ครม.ให้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อออกไปถึง 31 ก.ค.65 อ้างการระบาดยังไม่ผ่านเกณฑ์เป็นโรคประจำถิ่นของ สธ.

ครม.ให้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อออกไปถึง 31 ก.ค.65 แม้ว่าในการประชุมจะมีการรายงานถึงการลดลงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องไม่มีจังหวัดใดมีอัตราผู้ป่วยครองเตียงถึงร้อยละ 50 แต่อ้างว่าการระบาดยังไม่ผ่านเกณฑ์เป็นโรคประจำถิ่น

24 พ.ค.2565 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 18 ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอ

ในรายงานระบุว่า ศปก.ศบค. ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินและกลั่นกรองการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อ19 พ.ค.ที่ผ่านมา และในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวันต่อมามีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปด้วยแล้ว โดยมีเหตุผลและความจำเป็นตามสรุปสาระสำคัญของการประชุมรายละเอียด ดังนี้

สถานการณ์ในระดับโลก มีแนวโน้มระดับความรุนแรงลดลง และจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในอัตราคงที่ โดยหลายประเทศได้เน้นไปที่การมีมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อ และรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยครองเตียงเกินร้อยละ 50 แต่อย่างใด แต่ยังคงปรากฏผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่มีความเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรณีกลับมาเปิดภาคเรียนตามปกติในสถานศึกษา (On site) ทั่วประเทศในห้วงเดือนพฤษภาคม 2565

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วง 1 - 2 เดือนต่อจากนี้เป็นช่วงที่ยังคงต้องมีการคงไว้ซึ่งมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคต่อไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยผ่านเกณฑ์การประเมินในการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด และยังมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการบูรณาการการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการปรับมาตรการป้องกันโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินการเป็นโรคประจำถิ่น

มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไปอีกคราวหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินในการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด และเพื่อประโยชน์ในการบูรณาการการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปในคราวที่ 18 เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท