แรงงานกัมพูชาร้องสำนักงานสวัสดิฯ นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ครบ-ขู่แจ้งความหากไม่ถอนคำร้อง

แรงงานก่อสร้างกัมพูชา 10 รายไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เหตุนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ไม่ครบมาหลายเดือน แถมขู่ดำเนินคดีหากไม่ถอนคำร้อง  

 

22 มิ.ย. 2565 ธนพร วิจันทร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อ 17 มิ.ย. 2565 พาแรงงานก่อสร้างชาวกัมพูชา 10 ราย ไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี หลังพบปัญหาผู้ว่าจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แรงงานไม่ครบ แม้ทำงานมานานกว่า 3 เดือนแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ ทางผู้ว่าจ้างมีการโทรมาข่มขู่ลูกจ้างให้ถอนคำร้อง ไม่งั้นจะดำเนินคดีกับลูกจ้าง 

ธนพร วิจันทร์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเธอกล่าวถึงที่มาที่ไปของปัญหาว่า แรงงานก่อสร้างชาวกัมพูชา จำนวน 10 รายมาร้องเรียนกับเธอ เนื่องจากพวกเขาทำงานกับผู้ว่าจ้างตั้งแต่เมื่อ 6 ม.ค. 2565 แต่หลังจากเดือนแรก คนทำงานกลับไม่ได้รับค่าจ้าง เมื่อลูกจ้างทวง นายจ้างกลับให้เงินค่าจ้างเพียง 500 บาท พอเริ่มทวงเงินบ่อยครั้ง ผู้ว่าจ้างให้ลูกจ้างเอาเศษเหล็กในไซต์ก่อสร้างไปขาย เพื่อเอาเงินไปประทังชีวิต และซื้ออาหาร เมื่อลูกจ้างไม่มีเงินทานข้าว จึงเอาเศษเหล็กดังกล่าวไปขาย 

ธนพร พบปัญหาด้วยว่า แรงงานข้ามชาติถูกผู้ว่าจ้างยึดเอกสาร และอ้างกับลูกจ้างว่าจะนำไปดำเนินการทำเอกสารใบอนุญาตทำงานให้ โดยมีการเก็บเงินจากลูกจ้างไปแล้ว แต่กลับไม่มีการดำเนินการตามที่ได้รับปาก

นอกจากนี้ พบว่านายจ้างคนดังกล่าวมีการบังคับให้ลูกจ้างทำงานเกินวันและเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยให้ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่ตามกฎหมายระบุว่า ให้ทำงานเพียง 6 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น 

สำหรับกรณีที่ถูกผู้ว่าจ้างข่มขู่ให้ถอนการร้องเรียน ธนพร ระบุว่า หลังจากไปเขียนคำร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิฯ เมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าจ้างมีการโทรหาลูกจ้างขู่ดำเนินดคีหากไม่ถอนคำร้อง โดยจะกล่าวหาว่าแรงงานขโมยเหล็กในไซต์ก่อสร้างไปขาย ซึ่งขัดกับสิ่งที่แรงงานระบุว่า ผู้ว่าจ้างเป็นคนบอกเองให้ลูกจ้างนำเหล็กไปขายได้ 

ทั้งนี้ ผู้ว่าจ้างอ้างด้วยว่า หากไม่ถอนคำร้อง บริษัทที่ผู้ว่าจ้างไปรับงานมาจะไม่ยอมให้เงินเขามาจ่ายกับคนงาน 

"คนงานเขาก็หวาดกลัว และก็โทรมาหาเมื่อวาน (18 มิ.ย.) ว่า ตกลงเขาจะยังไง เขาถูกขู่ ก็บอกว่าไม่เป็นไร ถ้าสมมติเขาจะไปแจ้งความ แจ้งบอกละกันจะได้เข้าไปดูว่า เจตนาเราคือไม่ได้ลักทรัพย์ เราทำตามคำสั่ง คุณไม่จ่ายสตางค์ เราไม่มีข้าวกิน เราก็เอาเศษเหล็กในไซต์ก่อสร้างไปขาย" ธนพร ระบุเพิ่ม

ธนพร ระบุว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ พนักงานรัฐจะต้องเรียกนายจ้างมาสอบสวน เมื่อพบว่าผู้ว่าจ้างผิดจริง หน่วยงานรัฐจะเขียนคำร้องสั่งให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินภายใน 90 วัน โดยบริษัทที่จ่ายงานกับผู้ว่าจ้างจะต้องออกเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างชาวกัมพูชา 10 ราย และบริษัทต้องไปทวงเงินกับผู้ว่าจ้างเอง ถ้ากรณีที่หน่วยงานรัฐสั่งให้จ่ายแล้ว ยังไม่จ่าย ก็จะมีการดำเนินคดีต่อไป

ปัจจุบัน แรงงานกัมพูชาทั้งหมดได้ผู้ว่าจ้างใหม่แล้ว และมีการกำชับให้ผู้ว่าจ้างใหม่พาลูกจ้างทั้งหมดไปทำใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 

นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน ระบุต่อว่า เธออยากให้ภาครัฐช่วยดูช่องทางการขึ้นทะเบียนแรงงานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และอยากให้หน่วยงานรัฐจัดหาล่ามสำหรับแปลภาษาให้กับแรงงานข้ามชาติด้วย เนื่องจากเวลาแรงงานข้ามชาติไปร้องเรียน จะได้สามารถร้องเรียน และอ่านเอกสารได้ 

สำหรับข้อร้องเรียนจากแรงงานชาวกัมพูชา ขณะนี้มีข้อร้องเรียนเข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะการโดนนายหน้าหลอก และค่าจ้าง ตลอดจนไม่ได้รับสิทธิเงินชดเชยเวลาเกิดอุบัติเหตุกับแรงงานข้ามชาติในสถานที่ทำงานจนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต 

"เวลามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา แรงงานชาวกัมพูชาเขาไม่อยากสู้เยอะ เพราะเขามาทำงานในประเทศไทย เวลามีปัญหาเรื่องกฎหมาย เขาไม่อยากยุ่งมาก บางทีนายจ้างก็มาต่อรอง เอา (ค่าชดเชย) แค่นี้พอนะ บางทีตาย นายจ้างก็มาประนีประนอมเอาไปสักแสนหนึง และก็จบกัน คนงานเขาไม่อยากมีเรื่องเขาก็ต้องรับตามนั้น ตามจริงกฎหมายต้องดำเนินคดีนายจ้าง ไปขอรัฐสิทธิกองทุนเงินทดแทนให้กับญาติ (ผู้เสียชีวิต) อย่างน้อยต้อง 15 ปี มันมีกฎหมายคุ้มครองเขาเยอะ แต่เขาไม่รู้" ธนพร ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท