Skip to main content
sharethis

กลุ่มคนเสื้อแดงจัดกิจกรรมครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พ.ค. 2553

19 พ.ค. 2567 ผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่าช่วงเช้าที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน มีการทำพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิต เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม วันที่ 19 พ.ค. 2553

โดยมีนักกิจกรรมทางการเมือง คนเสื้อแดง ญาติผู้เสียชีวิต นักการเมือง และประชาชนมาร่วมพิธีทำบุญ เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมลเกด หรือ น้องเกด

นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล

โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทำบุญ นายชัยธวัช และผู้ที่มาร่วมทำบุญ ได้นำดอกไม้มาวางไว้บนป้ายไวนิล เขตอภัยทาน เพื่อแสดงความอาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม

ด้าน นายจตุพร เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี ซึ่งเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่ามากที่สุด ไม่ควรมีใครต้องมาตายจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม การต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายเดียวกัน ตรงกันข้ามกัน ความตายนั้นเป็นความทุกข์ และไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม ตนขอแสดงความไว้อาลัยให้กับทุกครอบครัว ขอขอบคุณทุกคนที่มาในวันนี้ และขอสดุดีวีรชนอีกครั้ง

ขณะที่ นายชัยธวัช กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่ามีการออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน ช่วยกันกล่าวหา และทำให้เข้าใจว่าประชาชนเป็นภัยต่อความมั่นคง นี่เป็นบทเรียนในสังคมไทย ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่อยุติธรรม โดยเฉพาะในปี 53 ในกรณีที่ญาติผู้เสียชีวิตพยายามฟ้องร้องต่อผู้นำรัฐบาล และผู้นำของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แต่ยังไม่มีคดีไหนเลยที่เข้าสู่ชั้นศาลได้จริงๆ เพื่อพิจารณาผู้ที่กระทำผิดและทำให้เสียชีวิต

มีเพียง 10 กว่าศพ ที่สามารถไต่สวนการตายแล้วเสร็จ ในหลายกรณีศาลชี้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากอาวุธสงครามจากฝั่งทหาร แต่เหลืออีก 70 กว่าศพ ยังอยู่ในชั้นของดีเอสไอ และทุกคดีหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 49 ก็ถูกแช่แข็งไว้หมด ซึ่งในคดีอาญาที่ผู้กระทำผิดมีตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่จนถึงผู้บังคับบัญชาก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วก็หวังว่าจะมีความคืบหน้า

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ในคดีอาญายังมีปมปัญหาอยู่ เพราะญาติผู้เสียชีวิตเคยฟ้องตรง ปรากฏว่า ฟ้องไปที่ศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมก็บอกว่าต้องไปฟ้องที่ศาลทหาร เลยมีบางส่วนไปฟ้องที่ศาลทหาร แต่ท้ายสุดก็ยกฟ้อง ซึ่งเรื่องนี้มองว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธรรมนูญศาลทหาร ในกรณีนี้ รวมถึงกรณีทั่วไป ก็ควรจะถูกพิจารณาในศาลยุติธรรมเสมอเหมือนกับประชาชนทั่วไป

ทำบุญอุทิศเหยื่อสลายชุมนุม 53 นักกิจกรรมแห่ร่วม ตั้งรูป ‘บุ้ง’ ร่วมด้วย

มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ บรรยากาศการจัดงานรำลึก 14 ปี เหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 53 โดยคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ซึ่งมีการตั้งเวทีบนถนนราชดำริ หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ตั้งแต่ช่วงบ่าย พร้อมติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่ห้อยลงจากสะพานลอย มีการนำภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึง นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง จัดเรียง

เวลาประมาณ 17.40 น. เริ่มพิธีการทางศาสนา นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตแกนนำ นปช. เป็นประธานจุดธูปเทียนบูช่าพระรัตนตรัย พระภิกษุสงฆ์ 4 รูป จากวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สวดพระพุทธมนต์

จากนั้น มีการอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตญาติ, อดีตแกนนำ นปช. และนักวิชาการ ร่วมกันถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ได้แก่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ, นายแพทย์ เหวงโตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. และศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

ในพิธีดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช., นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, นางศรีไพร นนทรีย์ แกนนำเครือข่ายแรงงาน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว., นางนภัสสร บุญรีย์ หรือป้านก นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น

จากนั้น เริ่มต้นกิจกรรมบนเวที ดำเนินรายการโดย นายเจษฎา ศรีปลั่ง หรือเจมส์ กลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี และนางสาวลลิตา มีสุข หรือแป๋ม โดยมีการร่วมตะโกน ‘ที่นี่มีคนตาย’ กึกก้อง

แยกจัด 3 เวที 'กลุ่มญาติคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ - กลุ่มหมอเหวง-ธิดา อดีตประธาน นปช. - กลุ่มคนเสื้อแดงรักทักษิณ'

กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมฝั่งห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ได้ข้ามไปวางดอกไม้จุดเทียนรำลึกให้แก่ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 53 ที่แยกราชประสงค์ โดยปีนี้แยกจัด 3 เวที ได้แก่ กลุ่มญาติคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ กลุ่มหมอเหวง-ป้าธิดา อดีตประธาน นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดงรักทักษิณ

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่าเวลา 18:00 น ที่แยกราชประสงค์ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี พ.ศ 2553 ทำกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิต 94 ศพโดยมีการแสดงที่กล่าวถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้นและสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่ที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองจับมือกันกับผู้มีส่วนร่วมในการใช้กำลังสลายการชุมนุมและหลังการแสดงได้มีการอ่านชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์ดังกล่าว

โดยในปีนี้มีการแยกจัดกิจกรรม 3 เวที ได้แก่ กลุ่มญาติคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ กลุ่มคณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ของหมอเหวง-ป้าธิดา อดีตประธาน นปช. และมีกลุ่มคนเสื้อแดงรักทักษิณ

ต้องปกป้องคนหนุ่มสาวที่สู้ต่อจากคนเสื้อแดง ย้ำนิรโทษ ม.112

บนเวทีของ คปช. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อกล่าวว่า ไม่มีใครเห็นว่าการต่อสู้เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ไม่ควรค่าแก่การยกย่องพูดถึง แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้สู้เพื่อหมายเอาชัยชนะแบบนี้ แต่สู้เพียงเพื่อเรียกร้องให้อำนาจอธิปไตยกลับคืนมาสู่มือประชาชนคือการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้ข้อเรียกร้องพื้นฐานที่สุดคือการยุบสภา และคนเสื้อแดงไม่ได้สู้ว่ารัฐบาลต้องเป็นอย่างที่เราชอบเท่านั้นด้วยซ้ำ แต่คนเสื้อแดงสู้เพื่อต้องการรัฐบาลที่ประชาชนต้องการมีสิทธิ์เท่าๆ กันและการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์อยู่ แต่ข้อเรียกร้องนั้นกลับต้องแลกมาด้วยความตายและความพ่ายแพ้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ขบวนการก่อการร้าย

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ภาพจาก แมวส้ม

“แต่เราก็เดินหน้ากันมาถึงปัจจุบัน ที่ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่ใครหลายคนที่เคยปรามาศและเหยียบย่ำการต่อสู้นี้ก็ยังต้องแสดงออกถึงการคารวะสดุดี”

ณัฐวุฒิกล่าวว่าแต่การต่อสู้ที่เดินทางมาไกลก็มีความเปลี่ยนแปลงจนวันนี้การจัดงานรำลึกมีถึง 4 เวที แต่ทุกกลุ่มก็เป็นคนเสื้อแดงทั้งนั้นไม่มีใครสวมรอยไม่มีใครปลอมแปลงตัวมา คนใส่เสื้อสีแดงที่ชวนกันมากินกันมานอนร่วมเป็นร่วมตายที่นี่เมื่อ 14 ปีที่แล้วทั้งนั้น และเป็นพี่น้องเราแม้จะไม่ใช่ญาติ ไมได้มีความผูกพันกันทางสายเลือดก็ตามและจำนวนมากอาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก็แบ่งความตายและพากันมาจนจบการต่อสู้ของเรา แม้ว่าแต่ละกลุ่มจะมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน สนับสนุนพรรคการเมืองไม่เหมือนกันและสนับสนุนแนวทางของพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรค

“นี่คือเสรีภาพและวิถีทางของประชาธิปไตยและนี่เป็นสิทธิ์โดยชอบของประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือไม่ก็ตามที่เป็นสิทธิ์โดยชอบของคนทุกคน มีสิทธิ์ที่จะเลือก มีสิทธิ์ที่จะไม่เลือก มีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนและไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ได้แล้วท่านมีเหตุผลของท่านท่านมีสิทธิ์ตัดสินใจโดยชอบโดยตัวท่าน ที่ผ่านมาเราเชื่อกันมาแบบนี้ที่คิดต่างกันทางการเมืองสนับสนุนไม่ตรงกันทางการเมืองเป็นสิทธิ์ของคนทุกคน แต่ส่วนตัวผมผมว่าความเป็นพี่น้องเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายกันมา 14 ปีตรงนั้นอย่าให้มันมลายหายไปเสียสิ้น” ณัฐวุฒิกล่าวและยังบอกอีกว่า ส่วนตัวเขาเชื่อว่าถ้ามีผู้ใช้อำนาจเผด็จการมาคุกคามคนเสื้อแดงเขาก็เชื่อว่าคนเสื้อแดงก็จะยังช่วยกัน

ณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่าเมื่อปี 2563 ตอนที่เขาเป็นแกนนำคนเสื้อแดงคนเดียวถูกขังในเรือนจำและเป็นช่วงที่คนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวจนมีนักต่อสู้สำคัญในวันนั้นต้องเข้ามาในเรือนจำทั้ง ไผ่ดาวดิน อานนท์ นำภา เพนกวิน และแอมมี่ คนเหล่านี้นอกจากไผ่ ดาวดินแล้วก็ไม่เคยมีใครเคยเข้าคุกมาก่อน เขาได้เป็นคนคอยดูแลพวกเขาแต่เขาก็ไม่ได้ทำในนามของเขาเองแต่เขาทำในนามของคนเสื้อแดง

“เราต้องปกป้องและสนับสนุน ปกป้องจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวที่เขาต่อสู้ต่อเนื่องจากวันเวลาของเรา”

ณัฐวุฒิได้กล่าวถึงการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองด้วยว่า การนิรโทษกรรมที่จะมีขึ้นต้องนิรโทษกรรมคดีที่สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและต้องรวมคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยอย่างไม่มีข้อยกเว้น

“มันเป็นความเจ็บปวดที่ลูกหลานคนไทยรุ่น 1 ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรงกับศาล ผมสู้จนมาถึงวันนี้ผมโดนคดีมาตั้งแต่ปี 50 ทุกวันนี้ก็ยังต้องสู้คดีจากปี 52 ไม่เสร็จนั่นหมายความว่า 20 ปีแล้วผมก็ยังสู้คดีเก่าผมที่มีอยู่ 20 คดี แต่ลูกหลานบางคนมี 30 กว่า 40 คดี ถ้าไม่ช่วยน้องบางคนอายุ 20 กว่าจนอายุ 60 ก็ยังสู้คดีไม่เสร็จ แล้วสมัครงานก็ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศไม่ได้เพราะติดเงื่อนไข ศักยภาพและสมองที่มีเพื่อสร้างสังคมให้มันดีกว่านี้ก็กลายเป็นว่าต้องใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ไปยืนอยู่ตีนโรงตีนศาล”

อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิก็มองว่านอกจากความเมตตาอาจไม่เพียงพอแต่ยังต้องเปิดใจรับฟังและเข้าใจความแตกต่าง เข้าใจว่าคนในยุคปัจจุบันอาจจะคิดไม่เหมือนคนในวันวานในอดีตก็เป็นได้

นอกจากนั้นณัฐวุฒิได้กล่าวไว้อาลัยให้แก่การเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้งทะลุวังด้วยว่า ไม่ว่าจะให้ความหมายต่อการเคลื่อนไหวของเธอย่างไร เห็นด้วยหรือเห็นต่าง หรือมีความห่วงใยหรือจะให้การยอมรับต่อการเคลื่อนไหวของเธออย่างไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เธอไม่สมควรต้องตายเพียงเพราะคิดต่างจากผู้มีอำนาจ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net