Skip to main content
sharethis

มีผู้สร้างแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อ ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล ขณะที่ 'พรรคไทยภักดี' หนุนเลขไทย แต่เพจดันใช้เลขอารบิก จนมีคนร้องทักก่อนเนียนเปลี่ยนในเวลาต่อมา 'ศิลปวัฒนธรรม' พาเทียบจารึกโบราณ เลขอินเดียใต้ สู่ เลขเขมรโบราณฯ สู่เลขไทยในปัจจุบัน 

 

30 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใน Change.org  มีผู้ใช้ชื่อ 'Keng Susumpow' สร้างแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อ ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล ล่าสุดวันนี้ (30 พ.ค.) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 1,500 รายชื่อ 

ผู้สร้างแคมเปญระบุว่า ในฐานะคนทำงานด้านดิจิทัล ที่ต้องประสานงานกับภาครัฐ และในฐานะประชาชนหนึ่ง ตนขอเสนอข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น และระดับประเทศให้ปรับมาใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการเป็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และเป็นสากล  และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลดิจิทัล

การใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขเพื่อการคำนวณเป็นการขัดขวางความเจริญของงานประมวลผลเอกสารดิจิทัลด้วยคอมพิวเตอร์  ซึ่งคงต้องได้เวลาที่รัฐจะต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงการใช้เลขไทยให้ถูกที่ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

เหตุผลการการ “ส่งเสริม” นี้ก็ไม่ได้เริ่มจากการอยากให้ใช้เลขไทยด้วย แต่เริ่มจากข้อสังเกตของ คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 16 ก.พ. 2543  ที่พบว่ามีการใช้ปี ค.ศ. 2000 กันแพร่หลายในหน่วยงานราชการ เช่น ไอที 2000 มหกรรมการศีกษา 2000 เขาก็เป็นห่วงกันว่า หากราชการยอมรับการใช้เลข 2000 แล้ว “...ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเอกลักษณ์ของไทยจนกลายเป็นปัญหาที่จะแก้ไขได้ยาก”

ซึ่งตอนนั้นมันปี ค.ศ. 2000 สหัสวรรษใหม่ ใครๆ ก็ตื่นเต้นหรือเปล่า มันเลยเป็นต้นเหตุคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2543 ที่จะ “กำชับ” ให้หน่วยงานใช้ พ.ศ. แทน ค.ศ. แล้วก็ "แทรก" ให้ “ส่งเสริม” การใช้เลขไทย เพราะอยาก “...อนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติและเป็นสิ่งที่ควรหวงแหน เพราะปัจจุบันภาษาที่เหลืออยู่ในโลกมีไม่มากนัก...” ซึ่งหลังจากนั้นทุกหน่วยงานก็เริ่มใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัล อย่างบ้าคลั่ง เห็นได้จากคำบ่นของข้าราชการท่านหนึ่งเมื่อปี 2554 ผลของการการใช้งานอย่างบ้าไม่บันยะบันยังไม่รู้กาลาเทศะนั้น ทำให้เกิดการใช้เลขไทยที่วิปริตผิดที่ผิดทางในเอกสารราชการกันเป็นอย่างมาก เช่น คำว่า ๕G, Windows ๑๐ หรือแม้กระทั่ง URL ที่ใช้งานไม่ได้จริงเช่น www.๑๒๑๒occ.com

"ซึ่งในความเป็นจริง นโยบายการใช้เลขไทยไม่ได้เป็นการบังคับขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนราชการ ดังนั้นถ้าอยากให้การประมวลผลข้อมูลดิจิทัลก้าวหน้า หน่วยงานก็เลิกใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัลของราชการกันเถิด สิ่งที่น่าสนใจตอนขุดคุ้ยเรื่องนี้คือ ตอนปี 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยมีการกำหนดให้เลขสากล (เลขอาหรับ/อารบิค) เป็นเลขไทยมาแล้ว  แล้วก็มาโดนยกเลิกเมื่อปี 2587  โดยควง อภัยวงส์ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ดังนั้นการทำให้เป็นสากลไม่ใช่เรื่องใหม่เขาคิดกันมา 80 ปีแล้ว มันควรจะทำได้ เหลือแค่ต้องทำ ในโลกยุคไร้พรมแดน อย่าให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นปัญหาในการเชื่อมต่อและพัฒนาประเทศอีกต่อไป" ผู้สร้างแคมเปญระบุเหตุผลประกอบแคมเปญ 

'พรรคไทยภักดี' หนุนเลขไทย แต่เพจดันใช้เลขอารบิก จนมีคนร้องทักก่อนเนียนเปลี่ยนในเวลาต่อมา

ต่อมาทำให้เกิดปฏิกิริยาจากพรรคไทยภักดีและ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณาจารย์สถาบันทิศทางไทย ที่ออกมายืนยันจะใช้เลขไทย หรือไปไกลจนถึงโยงเข้ากับตัวตนความเป็นชาติ เช่น ทศพล พรหมเกตุ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยภักดี จ.เลย เลขไทย ภาษา และอักษรคือเลือดเนื้อตัวตนแห่งความเป็นชาติไทย คืออัตลักษณ์ที่บ่งบอกความมีอารยธรรมสูงส่งของประเทศ เป็นสื่อแสดงถึงความมีรากเหง้าวัฒนธรรมอันยาวนานของเรา ที่ชนชาติอื่นๆ ทั้งหลายในโลกไม่มี การที่จะล้มเลิกตัวอักษรไทยหรือแม้กระทั่งเลิกใช้ภาษาไทยไปเลย มิใช่การสร้างไทยให้เป็นสากล เป็นอารยชนที่เท่าเทียมกับชนชาติอื่นๆในโลก แต่คือการทำลายชาติ ให้ตกต่ำสิ้นความเป็นอารยชนชาติไทยที่สูงส่ง กลายเป็นอนารยชนคนเถื่อนผู้ไร้รากเหง้าวัฒนธรรมประเทศหนึ่งเท่านั้น

การเปลี่ยนผ่านจากเลขอารบิก สู่เลขไทยของเพจพรรคไทยภักดี หลังมีผู้ร้องทัก

โดยที่เพจที่เผยแพร่เนื้อหาปฏิกิริยาต่อแคมเปญนี้คือเพจ พรรคไทยภักดี ที่เดิมใช่เลขอารบิกในการสื่อสาร แต่ภายหลังมีผู้แย้งว่าขนากเพจยังใช้เลขอารบิกในการสื่อสารเลย จนต่อมาเพจได้ปรับตัวเลยในภาพปกที่เป็นรูปโฆษณาขายเสื้อเป็นเลขไทยแทน

เลขอินเดียใต้ สู่ เลขเขมรโบราณฯ สู่เลขไทยในปัจจุบัน

ทั้งนี้ประเด็นที่นำเลขไทยมายึดโดยกับความเป็นรากหรือเป็นตัวตนนั้น อาจมองไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและหยิบยืมวัฒนธรรม ภาษา ในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด วันนี้ (30 พ.ค.) 'ศิลปวัฒนธรรม silpa-mag.com ' เผยแพร่บทความชื่อ 'ถกหลักฐาน “เลขไทย” ได้แบบจากเลขเขมร หรือว่ามีต้นเค้าจาก “เลขอินเดียใต้”?' โดยตั้งประเด็นว่า เลขไทย ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็น “เลขไทย” หรือได้รับแบบแผนจาก “เลขเขมร” เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่อย่างสนุกสนาน หลักฐานที่ดีที่สุดในการพิจารณาประวัติความเป็นมา จำเป็นต้องดูจาก “จารึกโบราณ” เพื่อศึกษาถึงกระบวนวิวัฒนาการของอักษรโบราณเหล่านั้น รวมทั้ง “เลขไทย” และ “เลขเขมร” ด้วย จากตัวเลขที่นำมาเปรียบเทียบ แสดงให้เห็นว่าเลขที่ใช้ในจารึกเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร (ก็คือเลขอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์ปัลลวะ) ได้วิวัฒนาการเป็นเลขเขมรสมัยเมืองพระนคร และจากเลขเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร ก็ส่งอิทธิพลต่อเลขไทยสมัยสุโขทัย (จารึกพ่อขุนรามคำแหง)

"เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะสรุปได้ว่า “เลขอินเดียใต้ ราชวงศ์ปัลลวะ” เป็นที่มาของเลขที่ใช้ในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมด รวมทั้งเลขที่ใช้ในอาณาจักรทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย ต่อมาเลขอินเดียใต้ได้วิวัฒนาการกลายเป็นเลขเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร เป็นลักษณะเฉพาะ แล้วจากนั้นจึงส่งอิทธิพลมายังเลขไทยสมัยสุโขทัย จากนั้นจึงกลายเป็นเลขไทยในปัจจุบัน ด้วยการอธิบายตามวิวัฒนาการของรูปแบบตัวอักษร Palaeography ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง" บทความใน  'ศิลปวัฒนธรรม silpa-mag.com ' ระบุ อ่านรายละเอียดและดูภาพเปรียบเทียบ เลขอินเดียใต้ เลขเขมรโบราณสมัยเมืองพระนครและเลขไทยในปัจจุบันที่ https://www.silpa-mag.com/history/article_6720

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net