Skip to main content
sharethis

สภาทนายฯ ลงวันนัดไต่สวนมรรยาท "ทนายอานนท์" ในคดีที่ "ทนายอภิวัฒน์" ร้องถอนอาชีพทนายความของอานนท์หลังไปปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อ 3 ส.ค.2563 ทั้งสองฝ่ายขอสืบพยานบุคคลรวม 12 ปาก ทนายอานนท์ไม่กังวลชี้ถูกร้องเรียนเพราะเป็นเรื่องการเมืองแต่ตนเองเพียงแค่ใช้สิทธิเสรีภาพเท่านั้น

7 เม.ย.2565 เมื่อเวลา 10.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความ เดินทางไปที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมป์ตามนัดไต่สวนมรรยาททนายความหลังจากอภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความจากสำนักงานทนายความจากสำนักงานอัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และยังเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสภาทนายความฯ เพื่อให้ถอดถอนชื่อจากการเป็นทนายความ หลังอานนท์ปราศรัยเรียงร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์เมื่อ 3 ส.ค.2563

อานนท์ นำภาปราศรัยในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์เมื่อ 3 ส.ค.2563

อานนท์ให้สัมภาษณ์หลังการเสร็จสิ้นกระบวนการว่าวันนี้เป็นนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดไต่สวนพยานโดยให้ทั้งฝ่ายผู้ร้องและตนที่เป็นฝ่ายถูกร้องได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลที่จะนำเข้าให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนคดีมรรยาททนายความซึ่งกำหนดวันนัดไว้ทั้งหมด 6 วัน คือ 2 และ 20 มิ.ย.เป็นนัดสืบพยานฝั่งผู้กล่าวหา ส่วนการสืบพยานฝั่งผู้ถูกกล่าวหาคือ 18 ก.ค., 1 และ 22 ส.ค., 5 ก.ย.

อานนท์อธิบายกระบวนการต่อว่าหลังจากไต่สวนแล้วทางคณะกรรมการจะทำสำนวนและความเห็นส่งต่อให้คณะกรรมการมรรยาททนายความพิจารณาอีกชั้นก่อนประกาศผล ซึ่งเขาคาดว่าจะได้ทราบผลการพิจารณาว่าจะถูกถอดชื่อจากการเป็นทนายความหรือไม่ภายในปีนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าในคดีมีพยานมาเบิกความในประเด็นใดบ้าง อานนท์ระบุว่าทางฝ่ายผู้ร้องมีอภิวัฒน์ที่เป็นผู้ร้องและพยานอีก 2 คน ส่วนพยานของเขาเองจะมีนักวิชาการด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ รวมถึงทนายความรวม 10 ปาก

อานนท์กล่าวต่อว่าพยานของฝ่ายคนจะมาเบิกความในประเด็นว่าเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้นและไม่ได้เข้าข่ายเป็นการผิดข้อบังคับมรรยาททนายความ ทั้งนี้ตนไม่กังวลใจเพราะมองว่าที่อภิวัฒน์มาร้องเรียนถอนอาชีพทนายนี้เป็นเรื่องการเมือง

กรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2563 อภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความจากสำนักงานทนายความจากสำนักงานอัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และยังเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความที่สน.สำราญราษฎร์ให้ดำเนินคดีอานนท์ นำภาโดยกล่าวหาว่าในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮรี่ พอตเตอร์เมื่อ 3 ส.ค.2563 อานนท์ปราศรัยยุยง ปลุกปั่น บิดเบือน และล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

จากนั้นอีก 2 วันต่อมา 7 ส.ค.2563อภิวัฒน์เดินทางไปที่สภาทนายความฯ เพื่อร้องเรียนให้ทางสภาทนายฯ ดำเนินการลบชื่ออานนท์ออกจากทะเบียนทนายความเนื่องจากพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เพราะทำการบิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหาย และความชิงชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี

“ในฐานะที่นายอานนท์เป็นทนายความ แต่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของวิชาชีพ อีกทั้งสภาทนายความ ก็อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังนั้นจึงควรมีมาตรการลงโทษ โดยการลบชื่อนายอานนท์ ออกจากทะเบียนทนายความโดยเร็วที่สุด” อภิวัฒน์ระบุ

อีกทั้งในเดือนปีเดียวกันวันที่ 11 ส.ค.2563 ทนายความจากสำนักงานอัมพร ณ ตะกั่วทุ่งรายนี้ยังเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีอานนท์ถึงสภ.เมืองเชียงใหม่ด้วยข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะอีกด้วย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาในวันที่ 20 ส.ค.2563ตำรวจจากสน.ชนะสงครามได้เข้าจับกุมอานนท์หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจว่าความที่ศาลอาญา รัชดาฯ โดยแสดงหมายจับระบุไว้ 4 ข้อหาได้แก่ ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 เป็นผู้ร่วมจัดชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ.2558 ร่วมกันใช้เครื่องเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 และนำข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 จากเหตุชุมนุมแฮรี่ฯ ซึ่งคดีนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาคดีในศาลแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ไม่ได้มีการระบุถึงลักษณะการกระทำที่อยู่นอกเหนือการทำหน้าที่ทนายความอย่างการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและร่วมปราศรัยไว้ แต่มีการแบ่งหมวดมรรยาทไว้ 5 ลักษณะ

หมวดแรกมรรยาทต่อศาลและในศาล เช่น ทำเอกสาร พยานหลักฐานเท็จ ดูหมิ่นศาล รับเป็นทนายความขอแรงแก้ต่างให้กับผู้พิพากษ หมวดที่สองมรรยาทต่อตัวลูกความ เช่น ยุยงส่งเสริมให้ฟ้องร้องคดีกันในกรณีหามูลไม่ได้ การไม่หลอกหลวงว่าคดีจะชนะ อวดอ้างว่าตนมีความรู้มากกว่าทนายความคนอื่น อวดอ้างว่ามีพรรคพวกช่วยเหลือคดีได้ เปิดเผยความลับลูกความเป็นต้น จงใจขาดนัดหรือละเว้นหน้าที่เป็นต้น

หมวดที่สามมรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดีและอื่นๆ เช่นการแย่งหรือประมูลคดีที่มีทนายความคนอื่นรับทำไว้อยู่แล้ว การประกาศโฆษณาอัตราค่าจ้าง ตั้งชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่งหรือสำนักงานในเชิงโอ้อวดชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่างให้ หรือประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีหรือเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณทนายความ เป็นต้น

ส่วนหมวดที่สี่เป็นเรื่องมรรยาทการแต่งกาย หมวดที่ห้ามรรบาทในการปฎิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ ที่กำหนดให้ทนายความต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ คณะกรรมการสภา และคณะกรรมการมรรยาททนายความ รวมถึงข้อบังคับต่างๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net