Skip to main content
sharethis

 

  • ปี 2564 สำนักการระบายน้ำกำหนดจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม จำนวน 63 จุดใน 27 เขต จากทั้งหมด 50 เขต เขตที่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุดคือ สาทร 3 จุด เขตที่มีจุดเฝ้าระวังมากที่สุดคือ จตุจักร 7 จุด โดยล้วนอยู่บนถนนสายหลัก 
  • แม้จะมีเขตที่ไม่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังหรือจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขังรวม 23 เขต แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำรอการระบายเลย เช่น เขตลาดพร้าวก็มีรายงานข่าวว่ามีน้ำท่วมขังเกือบทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก
  • นอกจากนี้ยังมีจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในความรับผิดชอบของสำนักงานเขตอีกกว่า 337 จุด โดยในปี 2563 ชี้ว่าจำนวนวันที่ฝนตกทั้งปี มีมากถึง 230 วัน และเกิดจุดน้ำท่วม 153 จุดทั้งปี
  • อีกหนึ่งปัญหาของการระบายน้ำไม่ทันก็คือขนาดของท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ สมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ระบุว่าท่อระบายน้ำเก่าของ กทม.มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 - 60 เซนติเมตร หากมีน้ำมามากหรือมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ก็จะระบายไม่ทัน
  • กรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำ 6,564 กิโลเมตร ในปี 2564 กรุงเทพฯ มีการล้างท่อระบายน้ำเพียง 493 กิโลเมตร เท่านั้นเอง หรือเพียง 7.51% ของความยาวท่อทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ 360 กิโลเมตร จ้างแรงงานชั่วคราว 70 คน ความยาว 61 กิโลเมตร และใช้รถดูดเลนของสำนักระบายน้ำ 8 คัน ความยาว 72 กิโลเมตร 
  • กรุงเทพฯ ใช้งบประมาณไปกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น เขื่อน อุโมงค์ระบายน้ำ หรือแก้มลิง ขณะที่การจัดการเล็ก เช่น การลอกท่อระบายน้ำ อันเป็นงานของสำนักงานเขต ซึ่งเป็นโครงข่ายในการระบายน้ำไปสู่โครงการขนาดใหญ่นั้น ได้รับงบฯ ไม่เพียงพอ

น้ำท่วมขังเป็นอีกหนึ่งปัญหาสะสมที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญแทบทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก 

อดีตผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร พยายามชี้ให้เห็นว่าน้ำที่ท่วมขังอยู่นั้น ไม่ใช่น้ำท่วม เป็นเพียง “น้ำรอการระบาย” ที่เพียงอดทนรอเวลา ปัญหาก็จะคลี่คลายไปได้เอง หรือแม้แต่ อัศวิน ขวัญเมือง ก็ยอมรับว่า “น้ำท่วมกับกรุงเทพฯ เป็นของคู่กัน”

หรือกรุงเทพฯ จะไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้เลย? 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจปัญหาน้ำรอการระบายของกรุงเทพฯ เส้นเลือดฝอยเป็นอย่างไร เส้นเลือดใหญ่เป็นอย่างไร กระดูกเป็นอย่างไร แล้วตกลงมีปัญหาที่ตรงไหนกันแน่ 

ปัญหาน้ำท่วมใน กทม. เป็นเรื่องธรรมชาติหรือคนทำให้เป็น

ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ เคยสงสัยไหมว่า ทำไมมันถึงท่วม ฝนตกหนักหรือว่ามาจากสาเหตุอื่น

ที่มาของปริมาณน้ำในกรุงเทพฯ นั้น มีทั้งจากน้ำฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพฯ เอง น้ำทุ่งที่ไหลมาจากพื้นที่ด้านตะวันออกและด้านเหนือของกรุงเทพฯ น้ำเหนือที่ไหลมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำทะเลหนุน ภาวะน้ำท่วมหรือน้ำรอการระบายนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อน้ำมีมากเกินกว่าที่แหล่งรองรับน้ำหรือทางระบายน้ำจะรับได้ทันในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งความสามารถในการรองรับและระบายน้ำ ก็ขึ้นอยู่กับทั้งลักษณะทางกายภาพของผังเมืองและระบบระบายน้ำ และสภาพทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานครเอง

โดยรายงานแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครประจำปี 2564 ของสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่าผังเมืองที่ขาดการควบคุมทำให้เมืองไม่มีแหล่งรองรับน้ำ และมีขนาดท่อระบายน้ำที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างเล็ก ซึ่ง สมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ระบุว่าท่อระบายน้ำเก่าของ กทม.มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 - 60 เซนติเมตร หากมีน้ำมามากหรือมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ก็จะระบายไม่ทัน

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบางเขตในกรุงเทพฯ ก็มีส่วนทำให้การระบายน้ำลำบากขึ้น กรุงเทพฯ มีแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง โดยฝั่งธนบุรีเป็นพื้นที่ดอน ขณะที่ฝั่งพระนครเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่บางส่วนมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ หากเป็นพื้นที่ระดับความสูงปกติ น้ำจะไหลลงคูคลองหรือแหล่งระบายน้ำ ไปรวมกันในอุโมงค์ระบายน้ำ ก่อนจะถูกสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากอยู่ในพื้นที่ต่ำก็ระบายลงคลองไม่ได้ ถือเป็นปัญหาระยะยาว 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่หลายคนอาจลืมคำนึงถึง คือ แผ่นดินกรุงเทพฯ ที่ทรุดตัวลงทุกปี จากสถิติที่กรมแผนที่ทหารสำรวจมาตลอด 30 ปี ระหว่างปี 2521-2551 พบว่า กรุงเทพฯ ทรุดตัวสะสมปีละ 2-3 เซนติเมตร โดยปัจจุบัน กรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น ขณะที่รายงานของกรีนพีซระบุว่า พื้นที่ในกรุงเทพฯ มากกว่า 96% เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจมน้ำภายในปี 2573

จะเห็นได้ว่าปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ มีสาเหตุทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ อย่างน้ำฝน น้ำหลาก น้ำทะเลหนุน และสาเหตุจากมนุษย์เองอย่างปัญหาผังเมือง โครงสร้างการระบายน้ำ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนทำกรุงเทพฯ หนีไม่พ้นจากปัญหาน้ำท่วมได้เสียที 

จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง แต่จุดไม่เสี่ยง ไม่ต้องเฝ้าระวังก็ท่วมเหมือนกัน 

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ ปี 2564 พบว่าในพื้นที่ 50 เขตของ กทม.นั้นมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ที่แม้ฝนตกไม่ถึง 60 มิลลิเมตร ก็ทำให้น้ำท่วมอยู่ 12 จุด โดยลดลงจาก 14 จุดในปี 2563 ซึ่งจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่ลดลง 2 แห่งนี้อยู่ใน เขตจตุจักร ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร และ เขตมีนบุรี ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวา ถึงคลองแสนแสบ ขณะที่จุดเฝ้าระวังในปี 2564 มี 51 จุด ลดลงจาก 56 จุด อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม.

จากจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและจุดเฝ้าระวังที่สำนักการระบายน้ำระบุนั้น ล้วนอยู่บนถนนสายหลัก ซึ่งเป็นนโยบายของ กทม.ที่เน้นการระบายน้ำในถนนสายหลักให้รอดก่อน ส่วนตรอก ซอย ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นก็ยังมีจุดเสี่ยงอยู่เช่นกัน โดยจุดเสี่ยงที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขตมี 142 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต 132 จุด กล่าวได้ว่าในพื้นที่ กทม.นั้น มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมรวมถนนสายหลัก ตรอก ซอยกว่า 337 จุด นอกจากนี้จากการรายงานของสำนักการระบายน้ำ สถิติในปี 2563 ชี้ว่าจำนวนวันที่ฝนตกทั้งปี มีมากถึง 230 วัน และเกิดจุดน้ำท่วม 153 จุดทั้งปี

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า เขตที่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุดก็คือสาทร 3 จุด รองลงมาก็คือราชเทวีและบางแคเขตละ 2 จุด ในขณะที่เขตที่มีจุดเฝ้าระวังมากที่สุดนั้น คือจตุจักร 7 จุด รองลงมาคือดินแดง 6 จุด และพญาไท 5 จุด หากพิจารณาจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนจะพบว่า เขตทั้งหมดนี้ที่มีทั้งจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังจำนวนมากเป็นเขตที่มีปริมาณน้ำฝนมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะพญาไทที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ และหากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนคลองรายเขต ซึ่งจะเป็นแหล่งในการปล่อยน้ำในช่วงเวลาที่เกิดฝนตกก็จะพบว่าพญาไทและราชเทวีนั้นมีจำนวนคลองเพียงแค่เขตละ 1 คลองเท่านั้นเอง โดยที่ทั้งพญาไทและราชเทวีอยู่ในเขตอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่คืออุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน และพญาไทก็ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเล็กด้วยอีกหนึ่งอุโมงค์

และแม้จะมีการแก้ไขและพยายามลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังไปแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ไม่อาจแก้ไขได้ อาทิ เขตห้วยขวาง บริเวณซอย อสมท. ซึ่งในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอในปี 2563 รถยนต์หลายคันจมน้ำไปครึ่งคันเนื่องจากน้ำท่วมขังเพราะฝนตกหนัก อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นของเอกชน ซึ่ง กทม.ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ หรือในกรณีของเขตที่เชื่อมต่อกับพื้นที่จังหวัดอื่น อย่างพื้นที่ซอยแบริ่งหรือสุขุมวิท 107 ซึ่ง อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้ว่าเป็นพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งต้องสูบน้ำออกไปยังคลองสำโรง ปัญหาน้ำรอการระบายใน กทม. จึงแก้ไขได้เป็นหย่อมๆ เท่าที่ กทม.จะเข้าถึงพื้นที่ได้

หรือเขตที่มีจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังตามจำนวนที่กรุงเทพฯ รายงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะมีจุดน้ำท่วมมากกว่านั้นเมื่อเกิดฝนตกอย่างหนัก เช่น ในเขตห้วยขวาง ที่ตามรายงานแล้วมีจุดเฝ้าระวังเพียงหนึ่งจุด แต่จากการรายงานข่าวในช่วงวันที่มีฝนตกหนักในแต่ละครั้งมักจะพบว่า มีจุดที่มีน้ำท่วมขังมากกว่าหนึ่งจุด ไม่ว่าจะเป็น ซอยประชาอุทิศ ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ หลายจุดบนบนนรัชดาภิเษก โดยเฉพาะอุโมงค์ห้วยขวาง ฯลฯ 

นอกจากนี้เขตที่ไม่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังหรือจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำรอการระบายเลย เช่น เขตลาดพร้าว ที่ไม่มีจุดเสี่ยงหรือจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมเลย แต่ก็ปรากฏตามรายงานข่าวว่ามีน้ำท่วมขังเกือบทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก 

จะเห็นได้ว่าแม้จะมีการรายงานว่าในปี 2564 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมลดลงถึง 2 จุด และจุดเฝ้าระวังลดลงถึง 5 จุด แต่ในขณะเดียวกันยังมีจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต กว่า 337 จุด ที่ยังไม่มีรายงานตัวเลขลดหรือเพิ่ม และจากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ในแต่ละครั้ง เราก็จะได้เห็นว่ามีจุดที่น้ำท่วมขังมากกว่าจำนวนที่กรุงเทพฯ รายงานไว้เสมอ

ฝนตกลงมาแล้วไปไหน ปัจจุบัน กทม.สู้กับน้ำอย่างไร

กรุงเทพฯ ใช้ระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่เรียกว่า “ระบบพื้นที่ปิดล้อม” (polder system) ซึ่งเริ่มใช้หลังอุทกภัยใหญ่ปี 2538 โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ระบบป้องกัน มีไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง และ ระบบแก้ไข มีไว้เพื่อระบายน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำฝน


 

  1. ระบบป้องกัน

เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมจากน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง โดยการทำคันกันน้ำป้องกันน้ำท่วม เพื่อป้องกันน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง กล่าวอย่างง่ายคือ มีไว้เพื่อป้องกันน้ำริมตลิ่ง น้ำจากเจ้าแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะบ่าล้นเข้ามาในพื้นที่ กทม. วิธีนี้เริ่มใช้หลังอุทกภัยปี 2526 โดยสร้างแล้วเสร็จในปี 2528 ความยาว 72 กิโลเมตร ความสูง +3.00 ม.รทก. ซึ่งในระหว่างนี้คันกั้นน้ำมีการทรุดตัวลดลง จนกระทั่งหลังอุทกภัยปี 2554 ได้เสริมคันกั้นน้ำเพิ่มอีก ทั้งยังยกระดับถนนเป็นคันกันน้ำเพิ่มเติมในเขตคลองสามวา และสร้างทำนบกันน้ำ 5 แห่ง

ปัจจุบันแนวป้องกันน้ำท่วมมีอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระ และคลองพระโขนง มีความยาวริมตลิ่ง 87.93 กิโลเมตร เป็นแนวป้องกันตนเอง 9 กิโลเมตร และที่สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ยาว 78.93 กิโลเมตร ซึ่งแนวป้องกันที่มีอยู่นั้นก็ไม่ได้ป้องกันได้อย่างหมดจด กล่าวคือยังต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำทะเลหนุนอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ดังนั้นในช่วงเฝ้าระวังยังต้องใช้กระสอบทรายได้เรียงไว้เป็นแนวป้องกันชั่วคราว

  1. ระบบระบายน้ำ

เป็นระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำฝน ปัจจุบันขีดความสามารถของระบบระบายน้ำสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนตกสะสมรวมได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตรใน 1 วัน (ใน 1 วันโดยเฉลี่ยแล้วฝนตกประมาณ 3 ชั่วโมง) หรือความเข้มข้นของฝนไม่เกิน 58.7 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยมีระบบระบายน้ำต่างๆ ไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย ได้แก่

2.1 ท่อระบายน้ำ ความยาว 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนสายหลัก 2,050 กิโลเมตร ในตรอก ซอย ยาว 4,514 กิโลเมตร มีขนาดมาตรฐานมีตั้งแต่ขนาด 30 เซนติเมตร ถึง 1.50 เมตร หากท่อไหนมีขนาดเล็กราวๆ 30 เซนติเมตรหรือ 60 เซนติเมตร นั้นคือระบบท่อเก่าที่สร้างมานานแล้ว แม้ภายหลัง กทม.จะรื้อระบบท่อใหม่ ขยายมาเป็น 1.20-1.50 เมตรก็ยังระบายน้ำได้ไม่หมด เพราะแนวถนนไม่ได้มีเพียงท่อระบายน้ำ แต่ยังมีทั้งท่อสาธารณูปโภค สายไฟ สายโทรศัพท์ ดังนั้นวิธีแก้อีกทางคือการขุดลอกท่อระบายน้ำ ซึ่ง กทม.มีการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำอยู่เป็นประจำเพื่อให้น้ำระบายไปสู่คลองได้เร็วขึ้น ซึ่งปัญหาที่พบอยู่เป็นประจำในระหว่างลอกท่อ คือก้อนไขมัน เศษหิน เศษวัสดุก่อสร้าง เศษทรายที่สะสมอยู่ในท่อ ทำให้น้ำระบายได้ไม่มีประสิทธิภาพ 

ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง และการลอกท่อระบายน้ำนั้นเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะสิ่งอุดตันที่สะสมอยู่ในท่อที่ทำให้การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ขนาดและจำนวนของท่อที่ไม่สัมพันธ์กันกับการเติบโตของจำนวนอาคารบ้านเรือนที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการหยิบยกนโยบาย 

‘การลอกท่อ’ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยในปัจจุบันนั้นทุกสำนักงานเขตจะมีโครงการการลอกท่อทุกปี โดยแต่ละเขตก็จะได้รับงบฯ ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับพื้นที่และความยาวท่อในเขตนั้นๆ (หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ) อย่างในงบฯ ปี 2564 เขตยานนาวาใช้งบฯ 2,541,900 บาท ในการลอกท่อจำนวน 47 ซอย หรือเขตดุสิต ใช้งบฯ 1,146,000 บาท ในการลอกท่อ 61 ซอย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากการสะสมสิ่งอุดตันของท่อระบายน้ำแล้ว จะพบว่าแต่ละเขตนั้นไม่สามารถ ‘ลอกท่อ’ ได้ทั้งหมดในปีงบประมาณเดียว ด้วยความจำกัดของงบฯ อย่างเขตบางกอกใหญ่ ซึ่งมีทั้งการใช้แรงงานเขตและรถดูดเลนในการลอกท่อจำนวน 23 ซอย ความยาว 9,837 เมตร และอีก 21 ซอย ความยาว 19,232 เมตร ซึ่งว่าจ้างกรมราชทัณฑ์หรือบริษัทเอกชนในการลอกท่อ ใช้งบฯ 1,212,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการมีกำนดระยะเวลาในการทำทั้งปี แต่เมื่อดูแผนที่ปฏิบัติงานลอกท่อทั้ง 44 ซอย ความยาวรวม 29,069 เมตรแล้ว ก็พบว่าเป็นเพียงพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของเขตเท่านั้น

และในภาพรวม ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำในปี 2564 ระบุว่ามีการล้างท่อระบายน้ำเกือบทั้งปี เริ่มตั้งแต่ธันวาคม 2563 - พฤษภาคม 2564 แต่สามารถทำได้เพียง 493 กิโลเมตร เท่านั้นเอง หรือเพียง 7.51 % ของความยาวท่อทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ 360 กิโลเมตร จ้างแรงงานชั่วคราว 70 คน ความยาว 61 กิโลเมตร และใช้รถดูดเลนของสำนักระบายน้ำ 8 คัน ความยาว 72 กิโลเมตร 

ปัญหาของการลอกท่อในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังนั้น จึงไม่ได้มีเฉพาะเรื่องสิ่งสะสมอุดตันในท่อ หรือการไม่ลอกท่อ แต่ยังเป็นปัญหาเรื่องงบฯ ไม่เพียงพอ ที่ทำให้แต่ละเขตไม่สามารถลอกท่อได้เต็มพื้นที่เขตในแต่ละปีอีกด้วย 

2.2 คูคลองระบายน้ำ 1,980 สาย ความยาว 2,743 กิโลเมตร แต่ละคลองมีกำหนดให้ขุดลอกทุก 2-3 ปีต่อครั้ง นอกจากนี้ กทม.ชี้ว่ามีการเก็บขยะผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับน้ำและระบายน้ำในคลองเมื่อมีฝนตก 

คูคลองเป็นอีกหนึ่งระบบในการระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ นอกจากการแก้ไขโดยการขุดลอกคูคลองเช่นเดียวกันกับขุดลอกท่อแล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างของคูคลองก็คือ การไม่สามารถขยายจำนวนได้เหมือนดังท่อระบายน้ำ ทำให้เขตที่มีจำนวนน้ำฝนสูง และถึงแม้จะอยู่ในเขตที่มีอุโมงค์ระบายน้ำ แต่เมื่อมีจำนวนคลองที่จะระบายน้ำลงไปน้อยก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมขังได้ ดังเช่น ราชเทวีและพญาไท 

นอกจากนั้นยังอาจรวมไปถึงปัญหาเรื่องระบบท่อรวมของกรุงเทพฯ อีกด้วย ที่รวมทั้งน้ำทิ้งจากน้ำฝนและน้ำทิ้งจากแหล่งชุมชน 

2.3 อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำ ช่วยในกรณีที่ท่อระบายน้ำ คู คลองไม่สามารถระบายน้ำได้ กล่าวคือท่อระบายน้ำกับคลองอยู่ในระดับเดียวกัน แม้ว่าจะถนนจะไม่ท่วมแล้ว แต่ชุมชนที่อยู่ริมคลองจะท่วมแทน เพราะกำลังในการสูบน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยายังเท่าเดิม ดังนั้นการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจึงช่วยส่วนนี้ได้โดยตรง เพราะอุโมงค์จะเร่งระบายน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ผ่านระบบคลอง ปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างเสร็จแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร ประสิทธิภาพการระบายน้ำ 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และกำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 6 แห่ง ความยาว 39.625 กิโลเมตร ประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวม 238 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเล็กนั้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในจุดเสี่ยงน้ำท่วมในถนนสายหลัก ซึ่งจะรับน้ำจากท่อระบายน้ำในถนน ระบายผ่านอุโมงค์ มาสู่คลอง และส่งไปยังสถานีสูบน้ำเพื่อรอปล่อยน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ปัจจุบันมีจำนวน 4 แห่ง ความยาว 6.10 กิโลเมตร ขีดความสามารถในการระบายน้ำคือ 20.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ประเด็นเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงทุกครั้งเมื่อมีน้ำท่วมในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะปัญหาที่ว่าแล้วน้ำจากการที่ฝนตกลงมาอย่างหนักจะไปถึงอุโมงค์ระบายน้ำได้อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาของท่อ ระบบท่อระบายน้ำ ที่ทำให้น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ ซึ่งมีการกล่าวโทษว่าการลงทุนทำอุโมงค์ขนาดยักษ์ด้วยงบฯ มหาศาลนั้นสูญเปล่าเมื่อเกิดฝนตกหนัก แต่กลับไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ 

2.4 โครงการแก้มลิง โดยการจัดหาบึง สระ เป็นที่รองรับน้ำ (ในที่นี้รวมถึงบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน หรือ water bank ที่ กทม.เรียก) ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่มีฝนตกหนักและนำน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ในแก้มลิงชั่วคราว เมื่อน้ำในคลองมีสภาพปกติ จึงค่อยระบายน้ำออกจากแก้มลิงไปท่อระบายน้ำ คลอง แม่น้ำ สู่สถานีสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป โดยปัจจุบันมีแก้มลิง 32 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 13.42 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีบ่อหน่วงน้ำใต้ดินที่เพิ่งสร้างเสร็จไป 2 แห่ง คือ water bank บริเวณสน.บางเขน และ water bank ปากซอยสุทธิพร 2 

2.5 ระบบสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำท่วมขังออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน กทม. มีสถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง บ่อสูบน้ำ 329 แห่ง โดยขีดความสามารถคือ 2467.69 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่พร้อมใช้งานชนิดไฟฟ้าและเครื่องยนต์ทั่ว กทม. จำนวน 483 จุด รวม 1,121 เครื่อง ปริมาตรการสูบน้ำทั่วกรุง 806.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งในส่วนของประตูระบายน้ำนั้น ปัญหาที่พบคือบางจุดยังใช้ระบบเปิด - ปิดด้วยแรงงานจน บางครั้งจะไม่ทันสถานการณ์ 

หรือในกรณีความผิดพลาดที่เกิดจากคน ความพร้อมในการประสานงานของส่วนราชการ เช่นกรณีน้ำท่วมขังพื้นที่บางเขนเมื่อปี 2561 ที่ กทม.ไม่สามารถเปิดเครื่องสูบน้ำในบริเวณดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีกุญแจซึ่งอยู่ที่ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน และในเวลาดังกล่าวผู้รับเหมาไม่ได้อยู่ในพื้นที่

ทั้งหมดจะเห็นได้ว่าปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้นเป็นปัญหาที่พัวพันเป็นดั่งงูกินหาง ที่ต้องทำทั้งนโยบายเฉพาะหน้าให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง เช่น ลอกท่อ ลอกคลอง ไปจนถึงนโยบายการวางแผนในอนาคตที่ทั้งอุโมงค์ระบายน้ำหรือแก้มลิงจะต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมไปถึงการเตรียมการไม่ให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจมน้ำอีกด้วย 

ส่องโครงการและงบฯ แก้ปัญหาน้ำท่วม

สำหรับงบฯ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ นั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ก้อนด้วยกัน คือ 1) งบฯ กลาง 2) งบฯ โครงการของสำนักการระบายน้ำ และ 3) งบฯ รายเขต 

ในส่วนของงบฯ กลางนั้นเรียกว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับกรณีน้ำท่วมประจำปีและแผนงานเร่งด่วนเพิ่มเติมระหว่างปี โดยในปี 2564 ตั้งงบฯ ไว้จำนวน 125,000,000 บาท และอาจได้รับงบเพิ่มอีก อาทิ เงินยืมสะสม ใช้ในกรณีที่งบกลางประเภทสำรองจ่ายไม่เพียงพอ รวมถึงเงินอุดหนุนรัฐบาลสำหรับโครงการหรือแผนงานที่กำหนดโดยคณะพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น โดยในปี 2564 ได้รับงบประมาณ 518,860,400

ต่อมาในส่วนของงบฯ โครงการของสำนักการระบายน้ำ ในปี 2564 สำนักการระบายน้ำได้รับงบฯ จำนวน 4,998,444,315 บาท ซึ่งได้แบ่งเป็น สำนักงานพัฒนาระบบระบายน้ำ จำนวน 1,829,234,027 บาท กองสารสนเทศระบายน้ำ จำนวน 254,296,800 บาท กองเครื่องจักรกล จำนวน 267,664,436 บาท สำนักงานระบบควบคุมน้ำ จำนวน 1,071,721,252 บาท กองระบบท่อระบายน้ำ จำนวน 720,420,300 บาท และกองระบบคลอง จำนวน 855,107,500 บาท 

โดยหากดูเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างทางวิศวกรรม และการลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมของกรุงเทพฯ มีโครงการที่ปรากฏในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม.ปี 2564 ที่ได้รับงบประมาณทั้งหมด 32 โครงการ เป็นเงิน 2,237,491,879 บาท และสามารถแยกประเภทได้ดังนี้

โครงการเกี่ยวกับการสร้างและปรับปรุงเขื่อน 11 โครงการ เช่น “โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะ ถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์” ความยาว 10,700 ม. โดยได้รับงบในปี 64 จำนวน 124,377,600 บาท โครงการดังกล่าวครอบคลุมจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง ถนนเทศบาลสงเคราะห์ คลองประปา - คลองเปรมประชากร ในพื้นที่เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความลึกและความจุปริมาณน้ำในคลองเปรมประชากรมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการสัญจรทางน้ำและการระบายน้ำในคลอง

โครงการเกี่ยวกับอุโมงค์ระบายน้ำ 6 โครงการ อาทิ “โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.7 เมตร ระยะทาง 13 กม. ครอบคลุมพื้นที่เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตจตุจักรโดยได้รับงบในปี 64 จำนวน 5,760,000 บาท ซึ่งโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขังในเขตจตุจักรหลายจุด ซึ่งจะแล้วเสร็จปี 2569

โครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างและปรับปรุงแก้มลิง 2 โครงการ อาทิ “โครงการก่อสร้างแก้มลิงสวนเบญจกิติ” ได้รับงบในปี 2564 จำนวน 93,000,000 บาท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตคลองเตย ที่มีจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 3 จุด ภายในยังมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และระบบบำบัดน้ำเสีย เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณถนนรัชดาภิเษก ช่วงถนนสุขุมวิทถึงถนนพระราม 4 และบริเวณซอยสุขุมวิท 16

โครงการเกี่ยวกับระบบระบายน้ำ 4 โครงการ อาทิ “โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำด้านใต้คลองภาษีเจริญ ถึงคลองสนามชัย (ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และเขื่อน ค.ส.ล. คลองระหาญ)” งบ 93,943,087 บาท ครอบคลุมจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังอย่าง ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2 - ถนนบางขุนเทียนชายทะเล ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์ “มหานครปลอดภัย” ที่มีเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครปลอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

โครงการเกี่ยวกับท่อส่งน้ำ และโครงการประตูระบายน้ำ อย่างละ 1 โครงการ รวมถึงโครงการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 7 โครงการ อาทิ “โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ สถานีสูบน้ำคลองจิก” งบ 40,000,000 บาท ในเขตบางกะปิ เป้าหมายโครงการคือสามารถระบายน้ำในแนวถนนรามคำแหงฝั่งขาออกตั้งแต่ซอยรามคำแหง 75 ถึง 83 และรามคำแหงฝั่งขาเข้าตั้งแต่ซอยรามคำแหง 26 ถึง 36 ครอบคลุมจุดเฝ้าระวังถนนรามคำแหง ช่วงมหาวิทยาลัยรามคำแหง และถนนศรีนครินทร์แยกลำสาลี-ถนนกรุงเทพกรีฑา ปัจจุบันสร้างไปได้กว่า 85% แล้ว

และส่วนสุดท้ายคืองบฯ รายเขต ที่มีทั้งโครงการก่อสร้าง เขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) ซึ่งไม่มีทุกเขต โดยในปีงบฯ 2564 ปรากฏงบฯ ดังนี้ เขตบางคอแหลม จำนวน 37,646,500 บาท เขตพระโขนง 2 โครงการ จำนวน 14,740,000 บาท เขตบางกอกใหญ่ จำนวน 10,642,200 บาท และเขตยานนาวา จำนวน 7,967,100 บาท

ซึ่งโครงการก่อสร้าง เขื่อน ค.ส.ล. จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่ง อาทิ “โครงการก่อสร้าง เขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) คลองต้นไทร ซอยเพชรเกษม 7” ของเขตบางกอกใหญ่ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเป็นเกาะ และมีการทรุดตัวของพื้นดินทุกๆ ปี อีกทั้งยังอยู่ในอิทธิพลของการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ดังนั้นการสร้างเขื่อนบริเวณดังกล่าวจะช่วยระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าว 

หรือ “โครงการก่อสร้าง เขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) คลองบางโคล่สาร จากถนนพระรามที่ 3 ถึงจุดที่กําหนดให้” ของเขตบางคอแหลม โดยคลองบางโคล่สารมีความยาวกว่า 1,250 เมตรซึ่งการสร้างเขื่อนกั้นริมคลองจะช่วยป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งที่มีความยาวเช่นนี้ได้ดี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากถนนพระรามที่ 3 ซึ่งมีจุดเฝ้าระวังจำนวน 1 จุดด้วย หรือแม้แต่โครงการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่เขตพระโขนง จากเดิมทีท้องคลองบริเวณสถานีสูบน้ำลึกมาก จนเป็นเหตุให้เขื่อนเดิมที่ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลานาน ไม่สามารถรองรับการป้องกันตลิ่งได้ จนเกิดการเคลื่อนตัวชำรุดเสียหาย ส่งผลให้น้ำจากคลองพระโขนงเข้าท่วมพื้นที่ ทำให้ประชาชนที่พักอาศัยริมคลอง ได้รับความเดือดร้อน ถึงแม้ว่าเขตพระโขนงจะไม่ได้มีจุดเสี่ยงหรือจุดเฝ้าระวังเลยก็ตาม แต่พื้นที่บริเวณเขตพระโขนงติดกับเขตสวนหลวง ซึ่งมีจุดเฝ้าระวังจำนวน 2 จุด ดังนั้นการก่อสร้างดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสถานีสูบน้ำพระโขนงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ในรายเขตยังมีงบฯ ในการลอกท่อหรือขุดลอกคูคลองเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีทุกเขต โดยใช้งบฯ ในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ อย่างในงบฯ ปี 2564 เขตยานนาวาใช้งบฯ 2,541,900 บาท ในการลอกท่อจำนวน 47 ซอย หรือเขตดุสิต ใช้งบฯ 1,146,000 บาท ในการลอกท่อ 61 ซอย

จากการใช้งบฯ ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า กรุงเทพฯ มีโครงการก่อสร้างทางวิศวกรรมจำนวนมาก เพื่อรองรับการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ซึ่งงบฯ ส่วนใหญ่นั้นเป็นโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน อุโมงค์ระบายน้ำ หรือแก้มลิง ในขณะที่การจัดการเล็กๆ อย่างการลอกท่อระบายน้ำอันเป็นงานของสำนักงานเขต ซึ่งเป็นโครงข่ายในการระบายน้ำไปสู่โครงการขนาดใหญ่นั้น ได้รับงบฯ ไม่เพียงพอที่จะสามารถบริหารจัดการขุดลอกได้ถ้วนทั่วทั้งพื้นที่ด้วยซ้ำไป นี่ยังไม่ต้องพิจารณาว่าการขุดลอกนั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน อย่างไร 

ปัญหาเรื่องท่วมจึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอย หรือกระดูก ที่ยังไม่มีผู้ว่าฯ กทม. คนไหนจัดการได้สักที 

ผู้ว่า กทม. กับการแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นของคู่กัน?

ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. เคยมีนโยบายและวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำท่วมหลากหลาย ในสมัยของชํานาญ ยุวบูรณ์ (2516) มีการสร้างท่อระบายน้ำที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนดินแดง-ห้วยขวาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังหากฝนตกหนัก ต่อมาสมัยของอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล (2516) นั้นมีการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลองด้วยเช่นกัน แต่ที่โดดเด่นคือได้ตั้งศูนย์ป้องกันน้ำท่วม แจ้งข่าวแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนสมัยของศิริ สันตะบุตร (2517) มีการสร้างท่อระบายน้ำให้ต่อกันหมด ให้น้ำไหลลงคลองอย่างรวดเร็ว 

ในสมัยของ สาย หุตะเจริญ (2518) มีการดำเนินนโยบายล้างท่อ ระบายน้ำ และขุดลอกคู คลอง โดยขอความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์ให้ใช้นักโทษที่มีความประพฤติดีและใกล้กําหนดพ้นโทษมาทำงานเหล่านี้ ซึ่งกลายมาเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา

สมัยของ ธรรมนูญ เทียนเงิน (2518) ผู้ว่าฯ คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง เคยกล่าวหาเสียงไว้ว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเมื่อได้รับตำแหน่งแล้วก็มีโครงการกู้เงินจากธนาคารโลกจำนวน 2,000 ล้านบาทมาเพื่อสร้างระบบท่อระบายน้ำที่ถนนรัชดาภิเษก แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริงเนื่องจากเกิดพายุเข้าเสียก่อน

ในสมัยของเทียม มกรานนท์ (2524) พัฒนาระบบระบายน้ำ งบฯ 200 ล้านบาท ตามแผนพัฒนา กทม. ฉบับที่ 2 ซึ่งไม่เพียงวางแผนเพื่อปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ยังศึกษาและสำรวจทั้งระบบบายน้ำ และระบบคูคลองอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีฝนตกมากในพื้นที่ กทม. เมื่อปี 2526 พื้นที่ของ กทม.บางส่วนก็ยังประสบภาวะน้ำท่วมอยู่ 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งน้ำท่วมในครั้งนั้น มีมูลค่าความเสียหายถึง 6,600 ล้านบาทเลยทีเดียว

หรือสมัยของ จำลอง ศรีเมือง (2528) ที่เข้ามารับตำแหน่งหลังวิกฤตการณ์น้ำท่วมในปี 2526 ซึ่งนายจำลองเรียกว่าเหตุการณ์ฝนตกหนักนี้ว่าเป็น "ฝนพันปี" เมื่อเข้ารับตำแหน่งก็ริเริ่มเปลี่ยนช่องตะแกรงรับน้ำฝนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น 7,817 ตะแกรงทั่วกรุง และเร่งสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมอื่นๆ พร้อมเตรียมพื้นที่รองรับน้ำไว้มากมาย ทั้งนี้สมัยนายจำลองยังสามารถแก้วิกฤติการณ์น้ำรอการระบายในช่วงปี 2529 ได้ภายในระยะเวลา 3 วันเท่านั้น ทั้งนี้ในสมัยของจำลอง ศรีเมือง ยังได้รับความช่วยเหลือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม จำนวน 1,848 ล้านบาทด้วย

ด้าน กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (2535) ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อจากจำลอง เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมในปี 2538 ก็ดำเนินตามโครงการแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำทั้งยังสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 18 แห่ง ส่วนสมัยของพิจิตต รัตตกุล (2539) ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. ตามแนวพระราชดำริต่อ โดยผลงานที่โดดเด่นคือจัดหาบึงรับน้ำตามโครงการแก้มลิงเพิ่มอีก 12 แห่ง รวมทั้งเปลี่ยนฝาท่อระบายน้ำใน กทม.ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาขยะไหลลงท่อระบายน้ำ ทั้งยังลงตรวจพื้นที่พร้อมล้วงขยะในท่อน้ำ จนได้ฉายาว่า ‘นักล้วงท่อ’

นอกจากนี้ฉายาของผู้ว่า กทม.ที่ผ่านมา มีความเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมไม่มากก็น้อย บ้างก็เกิดวลีหรือประโยคเด็ดๆ จากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งประโยคที่โดดเด่นก็คงหนีไม่พ้น “น้ำรอการระบาย” หรือแม้แต่ประโยค “ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอย” ก็เกิดจาก สุขุมพันธุ์ บริพัตร (2556) โดยมาจากผลงานการอนุมัติสร้างอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ที่ระบุว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ถึง 2 เท่า แต่ต่อมาในปี 2554 อุโมงค์ดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นที่มาของประโยคเด็ดในที่สุด และผลงานอื่นๆ ยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ งบประมาณในการก่อสร้าง 2,442 ล้านบาท เป็นอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร กำลังสูบน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และห้วยขวาง โดยอุโมงค์ดังกล่าวเปิดใช้งานในสมัยของ อัศวิน ขวัญเมือง เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

และอัศวิน ขวัญเมือง เองก็มีวลีเด็ดไม่แพ้ผู้ว่าคนอื่นๆ เลยคือวลี “ไม่อยากให้เรียกน้ำท่วม ให้เรียกว่าน้ำมาก” หรือแม้แต่การตอบคำถามเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในย่านบางเขนว่า ที่ กทม.ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เพราะหากุญแจเครื่องสูบน้ำไม่เจอ นอกจากนี้ยังมีผลงานโดดเด่นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่แพ้กัน คือก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (water bank) จำนวน 6 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และลดปัญหาการจราจรติดขัดจากน้ำท่วมขัง ในพื้นที่จุดเสี่ยง บ่อมีความลึก 11 เมตร เก็บน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร เมื่อฝนหยุดตกค่อยสูบน้ำออกจากบ่อใต้ดิน ไหลลงสู่คลองต่อไป ซึ่งสร้างเสร็จไปแล้ว 4 แห่ง และการสร้างท่อเร่งระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อลอด ในงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 2560-2564

ทั้งหมดนี้ อาจสรุปได้ว่า กทม.มีการเตรียมการรับมือกับปริมาณน้ำฝนและป้องกันน้ำท่วมมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อการนี้ ตั้งแต่การสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเพื่อกำหนดจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดเสี่ยงน้ำขัง การขุดลอกท่อระบายน้ำ คูคลองเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก การติดตั้งระบบสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ การก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์เพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำด้วยแก้มลิง 

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรระบบการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ทั้งในระดับย่อยและใหญ่ ระบบการจัดการน้ำด้วยวิธีการต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่จะทำงานสอดประสานกันและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองน้ำหลากจะไม่ต้องกังวลว่าทุกครั้งที่ฝนตก น้ำจะท่วมขังหรือไม่

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-flood/ 

 

อ้างอิง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net