Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อพูดถึงเรื่องอย่างสารเสพติดก็คงไม่พ้นที่จะกล่าวถึงหน่วยงานหนึ่งอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเน้นไปที่การจับกุมการปราบปรามผู้ค้าและเครือข่าย ทำลายแหล่งผลิตรวมถึงสกัดกั้นการส่งออกหรือนำเข้าสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตสารเสพติดและการนำผู้ใช้สารเสพติดเข้าสู่การบำบัดและกลับออกโดยใช้คำว่าคืนคนดีสู่สังคม โดยเป็นการดำเนินการในนามความมั่นคงของชาติ

ในประเทศไทยนั้นมีการจัดตั้งสถานฟื้นฟูและบำบัดผู้ใช้สารเสพติดของภาครัฐขึ้น โดยใช้คำอธิบายว่าผู้ใช้สารเสพติดนั้นไม่ใช่อาชญากรแต่เป็นผู้ป่วย โดยมีผู้ที่เข้ารับการบำบัดนั้นในปัจจุบันอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งมี 2 ช่องทางโดยคือการสมัครใจเข้าบำบัดด้วยตนเองหรือถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีสารเสพติดในร่างกายหรือครอบครองเพื่อเสพแล้วสมัครเลือกที่จะบำบัด ซึ่งเมื่อผ่านการบำบัดแล้วจะเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด โดยบำบัดนั้นจะก็จะมีทั้งการใช้สารต่างๆ ในการบำบัดเพื่อลดทดแทนการใช้สารเสพติดและกระบวนการทางจิตวิทยาและจิตเวชเพื่อรักษา การปรับเปลี่ยนความคิดและอารมณ์หรือก็คือการเน้นการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันทางความคิดและอารมณ์ของผู้บำบัด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการกลับใช้สารเสพติดซ้ำ (Relapse) ประมาณ 70 - 90 % ของผู้ที่ผ่านการบำบัดถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยองค์กรเหล่านี้ก็จะอธิบายของถึงสาเหตุการติดสารเสพติดโดยจะใช้คำว่าอธิบายว่าเกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจที่อ่อนแอ ปัญหาเกี่ยวกับด้านสมอง สารสื่อประสาทและพฤติกรรมและปัญหาทางด้านพันธุกรรมที่มีส่วนในการเสพติด โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้ใช้สารเสพติดก็คือ การถูกชวนชักจูง อยากรู้อยากลอง การเลียนแบบ ค่านิยมที่ผิด ครอบครัวขาดความรักความอบอุ่นและภาวะทางอารมณ์ที่เป็นปัญหา ซึ่งในประเทศไทยนั้นสามารถพูดได้เลยว่ามีผู้สารเสพติดในทุกพื้นที่จักหวัด ถ้าเชื่อตามคำอธิบายเรื่องสาเหตุการติดสารเสพติดและปัจจัยที่ส่งเสริมให้ใช้สารเสพติดนี้เป็นเรื่องจริงก็อาจจะบอกเป็นนัยได้ว่าทุกจังหวัดเป็นมีสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ถูกเรียกว่าเมืองหลวงหรือเมืองห่างไกล

ในประเทศไทยพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการบริหารที่มีที่มาจากภาษีของประชาชนมากที่สุดคือ พื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองฟ้าอมรเมืองเทพสร้าง การที่ได้รับงบประมาณมาเยอะที่สุด ก็ควรที่จะเป็นพื้นที่ที่ควรนำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี (Well Being) จากการเป็นพื้นที่ดึงทรัพยากรที่จะใช้พื้นที่อื่นมากที่สุด จนเป็นความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการกระจายงบประมาณ ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่งวัดถึงความล้มเหลวก็คือ พื้นที่ที่สาธารณะที่มีเพียง 2.60 % ต่อพื้นที่กรุงเทพ ฯ ทั้งหมด การขาดพื้นที่สาธารณะเท่ากับการขาดพื้นที่ทางสังคม ที่ให้ประชาชนได้ไปพักผ่อนหย่อนใจ ขาดพื้นที่ที่ให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมที่แสดงความสามารถแสดงตัวตนที่หลากหลาย เช่น การเล่นสเก็ตบอร์ดที่ต้องไปใช้พื้นที่ลานจอดรถของห้างเอกชนหรือกรณีล่าสุดอย่างหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะของคนหลากหลายกลุ่มและเป็นพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเกือบถูกปิดเพราะจะถูกตัดงบ การขาดพื้นที่สาธารณะรองรับประชาชนจึงเป็นปัญหา จากการสัมภาษณ์ผู้ที่ใช้สารเสพติด

“เวลาผมใช้ผงผมก็ไปจะเที่ยวห้าง ไปขับรถเล่น ไปทำกิจกรรมที่คนทั่วไปทำเวลาไปกับกลุ่มเพื่อนเพราะเวลาใช้ยาทำอะไรมันก็สนุกไปที่เดิมๆ ก็ไม่เบื่อเพราะถ้าไม่ใช้ยามันก็เพื่อเบื่อๆ ไม่รู้จะทำอะไร” 

 

(บอล นามสมมุติ อายุ 25 ปี)

จากคำสัมภาษณ์นี้ช่วยสะท้อนให้ถึงการขาดพื้นที่ที่ทำกิจกรรมเพราะเป็นการใช้สารเสพติดเพื่อปรับเปลี่ยนการรับรู้และอารมณ์ที่มีต่อพื้นที่เดิมที่น่าเบื่อและไม่ได้มีพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะช่วยให้เป็นคนแบบที่ ป.ป.ส สถานฟื้นฟูและบำบัด สังคมและรัฐคาดหวังไว้ นี้จึงเป็นตัวสะท้อนถึงโครงสร้างเมืองที่ไม่ได้คำนึ่งถึงสิ่งที่มักเรียกกันว่าพื้นที่เรียนรู้และใช้พัฒนาศักยภาพจึงมีคนมากมายที่ขาดและไม่สามารถเข้าพื้นที่ใช้พัฒนาศักยภาพที่จะให้พวกเขาสามารถจินตการถึงตัวเขาในแบบที่หลากหลายพร้อมกับมีพื้นที่รองรับพวกเขาให้ลองผิดลองถูก

(https://web.facebook.com/schooltownking/photos/a.103943804892036/347076690578745/)

ในภาพยนตร์สารคดี School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน ที่เล่าผ่านพื้นที่คลองเตยก็เป็นภาพที่ฉายให้เห็นปัญหาการที่คนเติบโตพื้นที่นั้นมันเรื่องยากมากที่ที่จะเติบโตมาเป็นคนแบบที่สังคมคาดหวัง การเติบโตในพื้นที่ที่ในสังคมใช้สารเสพติดยิ่งเป็นแรงผลักดัน ด้วยมนุษย์นั้นการที่ต้องโดดเดี่ยวนั้นเป็นอะไรที่น่ากลัว การที่ไม่ถูกนับให้อยู่ในกลุ่มหรือเป็นสมาชิกทางสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวตนของเขานั้นไม่มีความหมายเพราะการถูกยอมรับเป็นหนึ่งในสมาชิกทางสังคมช่วยให้เขามีความหมายและมีตัวตน ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ ช่วงวัยเด็กที่ไปโรงเรียนแล้วไม่มีเพื่อนไม่มีใครคบ ความโดดเดี่ยวนั้นทำให้เขาไม่มีความหมายไม่มีตัวตนในพื้นที่นั้น กระทั่งมีความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน การไม่ถูกนับให้เป็นสมาชิกทางสังคมนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ใครใคร่ปรารถนาให้เกิด แต่ในบริบทพื้นที่ที่มีการใช้สารเสพติดของกลุ่มทางสังคมซึ่งการที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสังคมนั้นการใช้สารเสพติดจึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเป็นสมาชิกทางสังคมซึ่งสิ่งที่เกิดนี้ มักถูกอธิบายจากองค์กรหรือสังคมว่า เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากค่านิยมที่ผิดหรือการถูกชักชวน แต่หากมองลึกไปกว่านั้น พื้นที่นั้นมีกลุ่มทางสังคมแบบใดที่ให้เขาเลือกไปเป็นสมาชิกทางสังคม จึงต้องตั้งคำถามว่ามีพื้นที่อื่นๆ หรือ กลุ่มทางสังคมอื่นหรือเปล่าที่ให้เขาเป็นสมาชิก เพื่อจะแสดงตัวตน เพื่อมีความหมายและรัฐได้แก้ปัญหาสิ่งนี้หรือส่งเสริมอะไรหรือไม่

นอกจากนี้ปัญหาระบบการศึกษาที่ไม่มีพื้นที่มีพื้นที่ให้ความหลากหลายของเด็กจึงกลายเป็นสิ่งที่เบียดขับเด็กที่มีความหลากหลายออกจากการศึกษาในระบบ ระบบการศึกษาไทยที่มีกรอบที่คับแคบและจำกัดทางเลือกและจินตนาการของเด็ก ซึ่งการศึกษาก็กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะเข้าสู่แหล่งงาน ดังนั้นการขาดเรื่องการศึกษาจึงไปจำกัดการเข้าถึงแหล่งงาน จนส่งผลให้โอกาสการเข้าถึงแหล่งงานลดลงซึ่งก็มีส่วนทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ค้า เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งงานที่จำกัดหรือแหล่งงานที่เข้าถึงนั้นค่าตอบแทนต่ำไม่เพียงพอใช้จ่าย การขายยาเสพติดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการมีรายได้ที่มากขึ้น 

นอกจากนี้การที่เป็นผู้ใช้และผู้ขายสารเสพติดที่ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ ปัญหาเรื่องการถูกตีตราเป็นคนเลวคนภัยสังคมและปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่พอหรือการหางานอื่นๆ ยาก ผนวกในช่วงรอบ 10 ปี เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมีอัตราว่างงานเพิ่มและค่าครองชีพที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น ความเครียด ความกลัวและความรู้ผิดต่อตนต่อคนรอบข้าง และการถูกกีดกันออกจากสังคม นำมาสู่การใช้สารเสพติดเพื่อลืมอารมณ์ความรู้สึกนั้นของตน ดังนั้นสารเสพติดจึงสัมพันธ์โครงสร้างสังคมที่มากระทบจนเกิดเกิดภาวะทางอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นสารเสพติดจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในเรื่องหันเหออกจากอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ต้องการหรือสร้างอารมณ์ความรู้ที่ต้องการโดยมีความสัมพันธ์กับเรื่องของการเข้าถึงพื้นที่หรือสิ่งที่สร้างความสุนทรียะบันเทิงเริงใจเพื่อผ่อนคลายหรือเร้าสร้างอารมณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นดั่งเขาวงกตที่ยากที่จะหาทางออกด้วยตนเอง หรือบางพื้นที่อย่างกรณีพื้นที่ที่มีการทำประมงก็มีการใช้สารเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท เพื่อให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามีแรงในการทำงาน เป็นการใช้เพื่อการทำงานเพื่อที่จะสามารถขูดรีดแรงงานตนเองได้ ซึ่งสังคมและรัฐมองผู้ที่ใช้สารเสพติดเป็นปัญหาสังคมโดยมองผ่านในนามของเป็นภัยต่อสังคม ความสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศในการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษา แต่ในทางกลับกันพวกเขาคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาของสังคมที่รัฐยังขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา 

ตั้งแต่ ป.ป.ส. จนถึงสถานฟื้นฟูและบำบัดผู้ใช้สารเสพติดของภาครัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการพยายามให้สารเสพติดนั้นหายไป โดยการทำลายแหล่งผลิตและสารตั้งต้น ทำลายเครือข่ายผู้ค้าและนำผู้ที่ใช้สารเสพติดที่ไม่เข้าเงื่อนไขไปดำเนินคดีโดยมีทั้งโทษปรับและจำคุก ส่วนผู้ที่ใช้สารเสพติดที่เข้าเงื่อนไขในการบำบัดนั้นก็นำเข้ารับการบำบัด โดยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตัวปัจเจกบุคคลเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปัญหายาเสพติด จึงไม่แปลกที่จะเกิดการกลับมาใช้สารเสพติดซ้ำ (Relapse) ในอัตราสูง เพราะสารเสพติดไม่หายไปจากสังคม และเงื่อนไขที่เอื้อหรือผลักดันในการใช้สารเสพติดยังดำรงอยู่ คือปัญหาเชิงโครงสร้างและเศรษฐกิจที่รัฐมีหน้าที่ดูแล นี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าผู้ที่ผ่านการบำบัดจึงกลับมาใช้สารเสพติดซ้ำ (Relapse) เพราะเมื่อผ่านการบำบัดแล้วก็กลับไปอยู่ในสังคมที่มีปัญหาจึงมีแนวโน้มกลับไปใช้สารเสพติด ดังนั้นการอธิบายถึงสาเหตุการติดสารเสพติดที่มุ่งไปตัวปัจเจกที่เป็นคนอ่อนแอขาดภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจ และการทำงานที่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐ 

วาทกรรมภัยความมั่นคงที่ทำให้ผู้ใช้สารเสพติดกลายเป็นภัยของชาติเป็นภาพแทนของภัยทางสังคมซึ่งเป็นการให้ภาพที่สุดโต่งอยู่ด้านเดียว จนเกิดการกีดกันต่างๆ กลายเป็นอคติ ซึ่งในนามภัยความมั่นคงที่ภาครัฐเสนอก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นสิ่งที่จงใจสร้างเพื่อที่รัฐจะได้ใช้อำนาจในนามความมั่นคงของชาติ สร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของรัฐเพื่อการเข้าจัดการสอดส่องควบคุมบางสิ่งบางอย่าง เช่น กรณีของชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเจ้าหน้าก็อ้างเรื่องของสารเสพติดทั้งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้เพื่อลดทอนคุณค่าของผู้ที่ถูกแขวนป้ายในเรื่องสารเสพติดและมีความชอบธรรมในสิ่งที่ตนกระทำ

ผู้คนเหล่านี้จึงเหมือนเดินอยู่เขาวงกตที่ถูกสร้างขึ้นและถูกบังคับให้ต้องเดินหาทางออกเพื่อที่จะกลายเป็นคนดีของสังคมตามที่ถูกคาดหวังไว้ หากเป็นเช่นนั้น ปัญหาอยู่ที่ไหน “คนสร้างเขาวงกต เขาวงกต การบังคับให้ต้องเดินไป การต้องออกไปให้ได้เพื่อเป็นคนดี การเป็นคนดีที่แบบสังคมต้องการ” ???

ท้ายที่สุดนี้ ความล้มเหลวของรัฐนั้นชัดเจนและใกล้ตัวเรา ความล้มเหลวนั้นจึงอยู่ในทุกมีมิติการดำเนินชีวิต เพียงแค่ลองออกไปเดินฟุตบาทคุณจะสัมผัสได้จากน้ำเน่าที่กระเด็นมากระทบตัวคุณ หรือสายไฟที่พันระโยงระยางที่เป็นตัวสะท้อนถึงปัญหาหาในประเทศนี้ได้ดีที่ทับซ้อนพันกันคดเคี้ยว คุณเคยได้สัมผัสถึงความรักจากเมืองนี้ไหม ที่ทำนองว่าโครงสร้างและระบบต่างๆ ถูกคิดออกแบบมาเพื่อดูแลคนในสังคม ถ้าจะต้องพาดพิงถึงก็ให้นึกอย่างประเทศญี่ปุ่นกระมังที่สัมผัสได้ถึงความรักโดยไม่พูดว่า “we love them all the same”


อ้างอิง 
กลุ่มงานวิชาการพยาบาล กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี. (2565). การป้องกันการกลับไปเสพซ้ำของผู้ป่วยยาเสพติด. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://tph.go.th/th/news/saraknaru_file/610110164358.pdf. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2565.

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงยุติธรรม. (2565 ). แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๕. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://www.oncb.go.th/Home/PublishingImages/Pages/ITA/main/plan%2065%20(final)_8-11-64.pdf. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2565.

นพ.วิโรจน์ วีรชัย นพ.อังกูร ภัทรากร นพ.ลํ่าซํา ลักขณาภิชนชัชและคณะ. (2565). ยาและสารเสพติด (Drugs and Addictive Substances). [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://training.dms.moph.go.th/rtdc/storage/app/uploads/public/59b/9e7/987/59b9e7987a64b874534736.pdf. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2565.

สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร. (2564). พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://www.prbangkok.com/th/news/detail/15/5930. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2565.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รัฐพล ก้อนคำ จบการศึกษา สาขาประวัติศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net