24 ปี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แก้ทั้งทีมีความลับเยอะกว่าเดิม

  • ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.... ที่ ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบ มีโอกาสทำให้การตรวจสอบสถาบันกษัตริย์และหน่วยงานความมั่นคงยากขึ้น
  • พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ.2540 ได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของหน่วยงานราชการไปในทางเปิดเผยข้อมูลเป็นหลักไว้ก่อน แม้ว่าจะมีปัญหาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการเปิดเผยหรือสุดท้ายหน่วยงานรัฐก็ไม่เปิดเผยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.)
  • แต่ร่างกฎหมายใหม่ของ ครม.นี้จะเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการกลับไปให้เลือกปิดไว้ก่อน เนื่องจากการมีบทลงโทษที่รุนแรง
  • การเปิดเผยข้อมูลของราชการเกี่ยวพันกับความโปร่งใสของรัฐบาล สิ่งที่ควรแก้ไขคือการทำให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้นและครอบคลุมถึงเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐ

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่อายุกำลังจะครบ 24 ปี กำลังจะถูกปรับปรุงแก้ไขใหญ่เป็นครั้งแรกหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา เนื้อหาของร่างบางส่วนที่ปรากฏผ่านข่าวมติ ครม. ที่มีทั้งการขยายขอบเขตข้อมูลที่จะไม่เปิดเผยทั้งประเด็นสถาบันกษัตริย์และหน่วยงานความมั่นคง ประกอบกับการกำหนดโทษจำคุกที่สูงสุด 10 ปีและโทษปรับสูงสุดสองแสนบาทกับผู้ที่เปิดเผยข้อมูลทั้งสองหมวดดังกล่าว

ร่างดังกล่าวก็ถูกตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์จากจากหลายแวดวง จนเรื่องนี้กลายเป็นเทรนด์ #ไม่เอาพรบข้อมูลข่าวสาร บนทวิตเตอร์อยู่หลายวัน เพราะสองประเด็นนี้ต่างก็กำลังถูกจับตาตรวจสอบและตั้งคำถามอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คาดเดาได้ว่าหากร่างกฎหมายฉบับ ครม.ผ่านออกมาน่าจะมีแนวโน้มทำให้เข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ยากกว่าเดิม

ประชาไทจึงชวนทั้งนักข่าว นักตรวจสอบทุจริต และอดีตคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ มาเล่าประสบการณ์จากการต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ราชการถือครองเอาไว้และมักจะไม่ได้มาง่ายๆ และข้อกังวลที่มีต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ และมองไปในอนาคตว่าจะต้องมีกฎหมายแบบไหนเพื่อให้รัฐปรับตัวสู่การเป็นรัฐที่โปร่งใสธรรมาภิบาลได้

ครม.ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ใหม่ ห้ามเปิดที่อาจไปใช้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์

รอแล้วรอเล่า แต่ก็เจอแต่ความว่างเปล่า

พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าว The MATTER เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ อย่างเข้มข้นจากการร่อนหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานรัฐหลายแห่ง หนึ่งในกรณีที่ยกตัวอย่างให้ฟังคือการขอข้อมูลไปยัง ป.ป.ช. เรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่สิ่งที่ได้มาคือกระดาษเปล่า ปัจจุบัน การให้เหมือนไม่ให้นี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองมาแล้ว 2 ปี

พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าว The MATTER

พงษ์พิพัฒน์เล่าประสบการณ์การใช้งาน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปัจจุบันว่าแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักๆ

หนึ่ง ท่าทีของหน่วยงานรัฐที่บางทีไม่รู้ขั้นตอน แต่บางหน่วยงานที่เจอนักข่าวบ่อยจนรู้ขั้นตอนดีก็จะท้าทาย เช่น อ้างว่าไม่มีข้อมูลบ้าง ขอไม่ได้บ้าง หรือขอแล้วไม่ให้

สอง กระบวนการขอข้อมูลใช้เวลานานมาก จากที่พงษ์พิพัฒน์เคยขอข้อมูลจากกองทัพบกที่ไม่พร้อมเปิดเลย ทั้งถ่วงเวลา ไม่ตอบ อ้างว่าเตรียมเอกสารอยู่ หายไป หรือไม่ก็ปฏิเสธไปเลยโดยอ้างเรื่องระเบียบว่าด้วยความลับทางราชการหรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็ต้องอุทธรณ์ต่อ แม้จะอุทธรณ์ชนะแต่ก็เสียเวลาไปมาก ในกรณีกองทัพบก เคยได้เร็วที่สุดใช้เวลา 8 เดือน กรณีช้าสุดและสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ข้อมูลด้วยคือเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ใช้เวลา 4 ปี ซึ่งนานมาก

สาม ตัว พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับเดิมระบุเอาไว้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ให้เป็นที่สุด แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าหากไม่ทำตามจะมีบทลงโทษอะไร สุดท้ายเลยไม่ที่สุด มีหลายหน่วยงานที่บิดพลิ้วและไม่เปิดข้อมูลเลย

แต่ไม่ใช่แค่นักข่าวที่ประสบปัญหา องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณและการทุจริตในภาครัฐอย่าง “องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นแห่งประเทศไทย (ACT) ” ก็ประสบปัญหาไม่น้อย

มานะ นิมิตรมงคล ในฐานะเลขาธิการ ACTและยังเป็นคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารด้วยก็เล่าปัญหาที่เคยเจอคือหน่วยงานไม่เปิดข้อมูลให้ หรือต่อให้เปิดให้กองข้อมูลมาซึ่งใช้ประโยชน์ได้ยากแต่ก็ยังให้ครบบ้างไม่ครบบ้างทำให้เกิดความยุ่งยากในการตรวจสอบข้อมูล

“การเปิดเผยข้อมูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องเกี่ยวกับข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการเปิดและมีเงื่อนไขที่จะเอาลง ใครอยากได้ก็ไปขอ ข้อมูลจำนวนมากของ ปปช. ก็เปิดเผยแบบมีเงื่อนไขที่ ป.ป.ช. คิดว่าแค่นี้พอแล้ว เช่น ข้อมูลที่เป็นสถิติการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ในอดีต ก็จะมีการรวบรวมสถิติไว้ว่าในปีที่ผ่านมามีการชี้มูลความผิดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้กี่คดี เป็นคดีที่ไหน ใครเกี่ยวข้อง เป็นมูลค่าเท่าไหร่ ข้อมูลตรงนี้ก็หายไปในเรื่องว่าใครเกี่ยวข้อง และมูลค่าเท่าไหร่ ตรงนี้เราก็ไม่เห็นปรากฏบนเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.” นอกจากนั้นมานะยังบอกอีกว่าอุปสรรคบางอย่างก็เกิดจากกฎหมายเอง เช่น กรณีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่ ปปช.เคยเผยแพร่บนเว็บไซต์ แต่พอมีคดีหรือมีการตั้งคณะกรรมสอบสวนขึ้นมา ป.ป.ช.ก็เอาลงจากเว็บไซต์อ้างว่าเป็นความลับ

เลขาฯ ACTเห็นว่ากฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ก็เป็นอุปสรรคมาก เพราะหน่วยงานราชการและนักการเมืองจงใจตีความกฎหมายและมีวิธีปฏิบัติไปในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกตัวเอง ทั้งการดึงเวลาเปิดเผยให้ล่าช้าออกไปให้นานที่สุดหรือเปิดเผยให้น้อยที่สุด ทั้งที่ตามกฎหมายเมื่อเกิดข้อมูลของรัฐ เช่น การใช้งบประมาณก็ต้องเปิดเผย แต่หน่วยงานก็เลือกจะปิดไว้ก่อนแล้วให้ดำเนินการตามขั้นตอนยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งใช้เวลานานมาก หรือที่เขาเคยเจอคือคนขอข้อมูลระบุชื่อหรือเลขรับ-ส่งเอกสารระหว่างองค์กรผิดหน่วยงานก็ไม่ให้แล้ว

“ที่ผมเจอมาเยอะมากเลยก็คือ คนไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน ปปท.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ป.ป.ท. ส่งเรื่องไป ป.ป.ช. ผู้ร้องเรียนไปถามเรื่องที่ ป.ป.ช.ว่าขอทราบวันที่และเลขที่เขาส่งเรื่องมา ป.ป.ช.บอกเลยว่าไม่มี เพราะเลขของที่ ป.ป.ช. มีเลขรับ เห็นไหมครับ ระหว่างคำว่ารับกับคำว่าส่ง แค่นี้เอง และเขาไม่ได้ตอบเลยนะ หลังจากที่มายื่นเรื่องไว้จะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง แล้วเขาจะตอบว่าไม่มีสิ่งที่คุณร้องขอ”

มานะยกอีกตัวอย่างคือ การต้องเปิดเผยหลักฐานการเสียภาษีของ ส.ส.ที่จะต้องแสดงย้อนหลัง 3 ปี แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไปตีความจนเหลือแค่ให้แสดงใบเสร็จใบเดียวไม่ใช่รายละเอียดการเสียภาาทั้งหมดซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

มานะกล่าวอีกว่าปัญหาอยู่ที่การตีความอย่างเวลามีคนไปขอหน่วยงานรัฐก็จะบอกว่าไม่ให้ หรือให้แต่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มันเป็นการตีความที่ผิดไปจากหลักการที่บอกว่าเมื่อเกิดข้อมูลของรัฐในการใช้งบประมาณหรืออำนาจก็ให้หน่วยงานเปิดเผยแต่กลายเป็นว่าพอมีข้อมูลแล้วก็ไปปิด การไปร้องเรียนถึงคณะกรรมการตามช่องทางใช้เวลานานมากเกินเหตุหรือถ้าไม่ให้เปิดก็ไปร้องที่ศาลหรือเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยบอกให้เปิดเผยหน่วยงานก็จะอ้างกฎหมายเรื่องความมั่นคงบ้างกฎหมายบ้าง เป็นต้น

นาฬิกา Richard Mille เจ้าปัญหาที่ประวิตร วงษ์สุวรรณอ้างว่ายืมเพื่อนมา

“ตอนกฎหมายออกใหม่ๆ เคสที่ดังมากของกฎหมายข้อมูลข่าวสารก็คือ กรณีเปิดผลเผยสอบเข้าสาธิตเกษตรฯ เป็นเคสหมุดหมายสำคัญที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้กันว่าโรงเรียนจะมาเรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะไม่ได้แล้วเพราะต้องเปิดเผยผลสอบว่าใครสอบได้สอบไม่ได้”

ข้อความข้างต้น นคร เสรีรักษ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้ก่อตั้ง Privacy Thailand อีกทั้งเคยเป็นอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร กล่าวถึงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับ 2540 ที่ใช้อยู่ตอนนี้มองว่าส่วนหนึ่งของปัญหาคือ 24 ปีที่ผ่านมาตัวสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเองก็ทำงานได้ไม่เต็มที่

“แต่หลังจากนั้นกรรมการชุดต่อๆ มาก็แผ่วลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีรัฐบาลจากการรัฐประหารด้วย เราก็จะมีคณะกรรมการที่มาจากรัฐบาลแบบนี้ด้วยมันก็ไม่ค่อยฟังก์ชั่น” และนครก็เสริมอีกว่าที่ผ่านมาพอกฎหมายเปิดไว้ให้จัดหาข้อมูลให้ได้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งก็ทำให้แต่ละหน่วยงานก็จัดหาให้ 1-2 สัปดาห์ แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการก็เคยออกประกาศให้หน่วยงานต้องจัดหาให้ได้ภายใน 1 วัน แล้วถ้าหาให้ภายใน 1 วันไม่ได้ก็ต้องหาให้ได้ภายใน 15 วัน ถ้า 15 วันยังไม่เสร็จอย่างน้อยก็ต้องมีคำตอบให้กับผู้ขอว่าจะจัดให้ได้ภายในเมื่อไหร่ แสดงว่ากรรมการสามารถทำได้แต่กรรมการก็ไม่ทำ

ในฐานะอดีตคณะกรรม นครเองก็มองว่า 24 ปีที่ผ่านมาของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยืนยันสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ แม้จะยังมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นกฎหมายที่ทำให้ข้าราชการต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ข้อมูลของราชการไม่ใช่มีไว้เพื่อปกปิดหรือเก็บไว้ใช้แต่ราชการเท่านั้นแล้ว แต่ต้องเอามาเปิดเผยให้กับประชาชนซึ่งมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ และทัศนคติของข้าราชการเองก็เปลี่ยนไปพอสมควรทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ในการเปิดเผยข้อมูลของทางราชการ อีกทั้งยังฝึกให้เจ้าหน้าที่กล้าใช้ดุลพินิจมากขึ้นเพราะตามกฎหมายก็กำหนดไว้เพื่อไม่ให้เรื่องทั้งหมดต้องขึ้นไปถึงระดับอธิบดีตัดสินใจ แม้ข้าราชการเองจะยังเคยชินว่ามีเรื่องอะไรก็ต้องถามผู้บังคับบัญชาเอาไว้ก่อนก็ตาม

นครกล่าวว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ออกมา เขาก็ค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลในครอบครองของรัฐที่ถูกแก้ไขไปจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ที่เคยเขียนประเด็นนี้ไว้ชัดว่าบุคคลมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลในครอบครองของหน่วยงานราชการและรัฐ แม้จะมีเขียนข้อยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลที่กระทบต่อการความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนเหมือนกัน

นครอธิบายว่าพอมาของปี 60ในมาตรา 59 ที่บอกว่ารัฐต้องเปิดเผยข้อมูล “ข่าวสารสาธารณะ” ที่ไม่ใช่ข้อมูลความมั่นคงหรือข้อมูลลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งก็มีปัญหาว่าการที่ระบุคำว่าความมั่นคงและข้อมูลลับนี้ทำให้ระบบราชการไทยที่มีธรรมชาติและความเคยชินกับการที่ไม่อยากเปิดเผยอยู่แล้ว ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่หยิบประเด็นนี้มาแล้วก็อ้างว่าเอกสารหรือข้อมูลนั้นๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือเป็นความลับของทางราชการ แล้วการรักษาความลับก็ไปใช้ระเบียบความลับของราชการที่หน่วยงานจะสามารถกำหนดชั้นความลับให้มีการปกปิด ลับมาก ลับที่สุดได้

ถ้าหน่วยงานของรัฐตีความว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือความลับของทางราชการก็จะไม่เข้ามาตรา 59 ก็จะเป็นปัญหาทำให้ในทางปฏิบัติเหมือนไปเสริมค่านิยมดั้งเดิมของระบบราชการไทยที่เคยชินกับการปกปิดข้อมูลหรือไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชน

“ใครจะมาเป็นคนอธิบายว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลความมั่นคงหรือเปล่า มันครอบจักรวาลมากเลย แล้วยิ่งราชการไทยถนัดมากในการตีความเพื่อจะไม่เปิดเผยเนี่ยก็ตีเข้าข้อนี้ แล้วถ้าเราจะบอกว่าสิ่งที่หน่วยงานรัฐทำขัดกับรัฐธรรมนูญมันเรื่องใหญ่เลย มันไม่ใช่เรื่องที่สามัญชนคนธรรมดาจะไปต่อสู้กับหน่วยงานของรัฐเพื่อจะไปยืนยันสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” อดีตคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารให้ความเห็น

นครเสริมอีกว่าตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา เรื่องความมั่นคงถูกตีความเป็นความมั่นคงแบบทหารมากจนเกินไปจนปิดกั้นสิทธิของประชาชนไปทั้งหมด รัฐก็พยายามออกแบบทุกวิถีทางเพื่อจำกัดสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แล้วร่างฉบับใหม่การมากำหนดโทษแก่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูลก็จะทำให้ข้าราชการกลับไปใช้วิธีคิดแบบเดิม คือ ปกปิดไว้ก่อนมีปัญหาอะไรก็ไม่เปิดก็จะทำให้เกิดความยุ่งยาก ประชาชนก็จะไม่อยากไปใช้สิทธิเพราะเดี๋ยวก็จะมีโทษด้วยเป็นการขัดขวางไม่ให้เกิดธรรมาภิบาลในหน่วยงานต่างๆ โดยตรง

คุก 10 ปี ปรับ 2 แสนใครจะกล้าเปิด

“ทั้งเรื่องการออกแบบกฎหมาย ทั้งเรื่องบทลงโทษ ทั้งเรื่องการตั้งกรรมการวินิจฉัยที่เหมือนกับเป็นคนตัดสินข้อพิพาทเรื่องการเปิดหรือการไม่เปิดตามคำขอของประชาชน ทั้งหมดมันดูเหมือนเป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ไม่เปิดข้อมูล”

นครอธิบายว่า ตามกฎหมายเดิมข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยมีอยู่เรื่องเดียวคือข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 14 ส่วนเรื่องความมั่นคงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศความมั่นคงทางเศรษฐกิจการคลังของประเทศจะอยู่ที่มาตรา 15 ยังเป็นเรื่องที่เปิดให้หน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้เปิดหรือไม่ให้เปิดเผยก็ได้ แต่ในร่างกฎหมายใหม่มีความชัดเจนว่าจะทำให้การเปิดเผยข้อมูลมีข้อจำกัดมากขึ้น

นครชี้ให้เห็นถึงปัญหาของมาตรา 13/1 ที่บัญญัติว่า “หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ก็จะอยู่ที่ว่าใครเป็นคนอธิบายกฎหมายฉบับนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ครอบครองข้อมูล แล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่ขอข้อมูลจะนำไปใช้หรืออาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ เจ้าหน้าที่คนที่ถือข้อมูลจะเป็นคนตัดสินเองหรือจะทำความเห็นไปถึงผู้บังคับบัญชาหรืออธิบดีหรือผู้มีอำนาจแล้วก็ตัดสินออกมาคนที่ไปขอข้อมูลอาจนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และมาตรา 13/2 ที่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ด้านข่าวกรอง การก่อการร้ายก็จะเกิดสภาพเปิดเผยไม่ได้เหมือนกัน

อีกทั้งยังมีบทลงโทษคนที่ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 13/1 และ 13/2 ที่มีโทษรุนแรงคือจำคุกสูงสุดสิบปี ปรับสูงสุดสองแสนบาท แบบนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าใช้ดุลพินิจเพราะกลัวถูกลงโทษสุดท้ายก็จะไปลงว่าเป็นข้อมูลเปิดเผยไม่ได้หรือไม่เปิดเผย

นอกจากนั้น นครเห็นว่าในส่วนขยายของมาตรา 13/2 ที่ขยายเรื่องประเภทข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกมานี้ไม่ควรเข้ามาอยู่ในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ตั้งแต่แรก และเป็นปัญหาในการออกแบบกฎหมายที่เหมือนกับไปเอาระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการมาใส่ไว้

“แนวคิดหรือปรัชญาของกฎหมายข้อมูลข่าวสารจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แต่หลักเรื่องนี้เป็นเรื่อง Freedom of Information หรือว่าด้วยเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นกฎหมายที่ประกันสิทธิที่จะรู้ของของประชาชน(Right to Know) ไม่ใช่ระเบียบที่ว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการมันเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกัน แต่ว่าอยู่ๆ คนออกแบบกฎหมายไปเอาระเบียบว่าด้วยการบริหารเอกสารความลับของทางราชการมาใส่ไว้ใน 13/2 ถึง 13/7 ซึ่งมันประหลาดมาก”

“แล้วจะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไรในอนาคต เพราะโลกทุกวันนี้มันก็เปลี่ยนไปตั้งเยอะ ความมั่นคงในอนาคตศัพท์เทคนิกทางการทหาร หรือเอกสารในทางการทหารมันก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือนิยามความมั่นคงก็เหมือนกัน ยังไม่ต้องพูดถึงว่าการตีความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของรัฐบาลมันก็คนละเรื่องกันนะ แล้วถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตีความว่าอะไรก็แล้วแต่กระทบความมั่นคงของรัฐบาลคือความมั่นคงของรัฐอย่างนี้ก็ตายพอดี”

นครยังชี้ให้เห็นปัญหาในประเด็นสัดส่วนของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องที่มีคนอุทธรณ์กรณีที่หน่วยงานรัฐปฏิเสธเปิดเผยข้อมูล ในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้การตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงจะต้องประกอบด้วยผู้แทนทหารจาก 4 ด้าน คือ ด้านการป้องกันประเทศ ด้านข่าวกรอง ด้านป้องกันและปราบปรามก่อการร้าย และด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงมาเป็นกรรมการ ถ้ามีคนขอดูข้อมูลแล้วมีการอุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลที่มีผู้แทนฝ่ายทหารถูกตั้งเข้ามาก็จะยิ่งนำไปสู่การปิดบังข้อมูล เขาเห็นว่าก็จะยิ่งขัดแย้งกับหลักของกฎหมายที่ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ว่าด้วยการยืนยันสิทธิพลเมือง

นคร เสรีรักษ์ ผู้ก่อตั้ง Privacy Thailand

ส่วนพงษ์พิพัฒน์กังวลว่าหากกฎหมายนี้ผ่าน จะทำให้การขอข้อมูลทำได้ยากขึ้น และจะถูกปฏิเสธง่ายขึ้น แม้จะไม่ต้องกังวลกับการถูกเตะถ่วงไปเรื่อยๆ แล้วก็ตาม

“มีโอกาสสูงว่าจะยากขึ้น เนื่องจากราชการ โดยฐานคิดแล้วเขาจะมองว่า ถ้ากฎหมายไม่มีอำนาจ เขาจะไม่เปิด ถ้าฉันเปิดแล้วฉันซวย ฉันก็ไม่ทำ การที่กฎหมายกำหนดโทษไว้สูงมากถึง 10 ปี รวมถึงข้อความบางอย่างใน พ.ร.บ. ใหม่มันเปิดโอกาสให้เกิดการตีความค่อนข้างเยอะ ก็เป็นไปได้ว่าฐานคิดในระบบราชการอาจจะปิดเป็นหลัก เปิดเป็นข้อยกเว้น”

ข้อดีเท่าที่บก.อาวุโสของ The MATTER เห็นในร่างของ ครม.คือเรื่องการกำหนดขั้นตอนการขอข้อมูลที่กำหนดวันที่ต้องเปิดข้อมูลให้ภายใน 30 วัน ซึ่งอาจจะแก้ไขการใช้วิธีถ่วงเวลาของหน่วยงานรัฐได้และก็มีการขยายประเภทข้อมูลที่ต้องเปิดเผยอัตโนมัติ

ส่วนเลขาฯ ACT ก็ยืนยันว่าถ้าร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ของ ครม.ผ่านออกมาใช้กระทบงานของ ACT แน่นอน เพราะขนาดที่ผ่านมาบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ก็จงใจใช้อภิสิทธิ์ทางกฎหมายแบบเกินเลย เช่น เรื่องความลับทางราชการ การสร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลทั่วไป หรือข้ออ้างเกี่ยวกับความมั่นคงก็เจอเยอะมาก และชั้นความลับก็ไม่มีขอบเขตชัดเจนว่าใครใช้ความลับได้ และเมื่อจะใช้ต้องมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง แต่จากประสบการณ์ในฐานะกรรมการของมานะก็เห็นว่าหลายเรื่องก็เป็นเพียงการจัดซื้อจัดจ้างหรือก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้จะไปกระทบความมั่นคงอะไร แต่เป็นการอ้างเกินจำเป็นของหน่วยงานราชการอย่างกองทัพหรือตำรวจ

มานะยังยืนยันอีกว่าฉบับร่าง ครม.นี้ก็ไม่สอดคล้องกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันปราบปรามทุจริตและสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกทั้งยังต่างจากร่างของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารที่เคยยกร่างไว้ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2556-2557 และอนุกรรมการที่ยกร่างก็ถึงกับวิจารณ์ว่าร่างของ ครม.นี้เป็นเหมือน “บ้าหอบฟาง” แทนที่จะให้เป็นกฎหมายวางหลักการในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเพื่อให้คล่องตัว ทันสมัย สอดคล้องกับหลักสากลมากที่สุด แต่ พ.ร.บ. นี้ กลับเอาเรื่องอื่นๆ เข้าไปจำกัดการเปิดเผยข้อมูล

“ถ้ายังยอมให้มีการแก้ไขกฎหมายมาในแนวทางที่เห็นอยู่ มันจะยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเดิมอีก” มานะกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับที่เพิ่งผ่าน ครม. ซึ่งจุดยืนของ ACTและเป็นข้อเสนอของเขาด้วยก็คืออยากให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างกันขึ้นมาใหม่เลย ไม่ใช่เอาร่างที่ผ่าน ครม.ไปแก้ในสภา ในรายงานฉบับนี้ก็แสดงความเห็นชัดเจนว่า คณะกรรมาธิการเห็นควรว่าต้องการให้มีการร่างใหม่

“ผมเคยเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายผมก็รู้เลยว่า ถ้าคุณมีร่างกฎหมายอยู่ในมือแล้ว แปลว่าคุณมีธง ถ้าแก้ก็แก้ได้เล็กน้อย แล้วพอเห็นว่าคุณตั้งชื่อ ตั้งใครเป็นกรรมาธิการ จะรู้เลยว่าธงของรัฐบาลคืออะไร อยากได้อะไร ตั้งคนนี้มาดึงเรื่องให้ตกไป ตั้งคนนี้มายอม ตั้งคนนี้มาไม่ยอม เราพอเดาได้เลย”

จะแก้ทั้งทีต้องเปิดเผยกว่าเดิม ครอบคลุมเอกชนด้วย

นครเสนอว่ากลไกของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ 2540 ยังทำงานได้ เพราะคณะกรรมการกำหนดวิธีเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามได้ แล้วที่ผ่านมาคณะกรรมการก็เคยมีคำสั่งให้หน่วยงานจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารซึ่งก็ออกมาเป็นข้อมูลกระดาษข้อมูลกายภาพ แล้วคณะกรรมการจะกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตด้วยก็ได้เพื่อให้เป็นรูปแบบดิจิทัล ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องไปแก้กฎหมาย

แต่นครก็ชี้ให้เห็นว่าถึงประเด็นปัญหาโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายเก่าที่อยู่ภายใต้สำนักงานนายรัฐมนตรี แล้วตัวประธานคณะกรรมการก็ต้องเป็นคนที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเพราะฉะนั้นโครงสร้างของคณะกรรมการคือรัฐ จุดนี้เขามองว่าเป็นปัญหาโดยยกตัวอย่างว่าถ้าต้องการข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วมีคนไปยื่นขอข้อมูลจนเรื่องถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคณะกรรมการที่มีคนจากสำนักนายกฯ นั่งเป็นประธานอยู่ กรรมการก็ตั้งโดยคณะรัฐมนตรี แล้ว ครม. ก็เอาคนของตัวเอง 9 คนเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการวินิจฉัยก็ได้รับการแต่งตั้งจาก ครม.โดยได้รับคำปรึกษาจากคณะกรรมการชุดนี้ จึงต้องตั้งคำถามว่ากรรมการคนไหนจะมาอยู่ข้างประชาชน

“ในอุดมคติ คนที่จะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้(พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ) ควรจะเป็นหน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผมว่ามันต้องออกมาจากสำนักนายกฯ แต่ถ้าออกมาเป็นอิสระแบบ กกต. ปปช. ไม่ได้ก็ต้องแยกออกมาสังกัดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งไม่ใช่องค์กรภายใต้รัฐบาล หรือเอาไปอยู่ใต้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือโมเดลที่สามผมเสนอว่าให้ไปเป็นหน่วยงานอยู่ใต้สังกัดรัฐสภา อย่างน้อยก็ยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎรมันก็ยังดีกว่าเป็นองค์กรภายใต้นายกรัฐมนตรี” นครเสนอให้แก้ไขในส่วนของสถานะของสำนักงานคณะกรรมการในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 2540 ที่ใช้อยู่ตอนนี้ เพราะ 24 ปีที่ผ่านมาตัวสำนักงานเองก็ทำงานได้ไม่เต็มที่

ทั้งนี้ข้อเสนอเรื่องการย้ายโครงสร้างของคณะกรรมการให้แยกออกจากสำนักนายกรัฐมนตรีมาเป็นองค์กรอิสระนี้เขาก็เห็นว่าเป็นรูปแบบในอุดมคติเท่านั้นหากดูจากสภาพการณ์ในปัจจุบันขององค์กรอิสระต่างๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามการที่คณะกรรมการยังอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบเดิมก็ไม่มีทางที่จะทำให้รัฐโปร่งใสได้เช่นกันเพราะคณะกรรมการจะใช้ดุลพินิจอย่างอิสระได้อย่างไรถ้าเป็นกรณีที่รัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นแห่งประเทศไทย (ACT)

เลขาฯ ACT มองว่าที่ผ่านมา ACT เห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่เป็นอุปสรรคแต่ยังทำงานมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็พูดว่าหลักการของกฎหมายนี้จะต้องเป็นสากลและเรื่องที่เป็นข้อยกเว้นก็จะต้องยึดหลักสากลเช่นเดียวกันและต้องชัดเจน เช่น ถ้าจะใช้คำว่าความมั่นคง ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวหน่วยรบเป็นกองกำลัง และต้องใช้ภายใต้เงื่อนไข ไม่ใช่อยากจะปั๊มลับก็ปั๊ม

ทั้งนี้มานะมองไปถึงเรื่องการทำระบบฐานข้อมูลภาครัฐที่พัฒนามาบ้างแล้ว เขาเล่าว่าที่ผ่านมาหน่วยงานบางหน่วยงานได้พยายามสร้างฐานข้อมูลภาครัฐที่เป็นดิจิทัลแล้ว เช่น ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือที่เรียกย่อๆ ว่าสภาพัฒน์ฯ) หรือข้อมูลที่ปรากฏใน GFMIS หรือระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งข้อมูลในฐานข้อมูลเหล่านี้จะมีความละเอียดกว่าข้อมูลบัญชีงบประมาณของแต่ละหน่วยงานเองซึ่งต่อให้อยู่ในพื้นที่เป็นความลับของหน่วยงานก็จะปรากฏในระบบเหล่านี้

มานะยังเห็นโอกาสที่ดีจากแนวนโยบายของผู้บริหารยุคใหม่ของหน่วยงานเหล่านี้ที่เห็นความสำคัญและพยายามทำประเด็นข้อมูลดิจิทัลของภาครัฐและจากการขยายตัวของระบบข้อมูลดิจิทัลมากกว่าตัวกฎหมาย แต่เขาก็เห็นว่าถ้าตัวกฎหมายสร้างสรรค์ก็จะทำให้ระบบข้อมูลภาครัฐดีกว่านี้ได้ แต่ไม่ใช่มีกฎหมายที่แย่ลงแบบนี้

สำหรับแนวทางปฏิบัติที่ดีกว่า พงษ์พิพัฒน์เสนอให้ลองพิจารณา พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่พรรคก้าวไกลเสนอไปเมื่อปี 2563 ที่ตั้งนิยามของกฎหมายว่าให้เปิดเป็นหลัก ถ้าจะปิดต้องมีเหตุผลในการปิด และประชาชนสามารถแย้งได้ด้วยว่าการไม่เปิดนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ การขอนี้หมายรวมถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในมือเอกชนแต่เป็นการใช้อำนาจของรัฐ เช่น สัญญาสัมปทานหรือการรับมอบอำนาจรัฐบางอย่างด้วย ถือเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก ขณะนี้ ร่างฯ ผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว มีคนแสดงความเห็นเพียง 5 คน อยู่ในขั้นตอนทางรัฐสภา

ทั้งนี้นอกจากข้อมูลภาครัฐแล้วในประเด็นเรื่องความโปร่งใสในปัจจุบันยังมีความเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงข้อมูลของภาคเอกชนด้วยโดยเฉพาะกับบริษัทเอกชนที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลต่างๆ ซึ่งประเด็นนี้ทั้งมานะและนครก็เห็นว่ากฎหมายที่จะออกมาใหม่ก็ควรจะครอบคลุมเรื่องนี้

มานะบอกว่าแทนที่จะแก้ไขส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่เปิดเผย ควรจะแก้ให้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ครอบคลุมไปถึงข้อมูลของเอกชนบางส่วนด้วยเพื่อให้เอกชนมีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น การเปิดรับเงินบริจาคต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งเดิมไม่มีกฎหมายที่จะไปบังคับให้ทำ แล้วตอนนี้ทางภาคเอกชนเองก็ยังมีประเด็นธรรมาภิบาลในทางธุรกิจด้วยซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลเหมือนกัน เพราะรัฐธรรมนูญเองก็ระบุถึงเรื่องข้อมูลสาธารณะด้วยแต่ยังเป็นนิยามอย่างแคบที่ไปทำให้เหลือแค่ข้อมูลข่าวสารของราชการเท่านั้น

มานะเล่าว่าระหว่างทำระบบ ACTAi ขององค์กรที่ใช้ดึงข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นทางการมาเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ก็ได้เห็นว่ามีข้อมูลการจัดซื้อหมดเลย แล้วถ้าได้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจด้วยก็จะเห็นเลยว่าบริษัทที่ประมูลใครเป็นผู้ถือหุ้น พอรู้ผู้ถือหุ้น ก็กลับไปดูที่การประมูลงานว่าการประมูลครั้งนี้ ใครเป็นคนได้งาน ใครเป็นผู้เทียบ เราจะเห็นว่าในบริษัทผู้เทียบพวกนี้มีผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องกันไหมตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจ แต่ปัญหาก็คือเอามาไม่ได้จะใช้ต้องค้นที่ละบริษัทและบางครั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพราะมีค่าลิขสิทธิ์ของข้อมูลอยู่ และเขาก็ยังหวังว่าว่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลบางอย่างจากธนาคารได้เช่น เช็คการันตีหรือหลักทรัพย์ตัวไหน แต่ก็คิดว่าคงไปบังคับธนาคารไม่ได้

อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

มานะอธิบายว่าเมื่อเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐจะต้องเปิดเผยเต็มที่ เขาบอกว่าหลักการนี้อ้างอิงมาจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) และประเทศที่ทำได้อย่างชัดเจนร้อยเปอเซ็นเลยคือเอสโตเนีย ที่เมื่อคุณเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ คุณต้องเปิดข้อมูลนิติบุคคลร้อยเปอร์เซ็นต์”

“ในเอสโตเนีย อาจเป็นเพราะเป็นประเทศเล็กและเป็นประเทศเพิ่งเปิด เลยสามารถทำได้ด้วยกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทย ถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกเปิดเผยพอสมควรตามกฎเกณฑ์ กติกา แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป วันนี้ยังห่างไกล แต่ถ้าเรายอมรับกติกาว่า ทันทีที่คุณเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ คุณใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐ ฉะนั้นคุณต้องยอมรับการตรวจสอบ เราจะยอมรับกติกาแบบนี้กันได้ไหม” เสริม และมานะเห็นว่าความโปร่งใสทำให้การแข่งขันกันทางธุรกิจรู้ว่าแข่งขันกันภายใต้เงื่อนอะไร ไม่ใช่แค่คนที่เป็นคนใน (insider) เท่านั้นถึงจะรู้

“การต่อต้านคอรัปชั่น หัวใจคือการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของภาครัฐ ถ้าไม่เปิดเผยแล้วจะมาพูดว่าประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอรปัชั่นของประเทศ พูดไม่ได้”

“ผู้บริหารประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองทุกคนจะพูดว่าโปร่งใสได้ คุณต้องเปิดเผยอย่างเต็มที่ เมื่อเปิดเผยแล้วประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ในการคิด หรือในการใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์เอง คำว่าเป็นประโยชน์ หมายถึงประโยชน์ในการตรวจสอบ ในการใช้ทรัพยากรของรัฐให้เป็นประโยชน์ แล้วมันจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจได้ด้วย”

ระดับความโปร่งใสของไทยอยู่ตรงไหนของโลก

จากรายงานดัชนีหลักนิติธรรมปี 2563 (Rule of Law Index 2020) ของ World Justice Project หรือ WJP ที่ทำสำรวจในประเทศไทยเมื่อปี 2018 โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ นครราชสีมา และอุดรธานี ในการทำสำรวจนี้จะวัดจากประสบการณ์และการรับรู้ของสาธารณชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ ตามตัวชี้วัด 8 หัวข้อ ได้แก่ การจำกัดอำนาจของรัฐบาล, การปราศจากการคอร์รัปชัน, สิทธิขั้นพื้นฐาน, ระเบียบและความมั่นคง, การบังคับใช้กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง, กระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ของรัฐบาลด้วย

คะแนนด้านความโปร่งใสในแต่ละปีของไทยตั้งแต่ 2015-2020 ภาพจาก World Justice Project

ทั้งนี้การคิดคะแนนของ WJP จะเป็นการให้คะแนนช่วง 0-1 คะแนนสูงสุดคือ 1 และต่ำสุดคือ 0 ซึ่งคะแนนในส่วนของความโปร่งใสของรัฐบาลไทยปี 2020 มีคะแนนรวมอยู่ที่ 0.51 โดยในหัวข้อนี้มีตัวชี้วัดแยกย่อยในอีก 4 ประเด็นตามภาพด้านล่างคือ 3.1) เผยแพร่กฎหมายและข้อมูลของรัฐ 3.2) ให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล 3.3) ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม และ 3.4) มีกลไกการรับข้อร้องเรียน

ภาพจาก World Justice Project

แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในประเด็นความโปร่งใสของรัฐบาล อันดับของประเทศไทยอยู่ที่ 61 จาก 128 ประเทศทั่วโลกในปีล่าสุด

ข้อมูลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน(Corruption Perceptions Index หรือ CPI) จากรายงานGlobal Corruption Barometer Asia 2020 (GCB) ขององค์กร Transparency International ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ระบุว่าจากการทำสำรวจความเห็นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2020 ต่อเรื่องการทุจริตในแง่มุมต่างๆ ด้วยแบบสอบถาม จากการสุ่มตัวอย่างในประเทศไทยจำนวน 1,000 คน มีถึง 88% ที่เห็นว่าการคอรัปชั่นในรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ และ 55% ที่เห็นว่าในรอบ 12 เดือนมีการคอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้น(รายงานหน้า 8) แต่ผู้ที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่ารัฐบาลจัดการกับปัญหานี้ได้แย่ถึง 73% (รายงานหน้า 13)

นอกจากนั้นในรายงานยังระบุอีกว่าจากตัวอย่าง 1,000 คนนี้ มีถึง 71% บอกว่าไม่มีเชื่อใจต่อรัฐบาลหรือมีน้อย และยังเป็นประเทศที่คนไม่เชื่อใจหน่วยงานตำรวจสูงที่สุดในอาเซียนคือ 59% และคนที่ทำแบบสำรวจ 40% ก็ไม่เชื่อใจศาลด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานอย่างตำรวจรวมถึงองค์กรตุลาการขาดความน่าเชื่อถือและระบบที่ซื่อตรง ทั้งที่ตำรวจและองค์กรตุลาการควรจะเป็นแนวหน้าในการต่อต้านการคอรัปชั่น (รายงานหน้า 17)

รายงานยังมีคำถามถึงประสบการณ์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเคยเจอการทุจริตเมื่อต้องเข้าใช้บริการของหน่วยงานสาธารณะต่างๆ ในรอบ 12 เดือนก่อนทำแบบสำรวจอย่างไรบ้างพบว่า มีผู้ที่เคยจ่ายเงินใต้โต๊ะ 24% และ 27% ที่เคยใช้เส้นสาย 28% เคยได้รับข้อเสนอให้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ รวมถึงมีคน 15% ที่เคยมีประสบการณ์หรือได้รับรู้เรื่องราวว่ามีการหาประโยชน์ทางเพศเช่นการใช้อำนาจหรือแลกเปลี่ยนด้วยการขอจับ ให้เปลือยหรือขอภาพเปลือย ไปจนถึงการขอมีเพศสัมพันธ์ (รายงานหน้า 53)

ส่วนคะแนน CPI เต็มร้อยแต่ของไทยได้ 36 คะแนน ส่วนอันของไทยอยู่ที่ 104 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ทั้งนี้ก็ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าอันดับของไทยทั้งดัชนีหลักนิติธรรมและดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นแม้จะขึ้นๆ ลงๆ อยู่บ้างก็เนื่องมาจากในทั้งสองดัชนีมีจำนวนประเทศที่ถูกจัดอันดับมากขึ้นทุกครั้งที่มีการทำรายงานแต่คะแนนเฉลี่ยแต่ละปีของไทยนั้นค่อนข้างคงที่

เมื่อกล่าวถึงการป้องกันทุจริต นอกจากเรื่องความโปร่งใสแล้วยังเกี่ยวพันกับสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนด้วย แต่สำหรับประเทศไทยประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ยังอยู่ในสถานะ “ไร้เสรีภาพ” ตามรายงานของฟรีดอมเฮาส์ฉบับล่าสุดเพิ่งออกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและอยู่ในสถานะนี้เกือบจะต่อเนื่องกัน 5 ปี ตั้งแต่ 2560-2564 ที่ปีก่อนได้ขยับขึ้นมาเป็น ‘มีเสรีภาพบางส่วน’ ก่อนจะตกกลับลงมาที่เดิมเหมือนช่วงรัฐบาลทหารจากการข่มขู่คุกคามจับกุมประชาชน จำกัดเสรีภาพสื่อ ทำให้ไทยมีคะแนนเสรีภาพอยู่ที่ 30 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน

ในรายงานของฟรีดอมเฮาส์มีหัวข้อเกี่ยวกับประสิทธิภาพของรัฐบาลที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 12 คะแนนจากคะแนนรวมทุกหัวข้อคือ 100 คะแนน โดยมีประเด็นที่ใช้พิจารณาให้คะแนน 3 ประเด็นคือ ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสุจริตและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล มาตรการป้องกันการทุจริตของภาครัฐ การเปิดกว้าง และความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งไทยได้ไปเพียง 2 คะแนนเท่านั้นในหัวข้อประสิทธิภาพของรัฐบาล

ประเด็นแรกรายงานระบุว่า แม้จะมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และพรรคฝ่ายค้านที่ได้ที่นั่งในสภาไปจำนวนมากก็ตาม แต่รัฐบาลไทยก็ยังมีอำนาจอย่างมาก ทั้งจากการที่วุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ได้สิทธิในโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและผ่านกฎหมายปฏิรูป(long term strategy) ร่วมกับ ส.ส. และอดีตผู้นำทหารและพวกพ้องยังคงเป็นผู้ตัดสินใจในการออกนโยบายและกฎหมายใหม่ต่างๆ นอกจากนั้นรายงานยังระบุถึงการขยายอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ประเด็นที่สอง มาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐของไทย รายงานระบุว่ากฎหมายต่อต้านการทุจริตของไทยไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเพียงพอ การติดสินบนเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติทั้งในภาคธุรกิจ การบังคับใช้กฎหมาย และระบบยุติธรรม ทั้งที่ ปปช.เองก็ได้รับคำร้องเป็นจำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งกฎหมายต่อต้านการทุจริตก็ผ่านออกมในช่วงรัฐบาล คสช. แต่รัฐบาลทหารเองก็เข้าไปเกี่ยวพันกับการทุจริตอย่างกว้างขวาง เล่นพรรคเล่นพวกและใช้ระบอบอุปถัมภ์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกเลยแม้ว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือนตั้งแต่ 2562 แล้วก็ตาม

ประเด็นที่สามเรื่องความโปร่งใส รายงานระบุว่า หลังเลือกตั้ง 2562 ทำให้ไทยกลับมามีรัฐสภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอีกครั้ง ทำให้ภาพรวมของด้านความโปร่งใสของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กองทัพก็ยังคงเข้ามาครอบงำการดำเนินงานรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในการตัดสินใจในประเด็นสำประเด็นสำคัญๆ และการผ่านกฎหมายต่างๆ ออกมา โดยที่กองทัพเองก็ไม่มีความโปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท