องประเมินอีกครั้ง แต่มั่นใจการอภิปรายน่าจะเกิดก่อน ส.ค.แน่นอน

สุทินกล่าวอีกว่า เปิดประชุมสภาฯสมัยหน้าตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงจากปัจจัยหลายเรื่อง ทั้งการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี การพิจารณางบประมาณรายจ่าย วาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีนายกฯ และเรื่อง ส.ส.ออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ 21 คน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มต่อรองกันสูง แต่ละเรื่องระอุทั้งนั้น ช่วงนี้เริ่มต่อรองกันแล้ว ถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการอาจถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มบีบไข่กันแล้ว สมัยประชุมหน้าต้องใช้เสียงโหวตตึงเครียดทั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิอยู่ได้และไม่ได้ตลอดเวลา ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลหลับกลางอากาศมีพร้อม ส่วนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยยืนยันมี 260 เสียง ส.ส.อยู่ในมือ ไม่รู้ไว้ค้ำรัฐบาลหรือเอาไว้ขู่รัฐบาล มองว่า 260 เสียง หวังขู่นายกฯมากกว่า อย่าไปหลงตัวเลข 260 ถ้ายกมือให้ก็อยู่ได้ แต่ถ้าไม่ยกมือให้มีสิทธิไปได้เหมือนกัน ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยพร้อมทุกด้าน ถ้าคู่ต่อสู้อ่อนแอเมื่อใด อะไรก็เป็นไปได้ ยิ่งกล้าเลือกตั้งงูเห่ากลัวเหมือนกัน อาจไม่กล้าแผลงฤทธิ์ 260 เสียงคงไม่น่ามีถึงขนาดนั้นจริงๆ เอาไว้ขู่ฝ่ายรัฐบาลมากกว่า

ทร. ยันซื้อเรือดำน้ำ แบบ G to G ระบุ เครื่องยนต์ อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกัน เพื่อหาทางออก ย้ำความต้องการ ยังเป็นเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมัน

ขณะที่ วันนี้ (28 ก.พ.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าการดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 ของกองทัพเรือนั้น เป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G ) และมีการดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการในทุกขั้นตอน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และได้ผ่านการพิจารณาความถูกต้องด้านกฎหมายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนที่จะเสนอให้ ครม. อนุมัติให้ ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้แทน เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 ดังกล่าว สำหรับฝ่ายรัฐบาลจีน โดย The State Administration of Science, Technology and Industry for National Defense (SASTIND) ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาลจีนสำหรับการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งออกอาวุธ ได้มอบอำนาจให้บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) เป็นตัวแทนรัฐบาลจีนในการมาหารือเรื่องเทคนิคและราคา/เจรจาต่อรอง รวมทั้งลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือฯ กับกองทัพเรือไทย ในโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 1 ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องความคืบหน้าในการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำและข้อสงสัยที่ว่าผู้แทนบริษัท CSOC ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องหรือไม่ กองทัพเรือขอชี้แจงให้ทราบว่า การก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการบริหารสัญญา โดยกรมช่างโยธาทหารเรือ ในวงเงินทั้งสิ้น 857 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 และสิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย.66 รวม720 วัน ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 307 วัน โดยทางบริษัทได้เบิกล่วงหน้า 15 % เป็นเงิน 128 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเร่งรัดเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ จากการตรวจสอบปัจจุบันมีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถก่อสร้างเสร็จตามสัญญาก้อจะถูกปรับหรือยกเลิกสัญญา ในส่วนของผู้แทนบริษัท CSOC ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ จากบริษัท CSOC โดยถูกต้องโดยมีเอกสารสัญญาที่ชัดเจน โดยมี Lang Qingxu เป็นผู้บริหารโครงการ และมีนายจักรพงษ์ วงศ์ธนปกรณ์ เป็นวิศวกรโครงการ มีคุณวุฒิวิศวกรโยธาระดับสามัญ ส่วนบุคคลอื่น ๆ นั้น กรมช่างโยธาทหารเรือไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่โครงการก่อสร้าง

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำโดยไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเรือดำน้ำที่เยอรมันเป็นผู้ผลิต เนื่องจากเยอรมันไม่ออกใบอนุญาตการขายให้กับทางจีน แสดงว่ากองทัพเรือโดนหลอกทำสัญญาหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าในการทำข้อตกลงจ้างฯ นั้น กำหนดให้เรือดำน้ำแบบ S26T มีเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมันได้ จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Diesel Generator Set) ชัดเจน แต่เนื่องจากภายหลังเยอรมัน มีนโยบายการระงับการส่งออก(Embargo Policy) ซึ่งกำหนดให้เครื่องยนต์ดีเซลของเรือดำน้ำ เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุมการส่งออก ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ หรือเครื่องยนต์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเยอรมัน ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข เนื่องจากกองทัพเรือได้ยืนยันความต้องการเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมัน ตามข้อตกลงไปแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ทางจีนจะต้องทำตามข้อตกลง โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างกองทัพเรือกับบริษัท CSOC ในการหาทางออกแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ทั้งนี้การดำเนินการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามข้อตกลงจ้างฯ รวมทั้งระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยกองทัพเรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

พล.ร.ท.ปกครอง ยืนยันว่า กองทัพเรือมุ่งมั่นในการเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ เป็นที่พึ่งของประชาชน และบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งกระบวนการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นไปตามระเบียบราชการทุกประการ โดยยึดถือประโยชน์ของกองทัพเรือและประเทศชาติเป็นหลัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net