Skip to main content
sharethis

สมาคมสำนักพิมพ์นานาชาติ หรือ IPA ประกาศชื่อสำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัล “ปรีซ์ วอลแตร์” ร่วมกับสำนักพิมพ์อื่นๆ รวม 5 แห่ง ที่ได้แสดงออกถึงความกล้าในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่อเสรีภาพการแสดงออกภายในประเทศของตัวเอง

ภาพหน้าเว็บไซต์ของ IPA ที่ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบรางวัล  “ปรีซ์ วอลแตร์” ที่มา IPA

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565 เว็บไซต์ของสมาคมสำนักพิมพ์นานาชาติ(International Publisher Association – IPA) ประกาศรายชื่อสำนักพิมพ์จาก 5 ประเทศที่ได้เข้ารอบสุดท้ายพิจารณารับรางวัล “ปรีซ์ วอลแตร์” (Prix Voltaire) ในรอบปี 2565 โดยรางวัลนี้จะให้กับสำนักพิมพ์ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ยืนหยัดในการปกป้องคุณค่าของเสรีภาพในการพิมพ์และเสรีภาพการแสดงออกภายใต้สภาวะถูกกดดันคุกคามต่างๆ เช่น รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ และผู้จัดพิมพ์ผลงานที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

ในปีนี้สำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” จากประเทศไทยได้เข้ารอบด้วย โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์วารสารวิชาการด้านสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์ และผลิตหนังสือวิชาการที่เขียนโดยนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยจากหลากหลายแห่งรวมถึงหนังสือวิชาการที่แปลจากภาษาต่างประเทศด้วย

สำนักพิมพ์นี้ตั้งขึ้นมาในปี 2545 โดยอดีตนักกิจกรรมนักศึกษา 3 คน คือ ธนาพล อิ๋วสกุล ที่ยังเป็นบรรณาธิการบริหารในปัจจุบัน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และชัยธวัช ตุลาธน ที่ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล

นอกจากฟ้าเดียวกันแล้วยังมีสำนักพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ที่เข้ารอบในปีนี้อีก 4 แห่งได้แก่ สำนักพิมพ์ VK Karthika จากประเทศอินเดีย, ราอูล ฟิเกอโร ซาติ จากสำนักพิมพ์ F&G Editores ประเทศกัวเตมาลา, นาฮิด ชาฮาลิมิ ศิลปินและนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนที่ออกหนังสือรวมเรื่องราวของหญิงอัฟกันมากว่า 20 ปี และสุดท้ายสมาคมผู้จัดพิมพ์และร้านหนังสือยูเครน หรือ UPBA

ในกรณีของฟ้าเดียวกัน เคยต้องเผชิญกับการคุกคามหลายครั้งทั้งทางด้านกฎหมายและการถูกจับตามองจากรัฐบาลทหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่รัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อ 22 พ.ค.2557 จนกระทั่งหลังจากมีรัฐบาลประยุทธ์ที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช.เมื่อปี 2562 อย่างเช่น

กองบรรณาธิการเคยถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อปี 2549 จากการพิมพ์วารสารที่รวมบทความเกี่ยวกับบทบาทสถาบันกษัตริย์ในไทย ที่มีชื่อเล่มว่า “สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย” หรือที่ถูกเรียกกันเล่นๆ ว่า “ปกโค๊ก”

ตำรวจนำหมายศาลเข้ายึดหนังฟ้าเดียวกัน ชุดกษัตริย์ศึกษา 3 ปก เมื่อ 19 ต.ค. 2563

นอกจากนั้นธนาพลที่เป็น บก.บห.ยังเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมไปจากการพยายามติดตามตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปจากที่ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน และเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วยังคงมีเจ้าหน้าที่ทหารไปติดตามถึงสำนักพิมพ์อีกหลายครั้งตลอดระยะเวลาที่ คสช.ปกครองประเทศ และเมื่อเข้าสู่ช่วงรัฐบาลประยุทธ์แล้วก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าบุกค้นสำนักพิมพ์เพื่อยึดหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษา 3 เล่มเมื่อปี 2563 และล่าสุดปี  2565 ตำรวจเข้ายึดบันทึกคำปราศรัยของอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และยังได้ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net