'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' กับเป้าหมายพาเพื่อไทยแลนด์สไลด์

เมื่อเป้าหมายของเพื่อไทยคือการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ดึงณัฐวุฒิกลับมารับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยด้วยเป้าหมายอันทะเยอทะยานนี้ มวลชนคนเสื้อแดงที่สื่อพูดถึงว่าจะเป็นกำลังหลัก และคนรุ่นใหม่กับประเด็นที่เพื่อไทยกล้าๆ กลัวๆ จะแตะต้อง เขามองภารกิจนี้อย่างไร

ภาพพรรคเพื่อไทย จัดงาน “ครอบครัวเพื่อไทย ต้อนรับ ‘เขา’ กลับบ้าน” โดย แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมและหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้กล่าวต้อนรับ  ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หวนคืนสู่พรรคเพื่อไทยอีกครั้งในฐานะผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กับภารกิจทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ สามารถจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยและผลักประยุทธ์ จันทร์โอชากับพวกพ้นจากอำนาจด้วยการเลือกตั้ง

เขายอมรับว่าภารกิจนี้ไม่ง่าย แต่เขาประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงนิด้าโพลล่าสุด เขาเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเป็นความหวังของประชาชนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่ทรุดหนักต่อเนื่องตลอด 8 ปี

แต่เพียงฐานคนเสื้อแดง ซึ่งก็มีความหลากหลายทางความคิดเพียงพอหรือไม่กับเป้าหมายอันทะเยอทะยานนี้ เสียงที่ดังขึ้นทุกขณะของคนรุ่นใหม่อยู่ตรงไหนในโปรเจกต์แลนด์สไลด์ ลองมาฟังคำตอบจากเขากัน

แลนด์สไลด์เท่านั้น

“จะอย่างไรก็ตามผมแน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้ง แล้วถ้าหากประชาชนคิดตรงกันว่าอยากให้พรรคเพื่อไทยเอานโยบาย เอาศักยภาพในการบริหารในการทำงานมาแก้ปัญหา คำว่าแลนด์สไลด์ก็จะขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ดังนั้น ณ จุดนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นสำหรับคะแนนนิยมของประชาชน แต่มันจะไปประเมินจากโพลเพียงสำนักใดสำนักหนึ่งไม่ได้ โพลเอามาเป็นเพียงข้อมูลประกอบในการขับเคลื่อนเนื้องาน ขับเคลื่อนแนวคิดนโยบายสู่ประชาชน ยังต้องทำงานหนักกันอีกมากถ้าจะพูดกันถึงคำว่าแลนด์สไลด์”

คำว่า แลนด์สไลด์ ในที่นี้ ณัฐวุฒิขยายความว่าจะต้องได้จำนวน ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อปักหลักความชอบธรรมให้ได้ เพราะหาก ส.ว. 250 เสียงจะโหวตให้รัฐบาลปัจจุบัน ประการแรก ส.ว. กำลังคว่ำเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ประการต่อมา เท่ากับกำลังตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่พร้อมจะโดนคว่ำทันทีหากมีการยกมือในสภา

ณัฐวุฒิชี้ประเด็นต่อว่า จำเป็นหรือไม่ที่เพื่อไทยต้องแลนด์สไลด์ ทำไมไม่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลร่วมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ เขาตอบว่า

“ถ้าเป็นสภาพการเมืองปกติอาจจะได้ แต่กับการเมืองแบบนี้การเลือกตั้งครั้งที่แล้วมันชัดนะครับว่าเพื่อไทยก็ได้ที่หนึ่ง เห็นไหมครับ มันมีบัตรเขย่ง มันมี ส.ส.ปัดเศษ มันมีวิธีการที่จะนับคะแนนแล้วทำให้พรรคการเมืองอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลได้ ดังนั้น แค่ที่หนึ่งไม่พอ ผมถึงบอกว่ามันต้องมีพรรคการเมืองใดในฝ่ายประชาธิปไตยทำให้ได้เกินครึ่ง แล้วก็ร่วมมือกับฝ่ายพรรคประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา

“แต่ต้องวัดใจกันนะครับ ถ้าประชาชนอดทนเขาชี้ขาดออกมาแบบนั้น แล้วจะรัฐประหารกันอีก เอ้า ก็ว่ามา ผมคิดว่าทำแต่ละทีค่าใช้จ่ายทางการเมืองไม่ใช่น้อยๆ แล้วคราวนี้ผมก็เดาไม่ออกเหมือนกันว่าจะไปจบตรงไหนแล้วจบอย่างไร”

สิ่งที่ดูเบาไปไม่ได้คือองค์กรอิสระที่อาจใช้อำนาจหน้าที่เอนเอียงและสกัดกั้นเสียงของประชาชนโดยการบิดเบียนกติกาดังที่เคยเกิดขึ้น ณัฐวุฒิเห็นว่าถ้าเกิดขึ้นอีกก็ถือเป็นการลงทุนที่สูงเกินไปและสุ่มเสี่ยงเกินไป ซึ่งก็เป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของพรรคเพื่อไทย

“เราก็เดินตรงๆ อย่างที่เราเชื่อแหละครับ กติกาเลือกตั้งเอาแบบไหนก็แข่งกันตามนั้น แล้วทำงานให้เต็มที่เอานโยบายที่เรากลั่นออกมาแล้วมันโดนใจ มันตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศได้จริง แล้วก็มุ่งหน้าไปสู่แลนด์สไลด์ ข้างทางเราก็ระแวดระวังนะครับ แต่ไม่ใช่เอามากังวลจนไม่กล้าก้าวเท้าเดิน เราจะทำอย่างไรล่ะครับ เราไม่มีปืน ไม่มีรถถัง ไม่ได้มีอำนาจองค์กรอิสระ ดังนั้น ส่วนที่เป็นภัยคุกคามก็จับตามองไว้ แต่เดินไปข้างหน้าไม่ต้องหวั่นไหวครับ อะไรจะเกิดมันก็เกิด ถ้าหากว่าพรรคเพื่อไทยเดินเข้าใกล้เป้าหมายจะแลนด์สไลด์ แล้วถูกกระทำให้มีอันเป็นไปทางการเมืองอีก ก็ล้มลงบนตักประชาชนนี่แหละ แล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่”

ส่วนกรณีที่สื่อกล่าวถึงอาการเลือดไหลของ ส.ส. งูเห่า ตัวเขาไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะถือเป็นเรื่องปกติของการเมือง ในอดีตพรรคเพื่อไทยเคยมี ส.ส. ยกขบวนออก 40-50 คนมาแล้ว เมื่อมีคนจะออกก็มีคนรอเข้า สิ่งสำคัญที่พรรคเพื่อไทยต้องทำอยู่ที่การคิดนโยบายที่มีความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ และอยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ

กิจกรรมครอบครัวเพื่อไทย ภายใต้ชื่อ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา

คนเสื้อแดง

แต่ฐานเสียงคนเสื้อแดงถึงเวลานี้จะยังคงเป็นคำตอบของการแลนด์สไลด์อยู่หรือไม่ ณัฐวุฒิให้คำตอบว่าคนเสื้อแดงถือเป็นกำลังสำคัญที่สู้ด้วยกันมาตลอดสิบกว่าปี

“เราจะบอกว่าเราลืมกันแล้วเราไม่หันมาพูดคุยกันเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเสื้อแดงยังไม่พอ มันต้องมีคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ คนกลุ่มก้อนมวลชนทั้งหลาย หรือประชาชนทั่วไปที่คนในพรรคต้องทำงานอย่างหนักเพื่อได้รับการสนับสนุนจากคะแนนเสียงเหล่านี้”

นอกจากนี้ ผ่านเลยมาทศวรรษกว่าๆ เขายอมรับว่าประเมินกำลังกลุ่มคนเสื้อแดงยาก หลายคนอายุมากแล้วและไม่ต้องการออกมาโลดแล่นในสนามเหมือนอดีต ส่วนคนเสื้อแดงที่ออกมาแสดงพลังร่วมกับคนหนุ่มสาวก็เป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยต้องสื่อสารไปให้ถึง

“วันนี้พี่น้องฝ่ายเสื้อแดงไปสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็หลายพรรคนะครับ ส่วนที่ข้ามไปสนับสนุนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ต่อให้เมื่อก่อนเคยเป็นคนเสื้อแดงด้วยกัน แต่เมื่อข้ามไปอยู่กับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ผมว่าพวกเขาเรียกตัวเองว่าคนเสื้อแดงไม่ได้หรอก เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องจิตวิญญาณการต่อสู้”

ก่อนหน้านี้ ฟอร์ด เส้นทางสีแดงหรืออนุรักษ์ เจนตวนิชย์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คของตนว่า “คนเสื้อแดงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยอยู่ไม่ได้หากไม่มีคนเสื้อแดง นั้นคือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้” ซึ่งเป็นไปได้ว่ากำลังบอกเป็นนัยว่าพรรคเพื่อไทยยังก้าวหน้าไม่พอ ตามไม่ทันมวลชนเสื้อแดง

ณัฐวุฒิตอบประเด็นนี้ คนเสื้อแดงคือประชาชน ไม่มีพรรคการเมืองใดจะอยู่โดยไม่มีประชาชน คนเสื้อแดงในฐานะประชาชนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเลือกพรรคการเมืองที่ตนเชื่อมั่นและชื่นชอบ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องสื่อสารทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ได้

“พรรคเพื่อไทยขาดมวลชนส่วนไหนไปก็อยู่ยากทั้งนั้นครับ พี่น้องคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นสมบัติของพรรคการเมืองไหน ก็เป็นหน้าที่พรรคเพื่อไทยต้องทำงานให้เห็น แสดงความชัดเจนออกมาให้พี่น้องเชื่อมั่น ผมคิดว่าถ้าเราจัดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองว่าฝ่ายหนึ่งไม่มีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วจะอยู่ไม่ได้ รูปความสัมพันธ์แบบนี้ผมว่าไม่สอดคล้องกับหลักการและข้อเท็จจริง เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนมีลักษณะเป็นพลวัตตลอดเวลา มันต้องตรวจสอบ ไถ่ถาม ต้องพิสูจน์ทราบกันในทุกช่วงเวลา และการตัดสินใจมันจะมีอยู่เป็นรอบๆ ตามวิถีทางประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง

“ส่วนตัวผม ผมเห็นว่าคำว่าก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าสำหรับมิติการเมืองไทยเวลานี้ มันประเมินหรือชี้วัดกันไม่ใช่ง่ายๆ เพราะจะบอกว่าใครเข้าใจสถานการณ์มากกว่า ใครสู้มากกว่า ใครก้าวหน้ามากกว่า อะไรเป็นตัวชี้วัดที่แท้จริงและยอมรับร่วมกันได้ ขณะนี้เราต่างอยู่ในเส้นทาง ยังไม่ถึงเส้นชัย บางคนอาจมองว่านี่คือการเดินทางไกล นี่คือการวิ่งมาราธอน ดังนั้น เมื่อระยะทางมันไกล จะเร่งสปีดแบบ 100 เมตรไปตลอดทางคงไม่ไหว ก็เดินไปเป็นจังหวะ ก้าวเคลื่อนไปตามเส้นทาง ที่ในที่สุดก็หวังใจว่ามันจะถึงเส้นชัยได้

“สำคัญก็คือว่าเมื่ออยู่ในระหว่างเส้นทางผมว่ามันต้องเคารพกันและกัน ต้องคิดว่าจะอย่างไรก็เป็นเพื่อนร่วมทางของกันและกัน เมื่อถึงเส้นชัยแล้วค่อยมาสรุปกันว่าแนวทางไหนที่มันถูก แนวทางไหนที่ได้ผล ผมว่าถึงตอนนั้นก็ไม่สายนะ ในระหว่างเส้นทางวิพากษ์กันอย่างมิตร ไม่มีปัญหา ใครจะเลือกแนวทางไหนไม่ว่ากัน แต่เราก็ยังมุ่งมั่นที่จะเดินต่อไปและทุกคนที่อยู่บนเส้นทางนี้เป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกัน ผมเชื่ออย่างนั้น”

คนรุ่นใหม่

ดังที่ณัฐวุฒิกล่าวไปข้างต้นว่าแค่ฐานเสียงคนเสื้อแดงยังไม่เพียงพอ หากพรรคเพื่อไทยต้องการชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ คนรุ่นใหม่เป็นอีกหนึ่งฐานเสียงที่เขาเห็นว่ามีความสำคัญ ทว่า ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญก็อาจไม่ต่างจากนัยที่ฟอร์ด เส้นทางสีแดง แสดงความเห็นไว้

ทีท่าของพรรคเพื่อไทยต่อประเด็นการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะ ‘มาตรา 112’ และ ‘การปฏิรูปสถาบัน’ ไม่มีความชัดเจน มีลักษณะที่เรียกว่า ‘สู้ไปกราบไป’ ต่างกับพรรคก้าวไกลที่มีจุดยืนชัดเจนและครองใจคนรุ่นใหม่มากกว่า

ณัฐวุฒิยอมรับความจริงว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่พรรคก้าวไกล แต่เมื่อถึงช่วงการเลือกตั้งก็ยังมีอีกหลายเหตุปัจจัยต่อการตัดสินใจลงคะแนน เขาย้ำว่าพรรคเพื่อไทยต้องทำงานหนักเพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวทางและนโยบายของพรรคสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศได้จริง ส่วน...

“เรื่องหลักการหรือจุดยืนก็ต้องเอาให้ชัดว่าเราก็คือพรรคการเมืองหนึ่งที่ยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มีทางที่จะข้ามฟากไปสนับสนุนพลเอกประยุทธ์กับพวกเป็นรัฐบาลอีกอย่างแน่นอน การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วทำประชามติก่อนบังคับใช้ มันต้องเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดต่อไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยหากจะเป็นรัฐบาลก็ต้องแสดงความชัดเจนออกมาให้ได้ ผมคิดว่าเหตุปัจจัยและการตัดสินใจเลือก ถึงที่สุดต้องมีคำตอบด้วยว่าเลือกแล้วผลักประยุทธ์ จันทร์โอชากับพวกพ้นไปได้จริงหรือไม่”

‘ประชาไท’ โยนคำถามเกี่ยวกับประเด็นมาตรา 112 และการปฏิรูปสถาบันให้แก่ณัฐวุฒิ ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบนี้ย่อมเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเขา ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย

“เรายืนยันหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อนี้ผมยังไม่ได้ยินว่ามีพรรคการเมืองไหนยืนแตกต่างจากหลักนี้นะครับ ส่วนเรื่องกฎหมายมาตรา 112 ผมว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้ การให้ใครก็ตามไปแจ้งความกันได้แล้วอัตราโทษตั้งต้นสูงก็เป็นประเด็นที่มีคำถามเรื่องหลักนิติธรรมอยู่เช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาลได้คิดอ่านวิธีการบังคับใช้กฎหมาย แล้วก็ดูเรื่องบทบัญญัติอัตราโทษให้สมเหตุสมผลกับหลักนิติธรรม ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนพูดคุยได้ แล้วรัฐบาลก็ต้องรับฟัง ที่จริงประเด็นนี้มันไม่ได้หมายถึงกฎหมายมาตราหนึ่งมาตราใดด้วยซ้ำ เรื่องนี้ในภาพใหญ่คือทุกบทบัญญัติของกฎหมายมันต้องชอบด้วยนิติธรรม

“เรื่องนี้ (การปฏิรูปสถาบัน) ในทางรูปธรรมจะเป็นอย่างไรยังต้องดูว่าประเด็นดังกล่าวมีรูปธรรมอย่างไร มีแนวทางอย่างไร ถ้าคำว่าปฏิรูปหมายถึงช่วยกันทุกฝ่ายให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดีขึ้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริง สอดคล้องกับยุคสมัย ผมคิดว่าถ้าเข้าใจกันได้แบบนี้ สังคมจะค่อยๆ เคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ ประเด็นวันนี้ก็คือมันไม่ได้มีการพูดคุยหรือรับฟังกันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติระหว่างกัน เอาตรงนี้ซะก่อน

“ผมคิดว่าฝ่ายขบวนการต่อสู้เมื่อเขาประกาศชัดเจนว่าไม่ได้มีประสงค์ร้ายต่อสถาบัน เขาเป็นเพียงภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แล้วส่งเสียงออกมา ฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายกลไกรัฐทั้งหลาย ผมว่าไม่แปลกนะครับ ที่จะรับฟังเสียง ที่จะขบคิดพิจารณาด้วยสติปัญญา มองสภาพของความเป็นจริง แล้วหาทางออกให้ได้ ว่าสังคมนี้เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ผมว่าหลักการกว้างๆ เช่นนี้น่าจะสร้างพื้นที่ให้สามารถเอามาพูดคุยกันบนโต๊ะได้โดยไม่มีใครถูกทำร้าย ไม่ต้องมีใครถูกดำเนินคดีหรือถูกจับขัง”

เขากล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงต้องการเวลาและความเข้าใจของคนจำนวนมาก ปัจจุบันมีคนบางส่วนที่เมื่อเอ่ยเรื่องปฏิรูปสถาบันแล้วไม่สามารถสนทนาอะไรต่อได้เลย ทั้งกล่าวหาว่าคิดร้ายต่อสถาบัน ขณะที่ฝ่ายแรกก็ยืนยันว่าตนไม่ได้คิดร้าย ลงเอยด้วยการเผชิญหน้ากันด้วยอคติแทนที่จะเป็นข้อเท็จจริง ณัฐวุฒิตอบในทัศนะส่วนตัวว่า

“ผมยืนยันกับพี่น้องประชาชนได้ว่าผมซื่อสัตย์มากพอ ที่ผมพูดแบบนี้ที่นี่ ในพรรคเพื่อไทยผมก็พูดแบบนี้ ว่าสังคมเราเดินมาสู่ช่วงโค้งที่แหลมคม มันเป็นรอยต่อของยุคสมัย รัฐบาลต้องมีหน้าที่เป็นคนกลาง ทำให้ความแหลมคม ความเชี่ยวกรากของความเปลี่ยนแปลงนี้มีมุมพอรับฟังกันได้ มีมุมที่คนยังเปิดใจ และยอมรับความแตกต่างกันทางความคิดได้ รัฐบาลต้องไม่เป็นตัวเร่ง เอาเรื่องนี้มาเป็นชนวนให้คนห้ำหั่นกัน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ จัดการกันไม่ดีสุ่มเสี่ยงนะครับ เพราะเรื่องนี้มันตัดกันทางความคิดอย่างรุนแรง มันอาจจะบานปลายไปจุดไหนก็ได้ผมเป็นคนในขบวนการต่อสู้ที่เคยเห็นการสูญเสีย ผมอยู่ในวินาทีที่ต้องตัดสินใจ เพื่อพาพี่น้องให้ปลอดภัยพ้นความตาย ผมเจ็บปวดกับเรื่องนี้มาแล้ว ผมจะพยายามทุกอย่างไม่ให้มันเกิดอีก โดยเฉพาะถ้าคนรุ่นลูกหลานเราจะเป็นเหยื่อ เราจะปล่อยไปแบบนั้นไม่ได้ และผมว่ารัฐบาลมีภาระหน้าที่อย่างสำคัญ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท