Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

  1. จากข่าวแตงโมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มาจนถึงหลวงปู่แสงในเดือนพฤษภาคม 2565 กลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทยที่ครอบครองพื้นที่ข่าวจนทุกวันนี้ นอกเหนือจากการเป็นดราม่าไม่จบไม่สิ้น ยังมีประเด็นเรื่อง “ข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งดูเหมือนยังไม่มีคนพูดถึง
     
  2. ล่าสุดคณะแพทย์ผู้ดูแลอาการอาพาธของหลวงปู่แสง ออกมาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของหลวงปู่ โดยคณะแพทย์ได้จัดการแถลงข่าวใหญ่โต ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มอบหมายให้มาชี้แจง
     
  3. การแถลงข่าวดำเนินการโดยคณะแพทย์โรงพยาบาลปริ๊นซ์ จ.อุบลราชธานี (น่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน) อ้างอิงพาดพิงถึงแพทย์ที่ให้การรักษาหลวงปู่ที่โรงพยาบาลหัวตะพาน จ.อำนาจเจริญด้วย (คงจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ) และยังมีรายงานข่าวที่อ้างอิงถึงโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์และโรงพยาบาลที่เชียงใหม่
     
  4. จากรายงานของสื่อมวลชน มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่หลวงพ่อจะไม่ได้ให้ความยินยอม หรืออนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพและผลการตรวจรักษาพยาบาลหลวงพ่อต่อบุคคลอื่น บรรดาญาติหรือลูกศิษย์หลวงพ่อก็น่าจะไม่ได้รับมอบอำนาจจากหลวงพ่อให้ทำการแทนในการให้ความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลในกรณีนี้ จึงจะมาลองดูว่าการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพหลวงพ่อโดยไม่ได้รับความยินยอม และเป็นการเปิดเผยในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศของหลวงพ่อนั้น จะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอะไรบ้าง
     
  5. โดยที่ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของหลวงปู่เป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ประเด็นที่จะต้องมาพิจารณากันก่อนก็คือกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ นั่นคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
     
  6. ตามคำนิยามตามกฎหมาย ข้อมูลสุขภาพของหลวงปู่เป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ตามมาตรา 6 และเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษตามมาตรา 26 ซึ่งบัญญัติว่า  “ห้ามเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า ม่านตา หรือลายนิ้วมือ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ... โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง ...”
     
  7. การนำข้อมูลสุขภาพอาการเจ็บป่วย ประวัติการดูแลรักษาสุขภาพของหลวงพ่อมาเปิดเผยหรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมจึงเป็นการผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมด ตั้งแต่การเก็บรวบรวม เปิดเผย และการใช้ประโยชน์ข้อมูล
     
  8. บทลงโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ในมาตรา 79 กรณีการกระทำผิดโดยการฝ่าฝืนมาตรา 27 เรื่องการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่รับความยินยอม หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 28  (เรื่องการส่งหรือโอนข้อมูลอ่อนไหวพิเศษตามไปต่างประเทศ) แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     
  9. อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ถึงแม้จะประกาศตั้งแต่ 27 พฤษภาคม 2562 แต่บังคับใช้เพียงเรื่องธุรการเกี่ยวกับการตั้งสำนักงานและกรรมการเท่านั้น เรื่องการคุ้มครอง เยียวยา หรือบทลงโทษ ต้องรอบังคับใช้หลังวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จึงต้องมาดูว่าการกระทำการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะของคณะแพทย์ที่ว่าจะเข้าข่ายว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือเป็นความผิดที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้หรือไม่
     
  10. ในทางอาญา การกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 323 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
     
  11. และยังอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญาว่าด้วยการ "หมิ่นประมาทบุคคลอื่น" ตามมาตรา 326 หรือ 328 ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ
     
  12. ในทางแพ่ง หากหลวงพ่อได้รับความเสียหายจากการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในลักษณะดูถูก เหยียดหยาม หยาบคาย ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง การกระทำของคณะแพทย์ก็อาจเป็นความผิดในข้อหา "ละเมิด" ตามมาตรา 420 หรือข้อหา “หมิ่นประมาท” ตามมาตรา 423 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายหรือขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายตามมาตรา 447 ได้
     
  13. นอกจากนี้ก็ต้องไปดูการได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหากคณะหมอชุดนี้ได้ข้อมูลมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยการลักขโมย การแฮกระบบ การโจรกรรมหรือจารกรรมข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ ระบบ ฐานข้อมูล ระบบหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ก็อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งในกรณีนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็อาจต้องพิจารณารวมไปถึงกรณีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และผลกระทบต่อสาธารณะด้วย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับเช่นกัน
     
  14. ยังมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ซึ่งระบุว่า "ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง ..." และยังมีมาตรฐานทางด้านจริยธรรม เช่นในคำประกาศสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งระบุว่า “ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลของตนเอง เว้นแต่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอม ...” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ แพทยสภา สภาพยาบาล ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย เหมือนจะยังไม่ออกมาแสดงท่าทีเรื่องนี้ให้ได้เห็น
     
  15. ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะทรัพย์สินส่วนตัวและในฐานะสิ่งบ่งชี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับความคุ้มครอง ซึ่งทั้งรัฐทั้งมนุษย์พึงให้ความเข้าเคารพ ไม่เข้าไปก้าวก่ายล่วงเกินพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของคนอื่น และโดยเฉพาะ “รัฐ” ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ควบคุมกติกาไม่ให้มีการล่วงล้ำก้ำเกินและให้การดูแลรักษาเยียวยาในฐานะผู้ควบคุมกฏ
     
  16. นอกเหนือจากเรื่อง “กฏ” และ “กติกา” ยังมีเรื่อง “มารยาท” เพราะนอกจากบริบทของกฏหมาย ยังมีเรื่องสำนึกและการตระหนักรู้ของสังคมที่พลเมืองจะต้องเรียนรู้และพัฒนาควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย และยังเป็นเรื่องที่เหมือนจะไม่ค่อยมีใครสนใจพูดถึงเลย เกี่ยวกับกระบวนการ กลไก และเครื่องมือในการดูแล รักษา ปกป้อง ตลอดจนการเยียวยาหากเกิดความเสียหายต่อสิทธิพลเมือง
     
  17. มาตรการขับเคลื่อนทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนา “จิตสำนึกและความระหนักรู้สาธารณะ” ในเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น และต้องรีบทำตั้งแต่วันนี้ เสียดายโอกาสและเวลาของสังคมนี้ประเทศนี้ ขนาดมีกฎหมายออกมาสามปีแล้ว แต่ไม่เอาออกมาใช้.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นคร เสรีรักษ์ เป็นผู้อำนวยการ Privacy Thailand/ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: คอลัมน์ จด•หมายเหตุ-นคร เสรีรักษ์ มติชนสุดสัปดาห์ 

ความเป็นส่วนตัวของแตงโม https://prachatai.com/journal/2022/06/99200

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net