ผุดแคมเปญล่ารายชื่อยกเลิกรถประจำตำแหน่ง หยุดเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

'ชำนาญ' ตั้งแคมเปญล่ารายชื่อยกเลิกรถประจำตำแหน่ง หยุดเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 'สมชัย กมธ.งบ 66'  เผย ‘กองทัพ’ แจง เบนซ์ S500 บิ๊กทหาร ไม่เรียกรถประจำตำแหน่ง เรียก ‘รถควบคุมสั่งการ’

19 ก.ค.2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชำนาญ จันทร์เรือง ตั้งแคมเปญล่ารายชื่อยกเลิกรถประจำตำแหน่ง หยุดเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ในเว็บไซต์ Change.org เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่า ด้วยการเรียกร้องให้มีการยกเลิกรถประจำตำแหน่งในหน่วยงานที่ไม่จำเป็น ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐสภาซึ่งเป็นผู้อนุมัติงบของทุกหน่วยงาน และทุกหน่วยงานต้องชี้แจงแก่ประชาชนด้วยว่ารถที่มีในตำแหน่งมีเหตุผลและความจำเป็นเพียงใด 

โดยรายละเอียด ชำนาญ ระบุในคำอธิบายประกอบแคมเปญดังนี้

“รถประจำตำแหน่ง คือ แหล่งกอบโกยของขุนนาง?”

อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุลได้โพสข้อความบนเฟซบุ๊คว่า “ในปัจจุบัน ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับรองอธิบดี อธิบดี ขึ้นไป จะมีค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งแบบเหมาจ่ายให้เป็นรายเดือนในกรณีที่จะไม่ใช้รถของทางราชการ จะได้รับในอัตราเหมาจ่ายรายเดือนตั้งแต่ 25,400 ไปจนถึง 41,000 บาท ในตอนแรกที่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการจ่ายเงินเป็นรายเดือนก็ด้วยเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ เพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐที่ต้องใช้ไปในการจัดหาและดูแลรถประจำตำแหน่งที่ต้องใช้ไปเป็นจำนวนมาก

ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาก็คือ ได้เกิดปรากฏการณ์ “หนึ่งหน่วยงานร้อยพันอธิบดี” หน่วยงานต่าง ๆ ก็พยายามที่จะเทียบตำแหน่งที่ไม่ใช่อธิบดีอันหมายถึงผู้บังคับบัญชาในระดับกรมให้มีตำแหน่งอธิบดีขึ้น ตุลาการและอัยการ คือหน่วยงานในลักษณะนี้ จะปรากฏตำแหน่งอธิบดีศาล อธิบดีอัยการ โน่นนี่นั่นโน่นมากมายเต็มไปหมด ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าเพื่อให้ได้เงินค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งแบบเหมาจ่าย ไม่แน่ใจว่าเฉพาะตุลาการและอัยการ รวมกันแล้วมีข้าราชการระดับอธิบดีกี่ร้อยพันคน”

“ในภายหลัง ทางฝ่ายทหารก็รู้สึกว่าควรต้องมีการเทียบตำแหน่งในฝ่ายตนบ้าง จึงได้มีการเรียกร้องซึ่งเหตุผลก็ไม่ได้แตกต่างอะไรออกไป และนำมาสู่การทำให้ พ.อ. พิเศษ ได้ค่ารถประจำตำแหน่ง 25,400 บาท พลตรี 31,800 บาท และพลโทขึ้นไป 41,000 บาท” แล้วไทยมีนายพลในกองทัพอยู่กี่คนล่ะครับ? 

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ที่ว่าเงินสี่หมื่นบาทไม่ใช่จำนวนน้อย สำหรับข้าราชการทั่วไปที่จบปริญญาตรี เงินรายเดือนจำนวนนี้กว่าจะได้มาอาจต้องใช้เวลาทำงานมาไม่น้อยกว่า 20 ปี สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ เงินนี้มากกว่าเงินที่ทั้งครอบครัวได้รับทั้งเดือน เบี้ยยังชีพคนชรา เงินอุดหนุนการศึกษา เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด สามก้อนนี้รวมกันต่อเดือน ยังน้อยกว่าค่ารถประจำตำแหน่งเสียอีก!

ผมจึงอยากชวนประชาชนลงชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่า ด้วยการเรียกร้องให้มีการยกเลิกรถประจำตำแหน่งในหน่วยงานที่ไม่จำเป็น ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐสภาซึ่งเป็นผู้อนุมัติงบของทุกหน่วยงาน และทุกหน่วยงานต้องชี้แจงแก่ประชาชนด้วยว่ารถที่มีในตำแหน่งมีเหตุผลและความจำเป็นเพียงใด 

“คำถามสำคัญก็คือ หากเป็นตำแหน่งที่จำเป็นต้องมีการเดินทาง ออกพื้นที่ หรือใช้รถในการประชุมพบปะกับผู้คนหรือหน่วยงาน ก็คงมีความจำเป็นที่ต้องมีการใช้รถประจำตำแหน่ง แต่ขอโทษทีงานหลายงานไม่ได้มีภารกิจในแบบนั้น กรณีผู้พิพากษาก็ไปทำงานที่ศาลเป็นหลัก ร้อยวันพันปีกว่าจะเห็นออกเดินเผชิญสืบ (ระยะหลังแทบไม่ได้ยินเลย) แถมบางที่บ้านพักก็อยู่ข้างหลังที่ทำงาน ไอ้แบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีการใช้รถประจำตำแหน่งมิใช่หรือ

หรือถ้าเทียบเคียงแค่ตำแหน่งระดับสูง ถ้าแบบนี้บรรดาศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ซึ่งก็เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกันกับชั้นนายพลก็ควรได้รับค่ารถประจำตำแหน่งด้วยมิใช่หรือ แต่แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรได้อย่างแน่นอน เพราะก็ทำงานสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก หากจะทำวิจัยก็มักมีงบประมาณสนับสนุนอยู่แล้ว ก็เหมือนกันกับบรรดาขุนศึก ตุลาการ นั่นแหละ ที่ไม่ควรได้รับเงินจำนวนนี้”

ดังนั้น ก่อนจะบอกว่าไม่มีเงินพัฒนาการศึกษา สวัสดิการ หรือพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจริงๆ รัฐต้องหยุดเอาภาษีไปถลุง ใช้อุ้มคนในตำแหน่ง แบบ “อีหลุ่ยฉุยแฉก” ก่อนครับ สำหรับผม หน่วยงานที่มีความจำเป็นจริงๆ ควรมีแค่รถประจำหน่วยงานก็เพียงพอแล้ว เป็นของส่วนกลางเหมือนรถบริษัทที่แบ่งกันใช้ ไม่ใช่เคลมเอาไปใช้เป็นส่วนตัวเพราะมีตำแหน่งนะครับ

----

หมายเหตุ: ที่มาของแคมเปญนี้มาจากโพสต้นเรื่องของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้รับทราบและยินยอมให้ผมนำมาใช้แล้วครับ  คลิกดูโพสต้นทางได้ที่นี่

สมชัย กมธ.งบ 66 เผย ‘กองทัพ’ แจง เบนซ์ S500 บิ๊กทหาร ไม่เรียกรถประจำตำแหน่ง เรียก ‘รถควบคุมสั่งการ’

ขณะที่ วานนี้ (18 ก.ค.) สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อภิปรายการเข้าชี้แจงการของบประมาณในส่วนกระทรวงกลาโหม ของเหล่าทัพ พุ่งเป้าไปที่ค่าใช้จ่ายของนายทหารระดับสูง โดยขอทราบรายละเอียดเงินตอบแทนพิเศษทหารระดับพันเอก (พิเศษ) ขึ้นไป จนถึงระดับนายพล ว่ามีอัตราการจ่ายอย่างไร และจ่ายอยู่จำนวนกี่นาย รวมงบประมาณเท่าใด ขณะเดียวกัน สมชัย ยังอ้างว่าได้รับจดหมายจากกำลังพลส่งมาให้และขออ่านสอบถาม เพื่อให้เหล่าทัพต่างๆ ชี้แจง ระบุว่าได้รับการแจ้งจากคนในกองทัพว่า ปัจจุบันทุกเหล่าทัพมีการเช่ารถยนต์ให้ผู้บริหารระดับสูง รวม 36 คน เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดฯ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และที่ปรึกษากองทัพ โดยรถที่เช่า เป็นรถเบนซ์ S500 และ S400 ซึ่งในจดหมายดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่าการเช่ารถให้ผู้บริหารกองทัพมีหลักเกณฑ์เหมือนหน่วยราชการอื่นทั่วไปหรือไม่ที่จะมีการกำหนดวงเงิน ค่าเช่า และจำนวนซีซีของรถยนต์ เทียบกับตำแหน่งต่างๆ ซึ่งตนอยากได้รับคำชี้แจงจากกองทัพ

ต่อมา สมชัย โพสต์ข้อความกรณีการเข้าชี้แจงการของบประมาณในส่วนกระทรวงกลาโหม ของเหล่าทัพ โดยระบุว่า

คำตอบจากกองทัพ มีดังนี้

1. รถเบนซ์ S500 ที่นายทหารระดับสูงใช้ ไม่ใช่รถประจำตำแหน่ง แต่เรียกว่า “รถควบคุมการสั่งการ” เป็นรถสมรรถนะสูง ที่ใช้งบปกติจัดซื้อ โดยต้องทำการตกลงกับสำนักงบประมาณเป็นรายการไป

2. ส่วนอัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนค่ารถประจำตำแหน่งของนายทหาร มีอัตราตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง คือ พันเอกพิเศษ 25,400 บาท พลตรี 31,800 บาท พลโทขึ้นไป 41,000 บาท เป็นอัตราที่จ่ายตามปกติ

ประเด็นอภิปรายต่อของผม คือ

1. แปลว่า นายทหารระดับสูงจะมีรถ 2 คัน คันหนึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งตาม spec. ราชการ อีกคันเป็นรถหรู เรียกว่ารถควบคุมการสั่งการ จึงขอให้ส่งจำนวน รถควบคุมสั่งการทั้งหมดที่มีว่ามีจำนวนเท่าใด และจัดซื้อโดยเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณใดบ้าง

2. แม้อัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนรถประจำตำแหน่งจะเป็นไปตามระเบียบราชการ แต่การเทียบตำแหน่งของกองทัพกับพลเรือน ทำให้กองทัพมีจำนวนตำแหน่งที่ต้องจ่ายมากกว่ามาก เช่น กระทรวง มีปลัดกระทรวง ได้ 1 คน แต่กองทัพตีเทียบเท่าพลโท ขึ้นไป ดังนั้น เท่ากับ กองทัพสามารถเบิกในอัตราปลัดกระทรวงได้ หลายร้อยคน ถือเป็นความเหลื่อมล้ำในราชการอย่างมาก

3. ขอเอกสาร กำลังพลในตำแหน่ง พลตรี พลโท พลเอก ที่มีในปัจจุบัน แยกเป็นที่มีหน่วยงานรองรับ และ ที่เป็นตำแหน่งลอย เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ว่ามีจำนวนเท่าไร เป็นเอกสารด้วย

สมชัย ศรีสุทธิยากร

กมธ.งบประมาณในสัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย

18 ก.ค. 2565

17.15 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท