ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ : การปกป้องเหยื่อ คุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร?

กสม.ร่วมกับ สสส. หาทางแก้ไขปัญหา สร้างความเข้าใจ ช่วยกันคุ้มครองเหยื่อที่ถูกละเมิดทางเพศ เพื่อให้เหยื่อกล้าที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมากขึ้น อีกทั้งยังฝากเรื่องไปถึงผู้รับผิดชอบให้ตระหนักถึงปัญหา และสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดซ้ำกับเหยื่อ 

25 พ.ค.2565 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาในหัวข้อ “ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ : ปกป้อง คุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร ?” โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งนักวิชาการ คนทำงานคุ้มครองสิทธิทางเพศ ไปจนถึงภาครัฐ

การล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้นในช่วงของโควิด 19

พรประไพ กาญจนรินทร์

พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ได้กล่าวถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ ( CEDAW = Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against women )  ที่นิยามการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศเป็นการใช้ความรุนแรงอีกรูปแบบ การที่ผู้หญิงมีสิทธิไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย ทั้งความปลอดภัยและสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย 

พรประไพกล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดทางเพศที่สูงขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าเกิดผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งผู้หญิง เด็กผู้หญิง คนพิการ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ 

ทั้งนี้ปัญหาการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว สาเหตุมาจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่กล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราว เหยื่อไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้รับการดูแลเยียวยาร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ จึงหวังว่าการเสวนาในครั้งนี้จะสร้างความเข้าใจเหยื่อมากขึ้น และช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างเต็มที่ 

ความรุนแรงเป็นปัญหาอันดับ 1 ของผู้หญิงในสังคมไทย

กฤตยา อาชวนิจกุล 

กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวถึงหัวข้อ การคุกคามทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศเรียกรวมได้ว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามอย่างการบังคับมีเพศสัมพันธ์ ลวนลาม พูดจาหรือคอมเมนต์ในเชิงต้องการมีเพศสัมพันธ์ ล่อลวงไปกระทำ ซึ่งเป็นปัญหาอับดับ 1 ของผู้หญิงในสังคมไทย โดยผู้กระทำความรุนแรงแทบทั้งหมดเป็นผู้ชายอยู่ในทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษา และส่วนใหญ่ไม่ถูกลงโทษ สามีข่มขืนภรรยามีโทษน้อยกว่าชายอื่น

สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติของระบบคุณค่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่นำไปสู่อคติในการตีตราผู้เสียหายที่มักกล่าวโทษว่าผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา รวมทั้งวัฒนธรรมเงียบที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ตกเป็นเหยื่อยอมจำนนและไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเมื่อถูกกระทำ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้มีพระคุณและมีอำนาจสูงกว่า เป็นเหตุให้เกิดการกระทำความรุนแรงทางเพศซ้ำดังนั้นสังคมต้องตระหนักรู้ในเรื่องเพศสัมพันธ์ในพื้นฐานของความยินยอมพร้อมใจ การที่จะกำจัดวัฒนธรรมเงียบ ก็คือ การที่ทุกคนต้องรู้จักตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ 

กฤตยาได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่าเหตุใดกระบวนการยุติธรรมถึงยกเลิกการรับพนักงานสอบสวนหญิง ทั้งที่ควรจะมีเพื่อให้เหยื่อที่เป็นผู้หญิงกล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราว และอาจจะเข้าใจเหยื่อได้มากกว่า

“ ความรุนแรงทุกรูปแบบสะท้อนอำนาจที่ไม่เท่ากัน ”  กฤตยา กล่าว

เพศหญิงโดนกดทับอยู่แล้วเป็นผู้พิการยิ่งโดนกดทับลงไปอีก


เสาวลักษณ์ ทองก๊วย

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการและกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องเพศในไทยว่าในหนังสือเรียนมีสุภาษิตสอนหญิงแต่ไม่มีสุภาษิตสอนชาย หรือเรื่องขุนช้างขุนแผนที่กดทับผู้หญิงแต่ยกย่องผู้ชายทั้งที่มีเมียหลายคน สำนวนที่กดทับผู้หญิง เช่น มีลูกผู้หญิงเท่ากับมีส้วมไว้หน้าบ้าน เราโตขึ้นมากับระบบการศึกษาที่ไม่สอนให้ตั้งคำถามแต่ถูกสอนให้จำและเชื่อในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้ยังคงอยู่ในหนังสือเรียนของประเทศไทย 

เสาวลักษณ์กล่าวต่อ การล่วงละเมิดทางเพศต่อกลุ่มเปราะบางเช่นคนพิการที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง มีบางส่วนเป็นเด็กผู้ชาย ในกรณีที่เกิดกับคนพิการผู้ละเมิดมักเป็นคนใกล้ชิดและทำในบ้านและเมื่อเกิดเหตุสังคมจะแบ่งแยกคนพิการเหล่านี้ออกไปอีก บางครั้งผู้ปกครองก็เข้าใจว่าต้องทำหมันผู้พิการเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิด แต่ไม่มีใครสนใจประเด็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถูกข่มขืนและการทำหมันไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะไม่ถูกข่มขืนอีก เมื่อแพทย์หาทางออกไม่ได้จึงต้องบอกให้ทำหมัน นอกจากนั้นการทำหมันยังเป็นการทำร้ายร่างกายอีกรูปแบบหนึ่ง 

สถานศึกษาเป็นปัญหาที่สังคมไม่ควรมองข้าม

จะเด็จ เชาวน์วิไล 

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานศึกษาเป็นสถานที่เกิดการข่มขืนมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าน่าเป็นห่วง อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นทั้งเหยื่อและพ่อแม่ก็ไม่กล้าแจ้งตำรวจ อีกทั้งเหยื่อไม่รู้วิธีการเข้าถึงกระบวนการความยุติธรรม ซึ่งมูลนิธิเองลงพื้นที่สถานศึกษาบ่อยมาก ในช่วง 1-2 ที่ผ่านมา จะเด็จตั้งคำถามว่า กระทรวงศึกษาธิการบอกว่ามีศูนย์ร้องทุกข์สำหรับนักเรียนในสถานศึกษา มีจริงไหม  กระทรวงศึกษาธิการ มีหลักสูตรเกี่ยวกับเพศวิถีแล้วหรือยัง ทำไปถึงไหน

ผอ.มูลนิธิฯ ยังกล่าวอีกว่าเรื่องนี้สะท้อนสภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ไปละเมิดผู้เสียหายซ้ำ โดยเฉพาะการสอบปากคำหรือสืบพยานผู้เสียหายหลายครั้ง อย่างเช่นกรณี ผู้ชายคนหนึ่งเข้าแจ้งความว่าถูกข่มขืนในสถานพยาบาล แต่ตำรวจกลับบอกว่า เขาจะมาแจ้งทำไม เขาน่าจะชอบนะเรื่องแบบนี้ เลยทำให้ผู้เสียหายเกิดความอับอาย เกรงกลัว ไม่ยอมให้ข้อมูลหรือต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้การพิจารณาคดีใช้เวลายาวนาน ทำให้ผู้เสียหายบางรายไม่อยากรื้อฟื้นปัญหาที่นำความเสื่อมเสียกลับมาสู่ตนเองและครอบครัว เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับการลงโทษ 

กระบวนการยุติธรรมควรเป็นมิตรกับเหยื่อ


น้ำแท้ มีบุญสล้าง 

น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักอัยการสูงสุด มีข้อเสนอถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่า เพื่อให้การสอบสวนและการดำเนินการคดีในอาชญากรรมทางเพศ สามารถคุ้มครองสิทธิของเหยื่อผู้เสียหายได้อย่างเป็นมิตร

เขายกตัวอย่างว่า ให้มีการบันทึกถ้อยคำผู้เสียหายด้วยกล้องวงจรปิดและสามารถนำเทปมาใช้ในการพิจารณาคดีของศาลได้ เพื่อแก้ปัญหาการซักถามซ้ำที่สร้างความเสียหายทางจิตใจผู้เสียหาย ให้มีการสืบพยานผ่านจอภาพโดยมีนักจิตวิทยาร่วมเพื่อสร้างความสบายใจในการให้ข้อมูล

น้ำแท้ยังเสนอให้อำนาจแก่พนักงานอัยการเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุทันทีในขณะที่พยานหลักฐานยังไม่เสื่อมสภาพเพื่อประกอบการในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งให้พนักงานอัยการหญิงเข้าร่วมสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับเพศด้วย 

วันนี้ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน ยังมีความรู้ความเข้าใจน้อย

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ปัจจุบันสตช. ให้ความสำคัญกับการอบรมพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมในระดับพื้นที่รายจังหวัดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก อย่างเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่ง สตช. ยังเน้นการทำงานเชิงรุกและการปราบปรามอย่างจริงจัง เช่น มีการนำกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินมาใช้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  

สำหรับประเด็นการเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงที่ทางรศ.ดร.กฤตยา นั้นฝากมา ยอมรับว่านโนบายมีการเปลี่ยนแปลงว่าให้หยุดรับพนักงานสอบสวนหญิง ที่มาจากนักเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ยืนยันว่าจะมีการหารือกับผบ.ตร.อีกครั้งในส่วนนี้ ที่ผ่านมามีการอบรมเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน อัยการ นักพัฒนาสังคม ของทุกจังหวัด งบประมาณอยู่ที่ 10 ล้านบาทที่มาจากกระทรวงแรงงาน 

ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวยอมรับว่า การจัดอบรมให้แค่ผู้การประจำสถานีตำรวจ พอผู้การย้ายไปพื้นที่อื่น ทุกอย่างก็จบ และใช้งบประมาณการอบรมเยอะแต่ยังขาดคุณภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเด็กและเยวชนกับการตกเป็นเหยื่อ

ทั้งนี้พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ระบว่าตนพร้อมหารือกับผบ.ตร. ให้มากขึ้น อาจจะต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปีเพื่อจัดอบรมให้เจ้าพนักงานมีความรู้ความเข้าใจเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศให้มากขึ้น เพื่อที่เหยื่อจะได้กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

 

หมายเหตุ - รายงานชิ้นนี้เป็นผลงานของทีมนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยอุบลราชาธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท