Skip to main content
sharethis

วิปรัฐบาลมีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ. 'สมรสเท่าเทียม' ที่จะเข้าสู่สภาฯ วันที่ 15 มิ.ย. นี้ ระบุ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกลเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ส่วน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นร่างกฎหมายเฉพาะ เห็นควรดำเนินการไปก่อน

 

14 มิ.ย. 2565 ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ระบุว่า มติของวิปรัฐบาลต่อการลงมติในร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ ในประเด็นการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศดำรงสถานะคู่สมรส หรือการสมรสเท่าเทียมว่า 4 ร่างพ.ร.บ.ที่จะเข้าสู่การพิจารณาคือ

1. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่….) พ.ศ…. หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ โดยเป็นฉบับที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ

2. ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ที่ ครม. เสนอ

3. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ครม. เป็นผู้เสนอ และ

4. ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ที่เสนอโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. และคณะ

ชินวรณ์ กล่าวว่า มติวิปรัฐบาลจะให้ทั้ง 4 ฉบับพิจารณาไปในคราวเดียวกัน เนื่องจากมีหลักการและรายละเอียดทำนองเดียวกัน และเมื่อพิจารณาเสร็จจะแยกลงมติทีละฉบับ แต่เบื้องต้นจะไม่รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ส่วนอีก 3 ฉบับ จะให้รับหลักการและจะรับความคิดเห็นไปปรับปรุง หลังจากรับหลักการแล้วจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 25 คนขึ้นมาพิจารณา

เหตุผลที่ไม่สามารถรับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ชินวรณ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกลเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ส่วน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นร่างกฎหมายเฉพาะ เห็นว่าควรดำเนินการไปก่อน ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ที่รัฐบาลเสนอ ถือเป็นกฎหมายพ่วงกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของรัฐบาล ที่ปรับให้สอดรับกัน เช่น การรับรองสิทธิคู่สมรส บุตรบุญธรรม ทั้งนี้ ยอมรับว่า ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ของครม. มีหลายประเด็นที่ไม่ตรงกันกับฉบับของพรรคก้าวไกล

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

 

ขณะที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า หากมีมติไม่รับหลักการ คณะรัฐมนตรีต้องให้เหตุผลต่อประชาชนว่าเหตุใด จึงไม่สามารถรับหลักการได้ และกรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักกฤษฎีกาต้องมาอธิบาย ซึ่งต้องมาชี้แจงในการประชุมสภาวันที่ 15 มิ.ย. นี้

ทั้งนี้ ธัญวัจน์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกยื่นเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนกว่า 50,000 คน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างเฝ้ารอเข้าสู่การประชุมสภาของร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เนื่องจากเรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคน และทุกพรรคการเมืองสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ แต่มติของวิปรัฐบาลที่ออกมาน่าผิดหวังอย่างมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net