Skip to main content
sharethis

กว่า ‘ภาคเหนือ’ จะเป็น ‘ล้านนา’ ในภาพจำอย่างทุกวันนี้ ผ่านการสร้างและเปลี่ยนไปมากว่า 8 ทศวรรษนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่แหล่งทรัพยากร หญิงสาวงดงาม ภัยความมั่นคง จนถึงผีที่รัฐไม่รู้จัก ล้านนาจึงเป็น ‘ล้านนาที่เพิ่งสร้าง’

  • ภาคเหนือของไทยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกมองเป็นเพียงแหล่งไม้สักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเท่านั้น
  • หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาคเหนือถูกแปรเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และมีการชูภาพของสาวงามเมืองเหนือ จนกลายเป็นอัตลักษณ์ภาคเหนือในช่วงเวลานี้
  • การเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและสงครามเย็นทำให้ภาคเหนือเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากเป็นฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์
  • กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ประวัติศาสตร์ภาคเหนือผูกโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ส่วนกลางมีลักษณะเป็นท้องถิ่นนิยมราชาชาตินิยม
  • หลังการรัฐประหาร 2549 มุมมองที่กรุงเทพมีต่อคนเหนือเปลี่ยนไป เกิดกลุ่มก้อนที่ต่อต้านการรัฐประหาร กลายเป็นผีที่รัฐปลดปล่อยออกมา แต่รัฐกลับไม่รู้จักผีตนนี้

เพราะประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มีเส้นเรื่องซ้ำๆ เกี่ยวกับวีรบุรุษและราชธานี 4 แห่งทำให้พื้นที่อื่น ชนชั้นอื่นถูกละเลย บวกกับความสนใจส่วนตัวของภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่ต้องการสนทนากับประวัติศาสตร์ล้านนาหลังการปฏิวัติสยามต่อเนื่อง 8 ศตวรรษว่าถูกประกอบสร้างโดยสัมพันธ์กับแต่ละยุคอย่างไร ภิญญพันธุ์จึงทำการศึกษาชิ้นหนึ่งที่กำลังจะกลายเป็นหนังสือชื่อว่า ‘ล้านนาที่เพิ่งสร้าง’

สยามในฐานะเจ้าอาณานิคม

ภิญญพันธุ์ กล่าวว่าถ้าอธิบายแบบธงชัย วินิจจะกูลที่ว่ากรุงเทพไม่ต่างจากฝรั่งเศสหรืออังกฤษที่ลงมาแข่งขันแย่งชิงดินแดนในภูมิภาค มองจากมุมนี้สยามไม่ใช่ฝ่ายที่เสียดินแดน ล้านนาและหัวเมืองอื่นๆ ต่างหากที่เสียดินแดนโดยถูกผนวกเข้ากับกรุงเทพ

ก่อนปฏิรูปการปกครองปี 2430 สยามปฏิบัติกับประเทศราชเสมือนประเทศประเทศหนึ่ง ไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง ของเพียงส่งบรรณาการตามปกติ ความต้องการสร้างรัฐสมัยใหม่ทำให้สยามผนวกดินแดนประเทศราชเป็นหน่วยการปกครองหนึ่ง เจ้าผู้ปกครองเดิมยังคงเกียรติยศแต่ไร้อำนาจปกครอง เหมือนกับที่อังกฤษทำกับพม่าและอินเดีย

บรรยากาศวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ภาพจาก wikimedia.org)

“ก่อน 2475 รัฐบาลสยามไม่ได้มองว่า มณฑลต่างๆ เท่าเทียมกับกรุงเทพ ยังไงเมืองหลวงก็ยิ่งใหญ่กว่า เพราะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สำคัญที่สุดคือกษัตริย์ที่เมือง หลัง 2475 ไปแล้วผมคิดว่ามันมีไอเดียที่พยายามทำลายความสัมพันธ์แบบลำดับศักดิ์ คือยุบเลิกมณฑลทั้งหมดและทำให้เมืองต่างๆ กลายเป็นจังหวัด

“ทุกจังหวัดมีศักดิ์เท่าเทียมกัน แต่ละจังหวัดมีสิทธิที่จะมี ส.ส. ไปนั่งเป็นปากเป็นเสียง ซึ่งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีทางมี รัฐแต่งตั้งข้าราชการในนามของข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลที่ถูกส่งมาจากรุงเทพ ถ้าเราจะคุ้นกับทุกวันนี้คือผู้ว่าราชการจังหวัด มันคือกลไกเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ คือระบบของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มรดกของอาณานิคมสยามที่ตกทอดถึงทุกวันนี้ วิธีคิดแบบนี้ประเทศประชาธิปไตยไม่ใช้กันแล้ว”

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐไทยที่นำโดยคณะราษฎรพยายามสร้างเอกภาพที่ต่างจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นภาพแบบใหม่ที่มองมนุษย์เท่าเทียมกัน เป็นวิธีคิดแบบประชาธิปไตย แม้ว่าต่อมาจะล้มเหลวก็ตาม

สาวเหนือ

คณะราษฎรออกแบบการกระจายอำนาจ เช่น จัดให้มีสภาเทศบาลที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนเข้าไปนั่งในสภา ยุคปลายคณะราษฎรคาบเกี่ยวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาคเหนือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างไทย พม่า ไปยังอินเดีย ภาคเหนือถูกวางให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ตอนบนเพราะญี่ปุ่นต้องการยกกองทัพผ่าน หลายจังหวัดเป็นที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่น เช่น ลำปาง เชียงใหม่ สำหรับเดินทางเข้าเชียงตุงไปออกอินเดีย จนล่วงเลยถึงยุค ป.พิบูลสงคราม ขึ้นสู่อำนาจ ผสมความเป็นทหารนิยมก็ได้ทำการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอีกครั้ง

สภาพทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัฒนธรรม และการเดินทางที่สะดวกกว่าเนื่องจากมีรถไฟไปถึง ภาคเหนือจึงมี ‘จุดขาย’ ที่ถูกทำให้เป็น ‘จุดหมาย’ การเดินทางท่องเที่ยวหรือ Destination ซึ่งชัดเจนมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งที่ในมุมมองของสยามก่อน 2475 ภาคเหนือไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งไม้สัก ถึงขนาดตั้งกรมป่าไม้ที่เชียงใหม่ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งกรมกองนอกพื้นที่กรุงเทพ เห็นได้ชัดว่าสยามต้องการมีส่วนในทรัพากรป่าไม้ที่เดิมทีเป็นของเจ้าเมืองต่างๆ ด้วยการรวบอำนาจการจัดการมาที่สยามแทน

“ยังมีการสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้หญิงเหนือกลายเป็นสินค้าทางเพศ เช่น หลังคณะราษฎรเป็นต้นมามีการประกวดนามสาวสยาม ซึ่งเห็นชัดๆ ว่าคือการนำเรือนร่างของผู้หญิงมาเป็นจุดขายในงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในภาคเหนือจะมีการประกวดนางงามทุกฤดูหนาว บางทีก็จัดฉลองร่วมกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในจังหวัดต่างๆ ก็มีเวทีประกวดนางงาม ทำให้สาวงามที่อยู่ตามชนบทมีโอกาสเลื่อนสถานะผ่านเวทีประกวดนางงาม”

ภิญญพันธุ์ พบว่าคนท้องถิ่นเองก็ตอบรับกระแสความคิดนี้ ตระกูลนิมมานเหมินทร์ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อ คนเมือง ส่งขายในกรุงเทพ ทำให้ภาคเหนือกับสาวงามถูกรับรู้เป็นวงกว้าง สำทับด้วยการผลิตบทละคร เพลง เกี่ยวกับสาวเครือฟ้าออกมาเล่าซ้ำๆ

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องสาวเครือฟ้า ปี 2508 ที่ศาลาเฉลิมกรุง (ภาพจากhttp://bangkok.blogspot.com)

“ภาคเหนือถูกทำให้เป็นผู้หญิง ภาพลักษณ์ของภาคเหนือกลายเป็นดินแดนที่ชายหนุ่มในเมืองกรุงจะต้องไปเที่ยว ไปพิชิต ช่วงหลังสงครามโลกเป็นต้นมาภาคเหนือจึงเป็นหมุดหมายของแหล่งท่องเที่ยว หมุดหมายของการไปพบปะผู้หญิงและคนเหนือ”

นายทุนในพื้นที่ก็เห็นโอกาสตรง ภิญญพันธุ์ เล่าว่าในยุคนั้นร้านขายของที่ระลึกในเชียงใหม่และลำพูนมักจะนำผู้หญิงหน้าตาดีมาเป็นพนักงานขาย นางงามหลายคนที่ชนะการประกวดในจังหวะของตัวเองแล้วก็ถูกส่งมาประกวดที่กรุงเทพ

ภิญญพันธุ์คิดว่าภาพดังกล่าวถูกผลิตซ้ำมาถึงปัจจุบัน เพียงแต่ไม่ถูกขับเน้นมากเท่าในอดีต ภาคเหนือที่ถูกทำให้เป็นผู้หญิง เป็นภาพลักษณ์ของผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อรัฐ

ยุคสงครามเย็น หญิงสาวผู้กลายเป็นภัยความมั่นคง

ภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงของภาคเหนือจางหายไปเมื่อไทยเข้าสู่ยุคสงครามเย็น เหตุการณ์เสียงปืนแตกปี 2508 ยืนยันว่าคอมมิวนิสต์ไทยมีตัวตนอยู่จริงซึ่งรัฐไทยไม่ต้องการ เขตป่าเขาในภาคเหนือแปรเปลี่ยนเป็นภัยความมั่นคงเพราะถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท.

“มันชัดมากช่วง 6 ตุลาคม 2519 คนเข้าป่าไปจำนวนมาก ช่วงสงครามเย็นนี้การเผชิญหน้ากันของรัฐบาล กับพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้ภาคเหนือมีลักษณะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐอย่างชัดเจน เพราะ พคท. เป็นกองกำลังติดอาวุธ ดอยแห่งหนึ่งของพะเยาเคยเป็นศูนย์กลางของ พคท. ด้วยซ้ำ ก่อนที่จะย้ายไปภาคใต้”

รัฐบาลให้ความสำคัญมากกับการปราบคอมมิวนิสต์ ทั้งด้วยกำลังและ Soft Power เช่น การสร้างโรงเรียน การบริจาคสิ่งของเพื่อแย่งมวลชน ภิญญพันธุ์ยังพบว่ารัฐใช้กลไกสำคัญของอาณานิคมแบบสงครามเย็นซึ่งก็คือระบบราชการเป็นแกนกลางในการทำงานในพื้นที่

“สมัยเผด็จการณ์ ผู้ว่าทำงานแทบทุกอย่าง เป็นตัวแทนของรัฐเข้าไปจัดการต่างๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งด้วยซ้ำที่   สฤษดิ์ ธนะรัชต์ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ส.ส. ไม่มีแน่นอน คนที่นั่งในสภานิติบัญญัติคือคนที่แต่งตั้งขึ้น เราจะเห็นว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ เราไม่มีตัวแทนของประชาชนที่ถูกเลือกเข้าไปในสภาเลย

“ในระดับพื้นที่ก็ยังถูกควบคุมด้วยผู้ว่าฯ ผมเรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่า จังหวัดภิวัฒน์ เป็นการปกครองโดยการใช้จังหวัดเป็นตัวควบคุมอำนาจการจัดการพื้นที่ มีผู้นำคือผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่สั่งตรงได้จากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรงมหาดไทย จังหวัดต่างๆ จึงเติบโตขึ้นภายใต้การนำของผู้ว่าฯ จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้เวลานึกอยากให้จังหวัดพัฒนา เราจึงมักมุ่งหวังกับผู้ว่าฯ เพราะว่าฐานเดิมเป็นแบบนี้ ทั้งที่ในประเทศเจริญแล้ว นายก อบจ. ต่างหากที่เราควรจะคาดหวัง”

ท้องถิ่นนิยมราชาชาตินิยม

จวบจน พคท. พ่ายแพ้ กลางทศวรรษ 2520 ความตึงเครียดแบบเดิมคลายตัว ภิญญพันธุ์พบว่างานวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผลิตในช่วงสงครามเย็นดำเนินไปในกรอบ ‘ท้องถิ่นนิยมราชาชาตินิยม’ ที่ผูกติดอยู่กับกรุงเทพ ในบทสุดท้ายของหนังสือเขาตั้งชื่อว่า การกลายเป็นล้านนา อาณานิคมสงครามเย็นที่หวนกลับ

“เราจึงพบเรื่องราวต่างๆ ที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์กรุงเทพ คนที่ไปเชียงใหม่จะเห็นอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์คือ พญามังราย เชียงใหม่ พญางำเมือง พะเยา และพ่อขุนรามคำแหง ถามว่าทำไมต้องมี 3 กษัตริย์เพราะว่าคนที่สำคัญที่สุดคือพญามังราย ผมตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ด้านหนึ่งคือลดทอนความเป็นท้องถิ่นสุดโต่งลง เป็นการประนีประนอม และเป็นรูปธรรมที่สุดของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมราชาชาตินิยม”

การยอมอยู่ในกรอบท้องถิ่นนิยมราชาชาตินิยม ไม่แข็งขืนต่อเรื่องเล่าของส่วนกลาง เจ้านายทางเหนือผูกตนเองเข้ากับราชวงศ์จักรี สิ่งเหล่านี้ทำให้ประวัติศาสตร์ล้านนาเติบโตและไม่ถูกปราบปรามจากรัฐ

“มานั่งดูกันในเชิงเอกสารประวัติศาสตร์พบว่า จริงๆ ก่อนหน้านั้นมีการใช้คำว่าไทยลานนา ลานนา ล้านนามีการใช้น้อยมาก จนช่วงหนึ่งมีการถกเถียงว่าถ้าอ่านจารึกดีๆ คนอ่านว่าล้านนาคู่กับล้านช้าง มีการแปลคำว่าล้านนาเป็นทศลักษณ์ ชนะเขต แต่มันแปลว่าล้าน แปลว่าเอาเข้าจริงที่ผ่านมาคนเมืองเข้าใจผิดไปหมดเลยหรือ ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงจังด้านนิรุกติศาสตร์และด้านประวัติศาสตร์มากขึ้นว่า ล้านนาควรเป็นตัวตนที่ถูกต้อง ควรเป็นคำเรียกที่ถูกต้อง

ภาพ หอคำหลวง (ที่มาภาพ wikimedia.org)

“ในมุมมองของผม จุดพีคที่สุดจุดหนึ่งคือช่วงเชียงใหม่ฉลองครบรอบ 700 ปี ในปี 2539 กลายเป็นคำที่ทุกคนยอมรับ มันคือสิ่งที่ผมเรียกว่าการกลายเป็นล้านนา เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งทางการเมืองซาแล้วและไปพีคอีกทีตอนจัดงานพืชสวนโลก มีการสร้างหอคำคือพระราชวังแบบเดิมและถูกใช้เป็นแลนด์มาร์ค ของงาน แต่แทนที่หอคำจะเกี่ยวข้องกับล้านนา ไม่ใช่เลย ข้างในใจกลางหอคำแสดงความสำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความเห็นผมมันแสดงให้เห็นถึงท้องถิ่นนิยมราชาชาตินิยมอย่างชัดเจน”

ผีที่รัฐไม่รู้จัก

อีกข้อสังเกตหนึ่งคืองานพืชสวนโลกจัดในปี 2549 ปีเดียวกับที่มีการรัฐประหารในวันที่ 14 กันยายน จุดนี้ภิญญพันธุ์กล่าวว่าทำให้อาณานิคมสงครามเย็นหวนกลับมาอีกรอบ เพราะการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร ที่อ้างตนเองเป็นนายกฯ คนเหนือและคนเหนือเองก็ภาคภูมิใจ อัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกันก่อให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่าง

ภิญญพันธุ์กล่าวว่าหลังทักษิณถูกโค่นอำนาจ กระแสโหยหาให้กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่มากโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน จะเห็นว่าหลังปี 2549 มีการรวมกลุ่มทางการเมืองที่เรียกว่า เสื้อแดงเชียงใหม่ ทำให้ภาพลักษณ์คนเหนือที่เรียบร้อยเชื่องเชื่องในสายตาคนกรุงเทพเปลี่ยนไป

ผู้ชุมนุมรักเชียงใหม่ 51 ชุมนุมค้านถอนประกันตัวแกนนำ ที่หน้าอาคารศูนย์ราชการ ถ.โชตนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 9 ก.ค.52 

“เขาจึงพยายามเข้าไปควบคุมภาคเหนืออีกที แต่ภาคเหนือไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว กลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่ เสื้อแดงในภาคเหนือลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2557 มีการประชดที่รุนแรงมากในมุมมองของรัฐคือการแยกประเทศเป็น สปป.ล้านนา เขาคือกลุ่มที่รณรงค์เรื่องการเมืองประชิปไตย แต่ไปตีความว่า สปป.ล้านนา คือ สปป.ลาว เหมือนล้านนาจะแยกเป็นสาธารณะรัฐ มันยิ่งตอกย้ำความขบถที่รัฐบาลไม่คิดว่าจะเจอ

“รัฐบาลหรือกลุ่มทหารจึงพยายามกลับไปทำการควบคุมและสร้างกลไกที่เรียกว่า อาณานิคมแบบสงครามเย็นหวนกลับ ไม่ว่าจะเป็นการดีลกับนักการเมืองด้วยวิธีการต่างๆ การเข้าไปจัดการเลือกตั้งหรือตัดอำนาจ และล่าสุดในปี 2557 คือเข้าไปยุ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง”

ภิญญพันธุ์เปรียบการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ปล่อยผีออกจากกล่อง ซึ่งก็คือคนเหนือในมุมมองส่วนกลางไม่เคยคาดคิด การปราบเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 2553 ซึ่งทั้งคนอีสานและคนเหนือก็ไม่ต่างจากความรู้สึกที่กระทำต่อผีที่รัฐไม่รู้จัก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net